Loading…

ทำไมตอนมีไข้ถึงฝันร้าย ?

ทำไมตอนมีไข้ถึงฝันร้าย ?

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งรัก บุญดำ ช่วยบุญ

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

426 ครั้ง เมื่อ 1 วันที่แล้ว
2025-03-31

ฝันร้ายเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายมีภาวะไข้ จากการศึกษาในหลายการศึกษาพบว่า คนที่มีอาการไข้มักจะพบเจอกับความฝันที่แปลกประหลาด ภาพในความฝันมีความชัดเจนเหมือนเกิดขึ้นจริง เป็นความฝันที่มีความรู้สึกเชิงลบ เช่น เศร้า เสียใจ ไม่มีความสุข มากกว่าอารมณ์เชิงบวก บางครั้งภาพที่เห็นในความฝันจะบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง เช่น เห็นภาพผนังห้องหรือสิ่งของในห้องเคลื่อนไหวได้ หรือมีความฝันที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามจากสัตว์และสิ่งของ เช่น สุนัขกัด แมลงรุมตอม โดนกิ่งไม้หักฟาดตัว บางคนก็อาจฝันถึงอาการป่วย เช่น หายใจไม่ออก เจ็บปวดร่างกาย ซึ่งแตกต่างจากความฝันที่เกิดขึ้นในภาวะที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี

อาการฝันร้ายช่วงมีไข้เกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุที่แท้จริงของอาการฝันร้ายในช่วงมีไข้นั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีบางสมมติฐานที่กล่าวว่าความฝันที่ผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการที่สมองของเรามีอุณหภูมิที่สูงมากเกินไป (overheated brain) เพราะขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะไข้นั้น อุณหภูมิร่างกายจะพุ่งสูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ความร้อนที่เพิ่มขึ้นในสมองจะไปรบกวนการหลับในระยะที่มีการกลอกของลูกตาไปมาอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า ช่วง rapid eye movement (REM) ซึ่งเป็นช่วงที่เราจะพบความฝันในลักษณะที่เห็นภาพชัดเจน และมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้ความร้อนที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลต่อกระบวนการสร้างความจำซึ่งเกิดขึ้นในช่วง REM ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการหลับในช่วง REM ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจส่งผลให้ความฝันที่เกิดขึ้นมีความแปลก ไม่ปกติ เนื้อหาความฝันที่เกิดขึ้นผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม อาการฝันร้ายในช่วงมีไข้ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย เนื่องจากความฝันส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงของการนอนระยะ REM ซึ่งเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง ลักษณะกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ทำให้ขยับตัวไม่ได้ ผู้ที่ฝันจึงไม่สามารถแสดงท่าทางเหมือนในความฝันได้ เป็นกลไกปกติของร่างกายในการป้องกันการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว แต่ความฝันที่เกิดขึ้นอาจส่งผลทางด้านจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก ทำให้เราตื่นขึ้นมาด้วยอารมณ์ที่ไม่มีความสุข เศร้า ไม่สดใส ซึ่งอาจส่งผลให้เราใช้ชีวิตในวันนั้นด้วยอารมณ์ขุ่นมัวตลอดวัน  

วิธีการรับมืออาการฝันร้ายช่วงมีไข้

ในภาวะที่มีไข้นั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะฝันร้ายหรือไม่ วิธีการรับมือไม่ให้ความฝันที่เกิดโหดร้ายเกินไป หรือป้องกันไม่ให้ฝันร้ายเกิดขึ้น จึงทำได้ด้วยการรักษาภาวะไข้ ลดอุณหภูมิของร่างกายลง ไม่ให้สมองเกิดภาวะร้อนมากเกินไป การพักผ่อนที่เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว การดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ การทานอาหารที่ย่อยง่ายเพื่อช่วยส่งเสริมการนอนอย่างมีคุณภาพ หรือการรับประทานยาลดไข้ เป็นเพียงบางตัวอย่างของวิธีการรับมือที่จะช่วยบรรเทาความฝันหรือป้องกันไม่ให้ความฝันเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตามหากร่างกายกลับมาแข็งแรงดีแล้ว แต่ฝันร้ายยังคงอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำต่อไป เพราะฝันร้ายที่เกิดขึ้นอาจบ่งบอกถึงภาวะความผิดปกติของร่างกาย เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะเครียด ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ปัญหาการนอนหลับ หรือความผิดปกติของสมองได้

Image by katemangostar on Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

1. Sleepfoundation. Fever Dreams: Causes and Meaning.

2. Calm blog. What are fever dreams and what causes them?

3. Pagel JF. Nightmares and disorders of dreaming. Am Fam Physician. 2000;61(7):2037-42, 44.

4. Schredl M, Erlacher D. Fever Dreams: An Online Study. Front Psychol. 2020;11:53.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 2 วินาทีที่แล้ว
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กับกรดโฟลิก .. คุณประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้าม 8 วินาทีที่แล้ว
โรคสมาธิสั้นในเด็ก: การรักษาด้วยยา 11 วินาทีที่แล้ว
กระชายดำกับสมรรถภาพทางเพศชาย 23 วินาทีที่แล้ว
ยาเบาหวาน ... กินอย่างไรให้ถูกต้อง 25 วินาทีที่แล้ว
การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก (ตอนที่ 3) 27 วินาทีที่แล้ว
ยาเลื่อนประจำเดือน .. ที่นี่มีคำตอบ 30 วินาทีที่แล้ว
ไขมันในเลือดสูงกับอาหาร 46 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 1 นาทีที่แล้ว
การตรวจอุจจาระ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา