Knowledge Article


โรคย้ำคิดย้ำทำ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.mind.plus/wp-content/uploads/2019/05/29e311d38bd15e404a5abeab816e0db5-obsessive-compulsive-disorder-health-facts-592x470.jpg
6,605 View,
Since 2021-01-12
Last active: 3m ago
https://tinyurl.com/22cpp6yt
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เชื่อว่าหลายท่านก่อนออกจากบ้านมักจะกังวลว่า ปิดน้ำปิดไฟ ปิดเตาแก็ส ถอดปลั๊กไฟ ใส่กุญแจบ้านหรือยัง พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดปกติมากจนถึงกับจัดเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ถ้าเช่นนั้นจะต้องมีอาการแค่ไหน เพียงใดจึงจะบอกได้ว่าเป็นอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ



ภาพจาก : https://miro.medium.com/max/720/1*1-jdqBea7Hc8vSlOhwqQQA.jpeg

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder หรือ OCD) นั้น อาการของโรคเป็นเหมือนชื่อโรค คือมีอาการคิดและทำซ้ำ ๆ เรื่องเดิม ๆ โดยไม่สามารถบังคับตัวเองให้หยุดคิดหรือหยุดทำได้ จนทำให้เกิดผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

อาการย้ำคิด เช่น คิดวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองอยู่ตลอดเวลา กลัวติดเชื้อโรคจนทำให้ไม่กล้าแตะต้องสิ่งของหรือถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่น กลัวการออกนอกบ้าน อาการย้ำทำจะเป็นการกระทำซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองหรือกำจัดความกลัวหรือความวิตกกังวล เช่น กลัวเชื้อโรคจนต้องล้างมือ อาบน้ำ หรือทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ บ่อยจนเกินไป ต้องคอยตรวจเช็คน้ำไฟ เตาแก๊ส หรือกลอนประตู จนบางครั้งออกจากบ้านไปแล้ว ยังต้องย้อนกลับมาตรวจดูอีก ต้องคอยตรวจนับจำนวน ต้องจัดวางสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่ หันไปในทิศทางเดียวกัน และต้องเป็นระเบียบมากเกินกว่าเหตุ อาการชอบดึงผม สะสมขยะ สะสมของที่ผู้อื่นทิ้งแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ

ผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ส่วนใหญ่รู้ตัวดีว่าคิดวิตกกังวลหรือจินตนาการไปเองโดยไม่มีเหตุผล ต้องเสียเวลาในแต่ละวันไปกับการย้ำคิดย้ำทำจนถึงกับทำให้เกิดความทุกข์ เกิดปัญหาด้านการเรียน การทำงาน การเข้าสังคม การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม บางรายมีความเครียด ซึมเศร้า สิ้นหวัง หรือสูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยชอบเคยทำ อาจมีอาการรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

คนปกติบางครั้งอาจมีอาการย้ำคิดย้ำทำได้ เช่น บางวันอาจจะกังวลว่าลืมปิดน้ำปิดไฟ แต่เมื่อได้ตรวจดูและแน่ใจว่าปิดแล้วก็จะสบายใจ หยุดคิดและทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไปได้ตามปกติ ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่เป็นโรคนี้ แม้จะรู้ว่าไม่ได้ลืม ก็ยังต้องคิดวนเวียนซ้ำซากอยู่กับเรื่องนี้โดยไม่สามารถหยุดคิดได้

โรคย้ำคิดย้ำทำไม่ได้พบแต่ในผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัย โรคนี้พบได้ตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไป ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการก่อนอายุ 25 ปี อายุเฉลี่ยที่เริ่มมีอาการคือช่วง 20-22 ปี สาเหตุของโรคอาจเกิดจากการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง ซึ่งเกี่ยวข้องสารสื่อประสาทคือ serotonin อาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมซึ่งพบไม่มากนัก ตลอดจนสาเหตุทางด้านสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้ายตั้งแต่ในวัยเด็ก

ถ้าพบว่าเริ่มมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ ควรรีบไปพบแพทย์ การรักษาต้องพิจารณาตามสาเหตุ อาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะไม่บอกให้ผู้ป่วยหยุดคิดหรือหยุดการกระทำซ้ำ ๆ นั้น การบอกให้หยุดมักใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากก่อนจะมาพบแพทย์ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้พยายามมาแทบทุกวิธีแล้วแต่ไม่ได้ผล การรักษาด้วยยา จะใช้ยาในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) ร่วมกับวิธีการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy (CBT) โดยการปรับความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยทีละเล็กทีละน้อย ควบคุมความคิดและพฤติกรรมไม่ให้ตอบสนองความคิดซ้ำ ๆ อีก เป็นวิธีการที่ใช้เวลาแต่ให้ผลดีในระยะยาว

นอกจากนี้ การหันเหความสนใจไปที่กิจกรรมอื่น ๆ ที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำงานและพบปะผู้คนตามปกติ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว แม้ว่าโรคนี้อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การเข้ารับการบำบัดอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้

เอกสารอ้างอิง
  1. https://www.psychiatry.org/patients-families/ocd/what-is-obsessive-compulsive-disorder.
  2. https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06052015-1417.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.