การคุมกำเนิดมีทั้งแบบถาวร ได้แก่ การผ่าตัดทำหมัน และแบบชั่วคราว การคุมกำเนิดชั่วคราวมีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง ซึ่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดถือเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวระยะสั้นและเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมมาก ส่วนการคุมกำเนิดชั่วคราววิธีอื่นที่กล่าวข้างต้นถือเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่ห่วงอนามัยซึ่งใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานหลายปี จึงเพิ่มความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยาว การใส่ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ในบทความนี้จะกล่าวถึงห่วงอนามัยในด้านที่เกี่ยวกับการแบ่งประเภทรวมถึงรูปแบบ ผู้ที่เหมาะกับการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ห่วงอนามัย การออกฤทธิ์และประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของห่วงอนามัย ผลไม่พึงประสงค์ ข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งข้อควรคำนึงเมื่อคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย
ห่วงอนามัยคืออะไร?
ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด (intrauterine device หรือ IUD) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับใส่เข้าในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ มีใช้มานานราว 100 ปีหรือนานกว่านี้ ห่วงอนามัยมีหลากหลายชนิดและมีรูปร่างแตกต่างกัน สามารถโค้งงอได้โดยไม่หัก วัสดุที่เป็นแกนอาจเป็นโลหะที่ขดเป็นวงหรือพลาสติก แต่ชนิดที่ใช้กันมากเป็นแกนพลาสติกและใส่สารแบเรียมซัลเฟต (barium sulphate) ซึ่งเป็นสารทึบรังสีเพื่อช่วยในการตรวจหาตำแหน่งด้วยเอกซเรย์ในกรณีที่มีการเคลื่อนที่ของห่วงอนามัย ห่วงอนามัยที่ใช้กันมากในปัจจุบันมีรูปร่างคล้ายอักษรตัวที (T-shaped IUD), อักษรตัวยู (U-shaped IUD) หรือคล้ายร่ม และอักษรตัววาย (Y-shaped IUD) ซึ่งอาจจัดรวมเป็นว่าคล้ายอักษรตัวทีก็ได้ (รูปที่ 1) ตรงปลายแกนแนวตั้งอาจทำเป็นปุ่มเพื่อกันไม่ให้ห่วงอนามัยหลุดจากปากมดลูก และตรงปลายแกนมีเส้นไนลอนคล้ายเส้นด้ายผูกไว้ 1 หรือ 2 เส้น ชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวทีมีความกว้าง 28-32 มิลลิเมตรและความยาว 30-36 มิลลิเมตร หากเป็นชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวยูหรือตัววายมีความกว้าง 18-24 มิลลิเมตร ส่วนความยาวใกล้เคียงกับชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวที ใส่เข้าในโพรงมดลูกโดยผ่านอุปกรณ์สอด (inserter) ห่วงสามารถใส่อยู่ในโพรงมดลูกได้พอดี โดยมีเส้นไนลอนยื่นพ้นปากมดลูกเข้ามาในช่องคลอดราว 2-3 เซนติเมตร (เพื่อช่วยในการตรวจตำแหน่งห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกในภายหน้า) ผู้ที่ไม่เคยมีบุตรบางรายมีโพรงมดลูกเล็กอาจเลือกห่วงอนามัยขนาดเล็กสุด ห่วงอนามัยมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการตั้งครรภ์และใส่ได้นาน 3-10 ปี หรือนานกว่านี้ซึ่งขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย
การแบ่งประเภทห่วงอนามัย
ห่วงอนามัยมีทั้งชนิดที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ (inert IUD) และชนิดที่มีสารออกฤทธิ์ ซึ่งชนิดที่มีสารออกฤทธิ์จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าและนิยมใช้มากกว่า ในที่นี้จะกล่าวถึงห่วงอนามัยชนิดที่มีสารออกฤทธิ์โดยแบ่งตามประเภทของสารออกฤทธิ์ได้ดังนี้
- ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (copper-containing intrauterine device หรือ intrauterine coil) สารออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดคือทองแดงที่ปล่อยออกจากห่วงอนามัยและอยู่ในรูปมีประจุ (ionized copper หรือ copper ion) แกนห่วงอนามัยโค้งงอได้โดยไม่หักซึ่งชนิดที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ทำด้วยพลาสติก รอบนอกเป็นทองแดงซึ่งอาจทำเป็นเส้นลวดพันรอบแกนหรือทำเป็นปลอกหุ้มแกน ทั่วโลกมีจำหน่ายหลายยี่ห้อ มีหลายรูปแบบดังตัวอย่างในรูปที่ 1(ก), 1(ค) และ 1(ง) และมีพื้นที่ผิวทองแดง 200-380 ตารางมิลลิเมตร ให้เลือกใช้เพื่อการคุมกำเนิดได้นาน 3-10 ปี หรืออาจนานถึง 12 ปีซึ่งขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย หากมีพื้นที่ผิวทองแดงมากจะคุมกำเนิดได้นาน ในช่วงแรกห่วงอนามัยจะปล่อยทองแดงในรูปมีประจุออกมาวันละ 40-50 ไมโครกรัม (ปริมาณที่ต้องการในการออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์คือวันละ 25-80 ไมโครกรัม) ปริมาณทองแดงที่ปล่อยจะลดลงอย่างช้า ๆแต่เพียงพอต่อการออกฤทธิ์ตลอดช่วงอายุการใช้งานของห่วงอนามัย ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงนี้นอกจากใช้เพื่อการคุมกำเนิดระยะยาวแล้ว ยังใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินได้หากใส่ห่วงอนามัยภายใน 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์
- ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน (hormonal intrauterine device หรือ intrauterine system) ซึ่งชนิดที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) เป็นสารออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิด เลโวนอร์เจสเตรลเป็นฮอร์โมนพวกโพรเจสติน (progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นกลุ่มฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้นและมีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรน (progesterone) ในร่างกาย ห่วงอนามัยชนิดนี้แกนทำด้วยพลาสติกที่โค้งงอได้โดยไม่หัก ชนิดที่ใช้กันส่วนใหญ่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวทีดังแสดงในรูปที่ 1(ข) รอบแกนกลางมีที่เก็บตัวยาซึ่งมีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลบรรจุในปริมาณแตกต่างกัน ได้แก่ 13.5, 19.5 และ 52 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดได้นานต่างกันตามปริมาณตัวยา กล่าวคือ หากมีตัวยา 13.5 มิลลิกรัมใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปี, หากมีตัวยา 19.5 มิลลิกรัมใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปี และหากมีตัวยา 52 มิลลิกรัมใช้คุมกำเนิดนานไม่น้อยกว่า 5 ปี (บางผลิตภัณฑ์ระบุไว้ 6 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาถึงการใช้คุมกำเนิดนาน 8 ปี) ทั่วโลกมีจำหน่ายหลายยี่ห้อ ปริมาณการปล่อยตัวยาจากห่วงอนามัยไม่เท่ากัน หากเป็นชนิดที่มีตัวยา 52 มิลลิกรัม ช่วงแรกปล่อยตัวยาในอัตราวันละ 20 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 8.6 ไมโครกรัมหลัง 6 ปี (โดยเฉลี่ยปล่อยตัวยาวันละ 14.3 ไมโครกรัมเป็นเวลา 6 ปี) ชนิดที่มีตัวยา 19.5 มิลลิกรัม ช่วงแรกปล่อยตัวยาในอัตราวันละ 17.5 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 7.4 ไมโครกรัมหลัง 5 ปี (โดยเฉลี่ยปล่อยตัวยาวันละ 9 ไมโครกรัมเป็นเวลา 5 ปี) ส่วนชนิดที่มีตัวยา 13.5 มิลลิกรัม ช่วงแรกปล่อยตัวยาในอัตราวันละ 14 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 5 ไมโครกรัมหลัง 3 ปี สำหรับห่วงอนามัยชนิดที่มีตัวยา 52 มิลลิกรัมนอกจากใช้คุมกำเนิดแล้วยังใช้รักษาความผิดปกติอื่น ได้แก่ ภาวะมีประจำเดือนมาก ภาวะปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และใช้ป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูก (เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก) ในรายที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน (estrogen replacement therapy)
ห่วงอนามัยเหมาะกับใคร?
ห่วงอนามัยใช้กับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องการคุมกำเนิดชั่วคราวเป็นระยะเวลานาน (นานกว่า 2 ปี) ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้วหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในอนาคตผู้หญิงเหล่านี้ประสงค์ที่จะมีบุตรจึงไม่เลือกวิธีทำหมันซึ่งเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร ห่วงอนามัยใช้ได้กับกลุ่มคนที่หลากหลายรวมถึงแม่ที่ให้นมลูกและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน แม้ว่าห่วงอนามัยชนิดที่มีเลโวนอร์เจสเตรลอาจทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงแต่ไม่ส่งผลกระทบมากนักไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพหรือปริมาณน้ำนม (หรืออาจเลือกใช้ชนิดห่วงอนามัยหุ้มทองแดง) ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินหากคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นที่มีตัวยาเป็นฮอร์โมนอาจพบว่าระดับยาในเลือดต่ำกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติได้เล็กน้อยและอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่ในกรณีที่เป็นห่วงอนามัยซึ่งการออกฤทธิ์ที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์เป็นการออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่ (ภายในมดลูก) จึงไม่ขึ้นกับระดับยาในเลือด อย่างไรก็ตามผู้ที่จะใส่ห่วงอนามัยต้องไม่มีข้อห้ามตามที่กล่าวถึงข้างล่างนี้
ผู้ที่ห้ามใส่ห่วงอนามัย
ห้ามใส่ห่วงอนามัยไม่ว่าจะเป็นห่วงอนามัยหุ้มทองแดงหรือห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลในกรณีดังนี้
- ตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ ผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์จึงต้องผ่านการตรวจก่อนว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
- แพ้ต่อส่วนประกอบใด ๆของห่วงอนามัย
- ก่อนหน้านี้ได้ใส่ห่วงอนามัยและยังไม่ได้เอาออก
- เป็นโรคติดเชื้อในทางเดินระบบสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ หรือมีการติดเชื้อบริเวณใด ๆของระบบสืบพันธุ์ส่วนล่าง หรือมีเหตุใดก็ตามที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- มดลูกมีความผิดปกติมาแต่กำเนิดชนิดที่ทำให้โพรงมดลูกมีลักษณะบิดเบี้ยวจนยากต่อการใส่ห่วงอนามัย
- เป็นหรือเคยเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ยกเว้นรายที่มีการตั้งครรภ์ได้ตามปกติในเวลาต่อมา
- เคยมีภาวะแท้งติดเชื้อ (septic abortion) หรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบหลังคลอด (postpartum endometritis) ภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
- เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งหรือโรคเนื้องอกที่มดลูกหรือปากมดลูก อย่างไรก็ตามก่อนใส่ห่วงอนามัยไม่จำเป็นต้องทำแปปสเมียร์ (Pap smear หรือ Pap test) เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกยกเว้นรายที่แพทย์สงสัย
- มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ได้แก่ ผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือโรคมะเร็งอื่นชนิดที่ไวต่อฮอร์โมนพวกโพรเจสติน, โรคเนื้องอกตับหรือโรคมะเร็งตับ, โรคตับที่เป็นเฉียบพลัน
- ข้อห้ามเพิ่มเติมสำหรับห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรควิลสัน (Wilson disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้มีการสะสมของทองแดงมากเกินไปที่อวัยวะสำคัญหลายแห่ง
ควรใส่ห่วงอนามัยช่วงเวลาใด?
การใส่ห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกทำโดยแพทย์ที่ผ่านการฝึก ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์สามารถเข้ารับการใส่ห่วงได้ในช่วงเวลาใด ๆที่สะดวกและไม่ได้กำลังมีประจำเดือน อีกทั้งต้องไม่เข้าข่าย
“ผู้ที่ห้ามใส่ห่วงอนามัย” ดังกล่าวแล้วข้างต้น การใส่ห่วงอนามัยทำได้แม้ภายหลังการคลอดบุตร อาจใส่หลังคลอดทันทีหรือใส่ภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หรือใส่ทันทีหลังการแท้งบุตร แต่การใส่ห่วงอนามัยภายหลังคลอดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อห่วงอนามัยหลุด โดยเฉพาะเมื่อคลอดตามธรรมชาติ (ไม่ใช่การผ่าคลอด) ห่วงอนามัยไม่มีผลกระทบต่อการให้นมบุตร แม้ว่าห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลอาจทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงแต่ไม่ส่งผลกระทบมากนักไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพหรือปริมาณน้ำนม ให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยในช่วงสัปดาห์แรกหลังการใส่ห่วงอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน จากนั้นจะมีการนัดมาตรวจความเรียบร้อยของห่วงอนามัยที่ใส่ โดยช่วงแรกจะนัดถี่ เช่น อาจนัดมาตรวจที่ 1, 3, 6 และ 12 เดือนภายหลังการใส่ห่วง ต่อจากนั้นจะนัดปีละ 1 ครั้ง
การตรวจตำแหน่งห่วงอนามัยด้วยตนเอง
ห่วงอนามัยเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กเมื่อใส่เข้าในโพรงมดลูกจะมีปลายเส้นไนลอนยื่นพ้นปากมดลูกเข้ามาในช่องคลอด ผู้ใส่ห่วงอนามัยสามารถตรวจสัมผัสเส้นไนลอนในช่องคลอดได้ด้วยตนเอง โดยใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางที่ตัดเล็บสั้นและล้างสะอาดสอดเข้าไปสัมผัสดูว่ายังอยู่ในลักษณะเดิมหรือไม่ โดยความยาวเส้นไนลอนแต่ละครั้งต้องเท่าเดิม หากไม่พบเส้นไนลอนหรือพบว่าสั้นกว่าที่ตรวจครั้งก่อนแสดงว่าอาจมีการเคลื่อนที่ของห่วงอนามัย ในทางตรงกันข้ามหากพบว่าเส้นไนลอนยาวผิดปกติอีกทั้งมีบางส่วนของห่วงยื่นมาในช่องคลอดแสดงว่าห่วงอนามัยเสี่ยงต่อการหลุด ไม่ให้ดันห่วงกลับเข้าไปในโพรงมดลูกด้วยตนเอง ความผิดปกติเหล่านี้ล้วนทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากห่วงซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ ให้กลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจและทำการแก้ไข ในกรณีที่ไม่พบเส้นไนลอนและมั่นใจว่าห่วงอนามัยไม่ได้หลุดออกมา แพทย์ต้องตรวจหาตำแหน่งของห่วงอนามัยให้พบซึ่งอาจทำโดยวิธีอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกรานหรือในบางกรณีต้องหาโดยการเอกซเรย์ การเคลื่อนที่ของห่วงอนามัยเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการใส่ จึงควรตรวจบ่อย ๆด้วยตนเอง หลังจากนั้นอาจตรวจเดือนละ 1 ครั้งหลังประจำเดือนหยุด นอกจากนี้ช่วงมีประจำเดือนให้สังเกตดูว่ามีห่วงอนามัยหลุดออกมาด้วยหรือไม่
ห่วงอนามัยออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้อย่างไร?
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์โดยการปล่อยทองแดงในรูปมีประจุ ซึ่งเป็นพิษต่อตัวอสุจิและไข่ ทำให้ตัวอสุจิในโพรงมดลูกเคลื่อนที่ไม่ได้และไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ด้วยเหตุนี้แม้ว่าการปฏิสนธิเกิดขึ้นได้แต่ตัวอ่อนจะไม่สามารถฝังตัวจึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าวนี้ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงจึงใช้ในการคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ด้วย ทองแดงในรูปมีประจุไม่รบกวนตัวอ่อนที่ฝังตัวได้แล้วจึงไม่มีฤทธิ์ในการทำให้แท้งบุตร ส่วนห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลมีระดับยาในเลือดเมื่อคงที่จะอยู่ในช่วง 100-200 พิโคกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งไม่เพียงพอในการยับยั้งการตกไข่ แต่จะให้ระดับยาที่เยื่อบุโพรงมดลูก 200-800 เท่าเมื่อเทียบกับยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ด้วยเหตุนี้การออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ของฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลจากห่วงอนามัยจึงเป็นฤทธิ์เฉพาะที่ (ซึ่งไม่ขึ้นกับระดับยาในเลือด) โดยออกฤทธิ์กดการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ด้วยเหตุนี้แม้ว่าการปฏิสนธิเกิดขึ้นได้แต่ตัวอ่อนจะไม่สามารถฝังตัวจึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ อย่างไรตามยาจะไม่รบกวนตัวอ่อนที่ฝังตัวได้แล้วจึงไม่มีฤทธิ์ในการทำให้แท้งบุตร นอกจากนี้ฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลยังทำให้มูกปากมดลูกข้นเหนียวจึงขัดขวางการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ
ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
การใส่ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูงมาก อัตราความล้มเหลวใน 1 ปีแรกเพียง 0.2-0.8% และหากคิดตลอดช่วงอายุการใช้งานของห่วงอนามัยจะมีอัตราความล้มเหลวราว 0.7% ถึงน้อยกว่า 2% ขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย หากเป็นห่วงอนามัยหุ้มทองแดงชนิดที่มีพื้นที่ผิวทองแดง 380 ตารางมิลลิเมตร ตลอดช่วงเวลาที่ใช้คุมกำเนิดนาน 12 ปีพบอัตราการตั้งครรภ์น้อยกว่า 2%, ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล 13.5 มิลลิกรัม ตลอดช่วงเวลาที่ใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปีพบอัตราการตั้งครรภ์ 0.9%, ชนิดที่มีตัวยา 19.5 มิลลิกรัม ตลอดช่วงเวลาที่ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปีพบอัตราการตั้งครรภ์ 1.5% และชนิดที่มีตัวยา 52 มิลลิกรัม ตลอดช่วงเวลาที่ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปีพบอัตราการตั้งครรภ์ 0.7-0.9%
หากตั้งครรภ์ขณะใส่ห่วงอนามัยจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่?
หากเกิดการตั้งครรภ์ขณะใส่ห่วงอนามัย ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าไม่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกและเพื่อประเมินถึงความเป็นไปได้ที่จะเอาห่วงอนามัยออก หากสามารถเอาห่วงอนามัยออกมาได้ง่ายโดยไม่เกิดการบาดเจ็บหรือห่วงอนามัยถูกขับออกมาเองในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ในกรณีเช่นนี้จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ในกรณีที่ไม่สามารถเอาห่วงอนามัยออกมาและการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ การแท้งบุตรและการคลอดก่อนกำหนด แต่ไม่มีรายงานถึงการทำให้ทารกในครรภ์พิการ กรณีที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลแล้วเกิดตั้งครรภ์ พบว่าบางรายมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดมาเป็นเวลาราว 1 ปีก่อนเกิดการตั้งครรภ์ รายที่ตั้งครรภ์หากคลอดบุตรและรกออกหมดแล้วต้องตรวจให้พบห่วงอนามัยเพื่อความมั่นใจว่าห่วงไม่ได้ทะลุออกนอกมดลูกจนเกิดการตกค้างเป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตัว และควรมีการแนะนำไม่ให้กลับไปใช้การคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยอีก เพราะมีโอกาสสูงจะที่เกิดเหตุการณ์เช่นเดิมซ้ำอีก
ผลไม่พึงประสงค์ของห่วงอนามัย
ผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใส่ห่วงอนามัยไม่ว่าจะเป็นชนิดหุ้มทองแดงหรือชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลนั้นพบได้น้อยและส่วนใหญ่เกิดไม่รุนแรง ดังที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้
- เจ็บและมีเลือดออกเล็กน้อยเมื่อใส่ห่วงอนามัยเข้าในโพรงมดลูกหรือเอาห่วงออก
- ปวดเกร็งท้องขณะมีประจำเดือนและประจำเดือนมาผิดปกติ ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงทำให้มีอาการปวดเกร็งท้องได้มากอีกทั้งมีประจำเดือนออกมากและนานกว่าปกติ ในขณะที่ห่วงอนามัยชนิดที่มีเลโวนอร์เจสเตรลทำให้มีอาการปวดเกร็งท้องน้อยกว่าและประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มีประจำเดือน
- เกิดการติดเชื้อและการอักเสบของอุ้งเชิงกราน
- เกิดความล้มเหลวในการคุมกำเนิดและตั้งครรภ์ แต่เกิดในอัตราต่ำซึ่งการใส่ห่วงอนามัยจัดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก
- ห่วงอนามัยหลุด โดยเฉพาะในช่วงปีแรกและพบในผู้หญิงที่อายุน้อย (วัยเพิ่งเริ่มมีประจำเดือนและหญิงสาว) ได้มากกว่าผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น ผู้ที่มีประวัติว่าห่วงอนามัยเคยหลุดจะมีโอกาสหลุดซ้ำได้สูงและห่วงอนามัยหลุดเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เลิกใช้
- ได้รับอันตรายจากห่วงอนามัย เช่น บาดเจ็บในโพรงมดลูก มดลูกทะลุซึ่งพบได้น้อย
- สายไนลอนในช่องคลอดอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์ในบางราย
- กรณีที่ใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง อาจสร้างความกังวลว่าจะมีระดับทองแดงในเลือดสูงจนเกิดอันตราย แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาซึ่งห่วงอนามัยชนิดดังกล่าวมีใช้มานาน ยังไม่พบรายงานการเกิดอาการพิษจากทองแดงในผู้ที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดดังกล่าว แม้บางรายงานจะพบว่ามีปริมาณทองแดงในเลือดสูงขึ้นแต่จะเป็นปริมาณทองแดงทั้งหมด (total copper) ไม่ใช่ปริมาณทองแดงอิสระ (free copper) ซึ่งทองแดงอิสระเป็นชนิดที่มีสัมพันธ์กับการเกิดอาการพิษ ด้วยเหตุนี้จากรายงานดังกล่าวจึงไม่อาจสรุปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดความเป็นพิษจากทองแดงในผู้ที่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง
- กรณีที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ผลไม่พึงประสงค์อื่นที่นอกเหนือจากการมีประจำเดือนน้อยหรือไม่มีประจำเดือนดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาจพบอาการอื่น เช่น ปวดศีรษะ ตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม อารมณ์เปลี่ยนแปลง สิวขึ้น อย่างไรก็ตามการใส่ห่วงอนามัยให้ระดับฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลในเลือดต่ำกว่าที่พบจากการคุมกำเนิดแบบอื่นที่มีฮอร์โมนชนิดเดียวกัน จึงเกิดผลไม่พึงประสงค์ของฮอร์โมนได้น้อยกว่า
ห่วงอนามัยมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร?
การใส่ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวแบบระยะยาวที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ใช้คุมกำเนิดได้นาน 3-10 ปีหรืออาจนานถึง 12 ปีซึ่งขึ้นกับชนิดของห่วงอนามัย จึงมีความสะดวกและลดข้อผิดพลาดบางอย่าง เช่น การลืมกินยา การนับวันคลาดเคลื่อน อีกทั้งยังสามารถกลับมามีบุตรได้ตามปกติทันทีภายหลังนำห่วงอนามัยออก นอกจากนี้การใส่ห่วงอนามัยไม่ว่าจะเป็นชนิดหุ้มทองแดงหรือชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (endometrial hyperplasia) และโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial cancer) แต่การใส่ห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกต้องทำโดยแพทย์ ก่อนใส่ห่วงอนามัยต้องผ่านการตรวจภายใน การใส่ห่วงอนามัยเข้าในโพรงมดลูกหรือเอาห่วงออกทำให้เจ็บและมีเลือดออกเล็กน้อย นอกจากนี้ห่วงอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงต่างจากการใช้ถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการใส่ห่วงอนามัยแสดงไว้ในตารางที่ 1
ห่วงอนามัยเอาออกได้เมื่อไร?
การเอาห่วงอนามัยออกต้องทำโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึก ในขณะที่นำห่วงอนามัยออกและหลังจากนั้นอาจมีเลือดออกและปวดเกร็งท้องเล็กน้อย ห่วงอนามัยเอาออกได้ในกรณีดังนี้
- ครบอายุการใช้งานของห่วงอนามัยแต่ละชนิด และหากประสงค์จะคุมกำเนิดเช่นเดิมให้ใส่ห่วงอนามัยอันใหม่ทันที
- ในเวลาใด ๆที่ประสงค์จะมีบุตร
- เมื่อต้องการเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น
- ถึงวัยหมดประจำเดือน หากเป็นผู้ที่อายุเกิน 50 ปีให้เอาห่วงอนามัยออกได้เมื่อไม่มีประจำเดือนมาอีกเลยเป็นเวลา 1 ปี หากอายุยังไม่ถึง 50 ปีให้เอาห่วงอนามัยออกได้เมื่อไม่มีประจำเดือนมาอีกเลยเป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานถึงอันตรายหรือผลเสียประการใดหากยังไม่ได้เอาห่วงออกในเวลาดังกล่าว อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้
- ห่วงอนามัยชำรุด ซึ่งประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อมดลูก
- เกิดการตั้งครรภ์ จะเอาห่วงอนามัยออกต่อเมื่อห่วงนั้นอยู่ในตำแหน่งที่สามารถนำออกมาได้ง่ายโดยไม่เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บ
- เกิดผลไม่พึงประสงค์รุนแรง เช่น มีเลือดออกแบบผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีเลือดออกปริมาณมากและนานผิดปกติ (ซึ่งเกิดกับการใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงมากกว่าห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล)
ข้อควรคำนึงเมื่อคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย
ในการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยมีข้อควรคำนึงบางประการดังนี้
- ควรเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยก่อนตัดสินใจเข้ารับการใส่ห่วงอนามัย
- การใส่ห่วงอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงต่างจากถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้
- ภายหลังใส่ห่วงอนามัยแล้วให้ตรวจสอบเป็นระยะ ๆว่าเส้นไนลอนยังอยู่ในลักษณะเดิมเหมือนที่ตรวจสอบครั้งแรก (ดูหัวข้อ การตรวจสอบตำแหน่งห่วงอนามัยจากปลายเส้นไนลอน) หากพบความผิดปกติแสดงว่าอาจมีการเคลื่อนที่ของห่วงอนามัย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากห่วงซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ ให้กลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจและทำการแก้ไข
- หากเกิดความผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย เช่น ปวดท้องมาก เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวผิดปกติ รู้สึกไม่สบาย เป็นไข้ หนาวสั่น (ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ ตลอดจนประจำเดือนไม่มาซึ่งอาจเกิดการตั้งครรภ์
เอกสารอ้างอิง
- Lanzola EL, Ketvertis K. Intrauterine device, updated: July 31, 2020. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing, 2021. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557403/. Accessed: June 10, 2021.
- Watkins ES. The comeback of the IUD in twenty-first century USA. J Hist Med Allied Sci 2021; 76:191-216.
- Khalife T. Pregnancy with IUD in place. Am J Obstet Gynecol 2021. doi: 10.1016/j.ajog.2021.05.039. Accessed: June 10, 2021.
- Keenahan L, Bercaw-Pratt JL, Adeyemi O, Hakim J, Sangi-Haghpeykar H, Dietrich JE. Rates of intrauterine device expulsion among adolescents and young women. J Pediatr Adolesc Gynecol 2021; 34:362-5.
- Crandell L, Mohler N. A literature review of the effects of copper intrauterine devices on blood copper levels in humans. Nurs Womens Health 2021; 25:71-81.
- Marangoni M Jr, Laporte M, Surita F, Kraft MB, Bahamondes L, Juliato CRT. One-year follow up on post-placental IUD insertion: a randomized clinical trial. Acta Obstet Gynecol Scand 2021; 100:596-603.
- FSRH guideline (April 2019) overweight, obesity and contraception. BMJ Sex Reprod Health 2019; 45(Suppl 2):1-69.
- Intrauterine levonorgestrel, updated: February 15, 2021. Drugs and lactation database (LactMed). Bethesda (MD): National Library of Medicine (US). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK500927/. Accessed: June 10, 2021.
- Ti AJ, Roe AH, Whitehouse KC, Smith RA, Gaffield ME, Curtis KM. Effectiveness and safety of extending intrauterine device duration: a systematic review. Am J Obstet Gynecol 2020; 223:24-35.
- Adeyemi-Fowode OA, Bercaw-Pratt JL. Intrauterine devices: effective contraception with noncontraceptive benefits for adolescents. J Pediatr Adolesc Gynecol 2019; 32(5S):S2-S6.
- Akintomide H, Brima N, Mansour DJ, Shawe J. Copper IUD continuation, unwanted effects and cost consequences at 1 year in users aged under 30 - a secondary analysis of the EURAS-IUD study. Eur J Contracept Reprod Health Care 2021; 6:175-83.
- Attia AM, Ibrahim MM, Abou-Setta AM. Role of the levonorgestrel intrauterine system in effective contraception. Patient Prefer Adherence 2013; 7:777-85.
- Levonorgestrel intrauterine (Mirena, Skyla, Liletta, Kyleena). Medscape prescription drug monographs. https://reference.medscape.com/drug/mirena-skyla-levonorgestrel-intrauterine-342780. Accessed: June 10, 2021.
- Bastidas DM, Valdez B, Schorr M, Bastidas JM. Corrosion of copper intrauterine devices: review and recent developments. Corrosion Rev 2019; 37:307-20.
- FHI 360 Family Health International. Intrauterine devices (IUDs). https://www.fhi360.org/sites/default/files/webpages/Modules/IUD/intro.htm. Accessed: June 10, 2021.
- A novel intrauterine device with controlled copper release. WO 2012/063262. PCT/IN2011/000770. https://patentimages.storage.googleapis.com/02/93/1b/5cfa4584a3c209/WO2012063262A2.pdf. Accessed: June 10, 2021.