Eng |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนพ. เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกเหนือจากการตรวจเลือดและปัสสาวะแล้ว การตรวจอุจจาระยังเป็นหนึ่งในการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานที่ถูกบรรจุในโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีเช่นเดียวกัน ในบทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการและการเตรียมตัวและการเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจ
การตรวจอุจจาระเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยวินิจฉัยและคัดกรองโรคในผู้ที่มีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเหลว ปวดท้องร่วมกับถ่ายเหลว หรือเมื่อสงสัยภาวะผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น ภาวะมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทั่วไปการตรวจอุจจาระมักมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
การตรวจอุจจาระในห้องปฏิบัติการจะตรวจสอบทางกายภาพ ทางเคมี ทางจุลชีววิทยา ได้แก่
1. การตรวจสอบทางกายภาพ เป็นการสังเกตอุจจาระด้วยตาเปล่า เพื่อดูสี ความอ่อนหรือแข็ง การมีมูกและเลือดปนเปื้อน รวมถึงการดูตัวเต็มวัยของพยาธิที่อาจหลุดออกมาพร้อมอุจจาระ รวมถึงการตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการหาตัวอ่อนหรือไข่หนอนพยาธิรวมทั้งพยาธิโปรโตซัวที่อาจพบได้ในอุจจาระรวมถึงดูสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่ปนในอุจจาระ เช่น อาหารที่ไม่ถูกย่อย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ตลอดจนแบคทีเรีย เชื้อราหรือยีสต์ เป็นต้น
2. การตรวจสอบทางเคมี เช่น การตรวจหาเลือดปริมาณน้อยในอุจจาระ (Fecal occult blood test) การตรวจหาไขมัน น้ำตาล pH ในอุจจาระ เป็นต้น
3. การตรวจสอบทางจุลชีววิทยา เป็นการเพาะเชื้อจากอุจจาระเพื่อหาเชื้อจุลชีพก่อโรคในระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงหรือท้องเสียในผู้ป่วยรวมถึงการตรวจหาผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อจุลชีพบางชนิดในระบบทางเดินอาหาร เช่น การตรวจหาพาหะของเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) เป็นต้น นอกจากนี้ตัวอย่างอุจจาระยังสามารถนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ เช่น ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อจุลชีพก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ตรวจหาสัดส่วนของเชื้อจุลชีพชนิดต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหาร รวมถึงตรวจหาสารพิษที่สร้างจากเชื้อจุลชีพบางชนิด เช่น สารพิษของเชื้อคลอสตริดิออยดีส ดิฟฟิไซล์ (Clostridioides difficile) เป็นต้น
การเตรียมตัวก่อนเก็บอุจจาระ
ผู้ที่ต้องการส่งอุจจาระตรวจสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติและควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อไม่ให้อุจจาระแข็งจนเกินไป ในผู้ที่เคยตรวจระบบทางเดินอาหารหรือตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบแสงมาก่อนควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 - 7 วัน จึงเก็บอุจจาระส่งตรวจ นอกจากนี้ ควรเก็บอุจจาระก่อนได้รับยาฆ่าเชื้อหรือยาแก้ท้องเสีย รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบายที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน รวมถึงยาที่มีสารบางชนิดผสมอยู่ เช่น บิสมัส (bismuth) ชาร์โคล (charcoal) คาโอเพคติน (kaopectin) หรือ แบเรียม (barium) เป็นต้น เนื่องจากยาเหล่านี้อาจรบกวนการตรวจอุจจาระได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการตรวจหาเชื้อหนอนพยาธิหรือพยาธิโปรโตซัว
ขั้นตอนการเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจ
การเก็บตัวอย่างอุจจาระได้ด้วยตนเอง ก่อนการเก็บอุจจาระควรล้างมือให้สะอาดและปัสสาวะให้เรียบร้อยเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของปัสสาวะในขณะเก็บตัวอย่างส่งตรวจ รวมถึงตรวจสอบภาชนะหรือกระปุกเก็บอุจจาระว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สะอาด ปราศจากรอยร้าวหรือรอยรั่ว นอกจากนี้ ควรตรวจสอบชื่อรวมถึงรหัสประจำตัวผู้ป่วยที่ปิดข้างภาชนะเก็บตัวอย่างให้ตรงกับชื่อผู้เก็บตัวอย่างทุกครั้ง ในกรณีที่ไม่มีป้ายชื่อติดที่ภาชนะเก็บตัวอย่าง ควรเขียนชื่อที่ภาชนะเก็บตัวอย่างให้ชัดเจน จากนั้นจึงดำเนินการเก็บอุจจาระตามขั้นตอน ดังนี้
Image by Racool_studio on Freepik