Knowledge Article


ชะเอมเทศ กับความดันโลหิตสูง


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
140,807 View,
Since 2011-05-30
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +

ชะเอมเทศ(Glycyrrhiza glabraL.) หรือ Licorice เป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย สรรพคุณพื้นบ้านใช้รากเป็นยาขับเสมหะทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ขับลม แก้คัน บำรุงร่างกาย ขับเลือดเน่า และเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่นเนื่องจากรากของชะเอมเทศพบสารสำคัญคือสาร glycyrrhizin (หรือ glycyrrhizic acid หรือ glycyrrhizinic acid) และ 24-hydroxyglyrrhizin ซึ่งสารเหล่านี้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50 - 100 เท่า รากชะเอมจึงถูกนำไปแต่งรสอาหาร ปรุงยาสมุนไพร หรือใช้แต่งรสหวานในขนมและลูกอม

มีรายงานว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์จากชะเอมเทศติดต่อกันนานๆ มีผลต่อความดันโลหิต โดยพบรายงานในหญิงอายุ 31 ปีที่รับประทานฝรั่งจิ้มผงชะเอมเทศ (asam boi) ครั้งละน้อยๆ จนถึง 3 ช้อนโต๊ะ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ ชายสูงอายุวัย 70 ปี ที่รับประทานลูกอมชะเอมเทศวันละ 60 - 100 ก. (เม็ดละ 2.5 ก. พบ glycyrrhizic acid 0.3%ต่อเม็ด) ทุกวันเป็นเวลา 4 - 5 ปี หญิงสูงอายุที่รับประทานยาระบายที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศ วันละ 2 ครั้ง (ได้รับ glycyrrhizic acid 94 มก./วัน) และหญิง 2 รายที่รับประทานหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศติดต่อกันทุกวัน (รับประทาน glycyrrhizic acidเฉลี่ยวันละ 50 มก.) ทุกรายถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีค่าความดันโลหิตสูง (190 - 200/120 มม.ปรอท) ร่วมกับมีอาการปวดหัว อ่อนแรงตามข้อต่อ และเมื่อตรวจวัดค่าชีวเคมีในเลือดพบว่า ทุกรายมีปริมาณโพแทสเซียมต่ำ (hypokalemia) เกิดภาวะ hypermineralocotiodism (ทำให้ระดับ aldosterone เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายกักเก็บโซเดียมไว้มากขึ้น จนร่างกายมีน้ำเกิน เกิดอาการบวมและเพิ่มความดันโลหิต) และมีรายงานในอาสาสมัคร 37 คน ที่รับประทานยาสมุนไพรในประเทศญี่ปุ่น Shakuyaku-kanzo-To(SKT) หรือ Shosaiko-To (SST) ซึ่งส่วนผสมของชะเอมเทศขนาด 6 ก. และ 1.5 ก. ตามลำดับ พบว่ากลุ่มที่รับประทาน SKT เกิดภาวะ pseudoaldosteronism (ภาวะที่มีปริมาณฮอร์โมน aldoterone สูงกว่าปกติ) เฉลี่ยในวันที่ 35 หลังจากรับประทาน ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับ SSTผลจะแสดงออกในวันที่ 450 และเมื่อเทียบกับการรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นจากชะเอมเทศที่มี glycyrrhizinพบว่าจะมีผลในวันที่ 210 โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ glycyrrhizinว่ามีผลต่อการเกิด pseudoaldosteronismอย่างมีนัยสำคัญ และพบว่ากว่า 80% ของผู้ที่รับประทาน SKT ติดต่อกันนาน 30 วัน มีผลโพแทสเซียมในเลือดต่ำเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้สูงอายุที่รับประทาน SKT เกิน 30 วัน เสี่ยงต่อการเกิดโพแทสเซียมในเลือดต่ำได้

การทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดี 24 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่มให้ได้รับสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศในปริมาณ glycyrrhizin ขนาด 108, 217, 308 และ 814 มก. ตามลำดับ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ ในอาสาสมัครกลุ่มที่ 1 และ 2 แต่พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับ glycyrrhizinขนาด 814 มก. (กลุ่มที่ 4) ปริมาณโพแทสเซียมในเลือดลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์แรกของการทดลอง และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณ rennin และ aldosterone ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ 3 และ 4

จากรายงานและผลการทดลองข้างต้นแสดงให้เห็นว่าควรระมัดระวังการรับประทานชะเอมเทศในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ และมีคำเตือนว่าไม่ควรใช้ชะเอมเทศในขนาดที่มากกว่า 50ก./วัน เกินกว่า 6 สัปดาห์ จะทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกาย เกิดการบวมที่มือและเท้า สารโซเดียมถูกขับได้น้อยลง ขณะที่สารโพแทสเซียมถูกขับมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และไม่ควรใช้ชะเอมเทศร่วมกับยาขับปัสสาวะ (กลุ่ม thiazide)หรือยากลุ่ม cardiac glycosides เพราะชะเอมเทศจะมีผลทำให้สารโพแทสเซียมถูกขับออกมาขึ้นและหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ spironolactone หรือ amilorideเพราะจะทำให้ประสิทธิผลการรักษาโรคความดันโลหิตลดลง

 

บทความโดย สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อ่านข้อมูลดีๆ มากมายเกี่ยวกับสมุนไพรได้ที่

 

http://medplant.mahidol.ac.th


Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.