Knowledge Article


คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการใช้กัญชา


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ และ
รองศาสตราจารย์ ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ **
ภาคเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
** ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://thegreenerinstitute.com/wp-content/uploads/cooking-with-cannabis.jpg
8,081 View,
Since 2022-06-19
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/239r4vrv
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


คำถาม การนำใบหรือดอกกัญชามาประกอบอาหารหรือใส่ในเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ มีความปลอดภัยเหมือนกับพืชผักอื่นที่ใช้ทำอาหารเช่นกัน

คำตอบ ใบและดอกกัญชามีสารออกฤทธิ์หลายชนิด รวมถึง THC ด้วย แต่ปริมาณ THC ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับปริมาณกัญชาที่ใช้ และวิธีการปรุง อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบแม้จะช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกอร่อยขึ้น แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการมึนงง อาเจียน ใจสั่น หน้ามืด เป็นลมขึ้นได้ เนื่องจากแต่ละคนมีการตอบสนองต่อ THC แตกต่างกัน ดังนั้น หากไม่ตั้งใจจะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ควรสอบถามผู้จำหน่ายถึงส่วนประกอบของอาหารก่อนทุกครั้ง

คำถาม การลองใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพียงครั้งเดียว ไม่ทำให้เกิดการเสพติด

คำตอบ การใช้กัญชามีผลทำให้เกิดฤทธิ์กดสมอง ทำให้เกิดอาการง่วงซึม มีความสุข คลายเครียด เคลิ้ม และประสาทหลอนได้ แม้ว่าการทดลองใช้เพียงครั้งเดียวจะไม่ใช่การเสพติด แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากทดลองหรือใช้ซ้ำเพื่อให้ได้ฤทธิ์ของกัญชาที่อยากให้เกิดขึ้น จึงสามารถพัฒนาไปเป็นการใช้อย่างต่อเนื่องจนเกิดการเสพติดได้ในที่สุด

คำถาม กัญชามีผลต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะหรือไม่

คำตอบ สาร THC ในกัญชามีผลกดการทำงานของสมอง ให้เกิดอาการง่วงซึม เคลิ้ม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรงตัวลำบาก หรือหากใช้ปริมาณมาก ก็ทำให้เกิดอาการหลอนได้ (ปริมาณการใช้ที่จัดว่า “มาก” นี้มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล) โดยเฉพาะหากได้รับร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น หากได้รับกัญชาเข้าสู่ร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ เพราะอาจทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ ช้าลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรที่ต้องอาศัยสมาธิหรือความตั้งใจสูงด้วย

คำถาม ทำไมถึงไม่ให้เด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงหญิงมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรใช้กัญชา

คำตอบ การศึกษาทางการแพทย์พบว่า สารในกัญชามีผลต่อพัฒนาการของสมอง ทำให้ความจำแย่ลง รวมถึงทำให้ระดับสติปัญญา (IQ) ลดลง และทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำมีขนาดเล็กลงด้วย นอกจากนี้ เด็กหรือเยาวชนที่ใช้กัญชาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจิตเภทได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรให้เด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ทดลองใช้หรือใช้กัญชา เพราะทำให้เกิดโทษต่อร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาวมาก นอกจากนี้ สารในกัญชายังสามารถผ่านรกและน้ำนมได้ จึงมีผลต่อพัฒนาการของสมองของทารกในครรภ์ อาจทำให้ทารกมีระดับสติปัญญาที่วัดโดยใช้ค่า IQ ลดลงด้วย

คำถาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวและรับประทานยารักษาอยู่ด้วย สามารถใช้กัญชาร่วมด้วยได้หรือไม่

คำตอบ ขณะนี้กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ค่อนข้างจำกัดอยู่เฉพาะในบางโรค บางสภาวะเท่านั้น ยาแผนปัจจุบันหลายชนิดมีผลช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ดีอยู่แล้ว โดยที่มีอาการไม่พึงประสงค์น้อย ไม่มีผลต่ออารมณ์หรือจิตใจ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้กัญชาทดแทนยาแผนปัจจุบัน แต่อาจใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้ ทั้งนี้ ต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบทุกครั้งว่าใช้กัญชาอยู่ เนื่องจากสารในกัญชามีผลเปลี่ยนแปลงการทำงานของเอนไซม์ในตับที่ทำหน้าที่เปลี่ยนสภาพยาแผนปัจจุบันหลายชนิด จึงอาจส่งผลทำให้ผลการรักษาหรือการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาแผนปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปได้

คำถาม หากได้รับกัญชาปริมาณสูง จะทำให้เกิดอะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไร

คำตอบ อาการพิษจากกัญชา ได้แก่ วิตกกังวล มึนศีรษะ ปากแห้ง เคลิ้ม หลอน กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรับรู้ต่าง ๆ ผิดปกติ อาจพบการหัวเราะหรือพูดมาก ตาแดง หัวใจเต้นเร็ว อาเจียนรุนแรง ในบางรายอาจรุนแรงจนเกิดอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งปัจจุบันไม่มียาต้านพิษของกัญชาโดยตรง หากเกิดอาการพิษขึ้น การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ทั้งนี้ หลังจากหยุดใช้กัญชาแล้ว อาการพิษจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 4-6 ชั่วโมง แต่ก็ยังต้องใช้เวลาเป็นวัน กว่าจะกลับมาเป็นปกติ
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.