Knowledge Article


โรคพยาธิหอยคัน


อาจารย์ ดร.ทนพ. เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://s3-assets.eastidahonews.com/wp-content/uploads/2017/07/09185532/swimmers-itch-jp.jpg
35,094 View,
Since 2020-11-17
Last active: 17m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 มีรายงานข่าวผู้ป่วยโรคพยาธิหอยคัน โรคหอยคัน หรือ โรคน้ำคัน (ภาษาอังกฤษเรียกว่า cercarial dermatitis, schistosome dermatitis หรือ swimmer’s itch) ในทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีผื่นและตุ่มคันตามร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแขนและขาที่สัมผัสกับน้ำผู้ป่วยบางรายยังสามารถตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิใบไม้เลือดในสัตว์จากเนื้อเยื่อผิวหนังที่ส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิดังกล่าวในหอยคันซึ่งเป็นหอยขนาดเล็กที่พบในนาข้าวและพบในตัวอย่างน้ำที่เก็บจากนาข้าวเช่นกัน



ภาพจาก : https://www.summersolutionsswim.com/wp-content/uploads/2017/10/2017_10_Skincare-for-Open-Water-Swimmers-About-Swimmers-Itch-1200x628.jpg

โรคพยาธิหอยคันเป็นโรคที่เกิดขึ้นบริเวณชั้นผิวหนังภายหลังการติดเชื้อจากตัวอ่อนของพยาธิใบไม้เลือดในสัตว์ระยะ“เซอร์คาเรีย (cercaria)” ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ในทุกพื้นที่ของโลกรวมถึงในประเทศไทย การระบาดมักพบในพื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมมาก่อนหรือมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานที่ทำให้เอื้อต่อการเพิ่มจำนวนของหอยคันรวมถึงพบในพื้นที่ที่มีโอกาสทำให้เกิดการแพร่กระจายของไข่พยาธิใบไม้เลือดของสัตว์ในน้ำได้ง่าย

โดยทั่วไปแล้วพยาธิใบไม้เลือดในสัตว์จะพบระยะตัวเต็มวัยหรือการติดเชื้อในระบบไหลเวียนโลหิตของสัตว์ปีกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น เป็ด ห่าน นกนางนวล หงส์ หนู วัว และควาย เป็นต้น เนื่องจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของสัตว์ดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับแหล่งน้ำในธรรมชาติดังนั้นเมื่อสัตว์เหล่านี้มีพยาธิในร่างกายจะมีไข่พยาธิออกมาพร้อมกับอุจจาระที่อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ตัวอ่อนของพยาธิที่ฟักออกจากไข่ระยะเริ่มแรกที่เรียกว่า ไมราซีเดียม (miracidium) จะเข้าไปในหอยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยคันเพื่อเพิ่มจำนวนและพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะเซอร์คาเรีย (cercaria) ปริมาณมากที่สามารถไชออกจากหอยมายังแหล่งน้ำได้ ถ้าคนสัมผัสหรือลุยน้ำในบริเวณที่อาจมีตัวอ่อนปนเปื้อนอยู่โดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันจะทำให้ติดเชื้อได้โดยตัวอ่อนจะไชเข้าทางผิวหนัง อย่างไรก็เนื่องจากตัวอ่อนของพยาธิดังกล่าวไม่สามารถเจริญเป็นพยาธิตัวแก่ในคนได้ ดังนั้นภายหลังการไชเข้าที่ผิวหนังตัวอ่อนของพยาธินั้นจะตายลง

สาเหตุของการติดเชื้อ

เป็นผลมาจากตัวอ่อนของพยาธิใบไม้เลือดในสัตว์ระยะเซอร์คาเรียไชเข้าผิวหนังของผู้ที่สัมผัสกับน้ำในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนตัวอ่อนพยาธิดังกล่าว ซึ่งในประเทศไทยเคยมีรายงานเชื้อ 4 ชนิดที่ก่อโรคได้คือ
  1. Schistosoma spindale ที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพยาธิดังกล่าวทำให้เกิดการติดเชื้อในวัวและควาย
  2. Schistosoma incognitum พบในกรุงเทพฯ และภาคเหนือ โดยพยาธิดังกล่าวทำให้เกิดการติดเชื้อในหนูพุกใหญ่และหนูบ้าน
  3. Orientobiharzia harinasutai พบในภาคใต้ โดยพยาธิดังกล่าวทำให้เกิดการติดเชื้อในควาย
  4. Trichobilharzia maegrathi พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพยาธิดังกล่าวทำให้เกิดการติดเชื้อในเป็ด
ซึ่งทั้ง 4 ชนิดมีโฮสต์ตัวกลางที่หรือสัตว์น้ำทำให้เชื้อเข้าไปเพิ่มจำนวนได้คือหอยคัน (โดยสายพันธุ์ของหอยคันจะต่างกันไปในพยาธิใบไม้เลือดในสัตว์แต่ละชนิด ปัจจุบันพบว่ามีหอยคัน 2 สายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องคือ Indoplanorbis exustus และ Lymnaea (Radix) auricularia rubiginosa)

อาการที่พบ

อาการในผู้ป่วยจะเกิดขึ้นภายหลังการสัมผัสกับแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนตัวอ่อนของพยาธิและภายหลังจาก ตัวอ่อนพยาธิไชเข้าผิวหนัง ระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บจี๊ดบริเวณผิวหนังที่เคยสัมผัสกับน้ำ จากนั้นจะเกิดผื่นและตุ่มแดงภายใน 12 ชั่วโมง ซึ่งตุ่มที่เกิดขึ้นคล้ายกับตุ่มยุงกัดและอาจพัฒนาเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มพุพองหรือตุ่มหนองได้ ในช่วงดังกล่าวผู้ป่วยจะมีอาการคันซึ่งถ้าผู้ป่วยเกาจนเกิดแผลอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำได้ โดยลักษณะผื่นคันและตุ่มที่เกิดบริเวณผิวหนังเป็นผลมาจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่วนมากจะเป็นภาวะภูมิแพ้ต่อโปรตีนของตัวอ่อนพยาธิ อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนเกิดขึ้นผื่นและตุ่มแดงดังกล่าวสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

การวินิจฉัย

อาศัยการซักประวัติเกี่ยวกับการสัมผัสแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีหอยคันระบาดจำนวนมากร่วมกับอาการและรอยโรคที่ผิวหนังของผู้ป่วยรวมถึงผลการตรวจทางพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อผิวหนังในตำแหน่งที่เกิดโรค

การรักษาและการป้องกัน
  1. ใช้ยาแอนติฮิสตามีนเพื่อลดอาการแพ้
  2. ใช้ยาทาเช่นคาลาไมน์โลชั่นหรือยากลุ่มสเตียรอยด์
  3. ใช้การประคบเย็นเพื่อลดอาการอักเสบบริเวณผิวหนัง
  4. ในกรณีผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำอาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
ทั้งนี้การรักษาหรือการรับประทานยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายได้เองโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

การป้องกันและควบคุมการระบาด
  1. สวมรองเท้ายางเมื่อต้องเดินลุยน้ำ
  2. ไม่ว่ายน้ำหรือสัมผัสกับน้ำในแหล่งน้ำที่เคยมีรายงานการเกิดโรครวมถึงแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  3. เช็ดน้ำตามร่างกายหรืออาบน้ำทันทีภายหลังสัมผัส ลุยน้ำหรือลงไปในแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งนี้ควรเช็ดตัวให้แห้งแรง ๆ เพื่อป้องกันการไชของตัวอ่อนพยาธิเข้าผิวหนัง
  4. ควบคุมสัตว์และหอยน้ำจืดที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของพยาธิใบไม้เลือดในสัตว์บริเวณแหล่งน้ำ


เอกสารอ้างอิง
  1. นิมิต มรกต, คม สุคนธสรรพ์, บรรณาธิการ. ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ II.หนอนพยาธิ. พิมพ์ครั้งที่ 3. เชียงใหม่: กลางเวียงการพิมพ์; 2554.
  2. คณาจารย์ภาควิชาปาราสิตวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ปาราสิตสาธารณสุข (Public health parasitology). พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สหธรรมิก; 2536.
  3. Kullavanijaya P, Wongwaisayawan H. Outbreak of cercarial dermatitis in Thailand. Int J Dermatol 1993; 32(2): 113-5.
  4. Center for Disease Control and Prevention. Parasites-Cercarial Dermatitis (also known as Swimmer's Itch)[Internet]. 2018 [cited 2020 Nov 13]. Available from: https://www.cdc.gov/parasites/swimmersitch/.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.