Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร.ปองทิพย์ สิทธิสาร ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาไซอิ หรือ açai หรือ acai มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ (Euterpe oleracea Mart.) เป็นพืชในวงศ์ปาล์ม (Arecaceae) พบได้มากในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แถบอะเมซอน โดยเฉพาะในประเทศบราซิล ลักษณะต้นอาไซอิเป็นทรงกระบอกสีน้ำตาลเทา สูงได้ถึง 25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ที่ลำต้นมีรอยวงแหวนเป็นระยะๆ ใบเป็นใบประกอบอยู่บริเวณด้านบนของลำต้น ดอกขนาดเล็กสีม่วงน้ำตาล ผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเมล็ดเดี่ยวขนาดใหญ่ ผลดิบมีเปลือกสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม ชาวพื้นเมืองใช้ผลอาซาอิในการทำขนม เครื่องดื่มและไวน์ โดยพบว่าชาวบราซิลบริโภคเครื่องดื่มจากผลอาไซอิถึงวันละ 1 ลิตร (1) ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาผลอาไซอิได้ถูกทำแห้ง บดเป็นผง หรือแยกเนื้อผลออกแช่แข็งแล้วส่งออกเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบต่างๆ เช่น เม็ด แคปซูล เครื่องดื่มและผงชงดื่ม รวมทั้งพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง เช่น ครีม โลชั่น เจล ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น (2) ส่วนในประเทศไทย ก็เริ่มมีการนำผลอาไซอิมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆแล้วเช่นกัน
คุณค่าทางอาหารของเนื้อผลอาไซอิพบว่าประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก นอกนั้นคือโปรตีน และไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคาร์โบไฮเดรตในเนื้อผลอาไซอิจะเป็นใยอาหาร (3, 4) กรดไขมันที่พบในเนื้อผลอาไซอิส่วนใหญ่เป็นกรดโอเลอิก (oleaic acid) (5) นอกจากนี้ในผลอาไซอิยังประกอบด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanins) เช่น cyanidin-3-glucoside และ cyaniding-3-rutinoside รวมทั้งสารฟินอลิกและฟลาโวนอยด์อื่นๆ เช่น quercetin, vitexin, catechin, epicatechin, ferulic acid, vanillic acid และ oligomeric procyanidins (6-8)
การศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในหลอดทดลองของเนื้อผลอาไซอิโดยใช้วิธีการทดสอบต่างๆ เช่นการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH และอนุมูล peroxyl และการทดสอบโดยวิธี ORAC (9-11) และต้านอักเสบทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง (11, 12) การให้เนื้อผลอาไซอิ ในขนาด 200 กรัมต่อวัน (มีปริมาณฟีนอลิกรวม 131 มิลลิกรัม gallic acid equivalent ต่อเนื้อผล 100 กรัม) ในหญิงสุขภาพดีเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ catalase, เพิ่มความสามารถในการต้านออกซิเดชัน และลดการสร้างอนุมูลอิสระ(2) ในการศึกษาทางคลินิก (แบบ pilot study and small randomized, double-blind, placebo-controlled, crossover study) พบว่าการบริโภคผลอาไซอิปั่นกับน้ำเบอร์รี่ มีผลเพิ่มระดับสารต้านออกซิเดชันในซีรัม ปกป้องเซลล์จากความเสียหายจากการออกซิเดชัน ลดการเกิดอนุมูลอิสระ และลดการสร้าง pro-inflammatory cytokines และ chemokines (13) การให้เครื่องดื่มอาไซอิขนาด 7 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ในคนสุขภาพดี พบว่า หลังจากบริโภคไปแล้ว 12 ชั่วโมง ความสามารถในการต้านออกซิเดชันในพลาสมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (14) โดยพบว่าการบริโภคเนื้อผลอาไซอิจะมีระดับของสารแอนโทไซยานินในเลือดสูงกว่าการบริโภคน้ำอาไซอิ สอดคล้องกับความสามารถในการต้านออกซิเดชันในเลือดที่สูงกว่า (13) ซึ่งฤทธิ์ต้านออกซิเดชันที่สูงของอาไซอินั้นเป็นผลมาจากการมีสารกลุ่มฟินอลิกและฟลาโวนอยด์ โดยเฉพาะสารกลุ่มแอนโทไซยานินในปริมาณที่สูงนั่นเอง (5) นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของอาไซอิหลายผลิตภัณฑ์ มีการอวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนักได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัตินี้ของอาไซอิอย่างชัดเจน มีการศึกษาถึงผลของอาไซอิต่อ metabolic parameter ในคนที่มีน้ำหนักเกิน (ค่า BMI มากกว่า 25 แต่ไม่เกิน 30) โดยให้รับประทานผลอาไซอิวันละ 200 กรัม เป็นเวลา 1 เดือน พบว่ามีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลิน และระดับคอเลสเตอรอลรวม โดยไม่มีผลต่อความดันโลหิต (15)
ในขณะนี้ ยังไม่พบรายงานการควบคุมคุณภาพหรือสารสกัดมาตรฐานของผลอาไซอิ (5) แม้ว่าไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลันเมื่อให้อาไซอิขนาด 2 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวในสัตว์ทดลอง (3) แต่ควรระวังการเกิดภาวะภูมิแพ้ (allergy) หรือภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ในผู้บริโภคบางคนที่มีอาการต่อพืชในวงศ์ปาล์ม (Arecaceae) (5) นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันในเลือด ยาลดน้ำตาลในเลือด หรืออินซูลิน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคผลิตภัณฑ์จากอาไซอิ เนื่องจากอาจเกิดอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยา รวมทั้งสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร ก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์จากอาไซอิ เนื่องจากยังไม่มีรายงานความปลอดภัยในผู้บริโภคกลุ่มนี้