Knowledge Article


ผลต่อสุขภาพของอาหารเน้นพืชผัก (Plant-Based Diets)


อาจารย์ ปองพล ทนุผล
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.pexels.com/photo/white-and-black-wooden-blocks-3669638/
16,025 View,
Since 2020-11-05
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2flfnsgx
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


คุณมีความคิดที่จะปรับวิถีการรับประทานอาหารเป็น vegan (งดเว้นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด) หรือ vegetarian (มังสวิรัติ) ใช่หรือไม่? ไม่ว่าคุณกำลังมีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลหรือปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือด ไม่ว่าคุณมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตหรือน้ำหนักที่มีค่าสูงเกินมาตรฐาน หรือไม่ว่าคุณเป็นบุคคลที่มีสุขภาพปกติ คุณอาจเคยได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของการรับประทานอาหารที่มาจากพืช หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Plant-based diet” แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารใช่ว่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพเสมอ ในบางครั้งอาหารสามารถก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพด้วย Plant-based diet ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนไปรับประทาน Plant-based diet ผู้บริโภคควรคำนึงถึงคุณประโยขน์และผลเสียต่อร่างกายให้ดีเสียก่อน



ภาพจาก : https://www.pexels.com/photo/vegetable-salad-on-white-plate-2862154/

มนุษย์มีความเป็นเลิศในด้านการใช้สติปัญญาและศักยภาพในการสรรค์สร้างความคิดและผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งเบื้องหลังความสามารถดังกล่าว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรี่ยวแรงที่มนุษย์ทุกคนใช้ในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆนั้น ต้องมีที่มาจากอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เมื่อไม่นานมานี้ plant-based diet ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภคเนื่องมาจากความสามารถในการพัฒนาแบบยั่งยืนได้ การใช้พื้นที่เกษตรกรรมที่น้อยกว่า การใช้ทรัพยากรน้ำที่น้อยกว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่น้อยกว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้นับเป็นข้อดีของ plant-based diet ที่เหนือกว่าอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ แต่นอกจากผลดีในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว plant-based diet นั้นยังสามารถส่งผลต่อสุขภาพซึ่งมีทั้งที่เป็นผลดีและผลเสียที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึงก่อนการบริโภคด้วย

การรับประทาน plant-based diet นั้นสามารถกระทำได้หลายรูปแบบยกตัวอย่างเช่น การรับประทานแบบ lacto-ovo vegetarian (บริโภคผัก นม และไข่ ไม่รวมเนื้อสัตว์) ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดในบรรดาการรับประทานมังสวิรัติ หรือการรับประทานแบบ lacto- หรือ ovo-vegetarian (รับประทานพืชผัก และนมหรือไข่อย่างใดอย่างหนึ่ง) และสุดท้ายคือการรับประทานแบบ vegan (บริโภคเฉพาะพืชผัก ไม่รวมผลิตภัณฑ์จากสัตว์ใดๆ) การศึกษาจำนวนมากได้ระบุถึงผลดีต่อสุขภาพของการบริโภค plant-based diet ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการของโรคซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาผลาญที่ผิดปกติ (metabolic syndrome) ซึ่งรวมถึงภาวะอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ในคนไข้ที่มีภาวะอ้วน มีการศึกษาที่ค้นพบว่า plant-based diet อาจช่วยในการควบคุมและลดน้ำหนักได้ จากการศึกษาในเชิงระบาดวิทยาพบความสัมพันธ์ที่ผกผันกันระหว่างการบริโภค plant-based diet และความชุกของภาวะอ้วนทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก และในทำนองเดียวกัน ผลจากการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ยังแสดงความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภค plant-based diet และน้ำหนักที่ลดลง 7.6 กิโลกรัมในเพศชาย หรือ 3.3 กิโลกรัมในเพศหญิง หรือประมาณ 2 หน่วย BMI ด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่าผลการลดน้ำหนักในภาวะอ้วนนี้น่าจะมาจากปริมาณพลังงานที่น้อยลง และปริมาณใยอาหารที่มากขึ้นจากส่วนประกอบของพืชที่เป็นอาหารนั่นเอง

โรคเบาหวานถือเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มอาการของโรคที่มีสาเหตุมาจากการเผาผลาญที่ผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีภาวะการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ผิดปกติไป เป็นที่น่าสนใจว่า plant-based diet มีรายงานที่ระบุผลต่อต้านเบาหวาน จากกรณีศึกษาหนึ่ง ผู้ป่วยเบาหวานเพศชายอายุ 63 ปี ตรวจพบค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 524 มก/ดล และค่า HbA1C 11.1% ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา 3 ชนิด ได้แก่ metformin ในขนาดการรักษาที่สูง glipizide และ insulin ก่อนนอนเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หลังจากได้รับคำแนะนำเรื่องโภชนาการและปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทานมาเป็น plant-based diet แพทย์ประจำตัวของผู้ป่วยรายนี้สามารถงดเว้นการให้ยา 2 ชนิดหลัง คงเหลือเฉพาะยา metformin สำหรับควบคุมน้ำตาลในเลือด นี่นับเป็นสัญญาณซึ่งบ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้ป่วยรายนี้ และนอกจากนี้ จากข้อมูลวิจัยในประชากร 60,000 รายยังพบอีกว่า พบความชุกของโรคเบาหวาน 2.9% ในคนที่รับประทาน vegan diet ส่วนในคนที่รับประทานอาหารปกติ (non-vegetarian) พบความชุกของโรคเบาหวานถึง 7.6% ซึ่งมีข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุที่ plant-based diet สามารถต้านเบาหวานได้น่าจะมาจากฤทธิ์ในการเพิ่มความไวของอินซูลิน และฤทธิ์ยับยั้งความต้านทานต่ออินซูลิน

เมื่อกล่าวถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดอัตราการตายสูงที่สุดในสถิติโลก ที่ไม่หมายรวมถึงโรคติดต่อ แน่นอนว่าคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคือโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสะสมของโคเลสเตอรอลและไขมันที่ผนังหลอดเลือดแดงส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวและตีบมากขึ้นนั้นเป็นพยาธิสภาพที่เด่นชัดของโรค ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจนำไปสู่การตีบตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) ในปี 1998 มีงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาที่ระบุถึงอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ลดลงถึง 24% ในผู้ป่วยที่รับประทานมังสวิรัติ (vegetarian) เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่รับประทานมังสวิรัติ (non-vegetarian) ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการบริโภค plant-based diet จะได้รับปริมาณโคเลสเตอรอลที่ต่ำกว่าการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์

จากคุณประโยชน์ที่หลากหลายต่อสุขภาพของ plant-based diet ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ส่งผลให้แนวโน้มของการหันมาบริโภค plant-based diet ได้รับความนิยมอย่างสูงในวงกว้าง แต่อย่างไรก็ดี คล้ายกับเหรียญที่มีสองด้าน ใช่ว่า plant-based diet จะมีเฉพาะคุณประโยชน์เสมอไป ในบางสภาวะ plant-based diet อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้เช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารเฉพาะที่มาจากพืช (plant-based diet) นั้นอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะพร่องโปรตีน โปรตีนมีโครงสร้างจากกรดอะมิโนที่เรียงต่อกันเป็นสายยาว ซึ่งกรดอะมิโนเหล่านี้บางชนิดเป็นชนิดที่จำเป็นและร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ การได้รับกรดอะมิโนจำเป็นเหล่านี้จากอาหารที่บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนจำเป็นเหล่านี้ในปริมาณที่ต่ำ ดังนั้นการรับประทาน plant-based diet หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณที่น้อยอาจส่งผลให้ได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจกระตุ้นให้ร่างกายสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อบางส่วนมาทดแทนซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ปัญหาเนื่องจากความอ่อนแรงและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้

ผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญของ plant-based diet อีกประการ ได้แก่ความเสี่ยงต่อภาวะพร่องวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด โดยทั่วไปผู้อ่านคงเคยได้ยินว่าอาหารจำพวกพืชผักมักเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมการบริโภค plant-based diet อาจนำไปสู่ภาวะพร่องวิตามินและแร่ธาตุได้? ซึ่งคำตอบของข้อสงสัยนี้จะสามารถอธิบายด้วยค่าชีวประสิทธิผล (bioavailability) ค่าชีวประสิทธิผล คือ ปริมาณของยาหรือสารออกฤทธิ์ที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าถึงจุดที่ยาหรือสารนั้นจะออกฤทธิ์ ดังจะยกตัวอย่างให้ผู้อ่านเห็นภาพต่อไปนี้ เป็นที่ทราบดีว่าในพืชหลายชนิดมีธาตุเหล็กในปริมาณที่สูง อย่างไรก็ตามกลับพบว่าค่าชีวประสิทธิผลของธาตุเหล็กที่ได้จากพืชต่ำกว่าการบริโภคธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ หมายความว่าถึงแม้ในพืชมีธาตุเหล็กแต่หลังจากบริโภคแล้วธาตุเหล็กจากพืชเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ดังนั้น การบริโภค plant-based diet อาจนำไปสู่ภาวะพร่องธาตุเหล็กได้ ซึ่งผู้ป่วยโรคเลือด เช่น โลหิตจางควรระมัดระวัง นอกเหนือจากนี้ผู้บริโภค plant-based diet ยังมีความเสี่ยงต่อการพร่องวิตามินบี 12 ด้วย เนื่องจากอาหารจำพวกพืชผักมีปริมาณวิตามินบี 12 ในระดับต่ำ ดังนั้น ผู้บริโภค plant-based diet ควรเลือกรับประทานอาหารที่เสริมวิตามินชนิดนี้ หรือ อาจเลือกรับประทานวิตามินเสริมอาหารเป็นทางเลือกด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องการภาวะขาดวิตามินบี 12 อันจะนำไปสู่ความผิดปกติของร่างกาย อาทิเช่น โลหิตจาง ภาวะอ่อนเพลีย ความรู้สึกชาหรือปวดบริเวณปลายมือปลายเท้า ภาวะการทรงตัวผิดปกติ และปัญหาเกี่ยวกับความจำ เป็นต้น

เพื่อเป็นการสรุป การบริโภค plant-based diet จำเป็นต้องมีการวางแผนการบริโภคที่ดี ผู้บริโภคควรรับประทาน plant-based diet ให้มีความหลากหลายของชนิดอาหารจำพวกพืช อาทิเช่น อาหารจากธัญพืช ถั่วที่มีฝัก ถั่วที่มีเปลือกแข็งหุ้ม เมล็ดพืช ผลไม้ และผักชนิดต่างๆ ในบางครั้งควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนในปริมาณที่มากขึ้น อันได้แก่ ถั่ว เห็ด และธัญพืชต่างๆ เพื่อป้องกันการภาวะขาดโปรตีน สำหรับวิตามินบี 12 อาจรับประทานนม ยีสต์ทางโภชนาการ รวมถึงอาหารที่เสริมวิตามินบี 12 ร่วมด้วย เพื่อช่วยป้องกันปัญหาที่ตามมาจากภาวะขาดวิตามินบี 12 สุดท้ายนี้ ควรใส่ใจในอาหารที่จะบริโภคทุกจานให้ได้คุณค่าทางโภชนาการและมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

เอกสารอ้างอิง
  1. Sabaté J, Wien M. Vegetarian diets and childhood obesity prevention. Am J Clin Nutr 2010;91(5):1525S-9S.
  2. Witters D. More than 15% obese in nearly all US metro areas [Internet]. Washington, DC: Gallup Wellbeing; 2012 [cited 2020 May 6]. Available from: https://www.gallup.com/poll/153143/Obese-Nearly-Metro-Areas.aspx.
  3. Tonstad S, Butler T, Yan R, Fraser GE. Type of vegetarian diet, body weight, and prevalence of type 2 diabetes. Diabetes Care 2009;32(5):791-6.
  4. Key TJ, Fraser GE, Thorogood M, Appleby PN, Beral V, Reeves G, et al. Mortality in vegetarians and non-vegetarians: a collaborative analysis of 8300 deaths among 76,000 men and women in five prospective studies. Public Health Nutr 1998;1(1):33-41.
  5. Tuso PJ, Ismail MH, Ha BP, Bartolotto C. Nutritional update for physicians: Plant-based diets. Perm J 2013;17(2):61-6.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.