Knowledge Article


เมลาโทนิน (melatonin) ตัวช่วยนอนหลับยอดฮิต


นศภ.กัญญ์สิริ อภินันทนกูล
นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก. อัญชลี จินตพัฒนากิจ)
ภาพประกอบจาก : https://www.nydailynews.com/resizer/vPPyGbXvxhDJlHb9RPO8HjMYYlE=/415x275/top/arc-anglerfish-arc2-prod-tronc.s3.amazonaws.com/public/AIXPLEVWT3N4GH564RBS325QRM.jpg
202,784 View,
Since 2020-07-30
Last active: 9m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ในยุคที่การนอนหลับเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น ความเครียด หรือพฤติกรรมต่างๆที่เปลี่ยนไป หลายคนก็เริ่มหาแนวทางเพื่อให้มีการนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพมากขึ้น เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า “เมลาโทนิน (melatonin)” บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อเล่าความลับของเจ้าเมลาโทนินนี้ และตอบคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคน เช่น เมลาโทนินนั้นช่วยนอนหลับได้กับทุกคนหรือไม่ ? หรือหากสนใจจะใช้แล้ว จะต้องระวังอะไรบ้าง ?



ภาพจาก : https://imagevars.gulfnews.com/2018/12/12/iStock-925672338-(Read-Only)_resources1_16a0854053b_medium.jpg

ความลับที่ 1 เมลาโทนินคืออะไร?

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนของร่างกายที่สร้างขึ้นจากต่อมไพเนียล (pineal gland) โดยมีหน้าที่สำคัญในร่างกายของเราโดยเป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูสู่การนอนหลับ โดยร่างกายจะเริ่มหลั่งสารนี้ออกมาตั้งแต่ช่วงที่พระอาทิตย์ตกดิน และร่างกายจะมีระดับของเมลาโทนินสูงสุดในช่วงครึ่งหนึ่งของคืน (half of night) โดยความมืดจะกระตุ้นการหลั่งสารเมลาโทนิน ในขณะที่แสงจะยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน ในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าการได้รับแสงสีฟ้า เช่น แสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ จะสามารถยับยั้งหรือชะลอการหลั่งเมลาโทนินได้ นอกจากนี้การศึกษาทางคลินิกยังพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่พบการหลั่งเมลาโทนินลดลง จึงทำให้พบภาวะนอนหลับยากที่สัมพันธ์กับอายุได้ (age-related sleep disorder)[1,2]

ความลับที่ 2 เมลาโทนินมีรูปแบบใดบ้าง?

ในปัจจุบันเชื่อว่าหลายคนก็เคยเห็นผลิตภัณฑ์เมลาโทนินหลากหลายรูปแบบในประเทศไทย โดยอาจสรุปได้ดังนี้
  1. เมลาโทนินรูปแบบปลดปล่อยทันที มีทั้งที่อยู่ในรูปแบบยาเม็ดหรือรูปแบบอื่น เช่น กัมมี (gummies) ความแรง 3 มิลลิกรัม, 5 มิลลิกรัม, 10 มิลลิกรัม เป็นต้น โดยรูปแบบนี้ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยาในประเทศไทย
  2. เมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น ความแรง 2 มิลลิกรัม เป็นรูปแบบที่มีจำหน่ายเป็นยาในประเทศไทย มีข้อบ่งใช้รักษาอาการนอนไม่หลับปฐมภูมิระยะสั้นในผู้ป่วยอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยใช้ขนาด 2 มิลลิกรัมทานก่อนเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง โดยสามารถใช้สูงสุดติดต่อกันได้เป็นเวลา 13 สัปดาห์[3]
รูปแบบยาที่มีในประเทศไทยนั้นเป็นรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือจะมีการปลดปล่อยตัวยาออกมาทีละน้อย และสามารถเลียนแบบการหลั่งของเมลาโทนินตามธรรมชาติของร่างกายได้ดี ซึ่งจะมีการหลั่งทีละน้อยจนถึงระดับสูงสุดและค่อยๆลดลงตลอดช่วงการนอน[5]

มีการทดลองทางคลินิกขนาดเล็ก (small clinical trial) เปรียบเทียบการออกฤทธิ์ระหว่างเมลาโทนินรูปแบบปลดปล่อยทันที และเมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นพบว่า เมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์ทันทีจะเหมาะสมในผู้ที่หลับได้ยาก (delay sleep onset) ในขณะที่รูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น เหมาะสมกับภาวะการนอนไม่หลับแบบที่มีการตื่นกลางดึกบ่อยๆ (sleep maintainance)[6]

ความลับที่ 3 แล้วสรุปว่าเมลาโทนินเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

อ่านมาถึงความลับข้อที่ 3 นี้ หลายคนคงสงสัยเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของเมลาโทนินมากขึ้น เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่าข้อกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เมลาโทนินมีสถานะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplement) ซึ่งอาจมีทั้งในรูปแบบปลดปล่อยทันทีและรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น อย่างไรก็ตามด้วยสถานะที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ข้อกำหนดในการควบคุมคุณภาพจึงเข้มงวดน้อยกว่ายา และยังส่งผลให้สามารถจำหน่ายได้ทั่วไปอีกด้วย ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่เมลาโทนินนั้นขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย[4] ส่งผลให้สามารถจำหน่ายได้ในร้านยาหรือจ่ายตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น

ความลับที่ 4 เมลาโทนินช่วยให้เรานอนหลับได้อย่างไร?

หลายคนอาจเริ่มสนใจที่จะใช้เมลาโทนินมากขึ้น แต่อย่างไรก็มาพิจารณากันก่อน เพราะว่าเมลาโทนินไม่ใช่ยานอนหลับครอบจักรวาล บทบาทหน้าที่หลักของเมลาโทนินคือควบคุมการทำงานของจังหวะเซอร์คาเดียน (circadian rhythm) หรือที่เราอาจรู้จักกันในนามนาฬิกาชีวภาพ (internal biological clock) นั่นเอง ดังนั้นจึงสอดคล้องกับข้อบ่งใช้ของเมลาโทนินคือในรักษาอาการนอนไม่หลับแบบปฐมภูมิ ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ซึ่งคำว่าปฐมภูมินี้หมายความว่า การนอนไม่หลับนี้ไม่มีสาเหตุชัดเจน เช่นไม่ได้เกิดจากยา สภาวะทางจิต หรือสิ่งแวดล้อมอื่นใด จากการศึกษาในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีพบว่าการใช้เมลาโทนินในรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นสามารถเพิ่มคุณภาพการนอนได้ เช่น พบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการนอนหลับมากขึ้น[7] ในประเทศไทยนั้นมีรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นที่จำหน่ายเป็นยาจึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับไม่ต่อเนื่องเป็นหลัก

สำหรับการศึกษาอื่นๆ เมื่อเทียบระหว่างการใช้เมลาโทนินและยาหลอก ในการป้องกันภาวะเจ็ทแลค (jet lag) พบว่าเมลาโทนินมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยดี เมื่อใช้ในระยะสั้นเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว โดยขนาดยาจะใช้ในขนาด 1.5-3 มิลลิกรัม ทานก่อนเวลานอนของประเทศเป้าหมายที่เดินทางไปเล็กน้อย[3] อย่างไรก็ตามหากผู้อ่านสนใจในประเด็นนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ “เจ็ทแลค (Jet lag) เพลียเพราะบินไกลกินเมลาโตนินอย่างไรให้ได้ผล”

ความลับที่ 5 ข้อควรระวังที่ต้องรู้ก่อนใช้เมลาโทนิน

ความลับข้อสุดท้ายนี้จะพูดถึงข้อควรระวังในการใช้เมลาโทนิน เมลาโทนินนี้เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยในการใช้เมื่อใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ และ ไม่พบอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้ยา อย่างไรก็ตามพบว่าขณะใช้ยาอาจพบอาการข้างเคียง เช่น ง่วงซึม ปวดหัว ได้ดังนั้นควรเลี่ยงการขับขี่ยาหนะ หรือทำงานที่ความเสี่ยงสูงหากมีอาการง่วงซึมขณะใช้ยานี้

สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลศึกษาเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยในประชากรกลุ่มนี้[5]

จากความลับทั้ง 5 ที่ได้กล่าวมานี้เชื่อว่าหลายคนก็คงได้รู้จักกับเมลาโทนินในแง่มุมต่างๆที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการนอนไม่หลับ และสนใจในการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เบื้องต้นอยากให้สังเกตแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆเป็นอันดับแรก โดยอาจปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติเพื่อการนอนหลับ (sleep hygiene) เช่น พยายามนอนหลับให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน แม้จะเป็นในวันหยุด และ นอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับผู้ที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารเป็นกิจวัตรควรปิดอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 30 นาทีก่อนการเข้านอน เป็นต้น[8,9] โดยการปรับพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและยั่งยืน อย่างไรก็ตามหากท่านมีข้อสงสัยด้านการใช้ยา ไม่ว่าจะกำลังใช้ยาเมลาโทนินนี้อยู่ หรือสนใจที่จะใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อให้ท่านใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

เอกสารอ้างอิง
  1. Claustrat B, Brun J, Chazot G. The basic physiology and pathophysiology of melatonin. Sleep medicine reviews. 2005;9:11-24.
  2. มาโนช หล่อตระกูล. ยานอนหลับและสารช่วยการนอนหลับ (Hypnotic Drugs and Sleep-Promoting Agents). วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2000. 45(1): 87-97
  3. Herxheimer A, Petrie KJ. Melatonin for the prevention and treatment of jet lag (Cochrane Review). Cochrane Database Syst Rev. 2002;2:CD001520.
  4. Melatonin [internet] :สำนักยา; 2562 [เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=5300043&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=
  5. European medicines agency. Circadin [Internet]; 2015 [cited 2020 Jun 28]. Available from: https://www.ema.europa.eu/en/medicines/human/EPAR/circadin
  6. Jan JE, Hamilton D, Seward N et al. Clinical trials of controlled-release melatonin in children with sleep-wake cycle disorders. J Pineal Res. 2000;29(1):34-39.
  7. Lemoine P, Nir T, Laudon M, Zisapel N. Prolonged-release melatonin improves sleep quality and morning alertness in insomnia patients aged 55 years and older and has no withdrawal effects. J Sleep Res. 2007;16(4):372-380.
  8. Healthy sleep habits [Internet]: AASM; 2017 [cited 2020 Jun 28]. available from: http://sleepeducation.org/essentials-in-sleep/healthy-sleep-habits
  9. Sateia MJ, Buysse DJ, Krystal AD, Neubauer DN, Heald JL. Clinical practice guideline for the pharmacologic treatment of chronic insomnia in adults: an American Academy of Sleep Medicine clinical practice guideline. J Clin Sleep Med. 2017;13(2):307–349.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.