Loading…

รู้จักชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self-testing)

รู้จักชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self-testing)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์

ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

1,107 ครั้ง เมื่อ 5 ช.ม.ที่แล้ว
2024-12-06

ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ด้วยตนเอง (HIV self-testing, HIV self-test หรือ        HIV self-screening test)  เป็นการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV) โดยผู้ตรวจเป็นผู้เก็บตัวอย่างเลือดจากปลายนิ้ว (finger puncture) หรือสารน้ำในช่องปาก (oral fluid) (ขึ้นกับยี่ห้อของชุดตรวจ) จากนั้นทำการตรวจและแปลผลตรวจเบื้องต้นด้วยตนเอง ซึ่งชุดตรวจนี้สามารถใช้ตรวจได้หลังจากมีความเสี่ยงตั้งแต่ 21-30 วันขึ้นไป จากข้อมูลปัจจุบัน (ตุลาคม 2567) มีชุดตรวจที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งสิ้น 4 ยี่ห้อ

ใครบ้างควรใช้ชุดตรวจ HIV self-testing

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน สัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากผู้ไม่ทราบผลเลือดผ่านทางบาดแผลรวมถึงผู้ต้องการทราบสถานะการติดเชื้อ

เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจด้วยชุดตรวจ HIV self-testing

โดยทั่วไปแล้วผู้ตรวจไม่จำเป็นต้องอดน้ำหรืออาหารก่อนการตรวจ อย่างไรก็ตามในกรณีที่ต้องการตรวจโดยใช้ตัวอย่างจากสารน้ำในช่องปาก ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือทานอาหารก่อนทำการตรวจอย่างน้อย 30 นาที รวมถึงผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือวัสดุในช่องปากที่คลุมเหงือกจะต้องถอดออกทุกครั้งก่อนการเก็บตัวอย่าง 

วิธีใช้ชุดตรวจ HIV self-testing

1. เลือกใช้ชุดตรวจที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจ 2 ประเภทคือ ตรวจจากเลือดที่เจาะจากปลายนิ้วและตรวจจากสารน้ำในช่องปาก โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลชุดตรวจที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

(https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx) 

2. ตรวจสอบชุดตรวจก่อนใช้งาน โดยซองหรือกล่องบรรจุชุดตรวจจะต้องไม่มีรอยรั่วหรือฉีกขาด จากนั้นตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ บนฉลากของชุดตรวจ เช่น ชื่อชุดตรวจ รหัสสินค้าของชุดตรวจ ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า วันที่ผลิต วันหมดอายุ เลขใบอนุญาต รายละเอียดน้ำยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มาพร้อมชุดตรวจ ข้อบ่งใช้ วิธีการใช้และวิธีการเก็บรักษาชุดตรวจ เป็นต้น นอกจากนี้ชุดตรวจจะต้องแสดงข้อความด้วยตัวอักษรสีแดงได้แก่“ห้ามใช้ชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเองในผู้ที่รับยาต้านไวรัสเอชไอวีแล้วเนื่องจากอาจเกิดผลลบปลอม (false negative)” และ “ใช้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเองเท่านั้น หากตรวจพบมีปฏิกิริยา (reactive) ต้องได้รับการตรวจยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีจากหน่วยบริการที่สามารถตรวจยืนยันวินิจฉัยได้”

3. เตรียมสถานที่ตรวจโดยเลือกพื้นที่ที่สะอาดและเป็นส่วนตัว อ่านเอกสารกำกับหรือวิธีใช้ชุดตรวจโดยละเอียดและครบถ้วนก่อนใช้งาน 

4. ดำเนินการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ HIV self-testing ตามขั้นตอนที่เขียนไว้ในเอกสารกำกับหรือวิธีใช้ชุดตรวจ

5. อ่านและแปลผลการทดสอบตามระยะเวลาที่เขียนไว้ในคู่มือการใช้ชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ โดยสามารถอ่านผลได้ทันทีหรือต้องรอผล 15 – 20 นาที (ขึ้นกับยี่ห้อของชุดตรวจ) ทั้งนี้การอ่านผลเร็วหรือช้าเกินไปอาจทำให้ผลการตรวจผิดพลาดได้

การแปลผลตรวจชุดตรวจ HIV self-testing

1. เกิดปฏิกิริยา (Reactive)  เมื่อสังเกตที่ชุดตรวจจะมีแถบหรือจุดสีขึ้น 2 บริเวณที่ตำแหน่ง C      และ T โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นสีเข้มหรือจาง ซึ่งแปลผลว่า อาจติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ผู้ตรวจควรเข้าไปรับการตรวจยืนยันผลอีกครั้งที่สถานพยาบาลที่สามารถตรวจยืนยันและวินิจฉัยได้

2. ไม่เกิดปฏิกิริยา (Non-reactive) เมื่อสังเกตชุดตรวจจะมีแถบหรือจุดสีขึ้นที่ตำแหน่ง C เพียงบริเวณเดียว ซึ่งแปลผลว่า ไม่พบการติดเชื้อเอชไอวี (ไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี) โดยถ้าตรวจหลังจากมีความเสี่ยงเกินกว่า 90 วันไปแล้วหรือไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อสามารถยืนยันผลเป็นลบได้  ในกรณีที่ตรวจคัดกรองในช่วง 90 วันหลังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรตรวจซ้ำครั้งที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไปหลังมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมที่สถานพยาบาลที่สามารถตรวจยืนยันและวินิจฉัยได้

3. ไม่สามารถแปลผลได้ (Invalid) เมื่อสังเกตที่ชุดตรวจจะไม่พบแถบหรือจุดสีเกิดขึ้นที่บริเวณอ่านผล นอกจากนี้อาจพบแถบหรือจุดสีที่ตำแหน่ง T เพียงบริเวณเดียว ในกรณีนี้ต้องตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งหรือเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลที่สามารถตรวจยืนยันและวินิจฉัยได้

 

ภาพการแปลผลการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยชุดตรวจ HIV self-testing

ข้อจำกัดของชุดตรวจ HIV self-testing

1. ไม่เหมาะกับผู้ที่ทานยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีรวมถึงผู้เคยเข้าร่วมการศึกษาทดลองวัคซีนเอชไอวี

2. ไม่เหมาะกับผู้ที่ทราบอยู่แล้วว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือหลังมีพฤติกรรมเสี่ยงไม่เกิน 21-30 วัน ทั้งนี้การตรวจก่อนช่วงเวลาดังกล่าวอาจให้ผลลบปลอมได้ เนื่องจากอาจอยู่ในช่วง window period หรือระยะที่ร่างกายยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อจนถึงในระดับที่ตรวจได้

3. ชุดตรวจที่ใช้ตัวอย่างจากเลือดอาจไม่เหมาะกับผู้มีภาวะเลือดออกผิดปกติหรือผู้ที่เป็นโรคกลัวเข็ม

4. ชุดตรวจนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการใช้คัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการบริจาคโลหิต

5. ความเข้มของแถบหรือจุดสีที่เกิดขึ้นในตำแหน่ง T ของชุดตรวจไม่ได้บ่งบอกปริมาณของแอนติบอดีที่ตรวจพบ

6. ชุดตรวจนี้ไม่สามารถทดแทนการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการได้

ประโยชน์ของการใช้ชุดตรวจ HIV self-testing

ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเองและมีความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ทำให้ทราบผลการตรวจได้ไวขึ้นและเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วขึ้นด้วยยาต้านไวรัสในกรณีที่ตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการควบคุมการติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทย

 วิธีทิ้งหรือทำลายชุดตรวจ HIV self-testing ที่ใช้แล้ว

  • ชุดตรวจที่ใช้แล้วควรเก็บให้พ้นมือเด็กและระวังไม่ให้สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์อื่น ๆ มากัดแทะได้
  • นำอุปกรณ์การตรวจรวมถึงน้ำยาทั้งหมดที่ใช้แล้วใส่กลับไปที่ถุงใส่ชุดตรวจ จากนั้นปิดผนึกถุง    ชุดตรวจให้มิดชิดและทิ้งในถังขยะติดเชื้อ
  • สามารถใช้น้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอกเพื่อทำลายของเสียหรือสารอันตรายที่เกิดจากการทดสอบในส่วนประกอบของชุดตรวจที่ไม่ใช่ของมีคม จากนั้นทิ้งในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นพร้อมเขียนหน้าถุงว่าขยะติดเชื้อ
  • วัสดุหรือของมีคมที่มากับชุดตรวจควรทิ้งในภาชนะที่ทนต่อการทะลุโดยใส่ไม่เกิน 3 ใน 4 ส่วนของภาชนะ จากนั้นปิดฝาให้แน่นและทิ้งในถังขยะติดเชื้อ

สามารถหาซื้อชุดตรวจ HIV self-testing ได้จากที่ใดบ้าง

ผู้ที่ต้องการตรวจสามารถซื้อชุดตรวจ HIV self-testing ได้ที่ร้านยา คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกนิรนาม นอกจากนี้ยังสามารถรับชุดตรวจ HIV self-testing ได้ฟรีที่หน่วยบริการสุขภาพในระบบ สปสช. หรือผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” คนไทยทุกคนยังมีสิทธิในการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง โดยใช้บัตรประชาชนเพื่อเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คลินิกนิรนาม ศูนย์การแพทย์บางรัก คลินิกชุมชน    สีลมรวมถึงคลินิกและศูนย์การแพทย์อื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ

Designed by Freepik.com

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

1. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Getting tested for HIV [Internet]. 2024 [cited 2024 Sep 26].

2. กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เล่มที่ 136 ตอนพิเศษ 89 ง (ลงวันที่ 9 เมษายน 2562).

3. กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. คกก.เอดส์ชาติ เห็นชอบใช้ชุดตรวจ HIV Self-Test คัดกรองด้วยตนเอง ทราบผลไว เข้าสู่ระบบป้องกันและรักษาที่รวดเร็ว พร้อมชูแนวคิดองค์กร “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 17 เม.ย. 2567].

4. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการจัดบริการตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง ประเทศไทย (National guideline on HIV self-screening test service in Thailand)  [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 18 เมษายน 2567].

5. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. News & Update by DAS ฉบับ 003  ประจำเดือนกรกฎาคม 2565 [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 23 เมษายน 2567].

6. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง [อินเทอร์เน็ต]. 2566 [เข้าถึงเมื่อ 23 เมษายน 

7. กลุ่มสื่อสารและสนับสนุนวิชาการ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. DAS DDC No.1 จุลสารกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฉบับที่ 1 [อินเทอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567].

8. กลุ่มพัฒนาระบบดูแลด้านจิตสังคม กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. HIVSST ระบบขอรับการสนับสนุนชุดตรวจเอชไอวีและการให้การปรึกษาทางออนไลน์ [อินเทอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 7 กันยายน 2567]. เข้าถึงได้จาก:

9. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ชุดความรู้สำหรับให้บริการตรวจ   เอชไอวีด้วยตนเอง [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 13 กันยายน 2567].

10. ปกิตตา คิดสำเร็จ. ทำไมถึงต้องตรวจ HIV?[อินเทอร์เน็ต]. 2566 [เข้าถึงเมื่อ 28 ตุลาคม 2567].

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ยาธาตุอบเชย...เชยหรือไม่ที่จะใช้ 1 วินาทีที่แล้ว
เทมเป้ (Tempeh) อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ 6 วินาทีที่แล้ว
เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับสารพิษ : แนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้น 10 วินาทีที่แล้ว
ทรานซามิน (transamin) กับผิวขาว ...จริงหรือไม่? 11 วินาทีที่แล้ว
ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ลืมกินยาตามเวลา อันตรายหรือไม่ 11 วินาทีที่แล้ว
วิตามินดี...ประโยชน์ดีๆ มีมากกว่าที่คิด 13 วินาทีที่แล้ว
การใช้ยาในหญิงมีครรภ์ : ข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์ 17 วินาทีที่แล้ว
ทำความรู้จักกับอินูลิน (Inulin) และประโยชน์ของอินูลินต่อสุขภาพ 17 วินาทีที่แล้ว
ยาทาภายนอกรักษาโรคเชื้อรา : ยารักษากลากและเกลื้อน 18 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 26 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา