Knowledge Article


สเตียรอยด์ผสมยาฆ่าเชื้อ...ใช้ในกรณีใด


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.verywellhealth.com/thmb/MRuki_Cch4V9SQW9Z9qs7eR7fn0=/1937x1548/filters:fill(87E3EF,1)/GettyImages-478186895-57ac7cdb5f9b58974acdba98.jpg
33,178 View,
Since 2021-06-02
Last active: 7m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อพบได้ใน “ยาที่ใช้ภายนอก” ซึ่งใช้กับผิวหนังทั่วไป และ “ยาที่ใช้เฉพาะที่” โดยเฉพาะใช้กับตาและใช้กับหู ยาสูตรผสมอาจผลิตในรูปยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาหยอดตา ยาหยอดหู หรือรูปแบบอื่น โดยทั่วไปยาพวกสเตียรอยด์จะไม่ใช้รักษาโรคที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อจึงมีการใช้อย่างจำกัดและควรใช้อย่างระมัดระวัง ในบทความนี้จะให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อ การนำมาใช้ประโยชน์ ผลไม่พึงประสงค์ และข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยาสูตรผสมดังกล่าว



ภาพจาก : https://www.verywellhealth.com/thmb/TpylrLB3Wfsco5Hr7na_27j83ng=/3435x2576/smart/filters:no_upscale()/the-woman-s-hand--she-is-use-steroids-apply-external-type-1179911371-d8ed7b5788d2473aa08eafaea24278c3.jpg

“ยาสเตียรอยด์” ชนิดที่ใช้ในยาสูตรผสม

“ยาสเตียรอยด์” ชนิดที่นำมาใช้ภายนอกหรือใช้เฉพาะที่ซึ่งรู้จักกันทั่วไปนั้น เป็นสารสังเคราะห์จำพวกกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (ลดอาการปวด ร้อน บวมและแดง) ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและฤทธิ์อื่น ๆ เหมือนกับฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ในร่างกายที่สร้างโดยต่อมหมวกไตส่วนเปลือกนอก มีผลิตภัณฑ์ประเภทยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกออกวางจำหน่ายมากมาย โดยเฉพาะชนิดที่ใช้รักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบและอาการคัน มียาสเตียรอยด์หลายชนิดที่นำมาผลิตเป็นยาสูตรผสมร่วมกับยาฆ่าเชื้อ เช่น โฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone), เบตาเมทาโซน (betamethasone), เดกซาเมทาโซน (dexamethasone), ไดฟลูคอร์โทโลน (diflucortolone), ฟลูเมทาโซน (flumetasone), ฟลูโอซิโนโลน (fluocinolone), เพรดนิโซโลน (prednisolone), ไทรแอมซิโนโลน (triamcinolone)

“ยาฆ่าเชื้อ” ชนิดที่ใช้ในยาสูตรผสม

“ยาฆ่าเชื้อ” เป็นคำที่ประชาชนมักใช้เรียกยาต้านจุลชีพโดยเฉพาะกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียซึ่งใช้กันมาก “ยาต้านจุลชีพ” จะครอบคลุมยาหลายกลุ่ม มีทั้งยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส ตลอดจนยาที่มีฤทธิ์ต่อจุลชีพชนิดอื่น ยาเหล่านี้อาจออกฤทธิ์ฆ่าหรือหยุดการเจริญของเชื้อก่อโรค สำหรับยาฆ่าเชื้อหรือต้านจุลชีพชนิดที่นำมาใช้ในยาสูตรผสมร่วมกับสเตียรอยด์มักเป็นยาต้านแบคทีเรียและยาต้านเชื้อรา บางผลิตภัณฑ์มียาต้านจุลชีพผสมอยู่มากกว่า 1 ชนิด (ดูตาราง) ตัวอย่างยาต้านจุลชีพชนิดที่เป็นยาต้านแบคทีเรียและนำมาใช้ผสมร่วมกับสเตียรอยด์ เช่น กรดฟูซิดิก (fusidic acid), บาซิทราซิน (bacitracin), คลิโอควินอล (clioquinol) หรือมีชื่ออื่นว่าไอโอโดคลอร์ไฮดร็อกซีควิน (iodochlorhydroxyquin) ยานี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อราด้วย, ไอโอโดควินอล (iodoquinol) หรือมีชื่ออื่นว่าไดไอโอโดไฮดร็อกซีควิโนลีน (diiodohydroxyquinoline) ยานี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อราด้วย, เจนตามิซิน (gentamicin), กรามิซิดิน (gramicidin), นีโอไมซิน (neomycin), โพลีมิกซินบี (polymyxin B), โทบราไมซิน (tobramycin) ตัวอย่างยาต้านเชื้อราที่นำมาใช้ผสมร่วมกับสเตียรอยด์ เช่น โคลไทรมาโซล (clotrimazole), ไมโคนาโซล (miconazole), ไอโซโคนาโซล (isoconazole), นิสแททิน (nystatin), คลิโอควินอล (มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและต้านแบคทีเรีย), ไอโอโดควินอล (มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและต้านแบคทีเรีย) ส่วนยาต้านไวรัสที่นำมาใช้ผสมร่วมกับสเตียรอยด์เท่าพบข้อมูลมีเพียงอะไซโคลเวียร์ (acyclovir) ใช้ลดความรุนแรงของแผลเริมที่ปาก (cold sores) ไม่ได้ใช้ป้องกันหรือกำจัดไวรัสที่ก่อโรคและไม่ใช้รักษาเริมที่บริเวณอื่น

รูปแบบและความแรงของยาสูตรผสม

ยาสูตรผสมซึ่งมีสเตียรอยด์ผสมกับยาต้านจุลชีพชนิดที่นำมาใช้ภายนอกส่วนใหญ่ผลิตในรูปยาครีมหรือยาขี้ผึ้ง ส่วนยาที่นำมาใช้เฉพาะที่หากเป็นยาสำหรับตาส่วนใหญ่ผลิตในรูปยาน้ำหรือยาขี้ผึ้ง ซึ่งยาที่นำมาใช้กับตาต้องเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อ ส่วนยาที่นำมาใช้กับหูส่วนใหญ่ผลิตในรูปยาน้ำและหลายผลิตภัณฑ์เป็นตำรับเดียวกันกับยาที่ใช้กับตา ตัวอย่างยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาต้านจุลชีพพร้อมทั้งรูปแบบยาและความแรงดูได้จากตาราง



ยาสเตียรอยด์และยาฆ่าเชื้อในยาสูตรผสมมีสรรพคุณอย่างไร?

ยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและฤทธิ์อื่นอีกหลายอย่าง เมื่อนำมาใช้ภายนอกหรือใช้เฉพาะที่จะช่วยลดอาการอักเสบ (ลดอาการปวด ร้อน บวมและแดง) อาการระคาย และอาการคัน ตรงบริเวณที่ได้รับยา จึงนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังหลายอย่างที่ให้การตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์ เช่น โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis), โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น (eczema), โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ตลอดจนใช้ลดอาการอักเสบภายหลังการผ่าตัดเกี่ยวกับลูกตา ใช้ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ตา ใช้รักษาหูชั้นนอกอักเสบเรื้อรังจากการสัมผัส ใช้รักษาหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น ซึ่งโรคหรือความผิดปกติเหล่านี้ให้การตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์

ส่วนยาฆ่าเชื้อหรือยาต้านจุลชีพมีฤทธิ์กำจัดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าในยาสูตรผสมมีตัวยาชนิดใด ซึ่งส่วนใหญ่ยาต้านจุลชีพที่ใช้มักเป็นยาต้านแบคทีเรียและยาต้านเชื้อรา ด้วยเหตุนี้ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อจึงใช้เฉพาะสำหรับรักษาโรคหรือความผิดปกติที่มีอาการอักเสบร่วมกับการติดเชื้อและเป็นชนิดที่ให้การตอบสนองดีต่อยาตำรับที่ใช้นั้น การใช้พร่ำเพรื่อไม่ตรงกับสรรพคุณของยานอกจากได้รับผลข้างเคียงโดยไม่จำเป็นแล้วยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาได้

ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อใช้ในกรณีใด?

ยาสเตียรอยด์ใช้ลดอาการอักเสบ อาการระคายและอาการคันดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนยาฆ่าเชื้อช่วยกำจัดจุลชีพที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ โดยทั่วไปยาประเภทสเตียรอยด์จะไม่ใช้รักษาโรคที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันซึ่งจะทำให้โรคติดเชื้อหายช้า อีกทั้งเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาและการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน แต่ในบางกรณีที่โรคมีอาการอักเสบรุนแรงร่วมกับการติดเชื้อ พบว่าการใช้ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาต้านจุลชีพช่วยลดความรุนแรงโรคได้ดังตัวอย่างที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ อย่างไรก็ตามการนำมาใช้ประโยชน์เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่ชัดเจนมาสนับสนุน จึงควรใช้อย่างระมัดระวังและใช้เป็นเวลาสั้น ๆตามความจำเป็นเท่านั้น
  1. โรคผิวหนังอักเสบชนิดที่ตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์และมีการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น โรคผื่นแพ้จากการสัมผัสและมีการติดเชื้อแบคทีเรีย (ยาสูตรผสมที่ใช้จะเป็นยาสเตียรอยด์ผสมกับยาต้านแบคทีเรีย) หรือโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลากที่เท้าหรือโรคน้ำกัดเท้าและมีอาการอักเสบ (ยาสูตรผสมที่ใช้จะเป็นยาสเตียรอยด์ผสมกับยาต้านเชื้อรา)
  2. โรคตาอักเสบที่ตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์และมีการติดเชื้อหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวตา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบ ภาวะต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian gland dysfunction) นอกจากนี้ยังใช้ภายหลังการผ่าตัดเกี่ยวกับลูกตา อย่างไรก็ตามหากยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคไม่ควรใช้ยาที่มีสเตียรอยด์กับตา
  3. โรคหูชั้นนอกอักเสบเรื้อรังจากการสัมผัส (chronic otitis externa) และติดเชื้อ อาจมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ในยาสูตรผสมจึงอาจมียาต้านจุลชีพมากกว่า 1 ชนิด ในกรณีของโรคหูชั้นกลางอักเสบและติดเชื้อชนิดที่เรียกกันว่าโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง (chronic suppurative otitis media) มักเกิดการติดเชื้อหลายชนิดเช่นกัน นอกจากให้การรักษาโดยเอาน้ำหนองออกแล้ว การใช้ยาเฉพาะที่ทางช่องหูทำให้ยาเข้าถึงบริเวณที่ติดเชื้อได้โดยตรงและมักให้ผลรักษาการดี อย่างไรก็ตามหากเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนมีผลต่อระบบร่างกายอาจต้องพิจารณาใช้ยาต้านจุลชีพชนิดรับประทานร่วมด้วย โรคหูชั้นกลางอักเสบควรได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง
  4. แผลเริมที่ปาก (cold sores) มีการใช้ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับอะไซโคลเวียร์เพื่อลดความรุนแรงของแผลเริมที่ปาก ยานี้ไม่ได้ช่วยป้องกันหรือกำจัดไวรัสที่ก่อโรคและไม่ใช้รักษาเริมที่บริเวณอื่น
ประสิทธิภาพของยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อ

แม้ว่ายาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อจะให้ผลดีในการรักษาโรคที่มีอาการอักเสบร่วมกับการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมในการใช้ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่ชัดเจนโดยการเปรียบเทียบกับการใช้ยาสเตียรอยด์โดยลำพังหรือเปรียบเทียบกับยาฆ่าเชื้อโดยลำพัง แม้จะมีการศึกษาอยู่บ้างแต่ผลการศึกษาไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน บางการศึกษาพบว่ายาสูตรผสมให้ผลดีในขณะที่บางการศึกษาไม่พบเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้การใช้ยาสูตรผสมดังกล่าวจึงใช้ในระยะสั้นและเมื่ออาการทุเลาแล้วควรใช้ยาหลัก (ที่ไม่ใช่ยาสูตรผสม) ต่อไปจนครบระยะเวลาในการรักษา

ข้อเสียของยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อ

ผลไม่พึงประสงค์ของยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาฆ่าเชื้อมีได้หลายอย่าง เช่น ผื่นขึ้นตรงบริเวณที่สัมผัสยา ผิวแดง ระคายผิว คัน แพ้ยา การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกไม่ว่าจะเป็นยาเดี่ยวหรือยาสูตรผสม ทำให้แผลหายช้า ยามีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันจึงทำให้การติดเชื้อรักษายากหรืออาจเกิดการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน (ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ราหรือไวรัส) ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลงและเหี่ยวลีบ หรือมีรอยฟกช้ำ หากเป็นยาที่ใช้กับตาอาจทำให้เกิดตาพร่า ความดันในลูกตาเพิ่ม เกิดต้อหิน เกิดต้อกระจก แผลผ่าตัดที่ตาหายช้า และอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน ยาต้านจุลชีพบางชนิดเป็นพิษต่อระบบประสาท (เช่น คลิโอควินอล) และหู (เช่น กลุ่มโพลีมิกซิน) ในกรณีที่มีการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของเยื่อแก้วหูจะห้ามใช้ยาเฉพาะที่ทางช่องหูชนิดที่มีตัวยาที่เป็นพิษต่อหู

ข้อควรระวังในการใช้ยาสูตรผสมที่มีสเตียรอยด์และยาฆ่าเชื้อ

การใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาฆ่าเชื้อแม้ใช้โดยลำพังและใช้ภายนอกหรือใช้เฉพาะที่ ควรใช้ด้วยควรระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ ในกรณีที่เป็นยาสูตรผสมความเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จะมากขึ้น จึงมีข้อควรระวังในการใช้ยาดังนี้
  1. ก่อนใช้ต้องคำนึงว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ จึงควรใช้เฉพาะกับโรคที่ให้การตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์และยาต้านจุลชีพชนิดที่ผสมอยู่ในตำรับเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรซื้อยามาใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะจากแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกร
  2. การใช้ยาสเตียรอยด์กับโรคตาและโรคของหูชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นตำรับยาเดี่ยวหรือยาสูตรผสม หากใช้อย่างไม่เหมาะสมจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนจนเกิดอันตรายรุนแรงได้โดยเฉพาะเมื่อใช้กับตา ด้วยเหตุนี้ควรได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ก่อน
  3. ใช้ยาอย่างระมัดระวังและใช้เป็นเวลาสั้น ๆ แต่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องจนอาการทุเลา (ไม่ใช้เพียง 1 หรือ 2 วันแล้วหยุดและต่อมาจึงมาใช้ต่อ เพราะจะทำให้เชื้อดื้อยาและรักษายาก) โดยทั่วไปยาสูตรผสมไม่ควรใช้นานเกิน 7 หรือ 10 วัน การใช้เป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์มากขึ้น เมื่ออาการทุเลาแล้วควรใช้ยาหลัก (ที่ไม่ใช่ยาสูตรผสม) ต่อไปจนครบระยะเวลาในการรักษา
  4. ผลิตภัณฑ์ที่มียาสเตียรอยด์ไม่ว่าชนิดยาเดี่ยวหรือยาสูตรผสม ไม่ให้ปิดทับด้วยสิ่งใดตรงบริเวณที่ทายา เพราะการปิดทับจะทำให้เกิดการสะสมยาในปริมาณมากและคงอยู่เป็นเวลานาน จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา
  5. การใช้ยาบ่อยหรือใช้อย่างพร่ำเพรื่อ จะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาและทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น
  6. หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลง เช่น การติดเชื้อกระจายมากขึ้น หรือเริ่มรู้สึกไม่สบายตัว มีไข้หรือครั่นเนื้อครั่นตัวควรพบแพทย์
เอกสารอ้างอิง
  1. NICE guideline. Secondary bacterial infection of eczema and other common skin conditions: antimicrobial prescribing; March 2, 2021. https://www.nice.org.uk/guidance/ng190. Accessed: April 28, 2021.
  2. Hon KL, Wang SS, Lee KK, Lee VW, Leung TF, Ip M. Combined antibiotic/corticosteroid cream in the empirical treatment of moderate to severe eczema: friend or foe? J Drugs Dermatol 2012; 11:861-4.
  3. National Institutes of Health. US National Library of Medicine. Neomycin, polymyxin, bacitracin, and hydrocortisone topical. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601061.html. Accessed: April 28, 2021.
  4. Tran K, Wright MD. Topical antibiotics for infected dermatitis: a review of the clinical effectiveness and guidelines. Ottawa (ON): Canadian Agency for Drugs and Technologies in Health; March 3, 2017. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK487386/pdf/Bookshelf_NBK487386.pdf. Accessed: April 28, 2021.
  5. Arain N, Paravastu SC, Arain MA. Effectiveness of topical corticosteroids in addition to antiviral therapy in the management of recurrent herpes labialis: a systematic review and meta-analysis. BMC Infect Dis 2015. doi: 10.1186/s12879-015-0824-0. Accessed: April 28, 2021.
  6. Reidl J, Monsó E. Glucocorticoids and antibiotics, how do they get together? EMBO Mol Med 2015; 7:992-3.
  7. Zhao L, Sun YJ, Pan ZQ. Topical steroids and antibiotics for adult blepharokeratoconjunctivitis (BKC): a meta-analysis of randomized clinical trials. J Ophthalmol 2021. doi: 10.1155/2021/3467620. Accessed: April 28, 2021.
  8. Chu AC. Antibacterial/steroid combination therapy in infected eczema. Acta Derm Venereol 2008; Suppl 216:28-34.
  9. Bradshaw SE, Shankar P, Maini R. Topical steroid and antibiotic combination therapy in red eye conditions. Br J Gen Pract 2006; 56:304.
  10. Brennan-Jones CG, Head K, Chong LY, Burton MJ, Schilder AG, Bhutta MF. Topical antibiotics for chronic suppurative otitis media. Cochrane Database Syst Rev 2020. doi: 10.1002/14651858.CD013051.pub2. Accessed: April 28, 2021.
  11. Hirano K, Tanaka H, Kato K, Araki-Sasaki K. Topical corticosteroids for infectious keratitis before culture-proven diagnosis. Clin Ophthalmol 2021; 15:609-16.
  12. Holland EJ, Fingeret M, Mah FS. Use of topical steroids in conjunctivitis: a review of the evidence. Cornea 2019; 38:1062-7.
  13. Akyol-Salman I, Azizi S, Mumcu UY, Ate? O, Baykal O. Comparison of the efficacy of topical N-acetyl-cysteine and a topical steroid-antibiotic combination therapy in the treatment of meibomian gland dysfunction. J Ocul Pharmacol Ther 2012; 28:49-52.
  14. Stern GA, Buttross M. Use of corticosteroids in combination with antimicrobial drugs in the treatment of infectious corneal disease. Ophthalmology 1991; 98:847-53.
  15. Knutsson KA, Iovieno A, Matuska S, Fontana L, Rama P. Topical corticosteroids and fungal keratitis: a review of the literature and case series. J Clin Med 2021. doi: 10.3390/jcm10061178. Accessed: April 28, 2021.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.