Knowledge Article


โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 4) การดูแลและรักษาน้ำกัดเท้า


อาจารย์ ดร. วรวรรณ กิจผาติ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
34,630 View,
Since 2011-11-18
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ในปี พ.ศ.2554 ประเทศไทยได้ประสบภาวะอุทกภัยอย่างหนัก ครอบคลุมหลายบริเวณ ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางโดยเฉพาะจังหวัด ลพบุรี นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเป็นจำนวนมาก ทั้งไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนอาหารและน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มมีน้ำท่วมขังอยู่เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคคฉี่หนู โรคผิวหนังต่างๆ รวมถึงภาวะน้ำกัดเท้า

น้ำกัดเท้าเป็นอาการทางผิวหนังที่พบบ่อยในภาวะอุทกภัย เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณเท้าที่แช่อยู่ในน้ำที่สกปรกเป็นเวลานาน หรือมีความชื้นที่เท้าอยู่ตลอดเวลา หากปล่อยให้มีการอักเสบอย่างต่อเนื่อง ผิวหนังจะมีการเปื่อย ฉีกขาด และมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราตามมา ดังนั้นจึงสามารถแบ่งระยะและการรักษาภาวะน้ำกัดเท้า ตามอาการ ดังต่อไปนี้

ระยะที่เกิดการระคายเคือง

เป็นระยะแรกเมื่อเท้าแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการเท้าเปื่อย คัน แสบ ผิวหนังแดงและลอก ระยะนี้เป็นระยะที่เป็นมาไม่นาน จึงยังไม่มีการติดเชื้อใดๆ การรักษาจะใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น ไตรแอมซิโนโลนชนิดครีม (triamcinoloe cream), เบตาเมทาโซนชนิดครีม (betamethasone cream) ทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว

ระยะที่ติดเชื้อแบคทีเรีย

เป็นระยะที่มีอาการเป็นผื่นบวมแดงมาก มีหนอง และปวด อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน จนมีรอยแผลเปื่อยที่ผิวหนังซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่แผล การรักษาในกรณีที่เป็นไม่มาก ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือด่างทับทิม แล้งทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน (povidone iodine) หรือ ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว ส่วนในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง มีอาการบวมและปวดมาก หรือในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ชนิดฉีด หรือชนิดรับประทาน เช่น คลอกซาซิลลิน (cloxacillin)

ระยะที่ติดเชื้อรา

ระยะนี้มีความแตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรียตรงที่การติดเชื้อรามักเกิดในผู้ที่แช่น้ำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานมาก หรือผู้ที่มีนิ้วเท้าชิดหรือเกยกัน อาการคือผิวหนังมีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน ร่วมกับมีประวัติเป็นมานานเกิน 2 สัปดาห์ การรักษาจะใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment), คีโทโคนาโซลชนิดครีม (ketoconazole cream) และ โคลทริมาโซลชนิดครีม (clotrimazoe cream) โดยทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว ซึ่งรูปแบบของยาจะต่างกันตรงที่ ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) มีลักษณะเป็นขี้ผึ้ง ส่วนคีโทโคนาโซลชนิดครีม (ketoconazole cream) และโคลทริมาโซลชนิดครีม (clotrimazoe cream) เป็นยาครีมซึ่งมีความน่าใช้ ไม่เหนียวเหนอะหนะ แต่ก็จะถูกชะออกได้งายกว่า ดังนั้นการใช้ ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) เป็นยาต้านเชื้อราในกรณีน้ำท่วมน่าจะมีข้อดีเหนือกว่าการใช้ยาครีมเนื่องจากขี้ผึ้งจะเกาะติดผิวหนังได้ดี ไม่ถูกชะออกง่าย และความมันของขี้ผึ้งจะช่วยลดความเปียกชื้นของผิวหนังและช่วยเคลือบผิวหนังไว้ไม่ให้สัมผัสกับสิ่งสกปรกที่มากับน้ำได้ด้วย นอกจากนี้ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ยังมีฤทธิ์ทำให้ผิวลอก จึงช่วยให้ผิวหนังที่เป็นขุยหลุดลอกออกได้ง่าย อย่างไรก็ตามการใช้ ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) อาจพบอาการข้างเคียงคือการระคายเคืองผิวหนังทำให้เกิดอาการแสบได้ ซึ่งแก้ไขได้โดยหลีกเลี่ยงการทาบริเวณแผลเปิด ลดความถี่ในการทาลง หรือหยุดทายาสักระยะ แล้วกลับไปทาใหม่เมื่ออาการระคายเคืองดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการติดเชื้อรามีอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ทา หรือมีการติดเชื้อที่เล็บร่วมด้วย ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ และรับประทานยาต่อไป

จะเห็นได้ว่าการรักษาภาวะน้ำกัดเท้าในระยะแรกนั้น ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแต่อย่างใด ที่สำคัญคือต้องทำความสะอาดด้วยสบู่และเช็ดเท้าให้แห้งทันทีหลังขึ้นจากน้ำ โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าส่วนระยะที่มีการติดเชื้อก็ต้องใช้ยาให้ถูกกับเชื้อตามอาการแสดง และต้องทำความสะอาดด้วยสบู่และเช็ดเท้าและเช็ดให้แห้งทุกครั้งก่อนทายา และในกรณีที่เป็นการติดเชื้อราจะต้องทายาต่อเนื่องไปอีก 2-4 สัปดาห์หลังจากที่รอยโรคหายเป็นปกติแล้ว

สำหรับ ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) นั้น ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากในการรักษาน้ำกัดเท้า ซึ่งสามารถใช้ได้กับน้ำกัดเท้าในทุกระยะ เนื่องจากช่วยลดอาการเท้าเปื่อย ลอก แดง และคันได้ และยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา นอกจากนี้การทาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ก่อนลงน้ำก็มีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันเนื่องจากความมันของตัวขี้ผึ้งจะช่วยลดโอกาสในการสัมผัสของน้ำสกปรกกับผิวหนังได้ ซึ่งในส่วนของการป้องกันนี้ หากไม่มีขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ก็สามารถใช้ขี้ผึ้งวาสลินทาให้ทั่วเท้า ทั้งนิ้วเท้าและง่ามนิ้วแทน แล้วเช็ดขี้ผึ้งออกและล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดเท้าให้แห้งทันทีหลังขึ้นจากน้ำ

เอสารอ้างอิงถึง

  1. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ในภาวะอุทกภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (ฉบับ 1 วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554).
  2. Whitfield's Ointment: ประเด็นควรทราบสําหรับเภสัชกร (online). Available from: http://www.osotsala-chula.com/administrator/.../whitfield%20ointment.pdf. (Cited 2011 Nov 14)
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. น้ำกัดหรือเชื้อรากัดเท้ากันแน่ (online). Available from: http://www.doctor.or.th/node/2751. (Cited 2011 Nov 14).
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.