Knowledge Article


การใช้ธาตุเหล็กแก้ภาวะโลหิตจาง


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก. ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://betterhealthwhileaging.net/wp-content/uploads/2016/10/Depositphotos3306438m-2015redbloodcells.jpg
61,856 View,
Since 2020-07-23
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2dvwzkaq
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ภาวะโลหิตจาง (anemia) หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า ภาวะเลือดจางนั้น คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ1 พบมากทั้งในเด็ก สตรีวัยเจริญพันธุ์ สตรีตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ2 ซึ่งผู้ที่มีภาวะโลหิตจางอาจไม่แสดงอาการ หรือมีอาการโดยขึ้นกับความรุนแรงของภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย ซีด วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากการที่ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ได้น้อยลง โดยภาวะโลหิตจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ3 เช่น



ภาพจาก : https://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/site_images/article_thumbnails/video/incremental_understanding_anemia_video/650x350_incremental_understanding_anemia_video.jpg
  • การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง มักพบในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรคที่ทำให้เกิดภาวะอักเสบเรื้อรัง หรือรับประทานหรือใช้ยาที่กดการทำงานของไขกระดูก
  • มีภาวะขาดวิตามินหรือแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญของเม็ดเลือดแดง เช่น ภาวะขาดวิตามินบี12 หรือ ภาวะขาดกรดโฟลิก หรือมีภาวะติดสุราเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่กว่าปกติ (macrocytic anemia) หรือมีภาวะที่ไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กหรือมีภาวะขาดธาตุเหล็กจากการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หรือเป็นโรคธาลัสซีเมียซึ่งทำให้เกิดภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กกว่าปกติ (microcytic anemia)
  • มีภาวะเสียเลือดเฉียบพลันในปริมาณมาก
อนึ่ง การได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจค่าทางห้องปฏิบัติการ จะช่วยให้แพทย์เลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นเมื่อสงสัยว่ามีอาการของภาวะโลหิตจาง จึงไม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ด้วยตนเอง หรือซื้อไปฝากผู้อื่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้อาจไม่ตรงกับสาเหตุ หรือใช้ในขนาดไม่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ธาตุเหล็กซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นทางเลือกในการรักษาภาวะโลหิตจางได้ทุกประเภทและไม่มีอันตรายใดๆ

อนึ่ง การได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจค่าทางห้องปฏิบัติการ จะช่วยให้แพทย์เลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นเมื่อสงสัยว่ามีอาการของภาวะโลหิตจาง จึงไม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ด้วยตนเอง หรือซื้อไปฝากผู้อื่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้อาจไม่ตรงกับสาเหตุ หรือใช้ในขนาดไม่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ธาตุเหล็กซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นทางเลือกในการรักษาภาวะโลหิตจางได้ทุกประเภทและไม่มีอันตรายใดๆ

ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กที่มีในประเทศไทยนั้นมีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด ซึ่งโดยมากแพทย์จะเลือกชนิดรับประทานก่อนเนื่องจากมีความสะดวกและเหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือผู้ป่วยไตวายเรื้องรังที่มีภาวะโลหิตจางและ/หรือจำเป็นต้องได้รับยาฉีดอีพีโอ4-6 (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหัวข้อ “โลหิตจาง กับยาฉีดอีพีโอ (EPO)”) ดังนั้นหากผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจากสาเหตุอื่นๆ เช่น มีภาวะขาดวิตามินบี12 หรือ ภาวะขาดกรดโฟลิก การรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียวจะไม่ช่วยให้อาการของภาวะโลหิตจางดีขึ้น หรือในกรณีที่อันตรายไปกว่านั้นคือ หากผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีความรุนแรงของโรคในระดับรุนแรงมากหรือปานกลางซึ่งจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กอยู่แล้ว7 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) กินอย่างไรให้เหมาะสม”) และได้รับธาตุเหล็กเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กในเลือดสูงและเกิดความเสียหายต่ออวัยวะภายใน เช่น ตับ ตับอ่อน หรือหัวใจ ได้

โดยทั่วไป ปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำในผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กคือ 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน (คิดตามปริมาณธาตุเหล็ก)4 โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจเลือกใช้ธาตุเหล็กรูปแบบเกลือที่ต่างกันซึ่งจะให้ปริมาณธาตุเหล็กที่ไม่เท่ากัน และเมื่อเริ่มการรักษาไปแล้ว ควรได้รับการติดตามผลการรักษาเมื่อรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อประเมินความจำเป็นในการปรับขนาดการรับประทาน

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยจากการรับประทานธาตุเหล็ก8 ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก ดังนั้นหากมีอาการข้างเคียงเหล่านี้อาจลองรับประทานธาตุเหล็กพร้อมหรือหลังมื้ออาหารทันที หากอาการข้างเคียงไม่ลดลงควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนการรักษา นอกจากนี้การรับประทานธาตุเหล็กอาจทำให้การดูดซึมยาปฏิชีวนะบางชนิดลดลงได้ ดังนั้นควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรว่ากำลังรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กทุกครั้งที่เข้ารับบริการหรือได้รับยาใดๆ เพิ่มเติม

โดยสรุป การรับประทานธาตุเหล็กเพื่อแก้ภาวะโลหิตจางใช้ได้กับผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และใช้เสริมกับยาอื่นเพื่อแก้ภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้องรังที่มีภาวะโลหิตจางและ/หรือจำเป็นต้องได้รับยาฉีดอีพีโอ เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
  1. Beutler E, Waalen J. The definition of anemia: what is the lower limit of normal of the blood hemoglobin concentration? Blood. 2006;107(5):1747-50.
  2. World Health Organization. Anemia [online]. 2020 [Accessed on 7 July 2020].Available from https://www.who.int/health-topics/anaemia#tab=tab_1.
  3. Broadway-Duren JB, Klaassen H. Anemias. Crit Care Nurs Clin North Am. 2013;25(4):411-26, v.
  4. Girelli D, Ugolini S, Busti F, Marchi G, Castagna A. Modern iron replacement therapy: clinical and pathophysiological insights. Int J Hematol. 2018;107(1):16-30.
  5. Chapter 2: Use of iron to treat anemia in CKD. Kidney Int Suppl (2011). 2012;2(4):292-8.
  6. Chapter 3: Use of ESAs and other agents to treat anemia in CKD. Kidney Int Suppl (2011). 2012;2(4):299-310.
  7. Taher AT, Saliba AN. Iron overload in thalassemia: different organs at different rates. Hematology Am Soc Hematol Educ Program. 2017;2017(1):265-71.
  8. Tolkien Z, Stecher L, Mander AP, Pereira DI, Powell JJ. Ferrous sulfate supplementation causes significant gastrointestinal side-effects in adults: a systematic review and meta-analysis. PLoS One. 2015;10(2):e0117383.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.