Knowledge Article


บรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะ (Tamper-Evident Packaging): ตอนที่ 3


รศ.ดร.ภก. สมบูรณ์ เจตลีลา
ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
25,608 View,
Since 2011-08-14
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2arzvc3v
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


แผงฟอยล์

แผงฟอยล์เป็นบรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันก็ว่าได้ แต่ละแผงฟอยล์นิยมใช้บรรจุยาเม็ดหรือยาแคปซูลหลายเม็ด เช่น แผงละ 4 เม็ดในยาบรรเทาปวดลดไข้และแก้หวัด 8 เม็ด หรือ 10 เม็ดในยาปฏิชีวนะ 21 เม็ด หรือ 28 เม็ดในยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น โดยมีความสามารถในการปกป้องยาแต่ละหน่วยรับประทานให้แยกออกจากกัน (unit dose package) การปกป้องที่ดีคือการเป็นเกราะป้องกันออกซิเจน ความชื้น และหรือแสง ตามที่ต้องการ เมื่อมีการแกะเกิดขึ้น ก็จะทิ้งร่องการแกะชัดเจน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือแผงบริสเตอร์ และแผงสตริป

  1. แผงบริสเตอร์

    เมื่อกล่าวถึงบรรจุภัณฑ์แบบแผงฟอยล์ เราจะนึกถึงแผงบริสเตอร์ก่อนอื่น เนื่องจากนิยมใช้กันมากในทางเภสัชกรรมด้วยเหตุผลหลายข้อที่เป็นข้อดี คือสามารถป้องกันผลิตภัณฑ์จากบรรยากาศแวดล้อม ได้แก่ ออกซิเจน ความชื้น และหรือแสง มีลักษณะที่สวยงาม เพิ่มประสิทธิผลในการรักษา สะดวกในการพกพา ต้านเด็กแกะ และบ่งชี้ร่องรอยการแกะ1 ได้แก่ แผงบริสเตอร์บรรจุยาเม็ด/แคปซูลปฏิชีวนะ ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น





    ดังรูปที่ 1 ส่วนของแผ่นนูนเป็นลามิเนต (ฟิล์มหลายชั้น) ของแผ่นฟิล์มพลาสติกประมาณ 3 ชนิด โดยมีพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) หรือพอลิโพรไพลีน (PP) เป็นตัวร่วมหลัก 1 ชั้นที่แข็งแรง กำหนดรูปร่างที่คมชัด ใส และสวยงาม สำหรับ PP จะขุ่นกว่าเล็กน้อย แต่สามารถป้องกันความชื้น และออกซิเจนได้ดีกว่า PVC แต่อาจใช้ฟอยล์อลูมิเนียมแทน PVC หรือ PP เพื่อให้สามารถป้องกันแสงได้ทั้ง 2 ด้านของแผง แต่ไม่สามารถเห็นยาที่อยู่ข้างในได้

    แผ่นรองหรือแผ่นฝาใช้ฟอยล์อลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งปกป้องการซึมผ่านของอากาศและไอน้ำได้พอควร ป้องกันแสง และสารเคมี มีความคงตัวสูง และสะอาด ยังมีชั้นของพลาสติกชนิดเหมาะสมด้านบนของฟอยล์เพื่อทำให้ปิดผนึกด้วยความร้อนกับส่วนล่างของแผ่นนูนได้

    ข้อที่ควรพิจารณาคือ แผงบริสเตอร์เป็นบรรจุภัณฑ์ต้านเด็กเล็กแกะ จากเหตุผล 2 ประการคือ ต้านเด็กเจาะ ซึ่งเป็นการป้องกันเด็กใช้นิ้วเจาะตรงฟอยล์อลูมิเนียม และต้านเด็กลอก ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้เด็กลอกแผ่นฝาออกจากแผ่นนูน1

    เมื่อมีการแกะเกิดขึ้นเพื่อเข้าถึงผลิตภัณฑ์ จะเห็นร่องรอยการแกะชัดเจน คือแผ่นรองตรงบริเวณฝาของถุงยาจะถูกเจาะเพื่อเอายาเม็ดหรือแคปซูลออกมา2
  2. แผงสตริป



    แผงสตริปเป็นแผงฟอยล์ที่นิยมใช้บรรจุยาเม็ดและแคปซูล ดังแสดงในรูปที่ 2 แผ่นลามิเนตที่มีขีดการปิดผนึกจากม้วน 2 ม้วน เคลื่อนที่เข้าหากันเพื่อผ่านเข้าไปในลูกกลิ้งร้อน หยอดผลิตภัณฑ์ลงในถุงที่ขึ้นรูปล้อเลียนผลิตภัณฑ์ ต่อมาปิดผนึก และตัดให้แต่ละแผงฟอยล์เท่าๆ กันโดยมีจำนวนผลิตภัณฑ์จำนวนเท่าๆ กัน เช่น แผงละ 10 เม็ด เป็นต้น

    แผ่นลามิเนตที่ใช้ปิดผนึกประกบยา ควรเป็นเกราะป้องกันไอน้ำและออกซิเจนที่ดี ซึ่งอาจเป็นแผ่นลามิเนตของพอลิไวนิลลิดีนคลอไรด์ (PVDC)/เซลโลเฟน/พอลิเอธิลีน (PE) หรืออาจเป็นเซลโลเฟนเคลือบ PE ซึ่งมีราคาค่อนข้างถูก แต่การปกป้องจะน้อยกว่าแบบแรก หากเราใช้ฟอยล์อลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบหลักทั้งสองผิวหน้า ซึ่งเรียกว่า อลู-อลูสตริป จะสามารถป้องกันแสงได้ดี และป้องกันการซึมผ่านของอากาศกับไอน้ำได้พอควร โดยมีชั้นเคลือบพลาสติกที่สามารถปิดผนึกด้วยความร้อน1

    เมื่อมีการแกะเกิดขึ้นเพื่อเข้าถึงผลิตภัณฑ์ จะเห็นร่องรอยการแกะชัดเจนคือแผงสตริปจะฉีกขาดเพื่อเอายาเม็ดหรือแคปซูลออกมา2


เอกสารอ้างอิง

  1. Croce CP, Fischer A, Thomas RH. Packaging materials science. In: Lachman L, Lieberman HA, Kanig JL. The theory and practice of industrial pharmacy. 3rd ed. Philadelphia: Lea & Febiger, 1986: 711-732
  2. Code of practice for the tamper-evident packaging (TEP) of therapeutic goods, 1st ed. Department of Health and Aging, Australian Government. June, 2003.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.