Knowledge Article


ความเครียดและภาวะปวดกล้ามเนื้อ


อาจารย์ ดร. กภญ.ยิ่งรัก บุญดำ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.conehealth.com/app/files/public/How-to-Cope-With-Stress-and-Anxiety-About-COVID-19-Coronavirus-800w.png
91,742 View,
Since 2020-03-31
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เมื่อเรารู้สึกวิตกกังวลหรือมีความกลัวเกิดขึ้น ร่างกายของเราจะตกอยู่ในภาวะที่มีความเครียด ทันใดนั้นร่างกายจะมีการตอบสนองอย่างอัตโนมัติเกิดขึ้นทันที เช่น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เลือดไปเลี้ยงที่กล้ามเนื้อมากขึ้น รวมถึงกล้ามเนื้อมีความตึงตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น การตอบสนองที่เกิดขึ้นเช่นนี้เกิดจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนวัติซิมพาเทติก เป็นการตอบสนองของร่างกายที่ “จะสู้หรือจะหนี (Fight-or-flight)” เพื่อต้องการที่จะให้ร่างกายเอาชนะหรือมีชีวิตรอดต่อภาวะที่เผชิญอยู่ได้ ซึ่งเมื่อภาวะความเครียดผ่านพ้นไป การตอบสนองเหล่านี้ก็จะหายไปด้วยเช่นเดียวกัน

การตอบสนองของสมองต่อภาวะเครียด

หลายครั้งที่เราอาจสงสัยว่าทำไมเมื่อเราเผชิญกับความเครียด เราถึงมักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วย และยิ่งความเครียดคงอยู่เป็นระยะเวลานาน อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก็จะรุนแรงตามเช่นเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนมีความเป็นเหตุเป็นผลกัน กล่าวคือ เมื่อร่างกายมีภาวะเครียด จะมีสมองส่วนหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายถั่วอัลมอลด์ เรียกว่า อะมิกดะลา (amygdala) ทำหน้าที่เป็นตัวรับรู้ ประเมิน และสั่งการให้มีการตอบสนองเกิดขึ้น โดยอะมิกดะลาจะทำหน้าที่ประเมินระดับความเครียดร่วมกับสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) หากสมองทั้งสองส่วนประเมินแล้วว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะเครียด สมองส่วนอะมิกดะลาจะส่งสัญญาณไปบอกสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปยังต่อมใต้สมอง (pituitary gland) และต่อมหมวกไต (adrenal gland) ตามลำดับ ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) และสารอะดรีนาลิน (adrenaline) เข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้สมองส่วนไฮโปธาลามัสยังสามารถกระตุ้นระบบประสาทอัตโนวัติชนิดซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) ทำให้เกิดการหลั่งสารนอร์อะดรีนาลิน (noradrenaline) บริเวณปลายประสาทเฉพาะที่และหลั่งสารอะดรีนาลินเข้าสู่กระแสเลือด สารอะดรีนาลีนที่ถูกหลั่งออกมาจะส่งผลต่อการทำงานในหลาย ๆ อวัยวะ เช่น หลอดเลือด หัวใจ ปอด รวมถึงกล้ามเนื้อโครงร่างของร่างกาย

โดยในอดีตเชื่อว่าสารอะดรีนาลินออกฤทธิ์ทางอ้อมต่อกล้ามเนื้อโครงร่าง โดยการทำให้หลอดเลือดส่วนปลายและหลอดลมขยายตัวมากขึ้น จึงทำให้มีเลือด ก๊าซออกซิเจน และสารอาหารไปที่กล้ามเนื้อโครงร่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อสามารถสร้างพลังงานได้มากขึ้น กล้ามเนื้อจึงหดตัวได้ดีขึ้น แต่ในปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยที่มาสนับสนุนกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงของสารอะดรีนาลินต่อกล้ามเนื้อโครงร่าง โดยจากการศึกษาในหนูพบว่า กล้ามเนื้อโครงร่างของหนูมีตัวรับสารอะดีนาลินชนิดเบต้าอะดรีเนอร์จิก (beta-adrenergic receptor) ดังนั้นสารอะดรีนาลินที่หลั่งออกมาจึงสามารถจับกับตัวรับที่อยู่บนกล้ามเนื้อโครงร่างได้โดยตรงและเหนี่ยวนำให้ซาร์โคพลาสมิก เรติคิวลัม (sarcoplasmic reticulum) หลั่งแคลเซียมออกมาภายในเซลล์เพิ่มขึ้น ซึ่งแคลเซียมเป็นโมเลกุลสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ ดังนั้นเมื่อมีแคลเซียมภายในเซลล์เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การหดตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้พบว่าสารนอร์อะดรีนาลินที่หลั่งออกจากปลายประสาทซิมพาเทติกบริเวณกล้ามเนื้อโครงร่างจะเข้าจับกับตัวรับชนิดเบต้าอะดรีเนอร์จิกและเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโมเลกุลภายในเซลล์กล้ามเนื้อ ส่งผลให้กล้ามเนื้อโครงร่างมีการแสดงออกของตัวรับแอซิติลโคลีน (acetylcholine receptor) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจับกันระหว่างสารแอซิติลโคลีนกับตัวรับเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อโครงร่างนั่นเอง จากการศึกษาในหนูที่ผ่านมานี้จึงอาจเป็นไปได้ว่ากลไกการออกฤทธิ์ของสารอะดรีนะลินต่อกล้ามเนื้อโครงร่างในร่างกายมนุษย์เรานั้นก็อาจเป็นไปในลักษณะเดียวกัน

ความเชื่อมโยงกันระหว่างสมองส่วนอะมิกดะลาและกล้ามเนื้อโครงร่างไม่ได้ผ่านการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกเท่านั้น อวัยวะทั้งสองส่วนสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านทางการทำงานของก้านสมอง (brainstem) ได้อีกด้วย โดยเมื่อมีอาการเครียดเกิดขึ้น อะมิกดะลาจะส่งสัญญาณไปยังก้านสมอง ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปยังไขสันหลัง (spinal cord) อันเป็นที่อยู่ของเซลล์ประสาทยนต์ที่สามารถสั่งการให้กล้ามเนื้อโครงร่างเกิดการหดตัวและมีแรงตึงตัวเพิ่มขึ้นได้

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้นทั้งหมดนั้น การเปลี่ยนแปลงทั้งความเร็วและความแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของแรงตึงตัวภายในกล้ามเนื้อโครงร่าง จึงเป็นการเตรียมพร้อมของร่างกายต่อการตอบสนองแบบ fight-or-flight เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับภาวะเครียดนั่นเอง (รูปที่ 1)



ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเครียดกับท่าทางของร่างกาย

หลายการศึกษาพบว่า เมื่อคนเราเผชิญกับภาวะเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงอารมณ์ด้านลบ มักจะแสดงท่าทางออกมาในลักษณะที่คล้ายๆ กัน นั่นคือ กอดอก ห่อไหล่ หลังค่อม และบางรายอาจมีอาการกัดฟันร่วมด้วย โดยท่าทางลักษณะนี้อาจเป็นสัญชาตญาณของร่างกายที่จะปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยมากที่สุด โดยลักษณะท่าทางของร่างกายที่ปรากฏนั้น หากคงอยู่เป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ หลัง และรอบข้อไหล่ ทำงานไม่สมดุลกัน พบว่าการที่เรากอดอกและห่อไหล่ต้องอาศัยการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและกล้ามเนื้อบริเวณบ่า และการที่เราอยู่ในท่าทางเหล่านั้นเป็นระยะเวลานานจะทำให้หลังค่อมและคอยื่นตามมา การที่คอยื่นจะส่งผลให้กล้ามเนื้อด้านข้างของคอที่เกาะในแนวกกหูมายังไหปลาร้าหดตัวเกร็งค้าง และกล้ามเนื้อคอมัดลึกบริเวณท้ายทอยก็ต้องหดตัวเกร็งค้างเช่นกันเพื่อที่จะดึงศีรษะของเราขึ้นมา ไม่ให้ตกลงไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก และเพื่อปรับระดับสายตาให้อยู่ในแนวระนาบทำให้สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนนั่นเอง นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อบางส่วนเท่านั้นที่เกิดขึ้นเมื่อเราตกอยู่ในภาวะเครียด โดยความตึงตัวของกล้ามเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายบริเวณเช่นเดียวกับระดับความตึงตัวก็แตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละบุคคล

สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อ

การหดเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นระยะเวลานานเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อเกิดขึ้น เนื่องจากหากพิจารณาตามลักษณะโครงสร้างของกล้ามเนื้อ พบว่ารอบๆ และภายในกล้ามเนื้อจะมีเส้นเลือดวางตัวอยู่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจน รวมถึงใช้ในการขนส่งของเสีย ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และกรดไปกำจัดทิ้ง ในการหดตัวของกล้ามเนื้อนั้นจะมีการสร้างของเสียออกมาเสมอ เช่น กรดแลคติก และการที่กล้ามเนื้อหดตัวเกร็งค้างจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของใยกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีการสร้างสารอักเสบต่างๆ ออกมา ในขณะเดียวกันการหดตัวเกร็งค้างของกล้ามเนื้อจะบีบรัดเส้นเลือดทำให้เส้นทางในการขนส่งสารต่างๆ ถูกขัดขวาง เกิดการคั่งของกรดและสารอักเสบรอบๆ กล้ามเนื้อ ซึ่งสารเหล่านี้สามารถกระตุ้นตัวรับรู้ความเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อ เมื่อตัวรับรู้ถูกกระตุ้น จะส่งสัญญาณขึ้นไปยังสมองโดยไปตามเส้นประสาทรับความรู้สึก ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดกล้ามเนื้อตามมานั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า ความเครียดและความวิตกกังวลสามารถเพิ่มระดับความรับรู้ความเจ็บปวดและยังลดความทนทานต่อความรู้สึกปวด เราจึงรู้สึกปวดกล้ามเนื้อมากกว่าคนที่ไม่ได้เผชิญกับภาวะเครียดนั่นเอง ในทางกลับกัน อาการปวดที่คงอยู่ก็สามารถกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวเพิ่มขึ้นและเพิ่มความวิตกกังวลให้กับเราได้ด้วยเช่นกัน เกิดเป็นวงจรอันตรายไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมใครหลายคนที่มีภาวะเครียดหรือวิตกกังวลจึงมักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณบ่า คอ และศีรษะบริเวณท้ายทอย ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ รวมถึงกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกให้ทำงานเพิ่มขึ้นร่วมด้วยได้

การจัดการอาการปวด

การจัดการอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การจัดการที่สาเหตุของปัญหา นั่นคือ การจัดการภาวะเครียด แต่ในความเป็นจริงนั้น วิธีการนี้เป็นการจัดการที่ยากสุด อาการปวดจึงมักจะเป็นเรื้อรัง รักษาให้หายขาดได้ยากนั่นเอง ดังนั้นวิธีจัดการจึงมักมุ่งเน้นไปที่การลดอาการปวด ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้
  1. การประคบร้อน (กรณีไม่มีอาการอักเสบ: อาการปวด บวม แดง ร้อน) ความร้อนจะช่วยทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว เลือดจะไหลมายังบริเวณกล้ามเนื้อมากขึ้น ส่งผลให้มีสารอาหารและออกซิเจนถูกขนส่งมายังกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ช่วยในการฟื้นฟูใยกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ ในขณะเดียวกันของเสียต่างๆ ก็จะถูกกำจัดได้เร็วขึ้น ทำให้อาการปวดบรรเทาลงและกล้ามเนื้อมีความตึงตัวลดลง
  2. การยืดกล้ามเนื้อ เช่น การยืดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก คอ หน้าอก และท้ายทอย รวมถึงการเล่นโยคะ จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่หดตัวเกร็งค้างยืดยาวออก ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดมายังกล้ามเนื้อดีขึ้น
  3. การนวด ช่วยให้พังผืดบริเวณกล้ามเนื้ออ่อนตัวลง เพิ่มการไหลเวียนเลือดมายังบริเวณกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว การนวดด้วยตัวเอง ให้ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางกดลงบนกล้ามเนื้อเบา ๆ แล้ววนเป็นวงกลม ขยับไปเรื่อยๆ ตามแนวกล้ามเนื้อ
  4. การจัดท่าทางให้ถูกต้อง อาจใช้วิธียืนมองตัวเองหน้ากระจก และจัดท่าทางให้ถูกต้อง เช่น ยืดศีรษะขึ้น มองตรงไปข้างหน้า เก็บคาง ยืดตัวขึ้น หลังตรง ตำแหน่งใบหูอยู่กึ่งกลางของข้อไหล่ ท่าทางที่ดีส่งผลให้กล้ามเนื้อแต่ละมัดทำงานอย่างสมดุลกัน ทำให้กล้ามเนื้อไม่เกิดอาการล้าหรืออ่อนแรงไวเกินไป
  5. การใช้ยาลดปวดและคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งมีทั้งรูปแบบของยากินและยาทาเฉพาะที่ กรณีที่ต้องการรับประทานยาควรต้องปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนการใช้ยา




เอกสารอ้างอิง
  1. Williams, R. S., et al. (1984). "Skeletal muscle beta-adrenergic receptors: variations due to fiber type and training." Am J Physiol. 246(2 Pt 1): E160-167.
  2. Lynch, G. S. and J. G. Ryall (2008). "Role of beta-adrenoceptor signaling in skeletal muscle: implications for muscle wasting and disease." Physiol Rev. 88(2): 729-767.
  3. Pluess M, Conrad A, Wilhelm FH. Muscle tension in generalized anxiety disorder: a critical review of the literature. J Anxiety Disord. 2009;23(1):1-11.
  4. Andersson, D. C., et al. (2012). "Stress-induced increase in skeletal muscle force requires protein kinase A phosphorylation of the ryanodine receptor." J Physiol. 590(24): 6381-6387.
  5. Lucchetti G, Oliveira AB, Mercante JP, Peres MF. Anxiety and fear-avoidance in musculoskeletal pain. Curr Pain Headache Rep. 2012;16(5):399-406.
  6. Thibodeau MA, Welch PG, Katz J, Asmundson GJ. Pain-related anxiety influences pain perception differently in men and women: a quantitative sensory test across thermal pain modalities. Pain. 2013;154(3):419-26.
  7. Veinante P, Yalcin I, Barrot M. The amygdala between sensation and affect: a role in pain. J Mol Psychiatry. 2013;1(1):9.
  8. Rodrigues, A. C. Z., et al. (2019). "The sympathetic nervous system regulates skeletal muscle motor innervation and acetylcholine receptor stability." Acta Physiol (Oxf). 225(3): e13195.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.