Knowledge Article


โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 1) ไข้ไทฟอยด์


ผศ.ดร. มัลลิกา (ไตรเดช) ชมนาวัง
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
26,083 View,
Since 2011-11-10
Last active: 3h ago
https://tinyurl.com/2xp9g74d
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความกังวลในด้านที่อยู่อาศัยและการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเกิดน้ำท่วม ดังนั้นโรคระบาดที่มากับน้ำท่วมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พึงทราบ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนและป้องกันตนจากโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที อาการเจ็บป่วยแรกที่จะกล่าวถึงคือ ไข้ไทฟอยด์หรือที่รู้จักกันว่าไข้รากสาดน้อย ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วย

ไข้ไทฟอยด์
สาเหตุ: ไข้ไทฟอยด์มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย Salmonella Typhi อยู่ใน Family Enterobacteriaceae species Salmonella enterica supsp. enterica serovar Typhi ผู้ป่วยได้รับเชื้อนี้โดยการกิน เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินอาหารจะบุกรุกทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร และจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดได้ จากนั้นเชื้อยังสามารถกระจายไปยังตับ ม้าม ท่อน้ำดี และผิวหนังได้ คนจัดเป็นพาหะสำคัญของโรคนี้ และอาจกลายเป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการภายหลังจากได้รับเชื้อ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่สิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลาโดยที่ตัวเองไม่มีอาการใดๆ ดังกรณีศึกษาที่เคยโด่งดังไปทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาของ Mary Mellon หรือที่รู้จักกันว่า Typhoid Mary หญิงสาวชาวอเมริกันที่มีอาชีพแม่ครัวและถูกจัดให้เป็น “พาหะที่มีสุขภาพดีคนแรกของไข้ไทฟอยด์” ซึ่งได้แพร่กระจายเชื้อนี้ไปตามบ้านและร้านอาหารแก่คนอื่นกว่า 53 คน ในจำนวนนี้มีคนตายถึง 3 คน โดยพบเชื้อSalmonella หลบซ่อนอยู่ภายในถุงน้ำดี และหญิงสาวคนนี้ได้ถูกดำเนินคดีในที่สุด
อาการ: ในสัปดาห์แรกมักมีไข้สูงลอย ปวดหัว อ่อนเพลีย ท้องเสีย บางรายอาจท้องผูกได้ เบื่ออาหาร ม้ามโต อาจมีผื่นขึ้นตามตัวในผู้ป่วยบางราย (rose spots) ในผู้ป่วยส่วนน้อยอาจเกิดเลือดออกในลำไส้ อาการที่เกิดขึ้นจะหายได้เองภายในหนึ่งเดือน อันตรายจากโรคนี้อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ทะลุ หรืออาจแพร่กระจายไปตามอวัยวะเกิดถุงน้ำดีอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ และเกิดภาวะเลือดเป็นพิษในที่สุด
การป้องกัน: สุขอนามัยที่ดีเป็นหลักการสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อSalmonella เนื่องจากการแพร่กระจายเชื้อมักพบเกิดจากการปนเปื้อนอุจจาระผู้ป่วยในอาหาร ดังนั้นการบริโภคน้ำดื่มและอาหารที่ใหม่ สด สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อ รวมทั้งการล้างมือก่อนการรับประทานอาหารจึงเป็นการป้องกันเบื้องต้น การกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกสุขลักษณะก็เป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วย
ข้อพึงระวัง: ถึงแม้ผู้ป่วยจะฟื้นตัวหรือหายจากอาการต่างๆแล้ว แต่ก็ยังอาจมีเชื้อSalmonella ในร่างกายอยู่ ซึ่งอาจกลับเป็นโรคซ้ำได้ ผู้ป่วยจึงควรทานยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อทำลายเชื้อในร่างกายให้หมด นอกจากนี้ ยังเป็นการตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อจากการเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ด้วย
วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์: การให้วัคซีนป้องกันนั้นมักไม่ให้แก่คนทั่วไป แต่แนะนำเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นพาหะ โดยวัคซีนที่มีจำหน่ายนั้นมีหลายชนิด ทั้งวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) วัคซีนเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ (Oral live attenuated vaccine) และวัคซีนที่ทำจากส่วนแคพซูลของเชื้อ (Capsular polysaccharide vaccine)

เอกสารอ้างอิง

  1. FH Kayser et al., Medical Microbiology, Thieme, Stuttgart, Germany, 2005.
  2. MH Gerardi and MC Simmerman. Wastewater Pathogens, John Wiley & Sons, Inc., Hoboken, New Jersey, USA, 2005.
  3. http://www.cdc.gov/salmonella/

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.