Knowledge Article


ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง...ทางเลือกแทนการรับประทานยาคุมกำเนิด


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.contraceptionchoices.org/sites/default/files/contraceptive/image/PatchNew.jpg
89,438 View,
Since 2021-11-15
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การคุมกำเนิดมีทั้งแบบถาวร ได้แก่ การผ่าตัดทำหมัน และแบบชั่วคราว การคุมกำเนิดชั่วคราวมีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดและยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดชั่วคราวระยะสั้น ส่วนการคุมกำเนิดชั่วคราววิธีอื่นที่กล่าวข้างต้นถือเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว ยาเม็ดคุมกำเนิดนิยมใช้กันมากเนื่องจากมีประสิทธิภาพดีและสะดวก แต่อาจมีปัญหาในด้านการใช้ยา เช่น ลืมรับประทาน รับประทานไม่ตรงเวลา อาเจียนภายหลังการรับประทาน ด้วยเหตุนี้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังซึ่งมีประสิทธิภาพทัดเทียมกันจึงเป็นทางเลือกที่ดี ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ผู้ที่เหมาะกับการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง วิธีใช้ การออกฤทธิ์ ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ผลไม่พึงประสงค์ ข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

มารู้จักกับ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง เป็นแผ่นยารูปสี่เหลี่ยมหรือรูปกลม สีเนื้อหรือสีน้ำตาลอ่อน สำหรับใช้แปะบนผิวหนัง มีขนาดประมาณ 14-28 ตารางเซนติเมตร (ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์) แผ่นยาแบ่งเป็นหลายชั้น (3-6 ชั้น ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์) ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้าอีฟรา (Evra®) ที่มีใช้ในบ้านเรานั้นเป็นแผ่นยาสี่เหลี่ยมที่มีขนาด 20 ตารางเซนติเมตร มี 3 ชั้น ได้แก่ แผ่นรองยา (เมื่อติดผิวหนังจะอยู่บนสุด) เป็นฟิล์มพลาสติกและผ้าใยสังเคราะห์ที่ยืดหดได้ ช่วยป้องกันตัวยาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ถัดมาเป็นชั้นของสารเหนียว (adhesive) ที่มีตัวยาฮอร์โมนพร้อมทั้งส่วนประกอบอื่น และชั้นบนสุดเป็นแผ่นฟิล์มใสเพื่อลอกออกก่อนแปะยา ใน 1 รอบการคุมกำเนิด (4 สัปดาห์หรือ 28 วัน) จะแปะยาสัปดาห์ละ 1 แผ่น ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์รวม 3 แผ่น แล้วเว้น 1 สัปดาห์เพื่อให้ประจำเดือนมา จากนั้นเริ่มแปะแผ่นยาสำหรับการคุมกำเนิดรอบใหม่ แผ่นยาจะปลดปล่อยตัวยาฮอร์โมนออกมาเพื่อให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง ขณะนี้มีการพัฒนายาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังเพื่อให้ออกฤทธิ์ได้นานขึ้นซึ่งอาจใช้แปะเดือนละ 1 แผ่น

ตัวยาสำคัญใน "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในปัจจุบันเป็นชนิดฮอร์โมนรวม กล่าวคือมียาฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (estrogens) ผสมกับยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนในร่างกาย) ตัวยาจึงคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined oral contraceptives หรือ combined pills) ซึ่งตัวยาฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนที่นำมาใช้ ได้แก่ เอทินิลเอสตราไดออล (ethinyl estradiol) ส่วนตัวยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสตินที่นำมาใช้อาจเป็น นอร์เอลเจสโทรมิน (norelgestromin หรือ 17-diacetyl norgestimate) หรือเลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) ซึ่งนอร์เอลเจสโทรมินเป็นตัวที่ออกฤทธิ์ของยานอร์เจสติเมต (norgestimate) ทั้งนอร์เจสติเมต เลโวนอร์เจสเตรล และเอทินิลเอสตราไดออลมีในยาเม็ดคุมกำเนิด ตัวอย่างยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนดังกล่าวข้างต้น ได้แก่
  1. ชนิดที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับนอร์เอลเจสโทรมิน หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้าอีฟรา (Evra®) มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 20 ตารางเซนติเมตร แต่ละแผ่นมีเอทินิลเอสตราไดออล 600 ไมโครกรัมและนอร์เอลเจสโทรมิน 6 มิลลิกรัม ปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออลโดยเฉลี่ย 33.9 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมินโดยเฉลี่ย 203 ไมโครกรัม/วัน หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้าซูเลน (Xulane®) มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 14 ตารางเซนติเมตร แต่ละแผ่นมีเอทินิลเอสตราไดออล 530 ไมโครกรัมและนอร์เอลเจสโทรมิน 4.86 มิลลิกรัม ปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออล 35 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมิน 150 ไมโครกรัม/วัน
  2. ชนิดที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับเลโวนอร์เจสเตรล มีชื่อการค้าเทวิลลา (Twirla®) เป็นแผ่นกลมขนาด 28 ตารางเซนติเมตร บริเวณตรงกลางซึ่งมีตัวยามีพื้นที่ 15 ตารางเซนติเมตร แต่ละแผ่นมีเอทินิลเอสตราไดออล 2.3 มิลลิกรัม และเลโวนอร์เจสเตรล 2.6 มิลลิกรัม ปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออล 30 ไมโครกรัม/วัน และเลโวนอร์เจสเตรล 120 ไมโครกรัม/วัน
"ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" เหมาะกับใคร?

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังใช้ได้กับผู้หญิงอายุ 18-45 ปีที่ประสงค์จะคุมกำเนิด โดยผู้หญิงเหล่านี้มีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index หรือย่อว่า BMI) ต่ำกว่า 30 กิโลกรัม/เมตร2 (ค่านี้ขึ้นกับน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและส่วนสูงเป็นเมตร) และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม (เนื่องจากยามีประสิทธิภาพลดลงในผู้ที่มีน้ำหนัก 90 กิโลกรัมหรือมากกว่านี้) ไม่ควรใช้ในผู้ที่กำลังให้นมบุตร เพราะยาจะรบกวนปริมาณและคุณภาพน้ำนม นอกจากนี้ต้องไม่เข้าข่ายเป็นผู้ที่ห้ามใช้ดังกล่าวข้างล่างนี้ ด้วยเหตุนี้ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่าไม่มีโรคหรือความผิดปกติใดที่เป็นข้อห้ามใช้สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดนี้


ผู้ที่ห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ห้ามใช้กับบุคคลเหล่านี้
  • แพ้ยา ไม่ว่าจะแพ้ส่วนประกอบชนิดใดในผลิตภัณฑ์ที่จะใช้นั้น
  • ตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจะต้องผ่านการตรวจก่อนว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงสามารถใช้ยาได้
  • ตับทำงานบกพร่อง ไม่ว่าจะเกิดจากโรคตับเฉียบพลันหรือโรคตับเรื้อรัง
  • เป็นโรคมะเร็งตับหรือโรคเนื้องอกในตับ
  • มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) หรือมีประวัติว่าเคยเกิดอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าว (เช่น อายุมากกว่า 35 ปีและสูบบุหรี่, โรคเบาหวานขั้นรุนแรง, โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้, โรคไขมันในเลือดสูงขั้นรุนแรง) และหากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเกิดขึ้นขณะใช้ยาให้หยุดใช้ทันที
  • มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง (arterial thromboembolism) หรือมีประวัติว่าเคยเกิดอาการ (เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, สมองขาดเลือด) หรือเคยเกิดอาการนำ (เช่น อาการปวดเค้นอก, สมองขาดเลือดชั่วขณะ) หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าว (เช่น สูงอายุ, สูบบุหรี่, โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้, โรคไขมันในเลือดสูงขั้นรุนแรง, โรคอ้วน, โรคไมเกรนที่เคยเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนไม่มีแรงหรือชา เดินเซ) และหากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงเกิดขึ้นขณะใช้ยาให้หยุดใช้ทันที
  • เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม, โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, หรือมีโรคเนื้องอกชนิดที่ไวต่อการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนพวกเอสโตรเจนและ/หรือฮอร์โมนพวกโพรเจสติน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
เริ่มใช้ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" ได้เมื่อไร?

การเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีความแตกต่างกันตามสถานการณ์ โดยมีรายละเอียดในข้อปฏิบัติดังนี้
  1. เริ่มแปะแผ่นยาภายในวันแรกที่มีประจำเดือน (ไม่ว่าจะเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดเป็นครั้งแรก หรือเคยคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นมาแล้วก่อนหน้านี้) โดยไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้เริ่มแปะแผ่นยาในวันแรกที่มีประจำเดือนจะต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา (ปฏิบัติเช่นนี้เฉพาะการแปะแผ่นแรกเมื่อเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเท่านั้น)
  2. เริ่มแปะแผ่นยาวันใดก็ได้แต่ต้องไม่ได้ตั้งครรภ์หรือเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ กรณีเช่นนี้จะต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา (ปฏิบัติเช่นนี้เฉพาะการแปะแผ่นแรกเมื่อเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเเท่านั้น)
  3. เริ่มแปะแผ่นยาหลังแท้งบุตร หากแท้งบุตรในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เริ่มแปะแผ่นยาได้ทันทีหรืออย่างช้าไม่เกิน 5 วันภายหลังแท้งบุตร และไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าเริ่มแปะแผ่นยาเกิน 5 วันหลังการแท้งบุตรจะต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา ซึ่งในบางคนการตกไข่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 10 วันหลังการแท้งบุตร และถ้ามีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านี้โดยไม่ได้มีการป้องกัน ก่อนที่จะแปะแผ่นยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้รอจนมีประจำเดือนมาจึงเริ่มแปะแผ่นยาได้

    หากแท้งบุตรในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ ให้รอไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์จึงเริ่มแปะแผ่นยา (หากเริ่มแปะแผ่นยาเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด) และต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา หากมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านี้โดยไม่ได้มีการป้องกัน ก่อนที่จะแปะแผ่นยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้รอจนมีประจำเดือนมาจึงเริ่มแปะแผ่นยาได้
  4. ภายหลังคลอดบุตร หากไม่ได้ให้นมบุตร ให้รอไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์หลังคลอดจึงเริ่มแปะแผ่นยา (หากเริ่มแปะแผ่นยาเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด) และต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา หากมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านี้โดยไม่ได้มีการป้องกัน ก่อนที่จะแปะแผ่นยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้รอจนมีประจำเดือนมาจึงเริ่มแปะแผ่นยาได้

    หากอยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนรวมซึ่งรวมถึงยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง เพราะยารบกวนปริมาณและคุณภาพน้ำนมได้ หากจะใช้ให้รอหลังการหย่านม
วิธีใช้ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ในแต่ละ "รอบการคุมกำเนิด (contraceptive cycle)" ซึ่งมี 28 วันหรือ 4 สัปดาห์ ให้แปะแผ่นยาสัปดาห์ละ 1 แผ่น ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์รวม 3 แผ่น แล้วเว้น 1 สัปดาห์เพื่อให้ประจำเดือนมา วันเริ่มแปะแผ่นแรกถือเป็นวันที่ 1 ของรอบการคุมกำเนิด ดังนั้นต้องเปลี่ยนแผ่นยาในวันที่ 8 และวันที่ 15 ของรอบการคุมกำเนิด ช่วงที่แปะแผ่นยาจะไม่มีประจำเดือนมา และในวันที่ 22 ของรอบการคุมกำเนิดให้แกะแผ่นที่ 3 ออกเพื่อเริ่มหยุดยาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ (ตั้งแต่วันที่ 22-28 ของรอบการคุมกำเนิด) ในช่วงนี้จะมีประจำเดือนมาและถือเป็นการจบการคุมกำเนิดรอบนั้น จากนั้นเริ่มต้นแปะยาแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่ ทำดังนี้เรื่อยไป แม้ว่าในวันที่ต้องเริ่มแปะแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่นี้ประจำเดือนยังไม่มาหรือประจำเดือนยังไม่หมดก็ตาม (แต่ถ้าประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 2 รอบของการคุมกำเนิด ให้ทดสอบการตั้งครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นให้หยุดแปะแผ่นยาทันที) ทั้งนี้ห้ามหยุดยาเกิน 7 วัน (หากหยุดยานานกว่านี้ให้ดูหัวข้อ หากลืมเปลี่ยนแผ่นยา...จะทำอย่างไร?) ดังนั้นหากเริ่มแปะยาแผ่นแรกในวันใดของสัปดาห์ การเปลี่ยนแผ่นยาทุกครั้งจะเป็นวันเดิมเสมอ (เช่น เริ่มแปะแผ่นแรกตรงกับวันอาทิตย์ แผ่นต่อ ๆ ไปจะเปลี่ยนทุกวันอาทิตย์) สามารถเปลี่ยนแผ่นยาในเวลาใดก็ได้ที่สะดวกแต่ต้องภายในวันที่ครบกำหนดนั้น (จึงต่างจากการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่ต้องรับประทานเวลาเดิมทุกวัน) ในการนับวันของ "รอบการคุมกำเนิด (contraceptive cycle)" ดังกล่าวข้างต้นไม่ตรงกับการนับวันของ "วงจรประจำเดือน (menstrual cycle)" ซึ่งวงจรประจำเดือนจะสอดคล้องกับการทำงานของรังไข่และมี 28 วัน เริ่มต้นนับวันที่ 1 เมื่อประจำเดือนมาวันแรกและวันที่ 14 ตรงกับวันตกไข่

วิธีแปะแผ่นยา ทำดังนี้
  1. หากมีแผ่นเดิมแปะอยู่ ให้แกะออกทันทีก่อนที่จะแปะแผ่นใหม่ ไม่ให้แกะล่วงหน้านานและไม่ให้แปะยา 2 แผ่นในเวลาเดียวกัน แม้ว่าอีกแผ่นหนึ่งจะเป็นแผ่นเดิมก็ตาม
  2. เลือกผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน ไม่ถูกครูดหรือรัดแน่นด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่ จึงควรเป็นบริเวณต้นแขนด้านนอก หน้าท้อง ก้น หรือแผ่นหลังส่วนบน (รูปที่ 1) ทั้งนี้ไม่ให้แปะที่หน้าอกหรือเต้านม หรือบริเวณที่มีรอยแผล ตลอดจนบริเวณที่มีอาการอักเสบ แดงหรือระคายผิวหนังอยู่ก่อนแล้ว การแปะยาแผ่นใหม่ควรเปลี่ยนที่จากครั้งก่อนเพื่อไม่ให้เกิดการระคายผิวหนัง
  3. ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะแปะแผ่นยาและเช็ดให้แห้ง ไม่ทาครีม โลชัน หรือแป้งบริเวณนั้น เพราะจะทำให้แผ่นยาติดไม่เนียนแนบผิวหนังและติดไม่แน่น
  4. ไม่ตัดหรือทำให้แผ่นยาเสียหาย เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพยาไม่ได้ตามที่ต้องการ
  5. ดึงแผ่นพลาสติกใสที่ปิดบนแผ่นยาออกเพียงซีกเดียวเพื่อแปะซีกนั้นลงบนผิวหนังก่อน แล้วจึงดึงแผ่นพลาสติกใสอีกซีกหนึ่งออก ระวังอย่าให้มือสัมผัสผิวแผ่นยาด้านที่จะติดลงบนผิวหนัง จากนั้นลูบแผ่นยาให้เนียนแนบสนิทกับผิวหนัง หากแผ่นยาไม่แนบสนิทกับผิวหนังจะทำให้การปลดปล่อยตัวยาเกิดได้ไม่ดี และควรตรวจสอบด้วยสายตาทุกวันว่าแผ่นยายังแปะอยู่ในสภาพดีดังเดิม


ยาฮอร์โมนใน "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?

เมื่อแปะแผ่นยาลงบนผิวหนัง แผ่นยาจะค่อย ๆ ปลดปล่อยตัวยาฮอร์โมนออกมา และตัวยาจะแทรกซึมจากตำแหน่งที่แปะแผ่นยาผ่านหนังกำพร้าลงสู่ผิวหนังชั้นล่าง ยาบางส่วนอาจผ่านลงสู่ผิวหนังชั้นล่างทางช่องขนและรูเปิดของท่อเหงื่อแต่ผ่านได้ในปริมาณจำกัด ซึ่งที่ชั้นหนังแท้และชั้นใต้หนังแท้มีเส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองมาเลี้ยง (รูปที่ 2) ยาจึงถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อออกฤทธิ์ ผลิตภัณฑ์อีฟราปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออลโดยเฉลี่ย 33.9 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมินโดยเฉลี่ย 203 ไมโครกรัม/วัน ส่วนผลิตภัณฑ์ซูเลนปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออล 35 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมิน 150 ไมโครกรัม/วัน ดังกล่าวแล้วข้างต้น ค่าอ้างอิง (ระดับยาในซีรัม) สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของตัวยาฮอร์โมนในยาเม็ดคุมกำเนิดสูตรผสม สำหรับเอทินิลเอสตราไดออลอยู่ที่ 25-75 พิโคกรัม/มิลลิลิตร และนอร์เอลเจสโทรมินอยู่ที่ 0.6-1.2 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ในกรณีที่แปะยาอีฟราแผ่นแรกตัวยาฮอร์โมนถูกดูดเข้าสู่กระแสเลือดจนถึงระดับคงที่ (plateau level) ภายในประมาณ 48 ชั่วโมง และตลอดช่วงที่แปะแผ่นยา 1 สัปดาห์แรกให้ระดับเอทินิลเอสตราไดออลในซีรัมโดยเฉลี่ย 50 พิโคกรัม/มิลลิลิตร และนอร์เอลเจสโทรมินโดยเฉลี่ย 0.8 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งอยู่ในช่วงของค่าอ้างอิงข้างต้น ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังให้ระดับยาในซีรัมคงที่ดีกว่ายาชนิดรับประทาน การแปะยาแผ่นต่อ ๆ ไปให้ระดับยาในซีรัมเพิ่มเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์แรกที่เริ่มแปะแผ่นแรก การแปะแผ่นยาที่หน้าท้องให้ระดับยาฮอร์โมนทั้งสองชนิดในซีรัมต่ำกว่าการแปะที่ก้น ต้นขาหรือต้นแขนประมาณ 20% อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะแปะแผ่นยาบริเวณใดตามที่แนะนำไว้ และไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะร้อน ชื้น หรือมีกิจกรรมการออกกำลังกาย หรือการแช่ในน้ำเย็น แผ่นยาที่แปะไว้ยังคงให้ระดับยาอยู่ในช่วงของค่าอ้างอิงข้างต้น ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังแม้จะให้ระดับในซีรัมคงที่ดีกว่ายารับประทาน แต่ปริมาณยาที่ร่างกายได้รับจากการแปะแผ่นยามีความแปรปรวนระหว่างบุคคลสูงกว่ายาชนิดรับประทาน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยบางอย่างมากกว่า เช่น อายุมากขึ้น มีน้ำหนักตัวและพื้นที่ผิวกายมาก ซึ่งประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังลดลงในคนที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 90 กิโลกรัมขึ้นไป (ยาชนิดรับประทานได้รับผลกระทบน้อยกว่า)



"ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" ออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีตัวยาเป็นฮอร์โมนพวกเอสโตรเจนผสมกับฮอร์โมนพวกโพรเจสตินคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จึงมีการออกฤทธิ์ทำนองเดียวกันคือยับยั้งการตกไข่ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์ แม้ว่ายาอาจมีการออกฤทธิ์อย่างอื่นได้บ้าง เช่น ลดการสร้างเมือกและเพิ่มความหนืดของเมือกปากมดลูกซึ่งทำให้ตัวอสุจิไม่อาจเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ ตลอดจนทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่พร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เทียบได้กับการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับนอร์เอลเจสโทรมินหากใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำพบอัตราความล้มเหลว (เกิดตั้งครรภ์) ได้ประมาณ 1% ใน 1 ปี แต่ถ้าใช้ตามปกติทั่วไป (เช่น บางครั้งเปลี่ยนแผ่นยาไม่ตรงเวลา บางครั้งแผ่นยาเผยอหรือเปิดบางส่วนเป็นเวลานาน) พบอัตราความล้มเหลวราว 7-9% นอกจากนี้ประสิทธิภาพของยาลดลงในผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 90 กิโลกรัมขึ้นไป หรือเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นบางชนิดที่เกิดปฏิกิริยาต่อกันได้

แผ่นยาที่แปะผิวหนังไว้เผยอหรือเปิดบางส่วน...จะทำอย่างไร?

หากแผ่นยาที่แปะผิวหนังไว้เกิดการเผยอหรือเปิดบางส่วนซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของยาเกิดได้ไม่เต็มที่ ให้ปฏิบัติดังนี้
  • แผ่นยาเผยอหรือเปิดบางส่วนเกิดนานไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากแผ่นยายังคงความเหนียวและติดผิวหนังได้ดีให้แปะกลับสภาพเดิมทันที แต่ถ้าความเหนียวของแผ่นยาลดลงจนไม่สามารถแปะให้เนียนแนบผิวหนังได้ดังเดิมให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที ไม่ให้แก้ไขด้วยการทากาวหรือใช้พลาสเตอร์ปิดทับ หากได้กระทำทันทีดังข้อแนะนำข้างต้นนั้น ยายังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่แทนแผ่นที่ชำรุดนั้นการเปลี่ยนแผ่นยาครั้งต่อไปยังคงเป็นวันเดิม (ซึ่งหมายความว่ายาแผ่นใหม่ที่แปะนี้จะใช้ไม่ถึง 7 วัน)
  • แผ่นยาเผยอหรือเปิดบางส่วนเกิดนานเกิน 24 ชั่วโมงหรือไม่รู้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ให้ถือว่าการคุมกำเนิดรอบนั้นยุติลง ให้เริ่มต้นการคุมกำเนิดรอบใหม่ทันทีโดยการแปะแผ่นใหม่ (เป็นแผ่นที่ 1 ของการคุมกำเนิดรอบใหม่ ซึ่งหมายความว่าต้องแปะแผ่นยาต่อเนื่องไปจนครบ 3 สัปดาห์แล้วจึงหยุดยาเพื่อให้ประจำเดือนมา 7 วัน) และถือวันนั้นเป็น "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ในครั้งต่อไป พร้อมทั้งให้งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันภายหลังแปะแผ่นยาหรือให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยในช่วงนั้น เช่น ถุงยางอนามัย
หากลืมเปลี่ยนแผ่นยา...จะทำอย่างไร?

การเปลี่ยนยาแผ่นใหม่เมื่อครบกำหนด สามารถเปลี่ยนในเวลาใดก็ได้ที่สะดวกแต่ต้องทำภายในวันที่ครบกำหนดนั้น หากลืมเปลี่ยนในวันที่ครบกำหนดหรือลืมแปะแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่ ให้ปฏิบัติดังนี้
  1. ลืมแปะแผ่นที่ 1 ของการคุมกำเนิดรอบใหม่ ให้แปะแผ่นยาทันทีที่นึกได้ และให้ถือเอาวันนั้นเป็นวันที่ 1 ของการคุมกำเนิดรอบใหม่นี้และเป็น "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ในครั้งต่อ ๆ ไปด้วย พร้อมทั้งให้งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหรือให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยในช่วงนั้น เช่น ถุงยางอนามัย ทั้งนี้ช่วงที่หยุดยาไม่ให้หยุดเกิน 7 วันไม่ว่ากรณีใด ๆ (แม้ว่าในวันที่ต้องแปะยาแผ่นใหม่นั้นประจำเดือนยังไม่มาหรือประจำเดือนยังไม่หมดก็ตาม) เพราะความเสี่ยงที่จะเกิดการตกไข่และตั้งครรภ์จะเพิ่มตามระยะเวลาที่พ้นจาก 7 วันนั้น
  2. ลืมเปลี่ยนแผ่นที่ 2 (วันที่ 8 ของรอบการคุมกำเนิด) หรือแผ่นที่ 3 (วันที่ 15 ของรอบการคุมกำเนิด) หากลืมไม่เกิน 2 วัน (ไม่เกิน 48 ชั่วโมง) ให้แปะแผ่นใหม่ทันทีที่นึกได้และยังคงถือ "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ตามเดิม และหากว่า 7 วันก่อนหน้าที่จะลืมเปลี่ยนแผ่นยานั้นได้มีการแปะยาอย่างถูกต้องแล้ว ในกรณีเช่นนี้ไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเพิ่มเติมเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  3. ลืมเปลี่ยนแผ่นที่ 2 (วันที่ 8 ของรอบการคุมกำเนิด) หรือแผ่นที่ 3 (วันที่ 15 ของรอบการคุมกำเนิด) หากลืมเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหรือนานกว่านี้ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ ให้ถือว่าการคุมกำเนิดรอบนั้นยุติลงและเริ่มต้นการคุมกำเนิดรอบใหม่ทันที วันเริ่มต้นใหม่นี้ถือเป็น "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ในครั้งต่อ ๆ ไป พร้อมทั้งให้งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหรือให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยในช่วงนั้น เช่น ถุงยางอนามัย
  4. ลืมแกะแผ่นที่ 3 (วันที่ 22 ของรอบการคุมกำเนิด) เพื่อเข้าสู่ช่วงเว้นยา ให้รีบแกะแผ่นยาออกทันทีที่นึกได้ ซึ่ง "วันเปลี่ยนแผ่นยา" สำหรับการคุมกำเนิดรอบใหม่ยังคงเป็นวันเดิม และไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเพิ่มเติมเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ต้องการเลื่อนการมีประจำเดือนและต้องการเปลี่ยนแปลง "วันเปลี่ยนแผ่นยา"

หากต้องการเลื่อนการมีประจำเดือนออกไป 1 รอบ ทำได้โดยการแปะยาแผ่นใหม่ในสัปดาห์ที่ 4 หรือวันที่ 22 ของรอบการคุมกำเนิด (แทนการหยุดยา) และเปลี่ยนแผ่นยาทุกสัปดาห์ ในช่วงที่แปะยาแผ่นที่ 6 สามารถเลือกหยุดยาให้ตรงกับวันใดของสัปดาห์นั้นก็ได้เพื่อใช้เป็น "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ในครั้งต่อไป ไม่ควรแปะยาต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ การแปะแผ่นยาต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้นนี้ไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่อาจพบว่ามีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเฉพาะ "วันเปลี่ยนแผ่นยา" โดยไม่ประสงค์จะเลื่อนการมีประจำเดือนออกไป สามารถทำได้ในช่วงที่แปะยาแผ่นที่ 3 (ของรอบการคุมกำเนิด) โดยเลือกหยุดยาให้ตรงกับวันที่ต้องการได้ (ซึ่งการคุมกำเนิดรอบนั้นจะสั้นลง) ทั้งนี้ในการเลือก "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ห้ามทำโดยการหยุดยาเกิน 7 วันโดยเด็ดขาด

หยุดใช้ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" จะกลับมาตั้งครรภ์ได้เมื่อไร?

หากต้องการตั้งครรภ์สามารถแกะแผ่นยาคุมกำเนิดออกได้ทันที ซึ่งร่างกายจะกลับเข้าสู่ภาวะเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติ (เหมือนการหยุดรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด) ส่วนยาในร่างกายจะค่อย ๆ ถูกขับออก ผู้หญิงส่วนใหญ่จะกลับมาตั้งครรภ์ได้ภายในเวลาไม่นาน มีเป็นส่วนน้อยที่ตั้งครรภ์ล่าช้า

ผลไม่พึงประสงค์ของ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ผลไม่พึงประสงค์ของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังเกิดได้คล้ายกับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคัดเต้านม ท้องอืด ปวดศีรษะ มีน้ำสะสมมากในร่างกาย (ตัวบวมน้ำ) มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด (จึงมีข้อห้ามใช้ดังกล่าวข้างต้น) การใช้เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเต้านม ส่วนผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดตรงตำแหน่งที่แปะแผ่นยา ได้แก่ คัน แสบ หรือระคายผิวหนัง ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้คล้ายกับการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดอาจลดลงหากใช้ร่วมกับยาบางชนิดในกลุ่ม ยาต้านชัก ยาต้านไวรัส ยาต้านแบคทีเรีย (โดยเฉพาะไรแฟมพิซิน) เป็นต้น ซึ่งช่วงนั้นอาจต้องพิจารณาใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย

เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย (หรือข้อด้อย) ของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีประสิทธิภาพสูงเทียบได้กับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม การใช้สะดวก และกลับมาตั้งครรภ์ได้เร็วเมื่อแกะแผ่นยาออก แต่ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจนอยู่ด้วย จึงมีผลไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ของเอสโตรเจนรวมถึงความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แต่ต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดฉีด (ที่มีตัวยาเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต), ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (ที่มีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล หรือเอโทโนเจสเตรล) และห่วงอนามัยคุมกำเนิด (ที่มีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล หรือสารทองแดง) และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงต่างจากการใช้ถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้ นอกจากนี้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังยังมีข้อดีและข้อเสีย (หรือข้อด้อย) อื่น ๆ ดังแสดงในตารางที่ 1



ข้อควรคำนึงเมื่อใช้ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

เมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีข้อควรคำนึงบางประการดังนี้
  1. ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีตัวยาเป็นฮอร์โมนรวมซึ่งคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่ใช้กันมาก จึงมีผลไม่พึงประสงค์ ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในผู้ที่ห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจึงห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังด้วย
  2. ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังไม่ได้เหนือกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม มีข้อดีเพียงแค่ว่ายาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน ทำให้หมดปัญหาเรื่องลืมรับประทาน รับประทานไม่ตรงเวลา หรืออาเจียนภายหลังรับประทาน
  3. ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีข้อห้ามใช้หลายอย่างดังกล่าวข้างต้น ก่อนเริ่มใช้จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่าไม่มีโรคหรือความผิดปกติที่เป็นข้อห้าม
  4. ก่อนแปะแผ่นยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ กรณีที่ไม่มั่นใจต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน
  5. เมื่อถึงกำหนดวันเปลี่ยนแผ่นยา แม้จะเปลี่ยนเวลาใดก็ได้ที่สะดวกภายในวันนั้น แต่ถ้าแกะยาแผ่นเดิมออกแล้วต้องแปะแผ่นใหม่ทันที (ไม่ให้แกะรอไว้ล่วงหน้า)
  6. ไม่ให้หยุดยาเกิน 7 วัน ดังนั้นเมื่อหยุดยาครบกำหนดแล้วให้เริ่มแปะแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่ทันทีในวันรุ่งขึ้น แม้ว่าในวันนั้นประจำเดือนยังไม่มาหรือประจำเดือนยังไม่หมดก็ตาม แต่ถ้าไม่มีประจำเดือนมาติดต่อกัน 2 รอบของการคุมกำเนิด ให้ทดสอบการตั้งครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นให้หยุดแปะแผ่นยาทันที
  7. ไม่ให้แปะยา 2 แผ่นในเวลาเดียวกัน แม้ว่าแผ่นหนึ่งจะเป็นแผ่นเดิมก็ตาม
  8. หากความเหนียวของแผ่นยาลดลงจนไม่สามารถแปะทั้งแผ่นให้แนบผิวหนังได้ดังเดิม ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที ไม่ให้แก้ไขด้วยการทากาวหรือใช้พลาสเตอร์ปิดทับโดยเด็ดขาด
  9. สำรวจด้วยสายตาทุกวันว่าแผ่นยายังแปะอยู่ในสภาพเดิม ไม่หลุดลอกหรือเผยอ
  10. ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  11. ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษาว่ามีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (เช่นเดียวกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม) เพราะอาจได้รับยาอื่นที่เกิดปฏิกิริยาต่อกันกับตัวยาฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด จนรบกวนประสิทธิภาพของกันและกันได้ (กล่าวคือประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง หรือประสิทธิภาพในการรักษาโรคของยาอื่นลดลง) หรือเกิดผลไม่พึงประสงค์มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
  1. Evra® EPAR - product information, updated: October 26, 2021. https://www.ema.europa.eu/en/documents/product-information/evra-epar-product-information_en.pdf. Accessed: October 28, 2021.
  2. Xulane® (norelgestromin and ethinyl estradiol transdermal system). Highlights of prescribing information, revised: February 2021. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/fda/fdaDrugXsl.cfm?type=display%20&setid=f7848550-086a-43d8-8ae5-047f4b9e4382. Accessed: October 28, 2021.
  3. Twirla® (levonorgestrel and ethinyl estradiol) transdermal system. Highlights of prescribing information, revised: Febuary 2020. Reference ID: 4561873. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/204017s000lbl.pdf. Accessed: October 28, 2021.
  4. Graziottin A. A review of transdermal hormonal contraception: focus on the ethinylestradiol/norelgestromin contraceptive patch. Treat Endocrinol 2006; 5:359-65.
  5. Sivasankaran S, Jonnalagadda S. Advances in controlled release hormonal technologies for contraception: a review of existing devices, underlying mechanisms, and future directions. J Control Release 2021; 330:797-811.
  6. Abd E, Yousef SA, Pastore MN, Telaprolu K, Mohammed YH, Namjoshi S, et al. Skin models for the testing of transdermal drugs. Clin Pharmacol 2016; 8:163-76.
  7. Arellano R, Patel J. Contraception updates. https://www.accp.com/docs/bookstore/acsap/a2021b2_sample.pdf. Accessed: October 28, 2021.
  8. Galzote RM, Rafie S, Teal R, Mody SK. Transdermal delivery of combined hormonal contraception: a review of the current literature. Int J Womens Health 2017; 9:315-21.
  9. Bahamondes L, Valeria Bahamondes M, Shulman LP. Non-contraceptive benefits of hormonal and intrauterine reversible contraceptive methods. Hum Reprod Update 2015; 21:640-51.
  10. Maguire K, Westhoff C. The state of hormonal contraception today: established and emerging noncontraceptive health benefits. Am J Obstet Gynecol 2011; 205(4 Suppl):S4-8.
  11. Bateson D, McNamee K, Briggs P. Newer non-oral hormonal contraception. BMJ 2013. doi: 10.1136/bmj.f341. Accessed: October 28, 2021.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.