Knowledge Article


โรคเบาหวานกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://cdn.diabetesselfmanagement.com/2020/02/dsm-what-is-postprandial-hyperglycemia.jpg
22,063 View,
Since 2021-05-21
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การศึกษาหลายการศึกษาให้ผลสอดคล้องกันว่า นอกจากภาวะสูงอายุแล้ว ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นสาเหตุการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : COVID-19) ที่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะมีอาการแสดงที่รุนแรงและมีความเสี่ยงต่ออัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่มีโรคร่วมด้วย โดยโรคที่พบร่วมซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุด คือโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาคือโรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอุดตันเรื้อรัง ตามลำดับ(1,2) นอกจากนั้นโรคชนิดอื่น เช่นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคปอด ล้วนมีผลส่งเสริมทำให้อาการแสดงจากโรค COVID-19 รุนแรงขึ้น และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น



ภาพจาก : https://images.hindustantimes.com/img/2021/05/05/550x309/pjimage_-_2021-05-05T201914.985_1620226240294_1620226250832.jpg

ผู้เป็นเบาหวานมีโอกาสติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุโรค COVID-19 ได้มากกว่าคนปกติหรือไม่

แม้โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมอาการแสดงที่รุนแรงและอาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ได้ (1) อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 มีโอกาสติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้ไม่แตกต่างจากคนปกติ เพียงแต่หากผู้ป่วยเบาหวานเกิดการติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสเกิดอาการแสดงที่รุนแรงมากกว่า ทั้งนี้อ้างอิงจากผลการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ซึ่งวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลจากผลการศึกษาทางคลินิกจำนวน 14 การศึกษา มีผู้ป่วยโรค COVID-19 จำนวน 29,909 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 จำนวน 1,445 คน พบว่าผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย มีความเสี่ยงการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติอย่างมันัยสำคัญทางสถิติมากกว่า 2 เท่า (OR = 2.41, 95%CI: 1.05–5.51, p = 0.037)(1)

ทำไมผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงมีอาการแสดงจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 รุนแรงกว่าคนปกติ (2)

สาเหตุที่คาดว่าเกี่ยวข้อง ได้แก่
  1. เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สามารถจับและเข้าสู่เซลล์ง่ายขึ้น เพราะที่ผิวเซลล์ปอดของผู้ป่วยเบาหวานจะมีการเพิ่มการแสดงออกของรีเซปเตอร์ชนิด angiotensin converting enzyme 2 (ACE2 receptor) และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในการแยก spike (S)-protein ของเชื้อออกเป็น S1 และ S2 ซึ่งจำเป็นในการจับกับ ACE2 รีเซปเตอร์ชนิดมากขึ้น ส่งผลทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้น
  2. ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจะทำให้ร่างกายมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อไวรัสลดลง
  3. ในร่างกายผู้ป่วยเบาหวานจะมีความไวต่อการเกิดกระบวนการอักเสบมากกว่าปกติ (hyperinflammation) นอกจากนั้นการทำงานระบบภูมิคุ้มกันจะลดลง ทำให้กระบวนการจัดการกับกระบวนการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสด้อยประสิทธิภาพลง
แนวทางรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ป่วยเป็นโรค COVID-19

หากผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน แสดงมีอาการทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ที่ต้องสงสัยการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทันที การมารักษาช้าอาจเสี่ยงต่อการอาการแสดงที่รุนแรงอันอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (3)

การศึกษาทางคลินิกพบว่าผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรค COVID-19 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ (uncontrolled diabetes) จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและต้องใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าคนปกติ (4) ดังนั้นวิธีการสำคัญที่สุดในการรักษา คือ ผู้ป่วยควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ร่วมกับการติดตามรักษาอาการแสดงอื่นๆจากโรค COVID-19 โดยหากผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ ควรรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือดที่ทานอยู่เดิม ไม่ควรหยุดยาหรือปรับเปลี่ยนยาเอง และหากต้องรักษาตัวในสถานพยาบาลต้องแจ้งรายละเอียดชนิดยาที่ใช้อยู่ให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ เพื่อพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมตามระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย (3)

โดยสรุป ผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหากได้รับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุการป่วยโรค CVOID-19 ดังนั้นการปฎิบัติตัวอย่างถูกวิธีในการป้องกันการติดเชื้อตามแนวทางของกรมควบคุมโรค (3) เช่น การหมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง เว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ใกล้ชิดคนอื่นให้น้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น เป็นต้น ร่วมกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ระดับปกติ และสิ่งสำคัญคือต้องกระตุ้นความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันร่างกายโดยการหมั่นดูแลให้ร่างกายแข็งแรงโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อให้รีบตรวจยืนยันการติดเชื้อและเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด

เอกสารอ้างอิง
  1. Parohan M, Yaghoubi S, Seraji A, Javanbakht MH, Sarraf P, Djalali M. Risk factors for mortality in patients with Coronavirus disease 2019 (COVID-19) infection: a systematic review and meta-analysis of observational studies. Aging Male. 2021;23(5):1416-24.
  2. Chee YJ, Tan SK, Yeoh E. Dissecting the interaction between COVID?19 and diabetes mellitus. Journal of diabetes investigation. 2020; 11(5): 1104-14.
  3. แนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด 19 สำหรับประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงกรมควบคุมโรค available from: https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/int_protection.php accessed on May 18,2021
  4. Bode B, Garrett V, Messler J, McFarland R, Crowe J, Booth R, et al. Glycemic characteristics and clinical outcomes of COVID-19 patients hospitalized in the United States. Journal of diabetes science and technology. 2020; 14(4): 813-21.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.