แจ้งงดให้บริการเว็บไซต์ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของอาคาร ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เวลา 17.00 น. ถึงวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 08.00 น.
ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


สารเคมีในครัวเรือนที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน


อาจารย์ ดร. ธีรวัฒน์ สงสีจันทร์

ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 589 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/12/2567
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ภาพดัดแปลงจาก : https://cleanzen.com/blog/mixing-bleach-and-vinegar/

ในชีวิตประจำวันสารเคมีนั้นอยู่รอบตัวเราในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย เครื่องสำอาง ยา อาหาร สารปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น สารเคมีที่เราใช้ในการทำความสะอาดเครื่องใช้และพื้นผิวต่างๆ รวมถึงสารกําจัดแมลงและสารกําจัดศัตรูพืช สารเคมีเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตและทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่หากเราใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ถูกวิธีก็อาจส่งผลต่อร่างกายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการใช้ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนร่วมกัน บทความนี้ได้รวบรวมตัวอย่างของสารเคมีในครัวเรือนที่ไม่ควรใช้ร่วมกันไว้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบ้านและสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ประโยชน์จากสารเคมีในครัวเรือน

1. ไม่ควรผสมน้ำยาล้างห้องน้ำกับน้ำยาซักผ้าขาว

บางคนมีความเชื่อว่าหากผสมน้ำยาล้างห้องน้ำกับน้ำยาซักผ้าขาวแล้วจะทำให้คราบสิ่งสกปรกต่างๆ ในห้องน้ำหลุดออกได้ง่ายขึ้น ลดแรงขัด ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด โดยน้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) เมื่อเจอกับน้ำ (H2O) จะสลายตัวได้กรดไฮโปคลอรัส (HOCl) ที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ดี หากแต่ถ้าเจอกับกรดไฮโดรคลอริก (HCl) ที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบในน้ำยาล้างห้องน้ำ กรดทั้งสองจะทำปฏิกิริยากันแล้วทำให้ได้ก๊าซคลอรีนซึ่งเป็นก๊าซพิษเกิดขึ้น

NaOCl (น้ำยาซักผ้าขาว) + H2O   ®   HOCl + Na+ + OH-

HOCl + HCl (น้ำยาล้างห้องน้ำ)  ®   H2O + Cl2 (ก๊าซคลอรีน)

ก๊าซคลอรีนนั้นมีสีเหลืองอมเขียวจางมากๆ กลิ่นฉุน หากสูดดมเข้าไปปริมาณน้อยจะทำให้มีอาการระคายเคืองเยื่อบุตา เยื่อบุโพรงจมูก ทางเดินหายใจและลำคอ แสบจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เวียนหัว น้ำตาไหล ไอ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น และหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมปอดและภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพบภาวะขาดออกซิเจนและภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

2. ไม่ควรผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับน้ำส้มสายชู หรือกับกรดอื่นๆ

เช่นเดียวกัน หากผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับน้ำส้มสายชูที่เป็นกรดอะซิติก (CH3COOH) เจือจางในน้ำ หรือกับกรดชนิดอื่นๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดก๊าซพิษคลอรีนขึ้นได้

2HOCl + 2CH3COOH (น้ำส้มสายชู)   ®   Cl2 (ก๊าซคลอรีน) + 2H2O + 2CH3COO-

ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกันกับผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดทุกชนิด

3. ไม่ควรผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย

แอมโมเนีย (NH3) เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่าง พบว่าเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลายชนิด เช่น น้ำยาล้างจานบางสูตร น้ำยาเช็ดกระจกและน้ำยาถูพื้น เป็นต้น ไม่ควรนำมาผสมกับน้ำยาซักผ้าขาวเพื่อหวังผลให้มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดที่ดีขึ้น หากแต่จะผลิตก๊าซพิษคลอรามีนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพขึ้นแทน

HOCl + NH3   ®   NH2Cl (ก๊าซคลอรามีน) + H2O

คลอรามีนเป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน หากสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จมูกและลำคอได้ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ไอ และอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่สูดดมเข้าไปในปริมาณมาก

4. ไม่ควรผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับแอลกอฮอล์หรืออะซิโตน

ไม่ควรผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับแอลกอฮอล์ล้างมือหรือแอลกอฮอล์ทำความสะอาดพื้นผิว หรือกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบของอะซิโตน เช่น น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาล้างกาว น้ำยาเช็ดล้างเครื่องมือช่าง น้ำยาล้างแปรงทาสีและลูกกลิ้งทาสี เป็นต้น เนื่องจากทั้งแอลกอฮอล์และอะซิโตนเมื่อเจอกับโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในน้ำยาซักผ้าขาวจะทำปฏิกิริยากันได้คลอโรฟอร์ม (CHCl3) เกิดขึ้น

3NaOCl (น้ำยาซักผ้าขาว) + CH3-CO-CH3 (อะซิโตน)   ®   CHCl3 (คลอโรฟอร์ม) + 2NaOH + NaO-CO-CH3

โดยคลอโรฟอร์มเป็นของเหลวที่ระเหยง่าย ไม่มีสี มีคุณสมบัติเป็นยาสลบ หากได้รับและสูดดมไปในปริมาณมากจะทำให้ระคายเคืองดวงตา ทำลายตับ ไตและระบบประสาท มีโอกาสทำให้หมดสติได้

5. ไม่ควรผสมน้ำส้มสายชูกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค ดังนั้นจึงสามารถเจออยู่ในผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับล้างผักผลไม้และสำหรับล้างบาดแผล นอกจากนี้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ยังเป็นส่วนผสมหนึ่งในผลิตภัณฑ์ซักผ้าและผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมอีกด้วย ด้วยคุณสมบัติการฆ่าเชื้อจุลชีพนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าหากนำไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มาผสมกับน้ำส้มสายชูแล้วจะทำให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น แต่ความเป็นจริงคือเมื่อสารทั้งสองผสมกันจะทำให้ได้กรดเปอร์อะซิติก (CH3COOOH) ที่เป็นพิษและก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจได้ อีกทั้งยังมีฤทธิ์กัดกร่อนพื้นผิววัสดุอีกด้วย

CH3COOH (น้ำส้มสายชู) + H2O2 (ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์)   ®   CH3COOOH (กรดเปอร์อะซิติก) + H2O

ดังนั้นจึงไม่ควรผสมสารทั้งสองด้วยกันโดยตรง ควรเจือจางในน้ำสะอาดโดยแยกภาชนะกัน

6. ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งร่วมกัน

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งมีหลายประเภท มีส่วนประกอบทางเคมีและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน บางคนอาจคิดว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งร่วมกันจะทำให้ได้ประสิทธิภาพในการชำระล้างดีขึ้น แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น หากแต่จะทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นโซดาไฟหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ที่มีฤทธิ์เป็นเบสแก่ ควรใช้เดี่ยว ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกรด เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาคายความร้อนอย่างรุนแรง น้ำร้อนอาจจะกระเด็นมาโดนผิวหนังและเป็นอันตรายได้ ส่วนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งที่มีส่วนประกอบของกรดแก่ เช่น กรดซัลฟิวริก (H2SO4) ก็ควรใช้ในลักษณะที่เจือจางและปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป ในขณะรอให้เกิดการชะล้างก็ไม่ควรอยู่ในบริเวณนั้น และควรเปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหายใจเอาก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกายได้

 

การใช้ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนที่มีส่วนประกอบของสารเคมีจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน อย. และมีฉลากชัดเจน ควรทราบส่วนประกอบทางเคมีของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น และควรศึกษาถึงวิธีการใช้ คำเตือน รวมถึงวิธีแก้พิษเบื้องต้นอย่างละเอียด นอกจากนี้ควรต้องป้องกันตัวเองโดยการสวมใส่ถุงมือ รองเท้า เสื้อคลุมและแว่นตาป้องกันสารเคมี และควรใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีเหล่านี้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ผสมสารเคมีรวมกันหากไม่จำเป็นเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ดีหากได้รับสารพิษหรือได้รับอันตรายเมื่อสัมผัสกับสารเคมีควรไปพบแพทย์ทันที

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

1. ทรูปลูกปัญญา. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ควรนำมาผสมกัน [อินเทอร์เน็ต]. trueplookpanya.com. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 21 กันยายน 2567].

2. กระปุก. 13 น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่ควรใช้ด้วยกัน เลี่ยงเลยก่อนเกิดอันตราย ! [อินเทอร์เน็ต]. kapook.com. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 21 กันยายน 2567].

3. วุฒิเชษฐ รุ่งเรือง, ฐิติพล เยาวลักษณ์. ภาวะพิษจากก๊าซคลอรีน Chlorine Gas Poisoning. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล 2565;32:241-7.

4. กรมควบคุมโรค. คลอโรฟอร์ม (Chloroform). [อินเทอร์เน็ต]. ddc.moph.go.th. 2563. [เข้าถึงเมื่อ 21 กันยายน 2567].

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 5 วินาทีที่แล้ว
การตรวจปัสสาวะ 22 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้