Knowledge Article


น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย: เลือกที่ใช่ ใช้ถูกต้อง


อาจารย์ ภก. ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://post.healthline.com/wp-content/uploads/2020/08/electrolyte-water-732x549-thumbnail.jpg
289,489 View,
Since 2020-11-02
Last active: 11m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เมื่อเกิดอาการท้องเสีย ร่างกายจะสูญเสียน้ำซึ่งประกอบไปด้วยเกลือแร่ที่จำเป็นในการทำงานของร่างกายไปพร้อมกับการถ่ายอุจจาระเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต ผู้ที่ท้องเสียและมีสัญญาณของการขาดน้ำอย่างรุนแรงจำเป็นต้องได้รับสารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ (ให้น้ำเกลือ) แต่หากอาการท้องเสียไม่รุนแรง การดื่ม “น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย” ก็มักจะเพียงพอสำหรับชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป ซึ่งการเลือกชนิดของน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสม รวมทั้งวิธีการผสมและดื่มที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุกคนควรรู้



ภาพจาก : https://static.siamsport.co.th/files/images/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B9%882.jpg

การเลือกชนิดของน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย

น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียต้องมีสัดส่วนของเกลือแร่ต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยส่วนมากผู้ที่ท้องเสียต้องผสมน้ำเกลือแร่ด้วยตนเองจากผงเกลือแร่ซึ่งบรรจุอยู่ในซองสำเร็จรูปที่เรียกว่า “โออาร์เอส หรือ ORS (Oral Rehydration Salts)” ซึ่งจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านและมีจำหน่ายทั่วไปที่ร้านยารวมทั้งร้านสะดวกซื้อ โดยโออาร์เอสที่ร้านสะดวกซื้ออาจถูกวางอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ทำให้ผู้ใช้ยาเกิดความสับสนและเข้าใจว่าสามารถใช้แทนกันได้ แต่แท้จริงแล้วผงเกลือแร่ทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน เนื่องจากผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมักมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าโออาร์เอส และอาจทำให้ผู้ที่ท้องเสียถ่ายเหลวมากกว่าเดิมก็เป็นได้ ดังนั้นผู้ที่ท้องเสียจึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ที่ผสมจากโออาร์เอสเท่านั้น

การผสมน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย

โออาร์เอสสามารถผสมเป็นน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
  1. เตรียมน้ำเปล่าสำหรับดื่มที่สะอาดและมั่นใจได้ว่าไม่มีเชื้อโรคอื่นที่อาจปนเปื้อนจนทำให้อาการท้องเสียแย่ลง หากไม่สามารถหาน้ำดื่มสะอาดได้ อาจต้มน้ำและรอให้เย็นลงจนดื่มได้ก่อนจึงค่อยผสมกับโออาร์เอส ห้ามผสมโออาร์เอสกับเครื่องดื่มใด ๆ นอกจากน้ำเปล่า
  2. เทโออาร์เอสทั้งซองในน้ำดื่มสะอาดตามปริมาตรที่ระบุบนซอง โดยปริมาตรอาจเป็น 120, 150, 240, 250 หรือ 750 ซีซี (1 ซีซี เท่ากับ 1 มิลลิลิตร) ขึ้นกับยี่ห้อ หากผสมด้วยปริมาตรที่ผิดไปจากที่ระบุอาจทำให้ได้น้ำเกลือแร่ที่มีความเข้มข้นไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามปริมาตรที่ใช้ผสมอาจมากหรือน้อยไปจากที่ระบุได้บ้างหากไม่มีภาชนะในการตวง
  3. ผสมโออาร์เอสกับน้ำดื่มให้เข้ากันดีด้วยการคนหรือเขย่าจนสังเกตว่าไม่มีผงยาเหลืออยู่ อย่าลืมคำนึงถืงความสะอาดของน้ำดื่มและภาชนะต่าง ๆ ในขั้นตอนการผสม
  4. ควรผสมโออาร์เอสครั้งละซองและผสมใหม่เมื่อดื่มของเก่าหมด ไม่ควรเก็บน้ำเกลือแร่ที่ดื่มไม่หมดไว้เกิน 24 ชั่วโมง รวมทั้งควรเก็บรักษาน้ำเกลือแร่ที่ผสมแล้วในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อลดโอกาสในการปนเปื้อน
วิธีการดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อท้องเสีย

ผู้ที่ท้องเสียควรดื่มน้ำเกลือแร่ที่ผสมจากโออาร์เอสโดยใช้หลักการดังนี้
  1. ค่อย ๆ จิบ ไม่ดื่มรวดเดียว เนื่องจากการดื่มหมดในคราวเดียวอาจทำให้ลำไส้แปรปรวนและท้องเสียมากกว่าเดิม
  2. ให้จิบเรื่อย ๆ จนไม่รู้สึกกระหายน้ำ ความรู้สึกกระหายน้ำเป็นสัญญาณที่บอกได้คร่าว ๆ ว่าร่างกายมีภาวะขาดน้ำหรือไม่
  3. หากอาเจียน ไม่ควรดื่มต่อโดยทันทีเพราะอาจกระตุ้นให้อาเจียนซ้ำ ควรรอประมาณ 10 นาที จึงค่อยดื่มใหม่
  4. ให้หยุดดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อหายจากอาการท้องเสีย โดยกลับมาดื่มน้ำเปล่าและรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยอย่างเพียงพอตามปกติ ไม่ควรรับประทานน้ำเกลือแร่เป็นระยะเวลานานหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
ข้อควรรู้อื่น ๆ

มีความเชื่อที่บอกต่อ ๆ กันมากมายเกี่ยวกับชนิด การผสม และการดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย ซึ่งข้อเท็จจริงมีดังนี้
  1. ผู้ที่ท้องเสียสามารถดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียชนิดพร้อมดื่ม (ไม่ต้องผสมเอง) ซึ่งได้รับจากสถานพยาบาลหรือร้านยาได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียชนิดพร้อมดื่มจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ
  2. น้ำแร่ (mineral water) คือ น้ำดื่มสะอาดที่ได้รับการเติมแร่ธาตุบางชนิดลงไปในปริมาณน้อย ๆ ไม่ใช่น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย
  3. หากมีความจำเป็นและไม่สามารถจัดหาโออาร์เอสได้ อาจผสมน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียเองโดยเติมน้ำตาลทราย 6 ช้อนชาและเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำดื่มสะอาด 1 ลิตร (1,000 ซีซี) อย่างไรก็ตามปริมาณของเกลือแร่ที่ได้จะไม่เหมือนกับที่ผสมจากโออาร์เอส
  4. น้ำอัดลมเติมเกลือมีความคล้ายคลึงกับน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมากกว่าโออาร์เอส จึงไม่แนะนำสำหรับผู้ที่ท้องเสีย
เอกสารอ้างอิง
  1. Diarrhoeal disease [Internet]. [cited 2020 Oct 27]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/diarrhoeal-disease
  2. WHO | Oral rehydration salts [Internet]. WHO. World Health Organization; [cited 2020 Oct 27]. Available from: https://www.who.int/maternal_child_adolescent/documents/fch_cah_06_1/en/
  3. Diarrhoea, Diarrhea, Dehydration, Oral Rehydration, Mother and Child Nutrition, Water, Sanitation, Hygiene - Rehydration Project [Internet]. [cited 2020 Oct 27]. Available from: https://rehydrate.org/
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.