Knowledge Article


ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://contraception-basel.com/wp-content/uploads/2020/05/implant.png
212,085 View,
Since 2021-02-22
Last active: 4h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การคุมกำเนิดมีทั้งแบบถาวร ได้แก่ การผ่าตัดทำหมัน และแบบชั่วคราว การคุมกำเนิดชั่วคราวมีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง ซึ่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดถือเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวระยะสั้น ส่วนการคุมกำเนิดชั่วคราววิธีอื่นที่กล่าวข้างต้นถือเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังยังเป็นที่นิยมไม่มากนักแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงยาคุมกำเนิดชนิดฝังในด้านต่าง ๆ เช่น ตัวยาสำคัญและรูปแบบ การออกฤทธิ์และประสิทธิภาพในป้องกันการตั้งครรภ์ ผลไม่พึงประสงค์ ข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ตัวยาสำคัญและรูปแบบของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (implantable contraceptive หรือ contraceptive implant) เป็นยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน (long-acting reversible contraceptive) สำหรับใช้ฝังตื้นใต้ผิวหนัง (subdermal use) มีใช้มานานเกือบ 40 ปี (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983) ตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนในร่างกาย ตัวยาที่ใช้กันมาก คือ เลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) และเอโทโนเจสเตรล (etonogestrel) ในบทความนี้จึงกล่าวถึงยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีตัวยาสำคัญทั้งสองชนิดนี้

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีลักษณะเป็นแท่งยาวขนาดเล็กประมาณเท่าก้านไม้ขีด สำหรับใช้ฝังตื้นใต้ผิวหนังบริเวณด้านในของแขนท่อนบนข้างที่ไม่ถนัด (รูปที่ 1) แท่งยาคุมกำเนิดจะปล่อยตัวยาสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง ออกฤทธิ์คุมกำเนิดนาน 3-5 ปี ซึ่งขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ อาจจำแนกยาคุมกำเนิดชนิดฝังตามจำนวนแท่งยาออกเป็น 3 แบบดังนี้

  1. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 6 แท่ง ลักษณะเป็นแคปซูลซิลิโคนขนาด 2.4 มิลลิเมตร x 34 มิลลิเมตร แต่ละแท่งมีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล 36 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปี การฝังแท่งยาและการเอาออกจะมีรอยแผลผ่าขนาดเล็ก ยาคุมกำเนิดชนิดนี้เลิกใช้ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2008
  2. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 2 แท่ง ลักษณะเป็นแท่งซิลิโคนขนาด 2.5 มิลลิเมตร x 43 มิลลิเมตร แต่ละแท่งมีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล 75 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 3-5 ปี ซึ่งขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ การฝังแท่งยาและการเอาออกจะมีรอยแผลผ่าขนาดเล็กเช่นเดียวกัน
  3. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 1 แท่ง ลักษณะเป็นแท่งเอทิลีนไวนิลอะซีเตด (ethylene vinyl acetate copolymer) ที่บิดงอได้ ขนาด 2 มิลลิเมตร x 40 มิลลิเมตร มีตัวยาเอโทโนเจสเตรล 68 มิลลิกรัม พร้อมอุปกรณ์สำหรับการฝังแท่งยา ใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปี มีการเติมสารทึบรังสีซึ่งเป็นแบเรียมซัลเฟต (barium sulfate) เพื่อง่ายในการตรวจหาตำแหน่งด้วยวิธีเอ็กซเรย์ (X-ray) หรือการตรวจสแกนด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scan หรือ CT scan) เมื่อแท่งยามีการเคลื่อนที่จากตำแหน่งที่ฝัง การฝังแท่งยาทำคล้ายการฉีดยาโดยผ่านอุปกรณ์ ไม่ต้องมีรอยแผลผ่า แต่ตอนนำแท่งยาออกจะมีรอยแผลผ่าขนาดเล็ก
ยาคุมกำเนิดชนิดฝังเหมาะกับใคร?

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังใช้ได้กับสตรีทุกรายที่ประสงค์จะคุมกำเนิดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรมาแล้ว 1 หรือ 2 คน และในอนาคตประสงค์จะมีบุตรอีก ทั้งนี้ต้องไม่เข้าข่ายเป็นผู้ห้ามใช้ที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ ยาคุมกำเนิดชนิดฝังใช้ได้แม้ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินหรือเป็นโรคอ้วน (แต่ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดอาจไม่เท่ากับคนที่ไม่อ้วน เนื่องจากมีระดับยาในเลือดต่ำกว่าคนที่ไม่อ้วน) หรือผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน (โดยให้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือด) หรือผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่สามารถควบคุมได้ (โดยให้ติดตามระดับความดันโลหิต)

ห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังในผู้หญิงเหล่านี้
  • ตั้งครรภ์ (ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน)
  • เป็นโรคมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะมีประวัติว่าเคยเป็นหรือกำลังเป็น และผู้ที่มีเนื้องอกชนิดที่ไวต่อโพรเจสเตอโรนหรือฮอร์โมนที่มีฤทธิ์คล้ายโพรเจสเตอโรน
  • เป็นโรคตับรุนแรงที่ยังตรวจพบความผิดปกติทางห้องปฏิบัติการ
  • เป็นโรคเนื้องอกตับหรือโรคมะเร็งตับ
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีการอักเสบของหลอดเลือดดำร่วมกับมีลิ่มเลือด (thrombophlebitis) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (thromboembolic disorders)


เริ่มฝังยาคุมกำเนิดได้เมื่อไร?

การฝังแท่งยาคุมกำเนิดและการเอาแท่งยาออกทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ หากฝังแท่งยาไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท การฝังแท่งยาจะฝังตื้นใต้ผิวหนังซึ่งคลำแท่งยาได้ภายหลังการฝัง การฝังแท่งยาใต้ผิวหนังลึกจะเสี่ยงต่อการเคลื่อนที่ของแท่งยาไปตำแหน่งอื่นและอาจเป็นอันตรายได้ การฝังแท่งยาคุมกำเนิดสามารถทำได้ในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดในข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันดังนี้
  1. วันใด ๆ ที่ต้องการ แต่ต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์และผ่านการตรวจการตั้งครรภ์แล้ว หลังการฝังยาให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วัน
  2. วันแรกของการมีประจำเดือนหรือวันใด ๆ ภายใน 5 วันนับจากวันเริ่มมีประจำเดือน การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  3. ทันทีหรือภายใน 5 วันหลังการแท้งบุตร ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าใด การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  4. ทันทีหรือภายใน 21 วันหลังการคลอด ในผู้ที่ไม่ได้ให้นมบุตร การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  5. หลังคลอดยังไม่ถึง 6 เดือน ไม่มีประจำเดือนมาเลยและให้นมบุตรสม่ำเสมอตลอดมา ซึ่งช่วงนี้โดยทั่วไปยังไม่มีไข่ตกจึงไม่ตั้งครรภ์ การฝังยาคุมกำเนิดในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มั่นใจและเพื่อความปลอดภัยควรตรวจแล้วว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนการฝังยา และให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยในช่วง 7 วันภายหลังการฝังยา ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดฝังไม่รบกวนปริมาณและคุณภาพน้ำนม
  6. ฝังยาทันทีถัดจากวันที่รับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดสุดท้ายที่เป็นตัวยา หรืออย่างช้าวันถัดจากวันที่รับประทานเม็ดแป้งเม็ดสุดท้าย การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  7. ฝังยาทันทีในวันที่นำวงแหวนคุมกำเนิดชนิดสอดช่องคลอด (contraceptive vaginal ring) หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด (contraceptive patch) หรือห่วงอนามัยคุมกำเนิด (intrauterine device หรือ IUD) ออก การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  8. วันที่ถึงกำหนดนัดฉีดยาคุมกำเนิด แต่ต้องการเปลี่ยนมาใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
การออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ตัวยาสำคัญไม่ว่าจะเป็นเลโวนอร์เจสเตรลหรือเอโทโนเจสเตรลที่ปล่อยจากแท่งยาอย่างต่อเนื่องจะออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยายังออกฤทธิ์ลดปริมาณมูกปากมดลูกและทำให้มูกปากมดลูกข้นหนืดจึงขัดขวางการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ ลดการโบกพัดของขนอ่อนในท่อนำไข่ ลดขนาดและลดจำนวนต่อมซึ่งทำหน้าที่สร้างสารคัดหลั่งที่เยื่อบุมดลูก ตลอดจนทำให้คอร์พัสลูเทียม (corpus luteum) ในรังไข่ (หากมีการตกไข่เกิดขึ้น) สลายเร็วเกินโดยยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เยื่อบุมดลูกฝ่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้สภาวะภายในมดลูกไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว (หากสามารถปฏิสนธิได้) จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังไม่ว่าตัวยาจะเป็นยาเลโวนอร์เจสเตรลหรือเอโทโนเจสเตรลล้วนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ มีอัตราความล้มเหลว (เกิดการตั้งครรภ์) เพียง 0.05-0.1% (เกิดการตั้งครรภ์น้อยกว่า 1 ใน 1,000 คน ใน 1 ปีแรก) คนเป็นโรคอ้วนมีระดับยาต่ำกว่าคนที่ไม่อ้วนจึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงโดยเฉพาะในปีสุดท้าย ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงอัตราความล้มเหลวของยาคุมกำเนิดชนิดฝังเมื่อใช้ในคนที่เป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ผ่านมาอัตราความล้มเหลวของยาคุมกำเนิดชนิดฝังในผู้ที่ใช้ยาทั้งหมดซึ่งรวมถึงผู้ที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนพบว่ามีอัตราต่ำ ในกรณีที่เกิดความล้มเหลวแล้วตั้งครรภ์ ไม่พบความพิการแต่กำเนิดในทารกที่คลอดมา

ฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ล่าช้าได้เพียงใด?

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังแบบ 2 แท่งที่มีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรลแท่งละ 75 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 3-5 ปี (ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์) หากเป็นชนิดแท่งเดียวที่มีตัวยาเอโทโนเจสเตรล 68 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปี ระยะเวลาที่กำหนดไว้นี้จะสั้นกว่าระยะเวลาที่ยามีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ได้มีการวัดระดับเอโทโนเจสเตรลที่เวลาต่าง ๆ ตลอดช่วง 3 ปี (36 เดือน) พบว่าหลังจากฝังยาราว 8 ชั่วโมงมีระดับยาสูงกว่า 90 พิโคกรัม/มิลลิลิตร (เป็นระดับยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่) ซึ่งแสดงว่ายามีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ตั้งแต่วันแรกที่ฝังยา จากนั้นระดับยาสูงขึ้นรวดเร็วจนเกิน 1,000 พิโคกรัม/มิลลิลิตร เล็กน้อย จากนั้นระดับยาจะลดลงค่อนข้างเร็วในเวลาประมาณ 4-6 เดือนหลังการฝังยา ต่อจากนั้นระดับยาจะลดลงเพียงเล็กน้อยอย่างช้า ๆ และเมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 ยังมีระดับยาเกินกว่า 100 พิโคกรัม/มิลลิลิตร เล็กน้อย (รูปที่ 2) ในบางการศึกษารายงานว่าที่เวลา 5 ปียังพบค่ากลาง (median) ของระดับเอโทโนเจสเตรลอยู่ที่ 153.0 พิโคกรัม/มิลลิลิตร โดยมีช่วงอยู่ที่ 72.1-538.8 พิโคกรัม/มิลลิลิตร แสดงถึงระดับยาที่แปรปรวนมากในผู้หญิงแต่ละคน ซึ่งบางคนมีระดับยาต่ำจนไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ จึงไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ควรทำการฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ตามกำหนดเวลา



สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีตัวยาเป็นเลโวนอร์เจสเตรลซึ่งใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปีนั้น ระดับยาในพลาสมาเกิดคล้ายคลึงกับเอโทโนเจสเตรล กล่าวคือ ภายหลังการฝังยาไม่นานมีระดับสูงกว่า 180 พิโคกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งเกินกว่าระดับยาในการออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ระดับยาขึ้นสูงสุดในสัปดาห์แรกหลังการฝังยา จากนั้นระดับยาจะลดลงโดยในช่วงแรกลดลงเร็วกว่าช่วงหลัง ระดับยาหลังจากปีที่ 3 ไปจนถึงปีที่ 5 เกือบคงที่ สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีตัวยาเป็นเลโวนอร์เจสเตรลซึ่งใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปีนั้น มีผู้ทำการศึกษาระดับยาในพลาสมาเช่นเดียวกัน และพบว่าเมื่อครบกำหนดแล้วยังคงมีระดับยาเพียงพอในการออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ไปอีกเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามมีความแปรปรวนในระดับยาเกิดขึ้นได้มากในผู้หญิงแต่ละคน ด้วยเหตุนี้ควรทำการฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ตามเวลาที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์

นำแท่งยาคุมกำเนิดชนิดฝังออกได้เมื่อไร?

การนำแท่งยาคุมกำเนิดชนิดฝังออกทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ ซึ่งสามารถนำออกได้ในกรณีดังต่อไปนี้
  1. ต้องการยุติการคุมกำเนิดหรือเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น สามารถนำแท่งยาคุมออกได้ในวันใด ๆ
  2. เมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาในการคุมกำเนิด อาจเป็น 3, 4 หรือ 5 ปี ซึ่งขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ และฝังแท่งใหม่ทดแทนในกรณีที่ประสงค์จะใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังต่อไปอีก (ดูหัวข้อ การฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่)
  3. แท่งยาคุมชำรุด การหักของแท่งยาคุมเกิดขึ้นได้ยากโดยเฉพาะชนิดที่มีตัวยาเอโทโนเจสเตรลซึ่งแท่งยาบิดงอได้ การหักของแท่งยาโดยเฉพาะชนิดที่มีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรลอาจทำให้ยาปลดปล่อยออกมาเร็วเกินจนเหลือยาไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงควรเปลี่ยนยาแท่งใหม่
  4. เมื่อเกิดผลไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) หรือสมองขาดเลือด (stroke) หลังการฝังยา, การเกิดเหตุการณ์ที่แสดงถึงภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) ทั้งภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึก (deep vein thrombosis) และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism), ความดันโลหิตสูงจนควบคุมไม่ได้, โรคดีซ่านหรือภาวะเหลือง (jaundice), โรคไมเกรนที่มีอาการเตือน (migraine with aura), ภาวะซึมเศร้าอย่างชัดเจน
  5. แท่งยาคุมกำเนิดเคลื่อนที่จนคลำไม่ได้ ให้ทำการตรวจหาตำแหน่งที่ชัดเจน (ด้วยวิธีอัลตราซาวน์ เอ็กซเรย์ การตรวจสแกนร่างกายด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือวิธีการอื่น) แล้วนำแท่งยาออก เพื่อเปลี่ยนแท่งใหม่และฝังที่ใหม่ เนื่องจากแท่งยาที่เปลี่ยนตำแหน่งไปทำให้ตัวยาปล่อยสู่กระแสเลือดมากขึ้นจนอาจเหลือยาไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเนื่องจากแท่งยานั้น
การฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังสามารถใช้ได้ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ การฝังแท่งใหม่จะฝังแทนที่แท่งเก่าโดยใช้รอยเปิดเดิม ในกรณีที่ไม่สามารถฝังตรงตำแหน่งเดิมได้อาจฝังที่แขนอีกข้างหนึ่ง การฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ตรงตามกำหนดเวลาไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเสริม

ในกรณีที่ฝังแท่งใหม่ล่าช้า ช่วงที่ล่าช้านั้นแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย และเมื่อฝังแท่งใหม่แล้วช่วง 7 วันแรกแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัย แต่ถ้าช่วงที่ล่าช้านั้นไม่ได้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น ก่อนฝังแท่งใหม่ให้ทดสอบว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และเมื่อฝังยาแท่งใหม่แล้วช่วง 7 วันแรกแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัย พร้อมทั้งให้ทดสอบการตั้งครรภ์อีกครั้งในช่วง 21-28 วันหลังการฝังยาแท่งใหม่นั้น

หยุดฝังยาคุมกำเนิดแล้วจะกลับมาตั้งครรภ์ได้เมื่อไร?

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดชนิดฝังจะอยู่จนถึงวันที่เอาแท่งยาออกภายในกำหนดเวลา ไม่ว่าการมีเพศสัมพันธ์จะเกิดขึ้นเมื่อไรก่อนหน้านั้น เมื่อนำแท่งยาออกรังไข่จะกลับมาทำงานได้ตามปกติเกือบทันที การมีเพศสัมพันธ์ภายหลังเอาแท่งยาออกแล้วต้องมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น การนำแท่งยาชนิดที่มีเอโทโนเจสเตรลออกพบว่าในวันที่ 4 เหลือยาในพลาสมาต่ำกว่าระดับที่จะวัดได้ (คือต่ำกว่า 20 พิโคกรัม/มิลลิลิตร) ซึ่งระดับยาดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ผู้หญิงมากกว่า 90% มีการตกไข่กลับมาภายใน 3 สัปดาห์หลังจากนำแท่งยาออก การกลับมาตั้งครรภ์ใช้เวลาไม่ต่างจากการคุมกำเนิดแบบชั่วคราววิธีอื่น (ยกเว้นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดซึ่งอาจจะต้องรอเกือบ 1 ปีหรือนานกว่านี้) ด้วยเหตุนี้หากไม่ประสงค์ที่จะตั้งครรภ์เมื่อเอาแท่งยาออกต้องมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นโดยทันที

ผลไม่พึงประสงค์ของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

เมื่อฝังยาคุมกำเนิดอาจมีผลไม่พึงประสงค์ตรงบริเวณที่ฝังแท่งยาและผลต่อระบบทั่วร่างกายได้ดังนี้
  1. ผลไม่พึงประสงค์ตรงบริเวณที่ฝังแท่งยา เช่น เจ็บ บวม คัน ระคายผิว รอยช้ำ เกิดการติดเชื้อและแผลเป็น ผิวหนังฝ่อ เกิดพังผืดรอบแท่งยาโดยเฉพาะหากมีการติดเชื้อ นอกจากนี้หากฝังแท่งยาไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท การฝังแท่งยาตื้นเกินไปอาจทำให้รู้สึกเจ็บ รบกวนการรับความรู้สึกที่ผิวหนังบริเวณที่ฝังแท่งยาและเกิดผิวหนังอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ ส่วนการฝังแท่งยาใต้ผิวหนังลึกจะเสี่ยงต่อการเคลื่อนที่ของแท่งยาไปตำแหน่งอื่น ทำให้ตัวยาปล่อยสู่กระแสเลือดมากขึ้นและยังเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากแท่งยาได้
  2. ผลไม่พึงประสงค์อื่น ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (ยาเลโวนอร์เจสเตรลและเอโทโนเจสเตรล) ไม่มีฮอร์โมนพวกเอสโตรเจน ผลไม่พึงประสงค์ในช่วงแรกซึ่งมีระดับยาในเลือดสูงจะเกิดมากกว่าช่วงหลัง ผลไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น มีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติโดยเฉพาะช่วงแรก แต่ต่อมาประจำเดือนจะค่อย ๆ น้อยลงและจะหายไปโดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ฝังยา (ทำให้ผู้ใช้กังวลว่าอาจตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว เกิดความไม่ชอบหรือเลิกใช้ จึงควรทำความเข้าใจก่อนการฝังยา) แต่บางราย (พบได้น้อย) อาจมีประจำเดือนมาบ่อยและมานานขึ้น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บคัดเต้านม คลื่นไส้ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า รบกวนความรู้สึกทางเพศ ช่องคลอดอักเสบและแห้ง เกิดฝ้า สิว สะสมน้ำจนอาจเกิดบวมน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่ม (คนที่อ้วนง่ายอาจไม่ชอบ) ผมอาจบางลง หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ การใช้เป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (bone mineral density) ลดลงเล็กน้อยซึ่งกลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ และไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก เนื่องจากยาคุมกำเนิดนี้ไม่ได้กดการทำงานของรังไข่อย่างสมบูรณ์ รังไข่ยังสร้างและหลั่งเอสตราไดออล (estradiol) ได้ (เอสตราไดออลเป็นฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจนชนิดสำคัญในร่างกายผู้หญิง) ส่วนการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมและความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำนั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมีประวัติว่าเคยเป็นจะห้ามใช้
  3. การเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น การใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีฤทธิ์เพิ่มการสร้างเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (เลโวนอร์เจสเตรลและเอโทโนเจสเตรลเป็นยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน) ไปเป็นสารอื่นที่ไม่มีฤทธิ์ จะทำให้ระดับยาในเลือดลดลงได้ อาจรบกวนประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ เช่น การใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพ (หรือที่มักเรียกกันว่า “ยาฆ่าเชื้อ”) ในกลุ่มไรฟาไมซิน (rifamycins) โดยเฉพาะอย่างยิ่งไรแฟมพิซิน (rifampicin) หรือชื่ออื่นคือไรแฟมพิน (rifampin) นอกจากนี้ยังมียาอื่นที่รบกวนประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน แม้จะมีข้อมูลสนับสนุนน้อยหรือข้อมูลไม่ชัดเจนแต่ควรระมัดระวังโดยเฉพาะหากต้องใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานาน เช่น ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs) ที่ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV หรือ human immunodeficiency virus) ตัวอย่าง ได้แก่ เอฟาวิเรนซ์ (efavirenz), เอทราวิรีน (etravirine); ยาต้านชัก (antiepileptic drugs) ตัวอย่าง ได้แก่ เฟนิโทอิน (phenytoin), คาร์บามาเซพีน (carbamazepine), ออกซ์คาร์บาเซพีน (oxcarbazepine); ยาสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's wort)
ข้อดีและข้อเสียของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังเป็นยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี ทำให้สะดวกเนื่องจากไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน หรือฉีดยาทุก 3 เดือน ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน ไม่มีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนจึงปลอดจากผลไม่พึงประสงค์ของเอสโตรเจน แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งต่างจากการใช้ถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้ อีกทั้งไม่สามารถเริ่มใช้หรือหยุดใช้ด้วยตนเอง ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการฝังแท่งยาและการนำแท่งยาออก นอกจากยังมีข้อดีและข้อเสียอื่น ๆ ดังแสดงในตารางที่ 1



ข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ข้อควรคำนึงบางประการสำหรับผู้ที่ได้รับการฝังยาคุมกำเนิดมีดังนี้
  1. ก่อนการฝังยาควรเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง
  2. ก่อนการฝังยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ กรณีที่ไม่มั่นใจต้องตรวจการตั้งครรภ์
  3. ยาคุมกำเนิดชนิดฝังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงต่างจากถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้
  4. ยาคุมกำเนิดชนิดฝังช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ตามกำหนดเวลาที่ฝังยา สามารถเอาออกก่อนกำหนดได้หากต้องการยุติการคุมกำเนิด และสามารถคุมกำเนิดต่อเนื่องไปได้ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์โดยการฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่แทนแท่งเดิมตามกำหนดเวลา
  5. เมื่อฝังแท่งยาคุมกำเนิดแล้วต้องสามารถคลำพบได้ หากคลำไม่พบแสดงว่าแท่งยาเกิดการเคลื่อนที่ ต้องนำแท่งยานั้นออกและฝังแท่งใหม่แทน
  6. การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อยแต่กลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ อย่างไรก็ตามควรรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ
เอกสารอ้างอิง
  1. Horvath S, Schreiber CA, Sonalkar S. Contraception. In: Feingold KR, Anawalt B, Boyce A, Chrousos G, de Herder WW, Dungan K, et al., editors. Endotext. South Dartmouth (MA): MDText.com, updated January 17, 2018. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279148/#contraception.toc-progestin-only-implants. Accessed: February 8, 2021.
  2. Rowlands S, Searle S. Contraceptive implants: current perspectives. Open Access J Contracept 2014; 5:73-84. Accessed: February 8, 2021.
  3. The Family Planning Association (FPA), the sexual health company. Your guide to long-acting reversible contraception (LARC) (December 2020). https://www.fpa.org.uk/sites/default/files/pdf/FPA-Long-acting-(LARC)-leaflet-1015.pdf. Accessed: February 8, 2021.
  4. The Family Planning Association (FPA), the sexual health company. Your guide to the contraceptive implant (July 2017). https://www.fpa.org.uk/sites/default/files/pdf/FPA%20Contraceptive%20Implant%201011.pdf. Accessed: February 8, 2021.
  5. Implanon NXT--Summary of product characteristics. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/021529s018lbl.pdf. Accessed: February 8, 2021.
  6. Jadelle (levonorgestrel implants) for subdermal use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4030537, revised: 12/2016. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2016/020544s010lbl.pdf. Accessed: February 8, 2021.
  7. Che Y, Taylor D, Luo D, Maldonado LY, Wang M, Wevill S, et al. Cohort study to evaluate efficacy, safety and acceptability of a two-rod contraceptive implant during third, fourth and fifth year of product use in China. Contracept X 2019. doi: 10.1016/j.conx.2019.100008. Accessed: February 8, 2021.
  8. World Health Organization Department of Reproductive Health and Research (WHO/RHR) and Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health/Center for Communication Programs (CCP), Knowledge for Health Project. Family Planning: A Global Handbook for Providers (2018 update). Baltimore and Geneva: CCP and WHO, 2018. Accessed: February 8, 2021.
  9. Amico J, Kumar B, Rosenstein H, Gold M. The contraceptive implant: an updated review of the evidence. Curr Obstet Gynecol Rep 2015; 4:79-88.
  10. Ramdhan RC, Simonds E, Wilson C, Loukas M, Oskouian RJ, Tubbs RS. Complications of subcutaneous contraception: a review. Cureus 2018. doi: 10.7759/cureus.2132. Accessed: February 8, 2021.
  11. Moray KV, Chaurasia H, Sachin O, Joshi B. A systematic review on clinical effectiveness, side-effect profile and meta-analysis on continuation rate of etonogestrel contraceptive implant. Reprod Health 2021. doi: 10.1186/s12978-020-01054-y. Accessed: February 8, 2021.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.