เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เข้าถ้ำ เข้าป่า ระวังติดเชื้อที่แฝงอยู่


อาจารย์ ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://static.independent.co.uk/s3fs-pu...G?w968h681
อ่านแล้ว 15,003 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/07/2561
อ่านล่าสุด 45 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


จากข่าวที่ครึกโครมและเอาใจช่วยจากคนทั่วโลกของทีมฟุตบอลเยาวชน "หมูป่าอาคะเดมี่" ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานถึง 17 วัน จนในที่สุดได้รับการช่วยเหลือและพาส่งโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย แต่แพทย์ต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดและต้องให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 7 วัน พร้อมเจาะเลือดตรวจอย่างละเอียดเพราะเกรงจะติดเชื้อจากพาหะที่มีมากมายในถ้ำ เราจะมาดูกันว่ามีโรคอะไรที่จะเกิดขึ้นได้หากต้องสัมผัสกับเชื้อในป่าหรือในถ้ำเป็นเวลานาน 
 
ภาพจาก : https://ichef.bbci.co.uk/images/ic/720x405/p06d6k57.jpg 
การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเช่นการสำรวจป่า ถ้ำหรือหน้าผา ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามถ้านักท่องเที่ยวขาดความระมัดระวังหรือการดูแลตัวเองอาจทำให้มีโอกาสที่ป่วยหรือเป็นโรคที่มาจากการท่องเที่ยวได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อที่มีสัตว์หรือแมลงเป็นพาหะ (zoonotic or arthropod-borne diseases) เนื่องจากในป่าหรือถ้ำนั้นเป็นที่อาศัยของสัตว์รวมถึงแมลงต่างๆ เช่น ค้างคาว นก หนู รวมทั้งแมลงต่างๆ เช่น เห็บ ยุง ริ้น ไร เป็นต้น ที่อาจเป็นแหล่งรังโรคและเป็นพาหะของโรคติดต่อที่สำคัญได้ โรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์หรือแมลงพาหะดังกล่าวมีมากมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างโรคที่สามารถพบได้ดังนี้ 
1. โรคฮีสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis) 
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Histoplasma capsulatum ซึ่งมักพบเชื้อได้ในบริเวณพื้นดินที่มีความชื้นสูง อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าหรือถ้ำ โรคนี้สามารถติดต่อไปยังคนผ่านทางการสูดละอองของสปอร์จากเชื้อที่ปนเปื้อนในฝุ่นหรือมูลค้างคาวเข้าไป อาการของโรคจะพบตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงมีอาการปอดบวมรุนแรง รวมถึงอาจพบการติดเชื้อในอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ไขกระดูก ระบบประสาทส่วนกลางได้ โรคนี้ยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คนหรือสัตว์สู่คน การป้องกันทำได้โดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากการสูดดมละอองสปอร์ของเชื้อเข้าไป เช่น ใช้หน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดปากและจมูก เป็นต้น 
2. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) 
เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดรวมทั้งค้างคาวที่อยู่ในป่าหรือถ้ำ ผู้ที่ติดเชื้อมักมีสาเหตุมาจากการถูกค้างคาวกัดรวมถึงคนส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกตัวในขณะถูกกัด ทำให้ไม่สามารถที่จะทำความสะอาดบาดแผลหรือรักษาได้ทันท่วงที อาการของโรคจะเริ่มต้นจาก มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กลัวแสง เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่สมองและระบบประสาทจะแสดงอาการที่รุนแรงขึ้นจนทำให้เสียชีวิตได้ การป้องกันคือระวังอย่าให้ค้างคาวกัดหรือควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการเดินทางท่องเที่ยวหรือการสัมผัสเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) รายละเอียดเพิ่มเติมของโรคนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ “โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้!” (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12) 
3. โรคฉี่หนู (Leptospirosis) 
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Leptospira พาหะของโรคที่สำคัญคือหนูรวมถึงค้างคาวที่อยู่ในถ้ำ คนได้รับเชื้อจากการถูกสัตว์กัด สัมผัสกับน้ำหรือปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อดังกล่าว อาการของโรคที่พบได้เช่น ไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อมาก ต่อมน้ำเหลืองโต ตับและม้ามโต รวมถึงมีภาวะตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่านได้ การป้องกันโรคนี้สามารถทำได้โดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ใส่ถุงมือ สวมรองเท้าบูท นอกจากนี้ถ้าสัมผัสกับปัสสาวะสัตว์ รวมถึงดินหรือน้ำที่สงสัยการปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ ควรรีบล้างทำความสะอาดทันที รายละเอียดเพิ่มเติมของโรคฉี่หนูสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ “โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/75) 
4. โรคสมองอักเสบ (Encephalitis) 
จากไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) โรคนี้มีค้างคาวกินผลไม้และค้างคาวกินแมลงเป็นแหล่งรังโรค คนได้รับเชื้อไวรัสนี้ผ่านทางการสัมผัสกับสุกรที่ติดเชื้อหรือจากการรับประทานผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายหรือปัสสาวะของค้างคาว นอกจากนี้อาจมาจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาวเช่นน้ำลายหรือปัสสาวะได้เช่นกัน มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนเมื่อสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ อาการของผู้ป่วยมีหลายหลายตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จนถึงอาการหนักคือสมองอักเสบซึ่งอาจมีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยการป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่มีรอยสัตว์กัดแทะ การสัมผัสกับมูลปัสสาวะของค้างคาว รวมถึงการล้างมือเมื่อสัมผัสกับสิ่งที่สงสัยการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของค้างคาว เป็นต้น 
5. โรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ (Arthropod-borne diseases) 
โรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะที่สำคัญและพบมากในประเทศไทยคือ โรคไข้มาลาเรียและไข้เลือดออกเดงกี ที่นำโดยยุงพาหะ ซึ่งพาหะของโรคมาลาเรียคือยุงก้นปล่อง (Anopheles) ในขณะที่พาหะของไข้เลือดออกเดงกีคือยุงลาย (Aedes) โดยอาการสำคัญของโรคมาลาเรียคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวรวมถึงมีอาการสำคัญคือ "ไข้จับสั่น” ได้แก่ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูง และตามด้วยเหงื่อออก ในขณะที่อาการสำคัญของไข้เลือดออกคือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีจุดเลือดออก ในรายที่อาการรุนแรงอาจพบเลือดออกที่อวัยวะภายในและมีอาการช็อกได้ การป้องกันที่สำคัญคือการระวังไม่ให้ยุงกัดโดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดขณะเข้าไปท่องเที่ยวในป่าหรือถ้ำรวมถึงการใช้ยากันยุง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียในขณะที่มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแล้ว อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนดังกล่าวควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ทุกครั้ง 
6. โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) 
หรือโรคไข้รากสาดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่นำโดยแมลงที่เกิดจากเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsia) โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการถูกตัวไรอ่อน (Chigger mite) ที่มีเชื้อริกเก็ตเซียกัด อาการของโรคที่สำคัญคือ จะมีแผลที่รอยกัดลักษณะบุ๋มและมีสีดำคล้ายรอยถูกบุหรี่จี้ (eschar) ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะบริเวณขมับและหน้าผาก คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก หูอื้อ ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ตับและม้ามโต บางรายอาจพบผื่นแดงตามลำตัวรวมถึงแขนขา โดยผื่นเหล่านี้สามารถหายได้เอง นอกจากนี้ยังอาจพบอาการแทรกซ้อนเช่น ไตวาย ปอดอักเสบ ช็อค ภาวะหายใจล้มเหลว เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น การป้องกันที่สำคัญคือหลีกลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่อาศัยของไรอ่อนที่เป็นพาหะ หากจำเป็นต้องเข้าไปควรสวมเครื่องแต่งกายที่มิดชิดรวมถึงทายาป้องกันแมลงกัด นอกจากนี้หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากกลับจากการไปท่องเที่ยวในป่า ถ้ำ หรือพื้นที่เสี่ยงที่มีตัวไรพาหะประมาณ 2 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที 
การป้องกันโรคที่สำคัญนอกเหนือจากการป้องกันตัวเองมิให้สัมผัสหรือถูกกัดจากสัตว์และแมลงต่างๆ ที่อยู่ภายในถ้ำแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในถ้ำควรศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงวิธีการป้องกันโรคเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเตรียมตัวก่อนที่จะเดินทางต่อไป นอกจากนี้ผู้ที่เข้าไปท่องเที่ยวจึงควรหมั่นสังเกตอาการและสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอในระหว่างท่องเที่ยวและภายหลังกลับจากการท่องเที่ยวแล้ว ถ้ามีอาการผิดปกติหรือไม่สบาย ควรรีบพบแพทย์ทันที 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Igreja RP. Infectious diseases associated with caves. Wilderness Environ Med 2011; 22: 115-21.
  2. ศุภกร ฟุ้งลัดดา และ พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์. Dimorphic fungi. ใน: จุลชีววิทยาทางการแพทย์ พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์ วรรณี กัณฐกมาลากุล ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล และ ภัทรชัย กีรติสิน (บรรณาธิการ).พิมพ์ครั้งที่ 1. วี.เจ. พริ้นติ้ง: กรุงเทพฯ 2556.
  3. สุมาลย์ สาระยา. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู.[ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/75.
  4. คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้!. [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12.
  5. Information center of emerging infectious diseases: WHO collaborating center for research and training on viral zoonoses. โรคสมองอักเสบจากไวรัสนิปาห์ (Nipah virus). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.cueid.org/content/view/45/71/.
  6. โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชสาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล. มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า (Malaria). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/hospital-malaria-th.php.
  7. สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คำอธิบายโรค (Face sheet) เรื่อง โรคสครับไทฟัส (Scrub Typhus). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 12 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaivbd.org/n/contents/view/324691.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคติดเกม 18 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้