Knowledge Article


ยาที่ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.sharp.com/health-news/images/Myths-about-drug-and-alcohol-use-HN1626-iStock-492456096-Sized.jpg
302,240 View,
Since 2020-11-25
Last active: 49s ago
https://tinyurl.com/2c7v5wdw
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินข่าวการเสียชีวิตจากการใช้ยาบางชนิดร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ตามสื่อต่าง ๆ มาบ้าง เช่น กรณีถูกมอมด้วยยานอนหลับผสมในเหล้าหรือเบียร์แล้วทำให้เสียชีวิต เป็นต้น โดยเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ป่วยหลายคนมีความกังวลว่ายาที่ตนเองกำลังใช้อยู่สามารถกินร่วมกับเหล้าหรือเบียร์ได้หรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วอันตรายจากการใช้ยาร่วมกับแอลกอฮอล์มีหลายลักษณะ บทความนี้ขอนำเสนอตัวอย่างยา 5 กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังแสดงในตาราง โดยรายละเอียดของอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้



ภาพจาก : https://www.memphisrecovery.com/wp-content/uploads/2019/12/types-of-addiction-1.jpg
  1. ยาที่มีฤทธิ์เหมือนยาเบื่อเหล้า

    ในอดีตมีการใช้ยาเบื่อเหล้าชื่อว่า ได-ซัล-ฟิ-แรม (disulfiram) เพื่อช่วยเลิกสุรา โดยเมื่อรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเกิดปฏิกิริยาทำให้มีอาการหน้าแดง ร้อนวูบวาบไปทั้งตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก และกระวนกระวาย จนไม่กล้าดื่มสุราอีก นอกจากนี้ บางรายอาจมีความดันเลือดต่ำ แม้ว่าปัจจุบันยานี้ถูกใช้น้อยลง แต่พบว่ามียาอื่นอีกหลายชนิด (ตาราง) ที่สามารถทำให้เกิดอาการคล้ายกับยาเบื่อเหล้าได้เช่นกัน
  2. ยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง

    ยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ คือ หลังจากรับประทานแล้วมักทำให้รู้สึกง่วงนอน เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น (ตาราง) ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ได้กดเฉพาะให้หลับ แต่อาจกดการทำงานอื่น ๆ ของสมอง เช่น ทำให้สูญเสียความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะหรือการใช้เครื่องจักร จนถึงกดการหายใจโดยเฉพาะเมื่อใช้ยาในขนาดสูง ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีผลกดการทำงานของสมองเช่นกัน ยิ่งเสริมฤทธิ์ยาเหล่านี้มากขึ้น เช่น ส่งผลกดการหายใจจนเสียชีวิตได้
  3. ยาที่มีผลลดน้ำตาลในเลือด

    ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดบางชนิด (ตาราง) พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากยาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากอาการไม่รุนแรงอาจพบ มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก ส่วนกรณีน้ำตาลต่ำรุนแรง อาจทำให้หมดสติได้
  4. ยาที่ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร

    เนื่องจากแอลกอฮอล์เองสามารถทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ที่ติดสุราเรื้อรังหรือผู้ที่ดื่มหนักบางรายที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด นอกจากนี้ การดื่มร่วมกับยาบางชนิด (ตาราง) ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร

  5. ยาที่มีผลเสียต่อตับ

    เป็นที่ทราบกันดีว่าการดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็ง เนื่องจากแอลกอฮอล์ส่งผลทำลายตับโดยตรง และหากใช้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ (ตาราง) เช่น การรับประทานยาแก้ปวด พา-รา-เซ-ตา-มอล ร่วมกับแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน เป็นต้น ยิ่งเสี่ยงกับการเกิดพิษต่อตับมากขึ้น
ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่ามียาหลายชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเมื่อรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์ ซึ่งรายการยาที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ทุกครั้งที่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยาเหล่านี้ให้แก่ผู้ป่วย มักจะแจ้งข้อมูลรวมทั้งเขียนคำเตือนในฉลากยาเกี่ยวกับผลของแอลกอฮอล์ต่อยานั้น นอกจากนี้ ตัวผู้ป่วยเองหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ ควรสอบถามแพทย์และเภสัชกรให้แน่ชัด อีกทั้งไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจากแพทย์หรือเภสัชกร

เอกสารอ้างอิง
  1. Weathermon R, Crabb DW. Alcohol and medication interactions. Alcohol Res Health. 1999;23(1):40-54.
  2. Strate LL, Singh P, Boylan MR, Piawah S, Cao Y, Chan AT. A Prospective Study of Alcohol Consumption and Smoking and the Risk of Major Gastrointestinal Bleeding in Men. PLoS One. 2016;11(11):e0165278.
  3. Saitz R, Horton NJ, Samet JH. Alcohol and medication interactions in primary care patients: common and unrecognized. Am J Med. 2003;114(5):407-10.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.