Knowledge Article


ภาวะไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ


ผู้ช่วยศาสาตราจารย์ ดร.ภญ. บุญธิดา มระกูล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพประกอบจาก : https://images.theconversation.com/files/284665/original/file-20190718-116539-sq5hx6.jpg?ixlib=rb-1.1.0&q=20&auto=format&w=320&fit=clip&dpr=2&usm=12&cs=strip
5,864 View,
Since 2022-10-03
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2ywz9dwr
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ภาวะไอเรื้อรังเป็นอาการที่พบได้บ่อยภายหลังการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัด (Rhinovirus), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), Adenovirus, และ Respiratory syncytial virus (RSV) ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “post-infectious cough” โดยส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้ง และมีอาการในลักษณะกึ่งเฉียบพลัน คืออาการไอจะคงอยู่นานกว่า 3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อแต่ไม่เกิน 8 สัปดาห์(1) โดยทั่วไปการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้ภายใน 7-14 วัน อย่างไรก็ตามอาการไอเรื้อรังที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อเชื่อกันว่ามีสาเหตุมาจากเสมหะหรือน้ำมูกที่ไหลลงคอ หรืออาจเกิดจากการอักเสบอันเนื่องมาจากการติดเชื้อในตอนแรก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความน่าจะเป็นในการเกิดภาวะไอเรื้อรังคือการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนทำให้เกิดเมือกปริมาณมากซึ่งไม่สามารถกำจัดออกไปทางปอดได้อย่างเพียงพอ ภาวะไอเรื้อรังที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจส่งผลทำให้ระยะเวลาในการติดเชื้อของผู้ป่วยยาวนานขึ้นด้วย(2)



ภาพจาก : https://i0.wp.com/allergylosangeles.com/wp-content/uploads/2019/07/man-cough.jpg?fit=710%2C474&ssl=1

ในการวินิจฉัยภาวะไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ แพทย์จะมีการตรวจร่างกายและซักถามประวัติความเจ็บป่วย เช่น เวลาที่เริ่มเป็นหวัดหรือติดเชื้อ ลักษณะของการไอในปัจจุบัน และอาการอื่นๆ และทำการพิจารณาแยกแยะสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้ซึ่งทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ได้แก่ โรคกรดไหลย้อน (GERD), หอบหืด, ปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบ, ไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย, การสูบบุหรี่, การใช้ยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitor เช่น enalapril, captopril, ramipril การวินิจฉัยอาการจะมีการถามถึงลักษณะการไอเพื่อพิจารณาถึงสาเหตุว่ามาจากการมีเมือกเหลวในทางเดินหายใจไหลลงคอ (postnasal drip) หรือมีการอักเสบจากการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

ยาที่ใช้รักษาอาการไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ(3) ได้แก่
  1. กลุ่มยาที่ช่วยลดการเกิด postnasal drip ได้แก่ ยากลุ่ม anti-histamine เช่น chlorpheniramine, cetirizine, loratadine, fexofenadine โดยพบว่ายา anti-histamine ในกลุ่ม first generation ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมจะมีประสิทธิภาพในการลด post-infectious cough ได้ค่อนข้างดีกว่า และหากผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้อาจมีการพิจารณาใช้ยาในรูปแบบพ่นจมูก เช่น fluticasone propionate, ipratropium bromide
  2. กลุ่มยาที่ช่วยต้านการอักเสบบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ การไอหลังการติดเชื้ออาจเกิดจากการอักเสบที่บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ไวขึ้น การรักษาจึงสามารถใช้ยาที่ใช้รักษาในโรคหอบหืดโดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ(4) ยาในกลุ่มดังกล่าวได้แก่ corticosteroids ชนิดสูดพ่น, Leukotriene receptor antagonist เช่น montalukast, และ corticosteroids ชนิดรับประทาน เช่น prednisolone
  3. กลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอ ได้แก่ ยาระงับการไอที่มีส่วนผสมของ dextromethorphan ในกรณีที่มีการไอแห้ง หรือยาที่ช่วยลดความข้นของเมือกเสมหะเพื่อทำให้เสมหะถูกกำจัดได้ง่ายขึ้น เช่น guaifenesin ในกรณีไอมีเสมหะ
  4. การบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น

    - การใช้น้ำมันยูคาลิปตัส เชื่อว่าน้ำมันยูคาลิปตัสสามารถบรรเทาอาการไอได้โดยทำให้ความข้นของเสมหะลดลง วิธีใช้โดยการสูดดมไอน้ำที่ผสมน้ำมันยูคาลิปตัส ในสัดส่วนน้ำมันยูคาลิปตัส 12 หยดต่อน้ำเดือดประมาณ 150 มิลลิลิตร หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัสเพื่อสูดดมหรือทาบริเวณหน้าอก หลัง และลำคอ อย่างไรก็ตามข้อควรระวังคือไม่ควรใช้น้ำมันยูคาลิปตัสในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร และห้ามรับประทานเนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษได้(5)

    - การดื่มชาหรือกาแฟผสมน้ำผึ้ง อาจช่วยบรรเทาอาการไอเรื้อรังได้ อันเนื่องมาจากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อจุลชีพ และต้านการอักเสบ

    - การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ จะช่วยลดการไอ ช่วยชะล้างและลดความข้นของเสมหะ โดยการผสมเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง หรืออาจใช้ Sodium Chloride 0.9% Irrigation Solution ทำการกลั้วคอเป็นเวลา 10 วินาที

    - หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือสภาวะที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น มลภาวะ การสูบบุหรี่
เอกสารอ้างอิง
  1. Braman SS. Postinfectious cough: ACCP evidence-based clinical practice guidelines. Chest. 2006; 129(1 Suppl):138S-146S.
  2. Lai K, Shen H, Zhou X, et al. Clinical practice guidelines for diagnosis and management of cough-Chinese Thoracic Society (CTS) asthma consortium. J Thorac Dis. 2018;10(11):6314-6351.
  3. Kristin HRN. What’s causing your lingering cough and how to treat it. [cited 2022 Sep 21]; Available from: https://www.verywellhealth.com/treatments-for-lingering-cough-4107545.
  4. Weinberger SE. Evaluation and treatment of subacute and chronic cough in adults. UpToDate. [cited 2022 Sep 21]; Available from: https://www.uptodate.com/contents/evaluation-and-treatment-of-subacute-and-chronic-cough-in-adults.
  5. Horvath G, Acs K. Essential oils in the treatment of respiratory tract diseases highlighting their role in bacterial infections and their anti-inflammatory action: a review. Flavour Fragr J. 2015;30(5):331-341.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.