Knowledge Article


ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://c2.thejournal.ie/media/2015/01/shutterstock_1741659351-390x285.jpg
277,422 View,
Since 2020-10-30
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การคุมกำเนิดทำได้หลายวิธี วิธีที่นิยมกันมากคือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด โดยเฉพาะชนิดฮอร์โมนรวม (combined oral contraceptives หรือ combined pills) ที่แต่ละเม็ดมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (estrogens) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนในร่างกาย ยาเม็ดเหล่านี้บรรจุเป็นแผงสำหรับรับประทาน 1 เดือน โดยรับประทานวันละ 1 เม็ดทุกวันจนหมดแผง ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด (injectable contraceptives) มีการใช้มากเช่นเดียวกันแม้จะไม่เท่ากับยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิดนี้มีทั้งชนิดที่มีฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสตินอย่างเดียว และชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งมีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์และเพิ่มความสะดวกเนื่องจากไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน ในบทความนี้จะกล่าวถึงยาคุมกำเนิดชนิดฉีดในด้านที่เกี่ยวกับการแบ่งประเภท ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฉีดยา การออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ ผลไม่พึงประสงค์ ข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งข้อควรคำนึงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดยา



ภาพจาก : https://cdn.cnn.com/cnnnext/dam/assets/150619112138-butt-injection-stock-super-169.jpg

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดมีหลายประเภท

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด มีทั้งชนิดที่มีฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสตินอย่างเดียว อาจเป็นเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรน (ในรูปเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต) หรือนอร์เอทิสเตอโรน (ในรูปนอร์เอทิสเตอโรนอีแนนเทต) และชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งมีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน ได้แก่ เอสตราไดออล (ในรูปเอสตราไดออลไซพิโอเนต หรือเอสตราไดออลวาเลอเรต) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสตินชนิดใดชนิดหนึ่งที่ระบุข้างต้น ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดจะมีตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดทีละน้อยเพื่อให้มีการออกฤทธิ์ได้นานครบตามกำหนดเวลา ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดผลิตออกจำหน่ายหลายตำรับดังที่จะกล่าวข้างล่างนี้ แต่ละชนิดได้รับความนิยมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่ใช้กันมากในประเทศไทยเป็นชนิดที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินอย่างเดียวและฉีดทุก 3 เดือน
  1. ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินอย่างเดียว (progestin-only injectable contraceptives) ใช้ได้กับผู้หญิงทุกรายที่ต้องการคุมกำเนิดและไม่เข้าข่ายเป็นผู้ที่ห้ามใช้ (ดูหัวข้อ ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดเหมาะกับใคร?) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะกับผู้ที่ไม่อาจใช้เอสโตรเจนได้ แบ่งออกเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดแบบ 3 เดือนและแบบ 2 เดือน

    หมายเหตุ ในการกำหนดเวลานัดฉีด หากเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดแบบ 3 เดือน จะกำหนดนัดฉีดแต่ละครั้งไว้ที่ 12 สัปดาห์ (หรือ 84 วัน) เนื่องจากยาออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 14 สัปดาห์ (หรืออาจถึง 15 สัปดาห์) ดังนั้นผู้ที่ไม่อาจมาตามนัดจึงสามารถมาล่าช้าได้แต่ต้องล่าช้าไม่เกิน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้จะไม่กำหนดเวลานัดฉีดไว้ที่ 3 เดือน เพราะหากเกิดความล่าช้าในการฉีดจะมีความเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์ ทำนองเดียวกับยาคุมกำเนิดชนิดฉีดแบบ 2 เดือน จะกำหนดนัดฉีดแต่ละครั้งไว้ที่ 8 สัปดาห์ เนื่องจากยาออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 10 สัปดาห์ ดังนั้นผู้ที่ไม่อาจมาตามนัดจึงมาล่าช้าได้แต่ต้องล่าช้าไม่เกิน 2 สัปดาห์เช่นเดียวกัน
    • ยาฉีดเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต (depot medroxyprogesterone acetate หรือ DMPA) ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (DMPA-IM) เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดแบบ 3 เดือนและเป็นชนิดที่ใช้กันมากในประเทศไทย ยามีลักษณะขุ่น เป็นยาน้ำแขวนตะกอน (aqueous suspension) มีตัวยา 150 มิลลิกรัมใน 3 มิลลิลิตร สำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกหรือกล้ามเนื้อต้นแขน บางผลิตภัณฑ์บรรจุในหลอดยาฉีดพร้อมใช้ (prefilled syringe) มีตัวยา 150 มิลลิกรัมใน 1 มิลลิลิตร ยาออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 14 สัปดาห์ (หรืออาจถึง 15 สัปดาห์) จึงกำหนดให้ฉีดทุก 12 สัปดาห์หรือ 84 วัน (ดู หมายเหตุ ข้างต้น) ใช้กับผู้ที่ประสงค์จะคุมกำเนิดเป็นเวลานาน และเหมาะกับผู้ที่มีบุตรแล้วมากกว่าผู้ที่ยังไม่เคยมีบุตร เนื่องจากต้องรอนานหลายเดือนหลังฉีดยาครั้งสุดท้ายกว่าจะตั้งครรภ์ได้ บางรายอาจรอเกือบ 1 ปีหรือนานกว่านี้ ยานี้ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ช่วงแรกมาไม่สม่ำเสมอหรือมากะปริบกะปรอย ต่อมาจะน้อยลงและหายไป โดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ใช้ยา จึงทำให้ผู้ใช้เป็นกังวลว่าอาจตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลิกใช้
    • ยาฉีดเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (DMPA-SC) เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดแบบ 3 เดือนเช่นเดียวกัน แต่มีปริมาณตัวยาน้อยกว่าชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ คือมีตัวยา 104 มิลลิกรัมใน 0.65 มิลลิลิตร บรรจุในหลอดยาฉีดพร้อมใช้ ฉีดยาทุก 12 สัปดาห์เช่นเดียวกับชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ มีใช้ในบางประเทศ ซึ่งการทำในรูปหลอดยาฉีดพร้อมใช้นั้นผู้ผลิตมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้สามารถฉีดยาเองได้ โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องหรือต้นขา เพื่อเพิ่มความสะดวกโดยหวังว่าจะช่วยให้เกิดการใช้ยาอย่างต่อเนื่องได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ยาดังกล่าวยังคงมีข้อแนะนำให้ฉีดโดยบุคลากรสาธารณสุข ยานี้ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติเช่นเดียวกันกับยาคุมกำเนิดแบบ 3 เดือนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
    • นอร์เอทิสเตอโรนอีแนนเทต (norethisterone enanthate) เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดแบบ 2 เดือน มีตัวยา 200 มิลลิกรัมใน 1 มิลลิลิตร ยามีลักษณะข้นเป็นน้ำมัน สำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกหรือต้นแขน ยาออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 10 สัปดาห์ จึงกำหนดให้ฉีดทุก 8 สัปดาห์ (ดู หมายเหตุ ข้างต้น) ยาเปลี่ยนเป็นนอร์เอทิสเตอโรน (norethisterone) ที่ตับก่อนที่จะออกฤทธิ์ ใช้กับผู้ที่ประสงค์จะคุมกำเนิดระยะสั้น เช่น ช่วงที่ฝ่ายชายเข้ารับการทำหมัน (vasectomy) เพื่อรอจนกระทั่งการทำหมันได้ผลสมบูรณ์ หรือช่วงที่ผู้หญิงนั้นได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน (rubella) เพื่อรอจนกระทั่งมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ยานี้ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติเช่นเดียวกันกับยาคุมกำเนิดแบบ 3 เดือน นอกจากนี้ยังทำให้ปวดบริเวณที่ฉีดจึงไม่นิยมใช้
  2. ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่มีฮอร์โมนรวม (combined injectable contraceptives) ซึ่งมีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 1 เดือน การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุมดลูกเกิดคล้ายกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผงที่รับประทานทุกวัน เยื่อบุมดลูกมีการหลุดลอกทุกเดือนเหมือนปกติ ทำให้ประจำเดือนมาทุกเดือน จึงลดความกังวลเรื่องตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว ยาฉีดชนิดนี้เหมาะกับผู้ที่มักลืมรับประทานยาหรือไม่อยากรับประทานยาทุกวัน และยังอยากมีประจำเดือนตามปกติ อย่างไรก็ตามการไปสถานพยาบาลเพื่อฉีดยาทุกเดือนอาจไม่สะดวก ได้มีการพัฒนายาให้เป็นรูปแบบที่ผู้ใช้สามารถฉีดเองได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังคงมีข้อแนะนำให้ฉีดโดยบุคลากรสาธารณสุข ตำรับยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีดังนี้
    • เมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต 25 มิลลิกรัมผสมกับเอสตราไดออลไซพิโอเนต (estradiol cypionate) 5 มิลลิกรัม
    • นอร์เอทิสเตอโรนอีแนนเทต 50 มิลลิกรัมผสมกับเอสตราไดออลวาเลอเรต (estradiol valerate) 5 มิลลิกรัม
ภายหลังการฉีดยาเหล่านี้เสร็จแล้วไม่ควรบีบ นวดหรือคลึงบริเวณที่ฉีด เพราะจะทำให้ตัวยาบางส่วนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป จนอาจเหลือไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมระยะเวลาในการป้องกันการตั้งครรภ์จนครบกำหนดนัดฉีดครั้งถัดไป

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดเหมาะกับใคร?

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่ใช้กันมากในบ้านเราเป็นยาฉีดแบบ 3 เดือนที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินอย่างเดียว ใช้ได้กับสตรีทุกรายที่ประสงค์จะคุมกำเนิดเป็นเวลานาน รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักมากเกิน ทั้งนี้ต้องไม่เข้าข่ายเป็นผู้ห้ามใช้ที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ อย่างไรก็ตามยาฉีดคุมกำเนิดชนิดนี้ (รวมถึงยาฉีดแบบ 2 เดือน) เหมาะกับผู้ที่มีบุตรแล้วมากกว่าผู้ที่ยังไม่เคยมีบุตร เนื่องจากยาทำให้เยื่อบุมดลูกฝ่อลง การจะตั้งครรภ์ได้จึงต้องรอนานหลายเดือนหลังฉีดยาครั้งสุดท้าย ผู้ที่ยังไม่เคยมีบุตรควรใช้การคุมกำเนิดชนิดที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผง หรือถุงยางอนามัย นอกจากนี้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น

ผู้ที่ห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่กล่าวถึงข้างต้น (ชนิดที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินอย่างเดียว) ได้แก่ ผู้ที่ตั้งครรภ์ (ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน) ผู้ที่มีภาวะเลือดออกจากช่องคลอดหรือทางเดินปัสสาวะอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่เป็นโรคตับรุนแรง ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดดำอักเสบร่วมกับมีลิ่มเลือด (thrombophlebitis) ผู้ที่เป็นหรือมีประวัติว่าเคยเป็นโรคลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (thromboembolic disorders) ตลอดจนผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งในกรณีโรคที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดนั้น แม้ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่ายาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านั้นหรือไม่ แต่หากมีโรคเหล่านั้นอยู่ก่อนแล้วจะห้ามใช้ยาฉีดชนิดที่กล่าวถึง

ส่วนการเป็นโรคอื่นแต่ยังสามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินอย่างเดียวได้ หากไม่มีทางเลือกอื่น แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เช่น โรคเนื้องอกตับ โรคหัวใจและหลอดเลือด

เริ่มฉีดยาคุมกำเนิดได้เมื่อไร?

การฉีดยาคุมกำเนิดสามารถเริ่มฉีดได้ในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดในข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันดังนี้
  1. วันใด ๆ ที่ต้องการฉีด แต่ต้องผ่านการตรวจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยในช่วง 7 วันภายหลังการฉีดยา
  2. วันแรกของการมีประจำเดือนหรือวันใด ๆ ภายใน 5 วันนับจากวันเริ่มมีประจำเดือน การฉีดในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  3. ทันทีหรือภายใน 5 วันหลังการแท้งบุตร ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าใด การฉีดในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  4. ทันทีหรือภายใน 21 วันหลังการคลอด ในผู้ที่ไม่ได้ให้นมบุตร การฉีดในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  5. หลังคลอดยังไม่ถึง 6 เดือน ไม่มีประจำเดือนมาเลย และให้นมบุตรสม่ำเสมอตลอดมา ซึ่งช่วงนี้โดยทั่วไปยังไม่มีไข่ตกจึงไม่ตั้งครรภ์ การฉีดในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น อย่างไรก็ตามกรณีที่ไม่มั่นใจและเพื่อความปลอดภัยควรตรวจแล้วว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนการฉีดยา และให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยในช่วง 7 วันภายหลังการฉีดยา ยาเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทตไม่รบกวนปริมาณและคุณภาพน้ำนม
ฉีดยาคุมกำเนิดก่อนหรือหลังกำหนดนัดได้กี่วัน?

ควรฉีดยาคุมกำเนิดตรงตามกำหนดเวลานัด ในกรณีที่จำเป็นต้องฉีดก่อนกำหนด หากเป็นชนิดฉีดทุกเดือนสามารถฉีดก่อนกำหนดได้ 7 วัน หากเป็นยาฉีดคุมกำเนิดแบบ 2 หรือ 3 เดือนสามารถฉีดก่อนกำหนดได้ 2 สัปดาห์ ในกรณีที่ฉีดล่าช้า หากเป็นชนิดที่ฉีดทุกเดือนสามารถฉีดล่าช้ากว่ากำหนดได้ไม่เกิน 7 วัน หากเป็นยาฉีดคุมกำเนิดแบบ 2 หรือ 3 เดือนสามารถฉีดล่าช้ากว่ากำหนดได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ (ดู หมายเหตุ ข้างต้น) ซึ่งการฉีดล่าช้าแต่อยู่ภายในช่วงเวลาที่ระบุนั้นไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นมาเสริม หากว่าล่าช้าเกินเวลาที่ระบุให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย ไปจนถึงเวลาฉีดและหลังจากฉีดอีก 7 วัน

การออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดชนิดฉีดในการป้องกันการตั้งครรภ์

ฮอร์โมนทั้งประเภทเอสโตรเจนและโพรเจสตินออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีการออกฤทธิ์อย่างอื่นเสริมอีก หากเป็นฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจนยังสามารถเพิ่มการบีบตัวของท่อนำไข่และเพิ่มการบีบตัวของมดลูก ทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว (หากสามารถปฏิสนธิได้) มาถึงโพรงมดลูกในเวลาที่ไม่เหมาะสมในการฝังตัว ส่วนฮอร์โมนประเภทโพรเจสตินขัดขวางการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ โดยลดปริมาณมูกปากมดลูกและทำให้มูกปากมดลูกข้นหนืด อีกทั้งยังลดการโบกพัดของขนอ่อนในท่อนำไข่อีกด้วย นอกจากนี้ยังลดขนาดและลดจำนวนต่อมซึ่งทำหน้าที่สร้างสารคัดหลั่งที่เยื่อบุมดลูก ตลอดจนทำให้คอร์พัสลูเทียม (corpus luteum) สลายเร็วเกินโดยยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้สภาวะภายในมดลูกไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว (หากสามารถปฏิสนธิได้) จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ หากมีการใช้ยาโดยการปฏิบัติอย่างถูกต้องสมบูรณ์ (perfect use) มีอัตราความล้มเหลว (เกิดการตั้งครรภ์) เพียง 0.2-0.3% (เกิดการตั้งครรภ์ 2 หรือ 3 คน ในจำนวนผู้ใช้ยา 1,000 คน ใน 1 ปีแรก) ซึ่งพอ ๆ กับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (เมื่อมีการใช้ยาโดยการปฏิบัติอย่างถูกต้องสมบรูณ์เช่นเดียวกัน) แต่ถ้าใช้ตามปกติวิสัยโดยทั่วไปซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ จะมีอัตราความล้มเหลวสูงกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดมีอัตราความล้มเหลวสูงกว่านี้หลายเท่ามาก ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องการลืมรับประทานยา การรับประทานไม่ตรงเวลา การอาเจียนหลังการรับประทานยา เป็นต้น ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดฉีดจะตัดปัญหาเรื่องดังกล่าวได้ แต่อาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการฉีดยาครั้งต่อไปที่ไม่ตรงตามกำหนดเวลา หรือมีความผิดพลาดขณะฉีดยา

หยุดฉีดยาคุมกำเนิดแล้วจะกลับมาตั้งครรภ์ได้เมื่อไร?

กรณีที่เป็นยาฉีดเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทตแบบฉีดคุมกำเนิดครั้งละ 3 เดือนซึ่งใช้กันมากในบ้านเรานั้น จะกลับมาตั้งครรภ์ได้โดยเฉลี่ยในเวลา 9-10 เดือน (แต่บางรายอาจนานถึง 1 ปีหรือนานกว่านี้) นับจากวันที่ฉีดยาครั้งสุดท้าย หรือราว 6-7 เดือนนับจากเวลาที่คาดว่ายาหมดฤทธิ์ในการป้องกันการตั้งครรภ์ หากเป็นนอร์เอทิสเตอโรนอีแนนเทตซึ่งฉีดคุมกำเนิดครั้งละ 2 เดือน จะใช้เวลาสั้นกว่านี้ ระยะเวลาในการกลับมาตั้งครรภ์ไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่ได้ใช้ยามาแล้วว่านานเพียงใด กรณีที่เป็นยาฉีดชนิดฮอร์โมนรวมจะกลับมาตั้งครรภ์ได้เร็วคล้ายกับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดแผง

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดใช้ต่อเนื่องได้นานเท่าใด?

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด เช่น ยาฉีดเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทตซึ่งใช้กันมากนั้น แม้ว่าผู้ที่ได้รับยาจะทนต่อยาได้ดีและยามีประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่องควรมีการประเมินสภาพร่างกายผู้ที่ได้รับยาทุก 2 ปี เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์จากการใช้ยาว่ายังคงมีมากกว่าความเสี่ยงต่อผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น

ผลไม่พึงประสงค์ของยาคุมกำเนิดชนิดฉีด

กรณีการฉีดยาคุมกำเนิดชนิดที่มีโพรเจสตินอย่างเดียวซึ่งใช้กันมากนั้น จะมีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติ ช่วงแรกมาไม่สม่ำเสมอหรือมากะปริบกะปรอย ทำให้เกิดความอับชื้นและเปลืองผ้าอนามัย แต่ต่อมาจะค่อย ๆ น้อยลงและจะหายไป โดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ใช้ยา (ทำให้ผู้ใช้เป็นกังวลว่าอาจตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวและเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลิกใช้) ปวดศีรษะ เจ็บคัดเต้านม ปวดท้อง อารมณ์เปลี่ยนแปลง รบกวนความรู้สึกทางเพศ เกิดฝ้า น้ำหนักตัวเพิ่ม (คนที่อ้วนง่ายอาจไม่ชอบ) การใช้เป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (bone mineral density) ลดลงเล็กน้อย แต่กลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ยาและไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุน ส่วนการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมและการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำนั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีเป็นโรคมะเร็งเต้านมในช่วง 5 ปีจะห้ามใช้

ข้อดีและข้อเสียของยาคุมกำเนิดชนิดฉีด

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด กรณีที่เป็นยาฉีดเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทตแบบคุมกำเนิด 3 เดือนมีข้อดีและข้อเสียหลายอย่างดังแสดงในตาราง



ข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด

ข้อควรคำนึงบางประการสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดยาคุมกำเนิดมีดังนี้
  1. ก่อนฉีดยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ กรณีที่ไม่มั่นใจต้องตรวจการตั้งครรภ์
  2. ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงต่างจากถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้
  3. ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดทุก 3 เดือน ซึ่งกำหนดให้ฉีดทุก 12 สัปดาห์นั้น ฉีดล่าช้าได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้ให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเสริม เช่น ใช้ถุงยางอนามัย ไปจนถึงเวลาฉีดและหลังจากฉีดอีก 7 วัน หากไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าว อาจพิจารณาใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในรายที่จำเป็น
  4. ไม่ควรบีบ นวดหรือคลึงบริเวณที่ฉีด เพราะจะทำให้ยามีการดูดซึมเร็วขึ้นและอาจหมดฤทธิ์เร็วกว่ากำหนด
  5. การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อยแต่กลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ยา อย่างไรก็ตามควรรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ
เอกสารอ้างอิง
  1. Horvath S, Schreiber CA, Sonalkar S. Contraception. In: Feingold KR, Anawalt B, Boyce A, Chrousos G, de Herder WW, Dungan K, et al., editors. Endotext. South Dartmouth (MA): MDText.com, updated January 17, 2018. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279148/#contraception.toc-progestin-only-injectable. Accessed: October 15, 2020.
  2. Jacobstein R, Polis CB. Progestin-only contraception: injectables and implants. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2014; 28:795-806.
  3. Brady M, Drake JK, Namagembe A, Cover J. Self-care provision of contraception: evidence and insights from contraceptive injectable self-administration. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2020; 66:95-106.
  4. Khadilkar SS. Short-term use of injectable contraception: an effective strategy for safe motherhood. J Obstet Gynaecol India 2018; 68:82-7.
  5. Kennedy CE, Yeh PT, Gaffield ML, Brady M, Narasimhan M. Self-administration of injectable contraception: a systematic review and meta-analysis. BMJ Glob Health 2019. doi: 10.1136/bmjgh-2018-001350.
  6. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH), Clinical Effectiveness Unit. FSRH Clinical Guideline: progestogen-only injectable contraception (December 2014, amended June 2020). https://www.fsrh.org/standards-and-guidance/documents/cec-ceu-guidance-injectables-dec-2014/. Accessed: October 15, 2020.
  7. Sathe A, Gerriets V. Medroxyprogesterone, updated June 5, 2020. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK559192/. Accessed: October 15, 2020.
  8. Depo-Provera. Product monograph including patient medication information. https://www.pfizer.ca/sites/default/files/201803/DEPO-PROVERA_PM_E_210121_13Feb2018.pdf. Accessed: October 15, 2020.
  9. Depo-Provera. Medroxyprogesterone acetate. Consumer medicine information. https://www.nps.org.au/medicine-finder/depo-provera-suspension-for-injection. Accessed: October 15, 2020.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.