ไทย |
ไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายทางอากาศ มักระบาดจากการที่ผู้ป่วยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป อาการแสดงของไข้หวัดใหญ่จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนมากจะมีอาการแสดงอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหัว อ่อนเพลีย ในเด็กส่วนมากจะมีการอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนเชื้อตาย ประกอบด้วยเชื้อ 3 ชนิด เป็น ชนิด A 2 ชนิดและชนิด B 1 ชนิด เนื่องจากตัวเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA สายสั้นๆ จำนวน 8 สาย ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย สายพันธุ์ที่ระบาดในแต่ละปีจะแตกต่างกันไป จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันทุกปี โดยในแต่ละปีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) และสถาบันวิจัยต่างๆ ได้แก่ Center for Disease Control and Prevention (USA) National Institute for Medical Research (London, UK) Victoria Infectious Diseases Reference Laboratory (Melbourne, Australia) National Institute for Infectious Diseases (Tokyo, Japan) และ National Institute for Viral Disease Control and Prevention (Beijing, China) จะทำการศึกษาสายพันธุ์ที่ระบาดและคาดการณ์ถึงสายพันธุ์ที่น่าจะระบาดในปีต่อไปแล้วจึงนำสายพันธุ์ดังกล่าวมาทำการผลิตวัคซีนต่อไป โดยในปี พ.ศ. 2554 ทาง WHO ได้คัดเลือกไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่จะนำมาผลิตวัคซีนสำหรับซีกโลกเหนือในปี พ.ศ. 2554/2555 ดังนี้
A/California/7/2009 (H1N1) – like virus
A/Perth/16/2009 (H3N2) – like virus
B/Brisbane/60/2008 – like virus
ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนในปี พ.ศ. 2553/2554 และเมื่อ 29 กันยายน 2553 ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศสายพันธุ์ที่ใช้ผลิตวัคซีนสำหรับซีกโลกใต้ ดังนี้
A/California/7/2009 (H1N1) – like virus
A/Perth/16/2009 (H3N2) – like virus*
B/Brisbane/60/2008 – like virus
* A/Wisconsin/15/2009 and A/Victoria/210/2009 are A/Perth/16/2009 – like virus
โดยจะทำการฉีดเพียง 1 ครั้งในผู้ที่อายุมากกว่า 8 ปี ภูมิคุ้มกันจะสร้างภายใน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน และแนะนำให้ฉีดแก่กลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น
บทความโดย | ดร. กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี |
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
เอกสารอ้างอิง