Knowledge Article


ฤดูฝนพรำ...ระวังโรคติดต่อที่นำโดยยุง


ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://tonkit360.com/wp-content/uploads/2018/09/rain-3518956_1280.jpg
9,440 View,
Since 2020-10-20
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โรคกลุ่มหนึ่งที่อาจลืมไม่ได้ในช่วงหน้าฝนคือโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะนำโรค เนื่องจากในช่วงนี้มีฝนตกชุกทำให้มีน้ำขังตามพื้นที่รวมถึงในภาชนะต่าง ๆ ที่อาจเอื้อต่อการวางไข่และเพิ่มจำนวนประชากรยุงที่อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะได้ โดยโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยได้แก่



ภาพจาก : https://media.nationthailand.com/images/news/2020/07/04/30390772/800_4e36bb3d156766b.jpg?v=1593845769

1. โรคติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus infection) เป็นโรคที่มาสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ปัจจุบันพบการระบาดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เชื้อที่ทำให้เกิดโรคในคนมีทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ได้แก่ ไวรัสเดงกีซีโรไทป์ 1, ซีโรไทป์ 2, ซีโรไทป์ 3 และซีโรไทป์ 4 โดยมีพาหะคือยุงลาย (Aedes) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแต่อาจพบผู้ป่วยที่มีอาการได้ร้อยละ 10-25 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 โดยไวรัสต่างซีโรไทป์กัน ในผู้ที่มีอาการของโรคสามารถจำแนกได้เป็น ไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ไข้เดงกี และ ไข้เลือดออกเดงกี ในรายที่มีไข้เลือดออกรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะช็อค นอกจากนี้อาจพบผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนในระบบอื่น ๆ ได้ อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการอาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร มีผื่นตามผิวหนัง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หลังจากนั้นไข้จะลงและมีอาการดีขึ้น ในรายที่รุนแรงจะมีอาเจียนมาก ปวดท้องรุนแรง ความดันเลือดต่ำ อาจเกิดภาวะช็อคจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคแล้ว

2. โรคชิคุนกุนย่า (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้ญี่ปุ่น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (chikungunya virus) โดยมียุงลาย (Aedes) เป็นพาหะนำโรค อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีแต่สิ่งที่ต่างกันคือ ผู้ป่วยจะไม่มีการรั่วของพลาสมาหรือน้ำเลือดออกจากหลอดเลือด โดยอาการที่เด่นชัดของผู้ป่วยโรคนี้คือ ปวดข้อ มีไข้ และออกผื่น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรค

3. โรคไข้ซิกา (Zika fever) มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) โดยมียุงลาย (Aedes) เป็นพาหะนำโรค ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและสามารถหายจากโรคได้เอง อาการสำคัญที่พบในผู้ป่วยได้แก่ ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีผื่นแดง ตาแดง ปวดข้อ การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ให้มีความพิการได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีรษะเล็กกว่าปกติ ตัวเล็ก พัฒนาการช้า รวมถึงอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทที่เรียกว่าภาวะ Guillain- Barre Syndrome ที่ทำให้มีการอักเสบของเส้นประสาทได้ ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน

4. โรคมาลาเรีย (Malaria) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคไข้จับสั่น ไข่ป่า ไข่ดอกสัก ไข้ร้อนเย็น เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเชื้อพลาสโมเดียม (Plasmodium) โดยปัจจุบันมี 5 ชนิดที่ก่อโรคในคน ยุงพาหะของโรคนี้คือ ยุงก้นปล่อง (Anopheles) การระบาดในประเทศไทยจะพบในจังหวัดหรือพื้นที่ป่าเขาที่อยู่แนวชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ผู้ป่วยมักมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 10-14 วัน อาการที่สำคัญได้แก่ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจพบอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร เหงื่อออกง่าย ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) อาจมีอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา

5. โรคเท้าช้าง (Elephantiasis หรือ lymphatic filariasis) เกิดจากการติดเชื้อหนอนพยาธิที่เรียกว่าเชื้อฟิลาเรีย (filarial worm) โดยพบการระบาดในประเทศไทย 2 ชนิดได้แก่ Wuchereria bancrofti ซึ่งพบทางภาคตะวันตกของประเทศและ Brugia malayi ที่พบทางภาคใต้ของประเทศ ยุงพาหะที่สำคัญคือ ยุงรำคาญ (Culex) ยุงเสือ (Mansonia) และยุงลาย (Aedes) รวมถึงยุงก้นปล่อง (Anopheles) บางชนิด อาการของผู้ป่วยที่สำคัญได้แก่ ท่อน้ำเหลืองอักเสบ (tymphangitis) ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (lymphadenitis) มีอาการไข้เท้าช้าง มีการอุดตันในทางเดินน้ำเหลือง น้ำเหลืองคั่ง อวัยวะที่เป็นโรคจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรียกว่าภาวะโรคเท้าช้าง โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Wuchereria bancrofti มักเกิดโรคบริเวณต่อมน้ำเหลืองบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ในขณะที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Brugia malayi มักทำให้เกิดโรคบริเวณขา ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคนี้

6. โรคไข้สมองอักเสบเจอี (JE encephalitis) เป็นโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสที่เรียกว่าJapanese encephalitis virus หรือ JE virus พาหะนำโรคที่สำคัญคือยุงรำคาญ (Culex) อาการสำคัญของผู้ป่วยได้แก่ ปวดศีรษะ ไข้สูง จากนั้นจะมีภาวะคอแข็ง เพ้อ ไม่รู้ตัวในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อการทำงานของสมองที่อาจทำให้เกิดภาวะพิการหรือเสียชีวิตได้ ปัจจุบันการป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบ

ถึงแม้ว่าโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะบางโรคมีวัคซีนป้องกันและอีกบางโรคยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยในการป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดและการติดเชื้อจากโรคที่มียุงเป็นพาหะได้แก่ การมีสุขอนามัยที่ดีในการดำเนินชีวิต การป้องกันไม่ให้ยุงกัด การควบคุมและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง การใช้ยากันยุง การสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายจากยุงกัด การหลีกเลี่ยงการไปในแหล่งระบาดของยุงพาหะ นอกจากนี้ในผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในแหล่งที่มีการระบาดของยุงนำโรคอาจต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคหรือควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองภายหลังกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของยุงพาหะ ถ้ามีอาการป่วยเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันที

เอกสารอ้างอิง
  1. โครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. โรคไข้มาลาเรีย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 7 กันยายน 2563]. เข้าถึงได้จาก:http://malaria.ddc.moph.go.th/malariaR10/page_malaria_home_new.php.
  2. ชูเกียรติ ศิริวิชยกุล, วิชิต โรจน์กิตติคุณ, กาญจนา หงษ์ทอง, บรรณาธิการ. โรคเขตร้อน ฉบับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล; 2554.
  3. ดำรงพันธุ์ ทองวัฒน์. ยุงที่สำคัญทางการแพทย์ของประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. พิษณุโลก: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร; 2560.
  4. บุญเติม แสงดิษฐ. วันยุงโลกและการควบคุมโรคที่นำโดยยุง. เวชสารแพทย์ทหารบก. 2560;70(3): 181-7.
  5. The National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH), Centers for disease control and prevention (CDC). Workplace safety and health topics: mosquito-borne diseases [Internet]. [cited 2020 Oct 14]. Available from: https://www.cdc.gov/niosh/topics/outdoor/mosquito-borne/default.html.
  6. World Health Organization (WHO). Vector-borne diseases [Internet]. 2020 [cited 2020 Oct 14]. Available from: https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/vector-borne-diseases.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.