Knowledge Article


โรคน้ำหนีบ (Decompression sickness)


อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.blackfrogdivers.com/wp-content/uploads/2021/03/Decompression-Sickness-while-scuba-diving.jpg
26,092 View,
Since 2022-05-28
Last active: 5m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


          โรคน้ำหนีบ หรือ Decompression sickness เป็นโรคที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นหู แต่มีความสำคัญมากในกลุ่มนักดำน้ำ โดยเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะที่ความกดอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แก๊สเฉื่อยในร่างกายจะรวมตัวกันขนาดใหญ่ทำให้เกิดฟองก๊าซ (gas bubble) ไปอุดตันภายในกระแสเลือด หรือไปซึมเข้าเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ส่งผลให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บและเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา



ภาพจาก : https://www.underseas.com/blog/wp-content/uploads/2018/04/f3c02c_3e89964ed09b45139f4ebb3f3d890dbdmv2_d_3000_2000_s_2.jpg

          ในกรณีของนักดำน้ำ โดยเฉพาะการดำน้ำลึก (self-contained underwater breathing apparatus; SCUBA) ถ้านักดำน้ำดำน้ำที่ความลึกประมาณ 30 ฟุต ร่างกายอยู่ในสภาวะที่ความกดอากาศภายนอกสูง ก๊าซเฉื่อยภายในร่างกาย โดยเฉพาะไนโตรเจนจะก่อตัวใหญ่ขึ้น ร่างกายจะปรับสมดุลด้วยการพยายามขับก๊าซเฉื่อยออกด้วยการหายใจ ซึ่งถ้าหากนักดำน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป ก๊าซเฉื่อยดังกล่าวก็จะถูกขับออกจากร่างกายไม่ทัน ก๊าซที่รวมตัวกันจึงมีขนาดใหญ่และส่งผลเสียต่อร่างกายดังที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้นักดำน้ำจึงมักมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า dive computer ที่บอกความลึก อุณหภูมิ ระยะเวลาการดำน้ำที่เหลือในแต่ละรอบการดำน้ำนั้น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคน้ำหนีบ

          โรคน้ำหนีบพบค่อนข้างน้อยประมาณ 3 ราย ต่อการดำน้ำ 10,000 ครั้ง แต่เป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะหากมีความรู้ความเข้าใจสามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเกิดโรคดังกล่าวถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ในบางครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคน้ำหนีบมีความสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรคอ้วน (high body fat content) สภาพแวดล้อมเย็น ภาวะขาดน้ำ (dehydration) และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บางการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายก่อนดำน้ำลึกช่วยป้องกันการเกิดโรคน้ำหนีบ แต่ในทางกลับกันหากออกกำลังกายหลังจากดำน้ำลึกจะเพิ่มโอกาสเกิดโรคน้ำหนีบได้

ประเภทของโรคน้ำหนีบ

          แบ่งตามความรุนแรงของโรคและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ
  1. โรคน้ำหนีบชนิดที่ 1 อาการของโรคจะแสดงที่ผิวหนัง ระบบกระดูกและข้อ และระบบต่อมน้ำเหลือง อาการจะไม่รุนแรง
  2. โรคน้ำหนีบชนิดที่ 2 อาการของโรคจะมีผลกระทบกับระบบประสาท โดยเมื่อฟองก๊าซมีขนาดใหญ่และเข้าไปที่ระบบประสาทและไขสันหลัง ทำให้มีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการ
  • ตุ่ม/ผื่นแดงบริเวณ ใบหน้า ผิวหนัง หรือตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดตามข้อ โดยเฉพาะที่หัวไหล่
  • แขนขาอ่อนแรง
  • หายใจเหนื่อย
  • แน่นหน้าอก
การช่วยเหลือเบื้องต้น

          รีบนำผู้ป่วยออกจากที่อันตราย จัดท่าทางให้ผู้ป่วยนอนหงายหรือตะแคงซ้าย เพื่อป้องกันไม่ให้ฟองก๊าซไหลจากระบบหลอดเลือดดำเข้าระบบหลอดเลือดแดง ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายผู้ป่วย และรีบโทร 1669

การรักษา
  • ใช้ออกซิเจนความดันบรรยากาศสูงในการรักษา (hyperbaric oxygen therapy) เพื่อป้องกันการสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ให้สารน้ำชนิด isotonic solution เพื่อลดภาวะขาดน้ำ
  • สวนปัสสาวะในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะเองได้
การดูแลตนเอง
  • ในกรณีที่ต้องอยู่ในภาวะที่มีความกดอากาศสูง เช่น ทำงานในอุโมงค์ใต้ดิน ดำน้ำลึก ควรศึกษาเรื่องความปลอดภัยในการทำงานหรือการดำน้ำให้ละเอียด
  • มีอุปกรณ์เตือนที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับภาวะโรคน้ำหนีบ
  • เคลื่อนจากพื้นที่ที่ความกดอากาศสูงไปต่ำอย่างช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับสมดุล
  • ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังดำน้ำลึก 24 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบินภายใน 24 ชั่วโมงหลังดำน้ำลึก
  • หากมีความผิดปกติควรไปโรงพยาบาลทันที
          สุดท้ายนี้หากรู้สึกมีอาการผิดปกติ ไม่แน่ใจภายหลังจากการดำน้ำควรรีบพามาโรงพยาบาล รวมทั้งการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยากับท่านเอง และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”

เอกสารอ้างอิง
  1. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต. ขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโรคจากการดำน้ำและสงสัยว่าเป็น Decompression Illness [cited 2022 May 19]. Available from: https://www.vachiraphuket.go.th/department/hyperbaric-medicine/%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%89/
  2. สุภาพร โอภาสานนท์. การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen (HBO) Therapy) [cited 2022 May 19]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=917
  3. Cooper JS, Hanson KC. Decompression Sickness. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 [cited 2022 May 19]. Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537264/
  4. Phatak U, David E, Kulkarni P. Decompression syndrome (Caisson disease) in an Indian diver. Ann Indian Acad Neurol. 2010;13(3):202.
  5. Pollock NW, Buteau D. Updates in Decompression Illness. Emergency Medicine Clinics of North America. 2017 May;35(2):301–19.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.