Knowledge Article


ยืดเหยียดก่อนวิ่งสำคัญไฉน?


จุติมา เสมอ (นักวิทยาศาสตร์)
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://movethelimit.com/content/images/2020/06/matthew-lejune-JMH6m6BKL6U-unsplash.jpg
8,339 View,
Since 2022-04-05
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/23ze6xfc
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีและกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย ลดความเครียด และเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์พิเศษใด ๆ ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นและสิ้นสุดการวิ่งอย่างถูกวิธีก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ หลายคนอาจเคยได้ยินศัพท์ในทางการวิ่งเกี่ยวกับเรื่องการทำ stretching ก่อนและหลังวิ่ง แต่อาจยังมีความสับสนว่าการทำ stretching หรือการยืดเหยียด ทั้งก่อนวิ่งและหลังวิ่ง มีความสำคัญอย่างไรสำหรับนักวิ่ง

การยืดเหยียดนั้น เราทำเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ (flexibility) เพื่อให้ข้อต่อของร่างกายมีองศาการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงที่ปกติ แต่ไม่เกินขีดความสามารถของความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อนั้น

การยืดเหยียด แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ


1. การยืดเหยียดแบบคงค้างไว้ (Static stretching) คือการยืดเหยียดแบบอยู่กับที่ เป็นการยืดกล้ามเนื้อค้างไว้ในท่าเดิม ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 2 แบบ ได้แก่ 1) การยืดเหยียดแบบ maintenance stretch การยืดเหยียดชนิดนี้จะใช้กับกล้ามเนื้อที่มีความยืดหยุ่นอยู่ในช่วงปกติ มักทำหลังจากการออกกำลังในช่วง recovery ร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะยืดกล้ามเนื้อค้างไว้ 10-15 วินาที และ 2) การยืดเหยียดแบบ developmental stretch การยืดเหยียดชนิดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ มักทำหลังการออกกำลังกายเช่นเดียวกัน แต่จะทำในขณะที่ข้อต่อและกล้ามเนื้อยังอุ่นอยู่ (ช่วง cool down) ใช้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณที่ตึงและทำค้างไว้ 30 วินาที เมื่อรับรู้ว่ากล้ามเนื้อถูกยืดให้ยืดต่ออีกประมาณ 1-6 วินาที เช่น การทำท่า lower-back stretch, piriformis stretch, hip-flexor stretch เป็นต้น

  • ท่า piriformis stretch ให้นอนหงายราบไปกับพื้น หายใจเข้า ค่อย ๆ ยกขาข้างซ้ายข้างมาวางพาดกับต้นขาข้างขวา แล้วหายใจออก โดยในขณะที่หายใจ ให้เข้าค่อย ๆ เอามือสอดใต้ขาข้างขวาแล้วค่อย ๆ ดันขาขวาขึ้นให้ชิดหน้าอกมากที่สุด แล้วข้างไว้ 3 ลมหายใจ จากนั้นสลับทำขาอีกข้างเหมือนกัน
  • ท่า hip-flexor stretch ให้ยืนตัวตรงจากนั้นให้ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า 1 ช่วงแขน หายใจเข้า ค่อย ๆ ย่อตัวลงอย่างช้า ๆ พร้อมทั้งดันขาข้างขวาให้ยืดไปด้านหลังจนเข่าติดพื้น ค้างไว้ 3 ลมหายใจ ทำสลับขาอีกข้างเหมือนกัน
  • ท่า lower-back stretch ให้นั่งตัวตรงลงบนส้นเท้า จากนั้นหายใจเข้าลึก ยกมือเหยียดตรงแล้วค่อย ๆ เหยียดตัวไปด้านหน้า หายใจออกยาว และค้างไว้ 3 ลมหายใจ แล้วจึงยกตัวขึ้น
2. การยืดเหยียดแบบเคลื่อนไหว (Dynamic stretching) เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบมีการเคลื่อนไหวไปพร้อมกันด้วย มักจะทำในช่วง warm up ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อเกิดการตื่นตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของร่างกาย การยืดแบบนี้กระตุ้นระบบไหลเวียนมาที่กล้ามเนื้อ ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้ดี เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกล้ามเนื้อก่อนการออกกำลังกาย ช่วยลดการบาดเจ็บ ท่าที่ใช้ในการเคลื่อนไหวแบบนี้ ได้แก่ ท่า air squat, worrier lunges, walking lunges, butt kicks, standing hip circles, legs swing, running high knees เป็นต้น

  • ท่า Air squat ยืนตัวตรงแยกขาออกประมาณหัวไหล่ หายใจเข้า ให้ย่อตัวลงแยกขาออก ทิ้งสะโพกไปด้านหลังเล็กน้อย เกร็งบริเวณกล้ามเนื้อท้อง (core muscle) กล้ามเนื้อก้น (glutes) กล้ามเนื้อหลังขา (hamstrings) หลังเหยียดตรง หายใจออก ค่อย ๆ ยกตัวขึ้นมายืนในท่ายืนตัวตรง ทำต่อเนื่องกันประมาณ 10 -15 ครั้ง
  • ท่า legs swing ยืนตัวตรง แขนทั้งสองข้างเท้าเอว ทิ้งน้ำหนักตัวลงที่ขาข้างเดียว ขาอีกข้างหนึ่งยกขึ้นเหนือพื้นแล้วไขว้มาด้านหน้า จากนั้นเตะขาขึ้นมาด้านข้างให้สูงมากที่สุด โดยที่ขายังเหยียดตรงและทรงตัวไว้อยู่ สวิงขาลงมาไขว้ด้านหน้าเหมือนเดิมในท่าแรกเริ่ม หรือ อาจใช้การเตะขาไปข้างหน้าและข้างหลัง โดยเกร็งกล้ามเนื้อท้องทุกครั้งที่ออกแรงเหวี่ยงขาไป ทำท่านี้ต่อเนื่อง 10- 15 ครั้งแล้วจึงสลับข้าง สำหรับท่านี้ผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัวให้หาที่จับหรือยึดไว้ระหว่าการทำท่านี้
  • ท่า butt kick ท่านี้เป็นกลุ่มท่า drill ที่เตรียมพร้อมสำหรับการวิ่ง เพื่อฝึกจังหวะการวิ่งและเป็นฝึกใช้กล้ามเนื้อขาด้านหลัง โดยยกขาไปด้านหลัง ไม่ให้หัวเข่ายกขึ้นเป็นการยกแค่ช่วงล่างขาขึ้นเหมือนเป็นการยกให้ส้นเท้าเตะโดนก้น ทำสลับช้า ๆ อยู่กับที่ แล้วค่อยเพิ่มจังหวะสปริงตัว ทำต่อเนื่องกันประมาณ 30-45 วินาที กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต
  • ท่า high knees หรือเรียกอีกอย่างว่า ท่าเข่าสูง ท่านี้เป็นกลุ่มท่า drill ที่เตรียมพร้อมสำหรับการวิ่งเช่นกัน ท่านี้เริ่มต้นด้วยการ ยืนลำตัวตั้งตรง เกร็งท้อง เท้าชิด ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า และยกเข่าให้สูงกว่า 90 องศาพร้อมแกว่งแขนตรงข้ามกับฝั่งที่ยกขาขึ้น ค่อย ๆ เพิ่มจังหวะการทำให้คล้ายจังหวะการวิ่ง จะทำย่ำอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าก็ได้ การยืดท่านี้ใช้แรงมาก แต่จะช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต และช่วยยืดกล้ามเนื้อน่อง สะโพก และขา ทำต่อเนื่องกันประมาณ 30-45 วินาที
รู้ไหมว่า การยืดเหยียด 2 แบบนี้ ใช้ตอนไหน?

งานวิจัยหลายงานระบุว่า การทำ dynamic stretching ควบคู่ไปกับการอบอุ่นร่างกาย ที่เรียกว่า dynamic warm up ในช่วงก่อนออกกำลังกายจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายได้ดีมากกว่าการทำ static stretching (ซึ่งจะนิยมทำหลังจากออกกำลังกายในช่วง cool down) เนื่องจากการอบอุ่นร่างกายทำให้การเต้นของหัวใจ (heart rate) สูงขึ้นประมาณ 50 – 60 % ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด กระตุ้นการทำงานของปอดทำให้ระดับออกซิเจนก็จะเพิ่มขึ้น เส้นเลือดเกิดการขยายตัวเพิ่มการขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพิ่มการสร้างน้ำหล่อลื่นบริเวณข้อต่อ (synovial fluid) ส่งผลให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ (cartilage) มีความยืดหยุ่นและทนทาน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวสะดวก และลดการได้รับการบาดเจ็บเมื่อออกกำลังกาย

Static stretching มีความสำคัญมากสำหรับหลังการออกกำลังกาย เนื่องจากในขณะที่เราออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะมีการหดเกร็งอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสะสมของของเสีย (กรดแลคติก) บริเวณรอบกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดอาการปวดล้าและตะคริวตามมาได้ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาอยู่ใกล้เคียงสภาพเดิมก่อนออกกำลังกาย และช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น แต่อย่างไรก็ตามการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเกินองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่อสามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน การยืดเหยียดกล้ามเนื้อจึงควรทำอย่างนุ่มนวลและอย่าฝืนหากมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นระหว่างทำการยืดเหยียด

เอกสารอ้างอิง
  1. Harvard Health Publishing: Harvard Medical School. Dynamic Stretches. [Internet]. 2015. [cited 2022 Apr 1]. Available from: https://www.health.harvard.edu/dynamic-stretches
  2. Aguilar AJ, DiStefano LJ, Brown CN, Herman DC, Guskiewicz KM, Padua DA. A dynamic warm-up model increases quadriceps strength and hamstring flexibility. J Strength Cond Res. 2012;26(4):1130-41.
  3. Opplert J, Babault N. Acute effects of dynamic stretching on muscle flexibility and performance: an analysis of the current literature. Sports Med. 2018;48(2):299-325.
  4. https://www.oprah.com/health/exercises-to-build-muscle-exercising-without-dumbbells/all
  5. https://www.health.com/fitness
  6. https://healthyspines.org/pelvic-alignment-exercises/

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.