Knowledge Article


ห่วงอนามัย…สำหรับการคุมกำเนิดระยะยาว


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://uhs.umich.edu/files/uhs/field/image/fullsizeoutput_f8.jpeg
124,118 View,
Since 2021-06-29
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การคุมกำเนิดมีทั้งแบบถาวร ได้แก่ การผ่าตัดทำหมัน และแบบชั่วคราว การคุมกำเนิดชั่วคราวมีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง ซึ่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดถือเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวระยะสั้นและเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมมาก ส่วนการคุมกำเนิดชั่วคราววิธีอื่นที่กล่าวข้างต้นถือเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่ห่วงอนามัยซึ่งใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานหลายปี จึงเพิ่มความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยาว การใส่ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ในบทความนี้จะกล่าวถึงห่วงอนามัยในด้านที่เกี่ยวกับการแบ่งประเภทรวมถึงรูปแบบ ผู้ที่เหมาะกับการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ห่วงอนามัย การออกฤทธิ์และประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของห่วงอนามัย ผลไม่พึงประสงค์ ข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งข้อควรคำนึงเมื่อคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย

ห่วงอนามัยคืออะไร?

ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด (intrauterine device หรือ IUD) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับใส่เข้าในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ มีใช้มานานราว 100 ปีหรือนานกว่านี้ ห่วงอนามัยมีหลากหลายชนิดและมีรูปร่างแตกต่างกัน สามารถโค้งงอได้โดยไม่หัก วัสดุที่เป็นแกนอาจเป็นโลหะที่ขดเป็นวงหรือพลาสติก แต่ชนิดที่ใช้กันมากเป็นแกนพลาสติกและใส่สารแบเรียมซัลเฟต (barium sulphate) ซึ่งเป็นสารทึบรังสีเพื่อช่วยในการตรวจหาตำแหน่งด้วยเอกซเรย์ในกรณีที่มีการเคลื่อนที่ของห่วงอนามัย ห่วงอนามัยที่ใช้กันมากในปัจจุบันมีรูปร่างคล้ายอักษรตัวที (T-shaped IUD), อักษรตัวยู (U-shaped IUD) หรือคล้ายร่ม และอักษรตัววาย (Y-shaped IUD) ซึ่งอาจจัดรวมเป็นว่าคล้ายอักษรตัวทีก็ได้ (รูปที่ 1) ตรงปลายแกนแนวตั้งอาจทำเป็นปุ่มเพื่อกันไม่ให้ห่วงอนามัยหลุดจากปากมดลูก และตรงปลายแกนมีเส้นไนลอนคล้ายเส้นด้ายผูกไว้ 1 หรือ 2 เส้น ชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวทีมีความกว้าง 28-32 มิลลิเมตรและความยาว 30-36 มิลลิเมตร หากเป็นชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวยูหรือตัววายมีความกว้าง 18-24 มิลลิเมตร ส่วนความยาวใกล้เคียงกับชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวที ใส่เข้าในโพรงมดลูกโดยผ่านอุปกรณ์สอด (inserter) ห่วงสามารถใส่อยู่ในโพรงมดลูกได้พอดี โดยมีเส้นไนลอนยื่นพ้นปากมดลูกเข้ามาในช่องคลอดราว 2-3 เซนติเมตร (เพื่อช่วยในการตรวจตำแหน่งห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกในภายหน้า) ผู้ที่ไม่เคยมีบุตรบางรายมีโพรงมดลูกเล็กอาจเลือกห่วงอนามัยขนาดเล็กสุด ห่วงอนามัยมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการตั้งครรภ์และใส่ได้นาน 3-10 ปี หรือนานกว่านี้ซึ่งขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย



การแบ่งประเภทห่วงอนามัย

ห่วงอนามัยมีทั้งชนิดที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ (inert IUD) และชนิดที่มีสารออกฤทธิ์ ซึ่งชนิดที่มีสารออกฤทธิ์จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าและนิยมใช้มากกว่า ในที่นี้จะกล่าวถึงห่วงอนามัยชนิดที่มีสารออกฤทธิ์โดยแบ่งตามประเภทของสารออกฤทธิ์ได้ดังนี้
  1. ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (copper-containing intrauterine device หรือ intrauterine coil) สารออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดคือทองแดงที่ปล่อยออกจากห่วงอนามัยและอยู่ในรูปมีประจุ (ionized copper หรือ copper ion) แกนห่วงอนามัยโค้งงอได้โดยไม่หักซึ่งชนิดที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ทำด้วยพลาสติก รอบนอกเป็นทองแดงซึ่งอาจทำเป็นเส้นลวดพันรอบแกนหรือทำเป็นปลอกหุ้มแกน ทั่วโลกมีจำหน่ายหลายยี่ห้อ มีหลายรูปแบบดังตัวอย่างในรูปที่ 1(ก), 1(ค) และ 1(ง) และมีพื้นที่ผิวทองแดง 200-380 ตารางมิลลิเมตร ให้เลือกใช้เพื่อการคุมกำเนิดได้นาน 3-10 ปี หรืออาจนานถึง 12 ปีซึ่งขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย หากมีพื้นที่ผิวทองแดงมากจะคุมกำเนิดได้นาน ในช่วงแรกห่วงอนามัยจะปล่อยทองแดงในรูปมีประจุออกมาวันละ 40-50 ไมโครกรัม (ปริมาณที่ต้องการในการออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์คือวันละ 25-80 ไมโครกรัม) ปริมาณทองแดงที่ปล่อยจะลดลงอย่างช้า ๆแต่เพียงพอต่อการออกฤทธิ์ตลอดช่วงอายุการใช้งานของห่วงอนามัย ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงนี้นอกจากใช้เพื่อการคุมกำเนิดระยะยาวแล้ว ยังใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินได้หากใส่ห่วงอนามัยภายใน 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์
  2. ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน (hormonal intrauterine device หรือ intrauterine system) ซึ่งชนิดที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) เป็นสารออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิด เลโวนอร์เจสเตรลเป็นฮอร์โมนพวกโพรเจสติน (progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นกลุ่มฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้นและมีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรน (progesterone) ในร่างกาย ห่วงอนามัยชนิดนี้แกนทำด้วยพลาสติกที่โค้งงอได้โดยไม่หัก ชนิดที่ใช้กันส่วนใหญ่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวทีดังแสดงในรูปที่ 1(ข) รอบแกนกลางมีที่เก็บตัวยาซึ่งมีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลบรรจุในปริมาณแตกต่างกัน ได้แก่ 13.5, 19.5 และ 52 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดได้นานต่างกันตามปริมาณตัวยา กล่าวคือ หากมีตัวยา 13.5 มิลลิกรัมใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปี, หากมีตัวยา 19.5 มิลลิกรัมใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปี และหากมีตัวยา 52 มิลลิกรัมใช้คุมกำเนิดนานไม่น้อยกว่า 5 ปี (บางผลิตภัณฑ์ระบุไว้ 6 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาถึงการใช้คุมกำเนิดนาน 8 ปี) ทั่วโลกมีจำหน่ายหลายยี่ห้อ ปริมาณการปล่อยตัวยาจากห่วงอนามัยไม่เท่ากัน หากเป็นชนิดที่มีตัวยา 52 มิลลิกรัม ช่วงแรกปล่อยตัวยาในอัตราวันละ 20 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 8.6 ไมโครกรัมหลัง 6 ปี (โดยเฉลี่ยปล่อยตัวยาวันละ 14.3 ไมโครกรัมเป็นเวลา 6 ปี) ชนิดที่มีตัวยา 19.5 มิลลิกรัม ช่วงแรกปล่อยตัวยาในอัตราวันละ 17.5 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 7.4 ไมโครกรัมหลัง 5 ปี (โดยเฉลี่ยปล่อยตัวยาวันละ 9 ไมโครกรัมเป็นเวลา 5 ปี) ส่วนชนิดที่มีตัวยา 13.5 มิลลิกรัม ช่วงแรกปล่อยตัวยาในอัตราวันละ 14 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 5 ไมโครกรัมหลัง 3 ปี สำหรับห่วงอนามัยชนิดที่มีตัวยา 52 มิลลิกรัมนอกจากใช้คุมกำเนิดแล้วยังใช้รักษาความผิดปกติอื่น ได้แก่ ภาวะมีประจำเดือนมาก ภาวะปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และใช้ป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูก (เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก) ในรายที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน (estrogen replacement therapy)
ห่วงอนามัยเหมาะกับใคร?

ห่วงอนามัยใช้กับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องการคุมกำเนิดชั่วคราวเป็นระยะเวลานาน (นานกว่า 2 ปี) ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้วหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในอนาคตผู้หญิงเหล่านี้ประสงค์ที่จะมีบุตรจึงไม่เลือกวิธีทำหมันซึ่งเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร ห่วงอนามัยใช้ได้กับกลุ่มคนที่หลากหลายรวมถึงแม่ที่ให้นมลูกและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน แม้ว่าห่วงอนามัยชนิดที่มีเลโวนอร์เจสเตรลอาจทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงแต่ไม่ส่งผลกระทบมากนักไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพหรือปริมาณน้ำนม (หรืออาจเลือกใช้ชนิดห่วงอนามัยหุ้มทองแดง) ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินหากคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นที่มีตัวยาเป็นฮอร์โมนอาจพบว่าระดับยาในเลือดต่ำกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติได้เล็กน้อยและอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่ในกรณีที่เป็นห่วงอนามัยซึ่งการออกฤทธิ์ที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์เป็นการออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่ (ภายในมดลูก) จึงไม่ขึ้นกับระดับยาในเลือด อย่างไรก็ตามผู้ที่จะใส่ห่วงอนามัยต้องไม่มีข้อห้ามตามที่กล่าวถึงข้างล่างนี้

ผู้ที่ห้ามใส่ห่วงอนามัย

ห้ามใส่ห่วงอนามัยไม่ว่าจะเป็นห่วงอนามัยหุ้มทองแดงหรือห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลในกรณีดังนี้
  • ตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ ผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์จึงต้องผ่านการตรวจก่อนว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
  • แพ้ต่อส่วนประกอบใด ๆของห่วงอนามัย
  • ก่อนหน้านี้ได้ใส่ห่วงอนามัยและยังไม่ได้เอาออก
  • เป็นโรคติดเชื้อในทางเดินระบบสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ หรือมีการติดเชื้อบริเวณใด ๆของระบบสืบพันธุ์ส่วนล่าง หรือมีเหตุใดก็ตามที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • มดลูกมีความผิดปกติมาแต่กำเนิดชนิดที่ทำให้โพรงมดลูกมีลักษณะบิดเบี้ยวจนยากต่อการใส่ห่วงอนามัย
  • เป็นหรือเคยเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ยกเว้นรายที่มีการตั้งครรภ์ได้ตามปกติในเวลาต่อมา
  • เคยมีภาวะแท้งติดเชื้อ (septic abortion) หรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบหลังคลอด (postpartum endometritis) ภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
  • เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งหรือโรคเนื้องอกที่มดลูกหรือปากมดลูก อย่างไรก็ตามก่อนใส่ห่วงอนามัยไม่จำเป็นต้องทำแปปสเมียร์ (Pap smear หรือ Pap test) เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกยกเว้นรายที่แพทย์สงสัย
  • มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ได้แก่ ผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือโรคมะเร็งอื่นชนิดที่ไวต่อฮอร์โมนพวกโพรเจสติน, โรคเนื้องอกตับหรือโรคมะเร็งตับ, โรคตับที่เป็นเฉียบพลัน
  • ข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรควิลสัน (Wilson disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้มีการสะสมของทองแดงมากเกินไปที่อวัยวะสำคัญหลายแห่ง
ควรใส่ห่วงอนามัยช่วงเวลาใด?

การใส่ห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกทำโดยแพทย์ที่ผ่านการฝึก ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์สามารถเข้ารับการใส่ห่วงได้ในช่วงเวลาใด ๆที่สะดวกและไม่ได้กำลังมีประจำเดือน อีกทั้งต้องไม่เข้าข่าย“ผู้ที่ห้ามใส่ห่วงอนามัย” ดังกล่าวแล้วข้างต้น การใส่ห่วงอนามัยทำได้แม้ภายหลังการคลอดบุตร อาจใส่หลังคลอดทันทีหรือใส่ภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หรือใส่ทันทีหลังการแท้งบุตร แต่การใส่ห่วงอนามัยภายหลังคลอดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อห่วงอนามัยหลุด โดยเฉพาะเมื่อคลอดตามธรรมชาติ (ไม่ใช่การผ่าคลอด) ห่วงอนามัยไม่มีผลกระทบต่อการให้นมบุตร แม้ว่าห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลอาจทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงแต่ไม่ส่งผลกระทบมากนักไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพหรือปริมาณน้ำนม ให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยในช่วงสัปดาห์แรกหลังการใส่ห่วงอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน จากนั้นจะมีการนัดมาตรวจความเรียบร้อยของห่วงอนามัยที่ใส่ โดยช่วงแรกจะนัดถี่ เช่น อาจนัดมาตรวจที่ 1, 3, 6 และ 12 เดือนภายหลังการใส่ห่วง ต่อจากนั้นจะนัดปีละ 1 ครั้ง

การตรวจตำแหน่งห่วงอนามัยด้วยตนเอง

ห่วงอนามัยเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กเมื่อใส่เข้าในโพรงมดลูกจะมีปลายเส้นไนลอนยื่นพ้นปากมดลูกเข้ามาในช่องคลอด ผู้ใส่ห่วงอนามัยสามารถตรวจสัมผัสเส้นไนลอนในช่องคลอดได้ด้วยตนเอง โดยใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางที่ตัดเล็บสั้นและล้างสะอาดสอดเข้าไปสัมผัสดูว่ายังอยู่ในลักษณะเดิมหรือไม่ โดยความยาวเส้นไนลอนแต่ละครั้งต้องเท่าเดิม หากไม่พบเส้นไนลอนหรือพบว่าสั้นกว่าที่ตรวจครั้งก่อนแสดงว่าอาจมีการเคลื่อนที่ของห่วงอนามัย ในทางตรงกันข้ามหากพบว่าเส้นไนลอนยาวผิดปกติอีกทั้งมีบางส่วนของห่วงยื่นมาในช่องคลอดแสดงว่าห่วงอนามัยเสี่ยงต่อการหลุด ไม่ให้ดันห่วงกลับเข้าไปในโพรงมดลูกด้วยตนเอง ความผิดปกติเหล่านี้ล้วนทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากห่วงซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ ให้กลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจและทำการแก้ไข ในกรณีที่ไม่พบเส้นไนลอนและมั่นใจว่าห่วงอนามัยไม่ได้หลุดออกมา แพทย์ต้องตรวจหาตำแหน่งของห่วงอนามัยให้พบซึ่งอาจทำโดยวิธีอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกรานหรือในบางกรณีต้องหาโดยการเอกซเรย์ การเคลื่อนที่ของห่วงอนามัยเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการใส่ จึงควรตรวจบ่อย ๆด้วยตนเอง หลังจากนั้นอาจตรวจเดือนละ 1 ครั้งหลังประจำเดือนหยุด นอกจากนี้ช่วงมีประจำเดือนให้สังเกตดูว่ามีห่วงอนามัยหลุดออกมาด้วยหรือไม่

ห่วงอนามัยออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้อย่างไร?

ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์โดยการปล่อยทองแดงในรูปมีประจุ ซึ่งเป็นพิษต่อตัวอสุจิและไข่ ทำให้ตัวอสุจิในโพรงมดลูกเคลื่อนที่ไม่ได้และไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ด้วยเหตุนี้แม้ว่าการปฏิสนธิเกิดขึ้นได้แต่ตัวอ่อนจะไม่สามารถฝังตัวจึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าวนี้ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงจึงใช้ในการคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ด้วย ทองแดงในรูปมีประจุไม่รบกวนตัวอ่อนที่ฝังตัวได้แล้วจึงไม่มีฤทธิ์ในการทำให้แท้งบุตร ส่วนห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลมีระดับยาในเลือดเมื่อคงที่จะอยู่ในช่วง 100-200 พิโคกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งไม่เพียงพอในการยับยั้งการตกไข่ แต่จะให้ระดับยาที่เยื่อบุโพรงมดลูก 200-800 เท่าเมื่อเทียบกับยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ด้วยเหตุนี้การออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ของฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลจากห่วงอนามัยจึงเป็นฤทธิ์เฉพาะที่ (ซึ่งไม่ขึ้นกับระดับยาในเลือด) โดยออกฤทธิ์กดการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ด้วยเหตุนี้แม้ว่าการปฏิสนธิเกิดขึ้นได้แต่ตัวอ่อนจะไม่สามารถฝังตัวจึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ อย่างไรตามยาจะไม่รบกวนตัวอ่อนที่ฝังตัวได้แล้วจึงไม่มีฤทธิ์ในการทำให้แท้งบุตร นอกจากนี้ฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลยังทำให้มูกปากมดลูกข้นเหนียวจึงขัดขวางการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

การใส่ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูงมาก อัตราความล้มเหลวใน 1 ปีแรกเพียง 0.2-0.8% และหากคิดตลอดช่วงอายุการใช้งานของห่วงอนามัยจะมีอัตราความล้มเหลวราว 0.7% ถึงน้อยกว่า 2% ขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย หากเป็นห่วงอนามัยหุ้มทองแดงชนิดที่มีพื้นที่ผิวทองแดง 380 ตารางมิลลิเมตร ตลอดช่วงเวลาที่ใช้คุมกำเนิดนาน 12 ปีพบอัตราการตั้งครรภ์น้อยกว่า 2%, ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล 13.5 มิลลิกรัม ตลอดช่วงเวลาที่ใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปีพบอัตราการตั้งครรภ์ 0.9%, ชนิดที่มีตัวยา 19.5 มิลลิกรัม ตลอดช่วงเวลาที่ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปีพบอัตราการตั้งครรภ์ 1.5% และชนิดที่มีตัวยา 52 มิลลิกรัม ตลอดช่วงเวลาที่ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปีพบอัตราการตั้งครรภ์ 0.7-0.9%

หากตั้งครรภ์ขณะใส่ห่วงอนามัยจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่?

หากเกิดการตั้งครรภ์ขณะใส่ห่วงอนามัย ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าไม่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกและเพื่อประเมินถึงความเป็นไปได้ที่จะเอาห่วงอนามัยออก หากสามารถเอาห่วงอนามัยออกมาได้ง่ายโดยไม่เกิดการบาดเจ็บหรือห่วงอนามัยถูกขับออกมาเองในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ในกรณีเช่นนี้จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ในกรณีที่ไม่สามารถเอาห่วงอนามัยออกมาและการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ การแท้งบุตรและการคลอดก่อนกำหนด แต่ไม่มีรายงานถึงการทำให้ทารกในครรภ์พิการ กรณีที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลแล้วเกิดตั้งครรภ์ พบว่าบางรายมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดมาเป็นเวลาราว 1 ปีก่อนเกิดการตั้งครรภ์ รายที่ตั้งครรภ์หากคลอดบุตรและรกออกหมดแล้วต้องตรวจให้พบห่วงอนามัยเพื่อความมั่นใจว่าห่วงไม่ได้ทะลุออกนอกมดลูกจนเกิดการตกค้างเป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตัว และควรมีการแนะนำไม่ให้กลับไปใช้การคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยอีก เพราะมีโอกาสสูงจะที่เกิดเหตุการณ์เช่นเดิมซ้ำอีก

ผลไม่พึงประสงค์ของห่วงอนามัย

ผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใส่ห่วงอนามัยไม่ว่าจะเป็นชนิดหุ้มทองแดงหรือชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลนั้นพบได้น้อยและส่วนใหญ่เกิดไม่รุนแรง ดังที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้
  1. เจ็บและมีเลือดออกเล็กน้อยเมื่อใส่ห่วงอนามัยเข้าในโพรงมดลูกหรือเอาห่วงออก
  2. ปวดเกร็งท้องขณะมีประจำเดือนและประจำเดือนมาผิดปกติ ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงทำให้มีอาการปวดเกร็งท้องได้มากอีกทั้งมีประจำเดือนออกมากและนานกว่าปกติ ในขณะที่ห่วงอนามัยชนิดที่มีเลโวนอร์เจสเตรลทำให้มีอาการปวดเกร็งท้องน้อยกว่าและประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มีประจำเดือน
  3. เกิดการติดเชื้อและการอักเสบของอุ้งเชิงกราน
  4. เกิดความล้มเหลวในการคุมกำเนิดและตั้งครรภ์ แต่เกิดในอัตราต่ำซึ่งการใส่ห่วงอนามัยจัดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก
  5. ห่วงอนามัยหลุด โดยเฉพาะในช่วงปีแรกและพบในผู้หญิงที่อายุน้อย (วัยเพิ่งเริ่มมีประจำเดือนและหญิงสาว) ได้มากกว่าผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น ผู้ที่มีประวัติว่าห่วงอนามัยเคยหลุดจะมีโอกาสหลุดซ้ำได้สูงและห่วงอนามัยหลุดเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เลิกใช้
  6. ได้รับอันตรายจากห่วงอนามัย เช่น บาดเจ็บในโพรงมดลูก มดลูกทะลุซึ่งพบได้น้อย
  7. สายไนลอนในช่องคลอดอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์ในบางราย
  8. กรณีที่ใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง อาจสร้างความกังวลว่าจะมีระดับทองแดงในเลือดสูงจนเกิดอันตราย แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาซึ่งห่วงอนามัยชนิดดังกล่าวมีใช้มานาน ยังไม่พบรายงานการเกิดอาการพิษจากทองแดงในผู้ที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดดังกล่าว แม้บางรายงานจะพบว่ามีปริมาณทองแดงในเลือดสูงขึ้นแต่จะเป็นปริมาณทองแดงทั้งหมด (total copper) ไม่ใช่ปริมาณทองแดงอิสระ (free copper) ซึ่งทองแดงอิสระเป็นชนิดที่มีสัมพันธ์กับการเกิดอาการพิษ ด้วยเหตุนี้จากรายงานดังกล่าวจึงไม่อาจสรุปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดความเป็นพิษจากทองแดงในผู้ที่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง
  9. กรณีที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ผลไม่พึงประสงค์อื่นที่นอกเหนือจากการมีประจำเดือนน้อยหรือไม่มีประจำเดือนดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาจพบอาการอื่น เช่น ปวดศีรษะ ตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม อารมณ์เปลี่ยนแปลง สิวขึ้น อย่างไรก็ตามการใส่ห่วงอนามัยให้ระดับฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลในเลือดต่ำกว่าที่พบจากการคุมกำเนิดแบบอื่นที่มีฮอร์โมนชนิดเดียวกัน จึงเกิดผลไม่พึงประสงค์ของฮอร์โมนได้น้อยกว่า
ห่วงอนามัยมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร?

การใส่ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวแบบระยะยาวที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ใช้คุมกำเนิดได้นาน 3-10 ปีหรืออาจนานถึง 12 ปีซึ่งขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย จึงมีความสะดวกและลดข้อผิดพลาดบางอย่าง เช่น การลืมกินยา การนับวันคลาดเคลื่อน อีกทั้งยังสามารถกลับมามีบุตรได้ตามปกติทันทีภายหลังนำห่วงอนามัยออก นอกจากนี้การใส่ห่วงอนามัยไม่ว่าจะเป็นชนิดหุ้มทองแดงหรือชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (endometrial hyperplasia) และโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial cancer) แต่การใส่ห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกต้องทำโดยแพทย์ ก่อนใส่ห่วงอนามัยต้องผ่านการตรวจภายใน การใส่ห่วงอนามัยเข้าในโพรงมดลูกหรือเอาห่วงออกทำให้เจ็บและมีเลือดออกเล็กน้อย นอกจากนี้ห่วงอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงต่างจากการใช้ถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการใส่ห่วงอนามัยแสดงไว้ในตารางที่ 1



ห่วงอนามัยเอาออกได้เมื่อไร?

การเอาห่วงอนามัยออกต้องทำโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึก ในขณะที่นำห่วงอนามัยออกและหลังจากนั้นอาจมีเลือดออกและปวดเกร็งท้องเล็กน้อย ห่วงอนามัยเอาออกได้ในกรณีดังนี้
  1. ครบอายุการใช้งานของห่วงอนามัยแต่ละชนิด และหากประสงค์จะคุมกำเนิดเช่นเดิมให้ใส่ห่วงอนามัยอันใหม่ทันที
  2. ในเวลาใด ๆที่ประสงค์จะมีบุตร
  3. เมื่อต้องการเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น
  4. ถึงวัยหมดประจำเดือน หากเป็นผู้ที่อายุเกิน 50 ปีให้เอาห่วงอนามัยออกได้เมื่อไม่มีประจำเดือนมาอีกเลยเป็นเวลา 1 ปี หากอายุยังไม่ถึง 50 ปีให้เอาห่วงอนามัยออกได้เมื่อไม่มีประจำเดือนมาอีกเลยเป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานถึงอันตรายหรือผลเสียประการใดหากยังไม่ได้เอาห่วงออกในเวลาดังกล่าว อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้
  5. ห่วงอนามัยชำรุด ซึ่งประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อมดลูก
  6. เกิดการตั้งครรภ์ จะเอาห่วงอนามัยออกต่อเมื่อห่วงนั้นอยู่ในตำแหน่งที่สามารถนำออกมาได้ง่ายโดยไม่เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บ
  7. เกิดผลไม่พึงประสงค์รุนแรง เช่น มีเลือดออกแบบผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีเลือดออกปริมาณมากและนานผิดปกติ (ซึ่งเกิดกับการใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงมากกว่าห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล)
ข้อควรคำนึงเมื่อคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย

ในการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยมีข้อควรคำนึงบางประการดังนี้
  1. ควรเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยก่อนตัดสินใจเข้ารับการใส่ห่วงอนามัย
  2. การใส่ห่วงอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงต่างจากถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้
  3. ภายหลังใส่ห่วงอนามัยแล้วให้ตรวจสอบเป็นระยะ ๆว่าเส้นไนลอนยังอยู่ในลักษณะเดิมเหมือนที่ตรวจสอบครั้งแรก (ดูหัวข้อ การตรวจสอบตำแหน่งห่วงอนามัยจากปลายเส้นไนลอน) หากพบความผิดปกติแสดงว่าอาจมีการเคลื่อนที่ของห่วงอนามัย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากห่วงซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ ให้กลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจและทำการแก้ไข
  4. หากเกิดความผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย เช่น ปวดท้องมาก เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวผิดปกติ รู้สึกไม่สบาย เป็นไข้ หนาวสั่น (ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ ตลอดจนประจำเดือนไม่มาซึ่งอาจเกิดการตั้งครรภ์
เอกสารอ้างอิง
  1. Lanzola EL, Ketvertis K. Intrauterine device, updated: July 31, 2020. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing, 2021. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557403/. Accessed: June 10, 2021.
  2. Watkins ES. The comeback of the IUD in twenty-first century USA. J Hist Med Allied Sci 2021; 76:191-216.
  3. Khalife T. Pregnancy with IUD in place. Am J Obstet Gynecol 2021. doi: 10.1016/j.ajog.2021.05.039. Accessed: June 10, 2021.
  4. Keenahan L, Bercaw-Pratt JL, Adeyemi O, Hakim J, Sangi-Haghpeykar H, Dietrich JE. Rates of intrauterine device expulsion among adolescents and young women. J Pediatr Adolesc Gynecol 2021; 34:362-5.
  5. Crandell L, Mohler N. A literature review of the effects of copper intrauterine devices on blood copper levels in humans. Nurs Womens Health 2021; 25:71-81.
  6. Marangoni M Jr, Laporte M, Surita F, Kraft MB, Bahamondes L, Juliato CRT. One-year follow up on post-placental IUD insertion: a randomized clinical trial. Acta Obstet Gynecol Scand 2021; 100:596-603.
  7. FSRH guideline (April 2019) overweight, obesity and contraception. BMJ Sex Reprod Health 2019; 45(Suppl 2):1-69.
  8. Intrauterine levonorgestrel, updated: February 15, 2021. Drugs and lactation database (LactMed). Bethesda (MD): National Library of Medicine (US). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK500927/. Accessed: June 10, 2021.
  9. Ti AJ, Roe AH, Whitehouse KC, Smith RA, Gaffield ME, Curtis KM. Effectiveness and safety of extending intrauterine device duration: a systematic review. Am J Obstet Gynecol 2020; 223:24-35.
  10. Adeyemi-Fowode OA, Bercaw-Pratt JL. Intrauterine devices: effective contraception with noncontraceptive benefits for adolescents. J Pediatr Adolesc Gynecol 2019; 32(5S):S2-S6.
  11. Akintomide H, Brima N, Mansour DJ, Shawe J. Copper IUD continuation, unwanted effects and cost consequences at 1 year in users aged under 30 - a secondary analysis of the EURAS-IUD study. Eur J Contracept Reprod Health Care 2021; 6:175-83.
  12. Attia AM, Ibrahim MM, Abou-Setta AM. Role of the levonorgestrel intrauterine system in effective contraception. Patient Prefer Adherence 2013; 7:777-85.
  13. Levonorgestrel intrauterine (Mirena, Skyla, Liletta, Kyleena). Medscape prescription drug monographs. https://reference.medscape.com/drug/mirena-skyla-levonorgestrel-intrauterine-342780. Accessed: June 10, 2021.
  14. Bastidas DM, Valdez B, Schorr M, Bastidas JM. Corrosion of copper intrauterine devices: review and recent developments. Corrosion Rev 2019; 37:307-20.
  15. FHI 360 Family Health International. Intrauterine devices (IUDs). https://www.fhi360.org/sites/default/files/webpages/Modules/IUD/intro.htm. Accessed: June 10, 2021.
  16. A novel intrauterine device with controlled copper release. WO 2012/063262. PCT/IN2011/000770. https://patentimages.storage.googleapis.com/02/93/1b/5cfa4584a3c209/WO2012063262A2.pdf. Accessed: June 10, 2021.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.