Knowledge Article


ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีด


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://cdn-prod.medicalnewstoday.com/content/images/articles/322/322710/subcutaneous-injection-being-performed-on-woman-s-abdomen.jpg
19,208 View,
Since 2022-02-07
Last active: 38m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ภาวะไขมันในเลือดสูงอาจมีโคเลสเตอรอลสูงหรือไตรกลีเซอไรด์สูง หรือทั้งสองอย่าง การมีไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะชนิดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล (LDL-cholesterol) อาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและเกิดการตีบหรืออุดตัน ทำให้อวัยวะบางแห่งเสี่ยงต่อการขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างฉับพลัน เช่นที่หัวใจซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ยาลดไขมันในเลือดชนิดรับประทานที่ใช้เป็นยาหลักในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงคือยาในกลุ่มสแตติน (statins) อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดอันตรายดังกล่าวซึ่งยาในกลุ่มสแตตินโดยลำพังหรือเสริมด้วยยารับประทานชนิดอื่นแล้ว แต่ยังให้ผลลดไขมันในเลือดไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการ จำเป็นต้องใช้ยาอื่นที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต่างออกไป ยาที่มีบทบาทมากในขณะนี้คือยายับยั้งพีซีเอสเค-9 (PCSK9 inhibitors) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล ยาในกลุ่มดังกล่าวที่มีใช้อยู่ขณะนี้เป็นชนิดยาฉีด (ยาชนิดรับประทานอยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิก) นอกจากนี้ยังมียาลดไขมันในเลือดชนิดฉีดที่มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นอีก ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับไขมันในเลือดและผลเสียต่อร่างกายที่เกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีดโดยเฉพาะยาลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล การออกฤทธิ์และผลไม่พึงประสงค์ของยา พร้อมทั้งข้อแนะนำเมื่อต้องใช้ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีด

ไขมันในเลือด

ไขมันในเลือดมีทั้งกรดไขมัน (fatty acid), ฟอสโฟลิพิด (phospholipid), ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) และโคเลสเตอรอล (cholesterol) กรดไขมันมีความจำเป็นต่อร่างกายเนื่องจากเป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อไขมันและโครงสร้างอื่น และเป็นแหล่งสะสมพลังงาน จึงต้องได้รับกรดไขมันจากอาหารในปริมาณที่เพียงพอ ฟอสโฟลิพิดเป็นไขมันชนิดที่โครงสร้างมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำ ได้จากอาหารและร่างกายสร้างขึ้น เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์และโครงสร้างรอบนอกของอนุภาคไลโพโปรตีน (lipoprotein ซึ่งมีกล่าวต่อไป) ส่วนไตรกลีเซอไรด์พบมากในเนื้อเยื่อไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมาจากอาหารซึ่งรวมอยู่ในไลโพโปรตีนชนิดไคโลไมครอน (chylomicron) และไตรกลีเซอไรด์ที่รวมอยู่ในไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำมากหรือวีแอลดีแอล (VLDL) ซึ่งสร้างที่ตับ การสร้างวีแอลดีแอลมากเกินไปอาจเนื่องมาจากพันธุกรรม, การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง, การดื่มสุรา, การเป็นโรค เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น ส่วนโคเลสเตอรอลเป็นสารประเภทสเตอรอล (sterol) มีโครงสร้างหลักเช่นเดียวกับพวกสเตียรอยด์ทั้งหลาย สร้างโดยเซลล์ตับเป็นส่วนใหญ่ การสร้างโคเลสเตอรอลมีหลายขั้นตอนและมีเอนไซม์เกี่ยวข้องมากมาย รวมถึงเอนไซม์เอชเอ็มจี-โคเอ รีดักเทส (3-hydroxy-3-methylglutaryl coenzyme A reductase หรือ HMG-CoA reductase) ซึ่งยาในกลุ่มสแตตินออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้ โคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบในเยื่อหุ้มเซลล์และเป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในการสังเคราะห์ฮอร์โมนประเภทสเตียรอยด์ (ได้แก่ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตและฮอร์โมนเพศ) น้ำดี และวิตามินดี จึงมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ โดยปกติตับจะสร้างโคเลสเตอรอลอย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โคเลสเตอรอลจากอาหารจึงเป็นส่วนเกิน


ไขมันในไลโพโปรตีน

ไขมันในเลือดอาจอยู่ในรูปอิสระหรืออยู่เป็นอนุภาคไลโพโปรตีน (lipoprotein) ร่วมกับสารอื่น การอยู่ในรูปไลโพโปรตีนช่วยให้ไขมันซึ่งไม่ละลายน้ำสามารถเคลื่อนที่ไปในกระแสเลือดได้ โปรตีนที่อยู่ในอนุภาคไลโพโปรตีนเรียกว่าอะโปไลโพโปรตีน (apolipoprotein) ซึ่งอะโปไลโพโปรตีนและฟอสโฟลิพิด (ซึ่งโครงสร้างมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำและไม่ชอบน้ำ) อยู่รอบนอกของอนุภาคไลโพโปรตีน และมีโคเลสเตอรอลอิสระซึ่งละลายน้ำได้เล็กน้อยร่วมอยู่รอบนอกนี้ด้วย ส่วนแกนของอนุภาคไลโพโปรตีนมีโคเลสเตอรอลในรูปเอสเทอร์และไตรกลีเซอไรด์ อะโปไลโพโปรตีนแบ่งเป็นหลายชนิด ตัวอย่างเช่น อะโปไลโพโปรตีนเอ-I หรืออะโปเอ-1 (apolipoprotein A-I หรือ apoA1) เป็นโปรตีนในโครงสร้างของอนุภาคไลโพโปรตีนชนิดเอชดีแอล (มีกล่าวต่อไป), อะโปไลโพโปรตีนบี-100 หรืออะโปบี-100 (apolipoprotein B-100 หรือ apoB100) เป็นโปรตีนในโครงสร้างของอนุภาคไลโพโปรตีนชนิดแอลดีแอลและวีแอลดีแอล (มีกล่าวต่อไป) ไลโพโปรตีนแต่ละชนิดมีส่วนประกอบที่เป็นไขมันและโปรตีนในปริมาณแตกต่างกัน ทำให้แบ่งไลโพโปรตีนตามความหนาแน่นจากน้อยที่สุด (ในส่วนประกอบมีปริมาณไขมันมากที่สุดและมีโปรตีนน้อยที่สุด) ไปสู่ความหนาแน่นมากที่สุด (ในส่วนประกอบมีปริมาณไขมันน้อยที่สุดและมีโปรตีนมากที่สุด) ออกเป็นดังนี้ (1) ไคโลไมครอน หรือไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำมากสุด หรือยูแอลดีแอล (chylomicron หรือ ultra low-density lipoprotein หรือ ULDL) ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่มาจากอาหาร จากลำไส้เล็กไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ (2) ไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำมาก หรือวีแอลดีแอล (very low density lipoprotein หรือ VLDL) สร้างจากตับและมีไตรกลีเซอไรด์ปริมาณมากเช่นกัน (3) ไลโพโปรตีนความหนาแน่นปานกลาง หรือไอดีแอล (intermediate density lipoprotein หรือ IDL) ซึ่งเกิดจากวีแอลดีแอลที่สูญเสียไตรกลีเซอไรด์ พบในเลือดช่วงเวลาสั้น (4) ไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำหรือแอลดีแอล (low density lipoprotein หรือ LDL) ซึ่งเกิดจากวีแอลดีแอลที่สูญเสียไตรกลีเซอไรด์เช่นกัน และ (5) ไลโพโปรตีนความหนาแน่นสูง หรือเอชดีแอล (high density lipoprotein หรือ HDL) ซึ่งสร้างที่ตับ (เป็นส่วนใหญ่) และลำไส้เล็ก

การกำจัดไขมันในเลือด

การกำจัดโคเลสเตอรอลในเลือดผ่านตัวรับแอลดีแอลและบทบาทของพีซีเอสเค-9 แอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยเก็บเข้าสู่เซลล์ตับผ่านตัวรับแอลดีแอล (LDL receptor) โดยใช้อะโปไลโพโปรตีนบี-100 บนแอลดีแอลจับกับตัวรับดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ตัวรับแอลดีแอลที่ตับจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้ระดับแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดลดลง ในร่างกายมีพีซีเอสเค-9 (proprotein convertase subtilisin kexin type 9 หรือ PCSK9) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทในการลดจำนวนตัวรับแอลดีแอล เป็นกลไกหนึ่งในการควบคุมสมดุลโคเลสเตอรอลในเลือด หากพีซีเอสเค-9 ทำงานมากจะทำให้มีแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดสูง การคิดค้นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้ (มีกล่าวต่อไป) จึงช่วยลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดได้

การกำจัดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดโดยไลโพโปรตีนไลเปส ทั้งไคโลไมครอนและวีแอลดีแอลจัดเป็นไลโพโปรตีนชนิดที่มีไตรกลีเซอไรด์มาก (triglyceride-rich lipoprotein) ซึ่งไลโพโปรตีนไลเปส (lipoprotein lipase) เป็นเอนไซม์ที่ย่อยไตรกลีเซอไรด์ในไลโพโปรตีนเหล่านี้ให้เป็นกรดไขมันและโมโนกลีเซอไรด์ (monoglyceride) ไลโพโปรตีนไลเปสมีบทบาทหลายอย่างและมีความซับซ้อน นอกจากการย่อยไตรกลีเซอไรด์ในไลโพโปรตีนแล้วยังช่วยให้ไลโพโปรตีนทั้งหลายจับกับตัวรับได้ดี จึงช่วยในการนำไลโพโปรตีนเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ แต่เอนไซม์นี้ถูกยับยั้งด้วยโปรตีนบางชนิด เช่น แองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 (angiopoietin-like protein 3 หรือ ANGPTL3) ซึ่งโปรตีนนี้สร้างที่ตับเป็นส่วนใหญ่ นอกจากการยับยั้งไลโพโปรตีนไลเปสแล้วโปรตีนนี้ยังยับยั้งเอนไซม์เอนโดทิเลียลไลเปส (endothelial lipase) ได้ด้วย ซึ่งเอนไซม์ชนิดหลังมีบทบาทในเมแทบอลิซึมของเอชดีแอล ดังนั้นแองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 จึงลดการกำจัดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และยังทำให้ทั้งแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลและเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น ยาที่ยับยั้งแองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 (มีกล่าวต่อไป) จึงนำมาใช้ลดไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือด (แต่จะมีผลทำให้เอชดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้)


ภาวะไขมันในเลือดสูงและผลเสียต่อร่างกาย

ไขมันในเลือดชนิดหลักที่มีการวัดระดับเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อร่างกาย คือ แอลดีแอล-โคเลสเตอรอล (LDL-cholesterol หรือโคเลสเตอรอลที่ติดไปกับไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ), เอชดีแอล-โคเลสเตอรอล (HDL-cholesterol หรือโคเลสเตอรอลที่ติดไปกับไลโพโปรตีนความหนาแน่นสูง) และไตรกลีเซอไรด์ ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) โดยเฉพาะภาวะไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia) อาจมีโคเลสเตอรอลสูง (วัดค่าแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลหรือค่าโคเลสเตอรอลรวม) หรือไตรกลีเซอไรด์สูง หรือทั้งสองอย่าง ภาวะไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลสูงทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย บางคนจึงเรียกแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลว่า “โคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (bad cholesterol)” เนื่องจากทำให้ผนังหลอดเลือดแดงอักเสบและเกิดการสะสมของไขมัน (มีทั้งโคเลสเตอรอล โคเลสเตอรอลเอสเทอร์และฟอสโฟลิพิด) ร่วมกับเซลล์เม็ดเลือดขาว แคลเซียมและเนื้อเยื่อเส้นใย เกิดเป็น “atherosclerotic plaque” (รูปที่ 1) ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงนูนและเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง จนอาจเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงตีบและอุดตันได้ ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคสมองและโรคของอวัยวะส่วนปลายที่มีสาเหตุจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งการขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตฉับพลันได้ ระดับแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอันตรายจากโรคหัวใจหรือโรคสมองขาดเลือดที่เนื่องจากหลอดเลือดแดงแข็ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคอื่นร่วมด้วย (เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง) ค่าแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือบางรายควรเหลือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าที่ระบุข้างต้น ส่วนเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลหรือที่บางคนเรียกว่า “โคเลสเตอรอลชนิดดี (good cholesterol)” เนื่องจากช่วยพาไขมัน (ทั้งโคเลสเตอรอลและฟอสโฟลิพิด) จากเซลล์หรือจากไลโพโปรตีนชนิดอื่นกลับเข้าตับเพื่อการกำจัดต่อไป ในผู้ชายเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลไม่ควรต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และในผู้หญิงไม่ควรต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร บางครั้งแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลอาจไม่สูงมากแต่การมีเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลต่ำเกินจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียที่กล่าวข้างต้นได้เช่นกัน ส่วนค่าโคเลสเตอรอลรวม (โคเลสเตอรอลในไลโพโปรตีนชนิดต่าง ๆ ทั้งแอลดีแอล เอชดีแอลและวีแอลดีแอล) ควรต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนการมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็งได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากเกิดร่วมกับการมีเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลในระดับต่ำ (เช่น มีระดับไตรกลีเซอไรด์เกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และมีเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดควรต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากมีระดับสูงกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร นอกจากจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็งแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้



บทบาทของยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีด

การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงเริ่มด้วยการรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยลดอาหารประเภทไขมัน อาหารทอด อาหารหวาน อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง (ประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่แดง), การลดหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์, การออกกำลังกายสม่ำเสมอ, การให้ความร่วมมือในการรักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หากยังควบคุมระดับไขมันในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมายจึงใช้ยาร่วมด้วย ยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรกคือยาในกลุ่มสแตติน (statins) หรือเรียกตามการออกฤทธิ์ว่ายายั้บยั้งเอชเอ็มจี-โคเอ รีดักเทส (HMG-CoA reductase inhibitors) ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโคเลสเตอรอล ยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ได้แก่ โลวาสแตติน (lovastatin), ซิมวาสแตติน (simvastatin), พราวาสแตติน (pravastatin), ฟลูวาสแตติน (fluvastatin), อะทอร์วาสแตติน (atorvastatin), โรซูวาสแตติน (rosuvastatin) และพิทาวาสแตติน (pitavastatin) โดยอาจใช้เดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น อีเซทิไมบ์ (ezetimibe) ซึ่งเป็นยาลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลจากลำไส้เล็ก ยาลดไขมันในเลือดที่กล่าวมานี้เพิ่มการสังเคราะห์ตัวรับแอลดีแอลได้ด้วย (อาจมีผลโดยตรงหรือโดยอ้อม) จึงเป็นการช่วยลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากโรคหัวใจหรือสมองขาดเลือด หรือโรคของอวัยวะส่วนปลายขาดเลือดที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็ง ทั้งในผู้ที่เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อนหรือผู้ที่มีภาวะแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลสูงมากและยังควบคุมระดับไขมันในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมาย แม้ใช้ยาในกลุ่มสแตตินในขนาดสูงสุดเท่าที่จะทนได้แล้วก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับยาลดไขมันชนิดอื่นที่มีการออกฤทธิ์แตกต่างออกไป ทางเลือกหนึ่งคือการใช้ยาลดมันในเลือดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งพีซีเอสเค-9 (PCSK9 inhibitors) ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีและมีบทบาทมากในขณะนี้ ปัจจุบันยาที่มีฤทธิ์ดังกล่าวล้วนเป็นยาชนิดฉีด นอกจากนี้ยังมียาฉีดชนิดอื่นซึ่งมีการออกฤทธิ์แตกต่างจากยาในกลุ่มสแตตินและมีประสิทธิภาพดีในการลดไขมันในเลือด ยาชนิดฉีดเหล่านี้บางอย่างฉีดเพียงปีละ 2 ครั้งจึงเพิ่มความสะดวกในการใช้ยา นอกจากนี้บางผลิตภัณฑ์ทำในรูปแบบที่ผู้ใช้สามารถฉีดยาได้ด้วยตนเอง

ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีดและการออกฤทธิ์

ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีดมีการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป นำมาใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร อาจใช้เดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาลดไขมันในเลือดชนิดอื่น (เช่น ยาในกลุ่มสแตติน) โดยใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดสูงในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอันตรายจากโรคหัวใจหรือสมองขาดเลือด หรือโรคของอวัยวะส่วนปลายขาดเลือดที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งยาที่ใช้อยู่ยังลดโคเลสเตอรอลไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการแม้จะใช้ในขนาดสูง และใช้รักษาภาวะโคเลสเตอรอลสูงจากพันธุกรรม (ชนิด heterozygous familial hypercholesterolaemia หรือ homozygous familial hypercholesterolemia หรือทั้งสองอย่าง) เมื่อใช้ยาอันดับแรกแล้วให้ผลการรักษาไม่เพียงพอ ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีดส่วนใหญ่ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังและมีรูปแบบที่สามารถฉีดยาได้ด้วยตนเอง แต่ยาบางชนิดใช้หยดเข้าหลอดเลือดดำจึงต้องให้ยาในสถานพยาบาล ยาที่จะกล่าวถึงจำแนกตามการออกฤทธิ์ได้ดังนี้ (สำหรับรูปแบบยาและความแรง วิธีใช้ และผลไม่พึงประสงค์ ดูในตารางที่ 1)

  1. ยายับยั้งพีซีเอสเค-9 (protein convertase subtilisin/kexin type 9 inhibitors หรือ PCSK9 inhibitors) เอนไซม์พีซีเอสเค-9 ทำให้จำนวนตัวรับแอลดีแอลลดลงดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงลดการกำจัดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือด ทำให้มีแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดสูง ยายับยั้งพีซีเอสเค-9 จึงช่วยลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลได้ ปัจจุบันเป็นยาที่มีบทบาทมากในผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มสแตตินในขนาดสูงแล้วแต่ยังลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลไม่ได้ตามเป้าหมาย แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยดังนี้

    1.1 กลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ตัวอย่างยาได้แก่ อะลิโรคูแมบ (alirocumab) และอีโวโลคูแมบ (evolocumab) ทั้งอะลิโรคูแมบ (เป็น human IgG1 monoclonal antibody) และอีโวโลคูแมบ (เป็น human IgG2 monoclonal antibody) ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับพีซีเอสเค-9 ทำให้เอนไซม์นี้ทำงานไม่ได้ ทำให้ตัวรับแอลดีแอลมากขึ้นจึงเพิ่มการกำจัดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือด ยาทั้งสองชนิดนี้ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 2 สัปดาห์หรือทุก 4 สัปดาห์/ทุกเดือน ซึ่งขึ้นกับขนาดยา

    1.2 กลุ่มอาร์เอ็นเอสังเคราะห์ (small interfering RNA หรือ siRNA) ตัวอย่างยาได้แก่ อินคลิซิแรน (inclisiran) ออกฤทธิ์ลดการแสดงออกของยีนที่สร้างพีซีเอสเค-9 จึงลดการสร้างเอนไซม์พีซีเอสเค-9 ที่ตับ ทำให้ตัวรับแอลดีแอลมากขึ้นจึงเพิ่มการกำจัดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือด ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 6 เดือน
  2. ยาลดการสร้างอะโปไลโพโปรตีนบี-100 อะโปไลโพโปรตีนบี-100 เป็นโปรตีนในโครงสร้างของวีแอลดีแอลและแอลดีแอลดังกล่าวแล้วข้างต้น ยาที่ลดการสร้างอะโปไลโพโปรตีนบี-100 จึงยับยั้งการสร้างวีแอลดีแอลและทำให้มีแอลดีแอลน้อยลงด้วย จึงช่วยลดแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือด ตัวอย่างยาได้แก่ มิโพเมอร์เซน (mipomersen) มีโครงสร้างเป็นโอลิโกนิวคลีโอไทด์ (oligonucleotide) ออกฤทธิ์จับกับเอ็มอาร์เอนเอ (messenger RNA) ที่ใช้สร้างอะโปไลโพโปรตีนบี-100 จึงขัดขวางการสร้างโปรตีนนี้ ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยานี้มีผลไม่พึงประสงค์ค่อนข้างมากโดยเฉพาะผลเสียต่อตับ
  3. ยายั้บยั้งแองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 (angiopoietin-like protein 3 inhibitors หรือ ANGPTL3 inhibitors) ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าเอนไซม์ไลโพโปรตีนไลเปสมีฤทธิ์ย่อยไตรกลีเซอไรด์ในไลโพโปรตีนชนิดที่มีไตรกลีเซอไรด์มาก (ไคโลไมครอนและวีแอลดีแอล) และยังมีส่วนทำให้ไลโพโปรตีนทั้งหลายจับกับตัวรับได้ดีจึงช่วยในการนำไลโพโปรตีนเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ไลโพโปรตีนไลเปสจึงมีบทบาทในการทำให้ไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลในเลือดลดลง แต่เอนไซม์นี้ถูกยับยั้งด้วยแองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 (โปรตีนนี้ยังยับยั้งเอนโดทิเลียลไลเปสได้ด้วย) ดังนั้นยายั้บยั้งแองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 จึงทำให้ไลโพโปรตีนไลเปส (และเอนโดทิเลียลไลเปส) กลับมาทำงานได้ ทำให้ไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลลดลง (และยังมีผลทำเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลลดลงได้ด้วย เนื่องจากเอนโดทิเลียลไลเปสกลับมาทำงานได้) ตัวอย่างยาได้แก่ อีวินาคูแมบ (evinacumab) ซึ่งเป็นยาประเภทโมโนโคลนอลแอนติบอดี (ชนิด human IgG4 monoclonal antibody) ที่ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับแองจิโอปอยอีติน-ไลค์โปรตีน 3 จึงยับยั้งการทำงานของโปรตีนนี้ ยานี้ใช้หยดเข้าหลอดเลือดดำทุก 4 สัปดาห์
ผลไม่พึงประสงค์ของยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีด

ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีดทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น ปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด (อาจเกิดอาการปวด คัน บวม รอยแดง รอยช้ำ) อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ เอนไซม์ทรานซามิเนส (transaminases) ในซีรัมเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะมิโพเมอร์เซน) นอกจากนี้อาจเกิดการแพ้ยา (รวมถึงส่วนประกอบใด ๆ ในตำรับ) หากเกิดการแพ้ยาจะห้ามใช้ยาชนิดนั้นอีก (ผลไม่พึงประสงค์ของยาแต่ละชนิดดูตารางที่ 1)

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีด
  1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา ไม่ว่าจะแพ้ต่อส่วนประกอบชนิดใดในตำรับ
  2. ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีด ใช้เมื่อยาชนิดหลักให้ผลลดไขมันในเลือดโดยเฉพาะแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลได้ไม่เพียงพอแม้ใช้ยาในขนาดสูงแล้วก็ตาม
  3. ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีดใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร อาจใช้โดยลำพังหรือใช้ร่วมกับยาลดไขมันในเลือดชนิดเดิมที่ใช้อยู่
  4. ในกรณีที่เป็นยาชนิดฉีดเองได้ บุคลากรทางการแพทย์จะแนะนำวิธีฉีดยาให้ อย่าฉีดยาเองโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการเรียนรู้วิธีฉีดที่ถูกต้อง และควรศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยานั้น
  5. เมื่อต้องฉีดยาเอง ตำแหน่งที่ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังอาจเป็น ต้นขา ต้นแขน หรือหน้าท้อง ซึ่งบริเวณนั้นต้องมีลักษณะปกติ ไม่บวม ไม่แดง ไม่มีรอยช้ำหรือเป็นก้อนแข็ง, ยาที่จะฉีดต้องใส ไม่มีตะกอนหรือสิ่งแปลกปลอม, หากยาที่จะฉีดเก็บอยู่ในตู้เย็นให้นำยาออกมาแล้วรอจนถึงอุณหูมิห้องก่อนฉีด, ในการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังแต่ละครั้งควรเปลี่ยนตำแหน่งที่ฉีดใหม่ และหากต้องฉีด 2 เข็มในคราวเดียวกันให้ฉีดคนละตำแหน่ง
  6. การเก็บยา บางชนิดให้เก็บในตู้เย็นที่ 2-8 องศาเซลเซียส (ห้ามแช่แข็ง) แต่บางชนิดให้เก็บที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส หรืออาจได้ถึง 30 องศาเซลเซียส) จึงควรศึกษาวิธีเก็บรักษายาจากเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยานั้น
  7. ยาบางชนิดแม้แนะนำให้เก็บในตู้เย็นที่ 2-8 องศาเซลเซียส (ห้ามแช่แข็ง) แต่หากยังไม่ได้เปิดใช้และบรรจุในลักษณะเดิม อาจเก็บที่อุณหูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้ระยะหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ควรศึกษาวิธีเก็บรักษายาจากเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยานั้นซึ่งจะมีรายละเอียดระบุไว้ เพื่อลดความกังวลเรื่องยาเสื่อมคุณภาพจนต้องทิ้งยาไป
เอกสารอ้างอิง
  1. Hill MF, Bordoni B. Hyperlipidemia, updated August 11, 2021. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK559182/. Accessed: January 25, 2022.
  2. Feingold KR. Introduction to lipids and lipoproteins, updated January 19, 2021. In: Feingold KR, Anawalt B, Boyce A, Chrousos G, de Herder WW, Dhatariya K, et al., editors. Endotext. South Dartmouth (MA): MDText.com, Inc.; 2000-. . Accessed: January 25, 2022.
  3. Atar D, Jukema JW, Molemans B, Taub PR, Goto S, Mach F, et al. New cardiovascular prevention guidelines: how to optimally manage dyslipidaemia and cardiovascular risk in 2021 in patients needing secondary prevention? Atherosclerosis 2021; 319:51-61.
  4. Astaneh B, Makhdami N, Astaneh V, Guyatt G. The effect of mipomersen in the management of patients with familial hypercholesterolemia: a systematic review and meta-analysis of clinical trials. J Cardiovasc Dev Dis 2021. doi: 10.3390/jcdd8070082. Accessed: January 25, 2022.
  5. Ruotsalainen AK, Mäkinen P, Ylä-Herttuala S. Novel RNAi-based therapies for atherosclerosis. Curr Atheroscler Rep 2021. doi: 10.1007/s11883-021-00938-z. Accessed: January 25, 2022.
  6. Su X, Cheng Y, Chang D. Lipid-lowering therapy: guidelines to precision medicine. Clin Chim Acta 2021; 514:66-73.
  7. Barale C, Melchionda E, Morotti A, Russo I. PCSK9 biology and its role in atherothrombosis. Int J Mol Sci 2021. doi: 10.3390/ijms22115880. Accessed: January 25, 2022.
  8. Kobayashi J, Mabuchi H. Lipoprotein lipase and atherosclerosis. Ann Clin Biochem 2015; 52(Pt 6):632-7.
  9. Handhle A, Viljoen A, Ramachandran R, Wierzbicki AS. Low cholesterol syndrome and drug development. Curr Opin Cardiol 2020; 35:423-7.
  10. Bardolia C, Amin NS, Turgeon J. Emerging non-statin treatment options for lowering low-density lipoprotein cholesterol. Front Cardiovasc Med 2021. doi: 10.3389/fcvm.2021.789931. Accessed: January 25, 2022.
  11. Jiang S, Qiu GH, Zhu N, Hu ZY, Liao DF, Qin L. ANGPTL3: a novel biomarker and promising therapeutic target. J Drug Target 2019; 27:876-84.
  12. German CA, Shapiro MD. Small interfering RNA therapeutic inclisiran: a new approach to targeting PCSK9. BioDrugs 2020; 34:1-9.
  13. Praluent (alirocumab) injection, for subcutaneous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4772266, revised: 04/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/125559s029s030lbl.pdf. Accessed: January 25, 2022.
  14. Repatha (evolocumab) injection, for subcutaneous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4188933, revised: 12/2017. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/125522s014lbl.pdf. Accessed: January 25, 2022.
  15. Evkeeza (evinacumab-dgnb) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information, revised: 02/2021. https://www.regeneron.com/sites/default/files/Evkeeza_PI.pdf. Accessed: January 25, 2022.
  16. Leqvio (inclisiran) injection, for subcutaneous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4909732, revised: 12/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/214012lbl.pdf. Accessed: January 25, 2022.
  17. Kynamro (mipomersen sodium) injection. Highlights of prescribing information. Reference ID: 3707980, revised: 02/2015. . Accessed: January 25, 2022.
  18. MIMS drug information. https://www.mims.com/thailand/. Accessed: January 25, 2022.
  19. RxList--The Internet Drug Index for prescription drug information. https://www.rxlist.com/script/main/hp.asp. Accessed: January 25, 2022.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.