Knowledge Article


ประโยชน์ของการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน


อาจารย์ ดร. กภ.ยิ่งรัก บุญดำ ช่วยบุญ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://imagenes.elpais.com/resizer/yl9p9tQfGRABy3wfzo3cslN0RkY=/414x0/cloudfront-eu-central-1.images.arcpublishing.com/prisa/54U4WRTTBGBMPGKB3EBSXHYCIE.jpg
24,662 View,
Since 2022-06-06
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ปัญหาปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะออกแรงยกของ ไอ จาม หัวเราะ หรือออกกำลังกาย เป็นปัญหาที่พบได้ในบุคคลที่มีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor muscle) อาการอ่อนแรง โดยกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นกล้ามเนื้อที่วางตัวอยู่ภายในกระดูกอุ้งเชิงกราน ในผู้หญิงจะทำหน้าที่พยุงมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ และเป็นช่องทางออกของรูเปิด 3 รูด้วยกัน คือ ช่องคลอด (vagina) ท่อปัสสาวะ (urethra) และรูทวาร (anal passage) ส่วนในผู้ชายนั้นจะทำหน้าที่พยุงกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ และเป็นช่องทางออกของรูเปิด 2 รู คือ ท่อปัสสาวะ และรูทวาร ดังนั้นเมื่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเกิดการหดตัว จะส่งผลให้รูเปิดต่าง ๆ เกิดการหดรัดตัวตามไปด้วย ในทางกลับกันหากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเกิดการคลายตัว อยู่ในสภาวะที่อ่อนแรง หรือหดตัวได้น้อยลง จะส่งผลให้รูต่าง ๆ เกิดการคลายตัว และทำให้สสารต่าง ๆ ที่อยู่ในท่อเหล่านั้นเกิดการการไหลออกจากร่างกาย



ด้วยลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่แข็งแรงจะช่วยให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ และการขับแก๊สได้ โดยเราสามารถกลั้นสิ่งเหล่านี้เมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม และขับออกเมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม นอกจากนี้กล้ามเนื้อที่แข็งแรงยังมีผลดีที่จำเพาะต่อแต่ละเพศ กล่าวคือ ในเพศหญิง จะช่วยพยุงทารกในครรภ์ ช่วยให้การคลอดบุตรเกิดขึ้นได้ง่าย ช่วยกระชับช่องคลอด และช่วยป้องกันภาวะมดลูกหย่อน ส่วนในเพศชายนั้น จะช่วยให้การฟื้นตัวหลังจากการผ่าตัดต่อมลูกหมากเกิดขึ้นได้ดี เนื่องจากการผ่าตัดต่อมลูกหมากจะส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้รับบาดเจ็บ



การหาตำแหน่งของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
  1. ขณะกำลังปัสสาวะ ให้ลองพยายามหยุดการขับปัสสาวะด้วยการขมิบ หากปัสสาวะหยุดไหล แสดงว่ากำลังขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน จากนั้นให้ผ่อนคลายปล่อยให้ปัสสาวะไหล และลองหยุดอีกครั้ง พยายามทำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้จับความรู้สึกของการขมิบได้ (ข้อควรระวัง ! อย่าพยายามขมิบขณะปัสสาวะบ่อย ๆ เนื่องจากอาจทำให้ปัสสาวะเหลือค้างอยู่ในท่อ และกระเพาะปัสสาวะ และนำไปสู่การติดเชื้อในท่อทางเดินปัสสาวะได้)
  2. ขณะนั่ง นอน หรือยืน ให้ลองขมิบรูทวาร เหมือนกำลังพยายามจะอั้นการผายลม จำความรู้สึกของการขมิบนั้นไว้ แล้วผ่อนคลาย ลองทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
  3. กรณีนี้ทำในเพศชาย ให้ถอดเสื้อผ้า ยืนหน้ากระจก ลองขมิบรูทวาร ถ้าขมิบได้ถูกต้องจะสังเกตการหดตัวขององคชาติในลักษณะเคลื่อนเข้าสู่แกนกลางลำตัว และพบการยกขึ้นของถุงอัณฑะ จำความรู้สึกนั้นไว้ แล้วผ่อนคลาย สังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ลองทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

เมื่อทราบตำแหน่งของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแล้ว ให้ขมิบเหมือนพยายามจะกลั้นปัสสาวะหรือผายลม (ในเพศชายอาจลองจินตนาการว่ากำลังพยายามยกถุงอัณฑะขึ้นและบังคับให้องคชาติเคลื่อนเข้า) จากนั้นให้เกร็งค้างไว้ประมาณ 8 วินาที แล้วผ่อนคลาย และพักประมาณ 8 วินาที จากนั้นทำการขมิบซ้ำ วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยจะฝึกวันละ 3 เช็ต 8-12 ครั้งต่อเซ็ต
  • หากไม่สามารถเกร็งค้างได้นาน 8 วินาที ให้พยายามเกร็งให้นานที่สุด เน้นเกร็งให้ถูกมัด ดีกว่าการเกร็งอย่างแรงแต่ผิดวิธี แล้วทำให้กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บ
  • ห้ามกลั้นหายใจขณะเกร็งกล้ามเนื้อ เนื่องจากการกลั้นหายใจจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
  • ห้ามเกร็งกล้ามเนื้ออื่นช่วย เช่น กล้ามเนื้อก้น และกล้ามเนื้อต้นขา
  • สามารถทำได้ในทุก ๆ ท่า ทั้งท่ายืน นั่ง และนอน
  • พยายามทำทุกวัน เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเกร็งจนเป็นนิสัย จะช่วยให้เวลาที่เรามีความรู้สึกอยากจะกลั้นการขับถ่าย กล้ามเนื้อจะหดตัวได้เองอย่างอัตโนมัติ
เอกสารอ้างอิง
  1. Continence foundation of Australia. Pelvic floor muscle training for female [internet]. 2021 [cited 2022 May 23]. Available from: https://www.continence.org.au/who-it-affects/women/female-pelvic-floor-muscles.
  2. Continence foundation of Australia. Pelvic floor muscle training for men [internet]. 2021 [cited 2022 May 23]. Available from: https://www.continence.org.au/who-it-affects/men/male-pelvic-floor-muscles.
  3. Cynthia E. Neville. Chapter 22 Management of the pelvic floor in Older Men and Women. In: Avers Dale, Wong Rita A, Guccione Andrew A, editors. Guccione's Geriatric Physical Therapy. 4th ed. Missouri: Elsevier; 2020. 502-26.
  4. Faiena I, Patel N, Parihar JS, Calabrese M, Tunuguntla H. Conservative management of urinary incontinence in Women. Rev Urol. 2015;17(3):129-39.
  5. Saleh S, Majumdar A, Williams K. The conservative (non-pharmacological) management of female urinary incontinence. Obstet Gynecol. 2014;16(3):169–77.
  6. Wyman JF, Burgio KL, Newman DK. Practical aspects of lifestyle modifications and behavioral interventions in the treatment of overactive bladder and urgency urinary incontinence. Int J Clin Pract. 2009;63(8):1177-91.
  7. Moore KN, Saltmarche B, Query A. Urinary incontinence. Non-surgical management by family physicians. Can Fam Physician. 2003;49:602-610.
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.