Knowledge Article


โรคสมาธิสั้นในเด็ก: การรักษาด้วยยา


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.drhallowell.com/wp-content/uploads/2019/05/Depositphotos_141374464_s-2019-825x510.jpg
127,742 View,
Since 2020-01-15
Last active: 7m ago
https://tinyurl.com/2yekcf6w
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โรคสมาธิสั้นมีอาการอย่างไร?

โรคสมาธิสั้นหรือ attention-deficit hyperactivity disorder (ADHD) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยในประเทศไทยพบประมาณร้อยละ 8.1 ของเด็กวัยเรียน (ป.1-ป.5) และพบได้บ่อยในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (1) ทั้งนี้พบว่าสมองส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับสมาธิและความยับยั้งชั่งใจของเด็กสมาธิสั้นมักจะมีขนาดเล็กกว่าปกติหรือทำงานได้น้อยกว่าปกติ (2) และมีสารสื่อประสาท เช่น Dopamine และ Epinephrine ที่น้อยกว่าปกติ (3, 4) โดยผู้ปกครองและคุณครูสามารถสังเกตุอาการของโรคสมาธิสั้นได้จากความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมหลักๆ 3 ด้าน (5) ได้แก่ 1) ไม่สามารถควบคุมสมาธิได้นาน มีปัญหาในการจัดระเบียบ (inattention and disorganized): เช่น ไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้ความพยายามให้สำเร็จลุล่วงได้ ทำงานไม่เสร็จ วอกแวกง่าย ทำงานไม่เรียบร้อย สะเพร่า มีปัญหาในการจัดระเบียบการทำงาน มักทำของหาย อย่างไรก็ตามเด็กโรคสมาธิสั้นอาจสามารถทำกิจกรรมที่ตนเองชอบหรือที่สนใจได้เป็นเวลานานๆ เช่น ในการเล่นเกมส์ หรือดูโทรทัศน์ 2) ซุกซนมากกว่าปกติ (hyperactivity): อยู่ไม่นิ่ง เดินไปเดินมา ปีนป่ายหรือพูดคุยตลอดเวลา และ 3) ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น (impulsive): ไม่สามารถรอคอย ชอบพูดแทรก โดยอาการสมาธิสั้นสามารถแสดงออกตั้งแต่ในวัยเด็ก และส่วนใหญ่มักเป็นต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่



ภาพจาก : https://advancedfunctionalmedicine.com.au/wp-content/uploads/2019/08/ADHD.jpg

ทำไมจึงต้องรักษาโรคสมาธิสั้น?

เด็กสมาธิสั้นมักมีปัญหาในการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมโรคสมาธิสั้นมักจะส่งผลต่อการเรียนและการเข้าสังคมกับผู้อื่น (6) ทั้งนี้เด็กสมาธิสั้นมักถูกทำโทษหรือถูกตำหนิบ่อยๆ มีผลการเรียนที่ไม่ดี มีปัญหาในการเข้ากับเพื่อน รู้สึกโดดเดี่ยว/ไร้ค่า ขาดความภูมิใจในตนเอง มีความเสี่ยงที่จะซึมเศร้า ก้าวร้าวรวมถึงมีความเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด (5-7) อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเด็กสมาธิสั้นจะไม่มีทางเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตราบรื่นหรือประสบความสำเร็จ ทั้งนี้มีผู้ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากมายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นตั้งแต่เด็กๆ (8) เช่น Michael Phelps นักกีฬาว่ายน้ำ 23 เหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นเมื่ออายุ 9 ขวบ ซึ่ง Michael บอกว่าการว่ายน้ำช่วยให้เค้ามีสมาธิและมีวินัยมากขึ้น หรือ Adam Levine นักร้อง/นักดนตรี ชื่อดังของวง Maroon 5 ซึ่งออกมาบอกว่าตนเองเป็นโรคสมาธิสั้น โดย Adam ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ADHD isn’t a bad thing, and you shouldn’t feel different from those without ADHD. Remember that you are not alone. There are others going through the same thing.” หรือ “โรคสมาธิสั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายและคุณไม่ควรรู้สึกแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ที่ไม่เป็นสมาธิสั้น ที่สำคัญไม่ใช่คุณคนเดียวที่เป็นแบบนี้ มีคนอีกมากมายที่เป็นเหมือนๆ กับคุณ” (9)

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการระบุชัดเจนว่าโรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ทั้งด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการรักษาด้วยยา (10, 11) โดยยาที่ใช้ในการรักษาเด็กสมาธิสั้นเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย (11) ดังนั้นหากผู้ปกครองสงสัยว่าบุตรหลานมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย/รักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่
  1. กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองและประสาทส่วนกลาง เช่น Methylphenidate
  2. กลุ่มยาที่ไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองหรือประสาทส่วนกลาง เช่น Atomoxetine, Clonidine, และ ยารักษาอาการซึมเศร้า
ยาที่ใช้เป็นทางเลือกแรกของการรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก คือ Methylphenidate (12) ซึ่งจัดเป็นยาในกลุ่มกระตุ้นสมองและประสาทส่วนกลาง ทั้งนี้ผู้ปกครองมักคิดว่ายาจะไปกดการทำงานของสมอง บีบสมองให้เด็กอยู่นิ่ง เซื่องซึม จึงไม่อยากให้เด็กสมาธิสั้นรับประทานยาเพราะสงสารเด็ก จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจผิดเนื่องจากยาดังกล่าวไม่ได้ออกฤทธิ์ในการกดสมองแต่อย่างใดแต่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองโดยการเพิ่มระดับสารสื่อประสาทที่เด็กสมาธิสั้นมีน้อย จึงช่วยทำให้เด็กสมาธิสั้นสามารถควบคุมสมาธิ และมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยยา Methylphenidate จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อใช้เองได้ที่ร้านขายยา ทั้งนี้ยา Methylphenidate มี 2 รูปแบบ คือ 1) Methylphenidate รูปแบบปกติ หรือรู้จักกันในชื่อการค้าว่า Ritalin ® ซึ่งจะออกฤทธิ์ประมาณ 3-5 ชั่วโมง จึงมักจะต้องรับประทาน 2-3 ครั้งต่อวัน และไม่ควรกินยาหลัง 4 โมงเย็นเพราะจะทำให้นอนไม่หลับ และ 2) Methylphenidate รูปแบบออกฤทธิ์นาน หรือรู้จักกันในชื่อการค้าว่า Concerta ® ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยาว ทำให้สามารถรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้งในตอนเช้า โดยการรับประทานยาชนิดนี้ต้องกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหัก บด หรือ เคี้ยวเม็ดยา และไม่ควรให้รับประทานเวลาอื่นเพราะยาออกฤทธิ์ยาวถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งจะมีอาการข้างเคียงทำให้นอนไม่หลับ โดยยาทั้งสองตัวได้รับการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสำหรับใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กอายุมากกว่าเท่ากับ 6 ปี ทั้งนี้การใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันแนวทางการรักษาในประเทศสหราชอาณาจักรได้ระบุว่าสามารถใช้ยาดังกล่าวได้ในเด็กตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป (12) สำหรับในประเทศไทย Ritalin ® เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งหมายถึง ผู้ป่วยทั้งสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถเข้าถึงยาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ยาในกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มกระตุ้นสมองหรือประสาทส่วนกลางที่ใช้รักษาสมาธิสั้นในเด็กอีกตัวที่เป็นที่นิยม คือ ยา Atomoxetine หรือชื่อการค้าว่า Strattera ® ยาตัวนี้จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี และได้รับการรับรองให้ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปเช่นกัน โดยป็นยาที่มักจะถูกใช้ในกรณีที่ใช้ยา Methylphenidate แล้วไม่ได้ผล หรือ ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยา Methylphenidate ได้ (12)

การใช้ยา Methylphenidate
  • ข้อดีของการใช้ยา Methylphenidate

    ยา Methylphenidate เป็นยาที่ใช้กันมาเป็นเวลานานกว่า 60 ปีแล้วและมีข้อมูลการศึกษายืนยันว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาสมาธิสั้นในเด็ก โดยเป็นยาตัวแรกที่ควรใช้ (11, 12) นอกจากนี้ยังพบว่ายารักษาสมาธิสั้นช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดสารเสพติดในอนาคต (13-15) โดยยายังสามารถช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนได้เล็กน้อย (16) ดังนั้นหากผู้ปกครองหวังผลเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนจากการใช้ยาจะต้องทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายๆ ด้าน รวมถึง การสนับสนุนทางด้านการเรียนทั้งโดยผู้ปกครองและคุณครู
  • อาการข้างเคียงจากการใช้ยา Methylphenidate (17)

    อาการข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ วิตกกังวล น้ำหนักลด ปวดท้อง ทั้งนี้พบว่าร้อยละ 7.3 ของผู้ป่วยที่ใช้ยา Methylphenidate หยุดยาเนื่องจากอาการข้างเคียง (18) ดังนั้นในการใช้ยาแพทย์จึงต้องทำการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ รวมถึงติดตามความสูงและน้ำหนักเป็นระยะระยะ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าการเป็นโรคสมาธิสั้น หรือยาที่ใช้ในการรักษาสมาธิสั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสูงสุดท้ายตอนเป็นผู้ใหญ่ กล่าวคือไม่ได้ทำให้เตี้ยกว่าปกติ (19)
  • ข้อห้ามใช้ และ ข้อควรระวังจากการใช้ยา Methylphenidate (17)
    1. ห้ามใช้ร่วมกับยารักษาอาการซึมเศร้าในกลุ่ม monoamine oxidase inhibitor
    2. ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
    3. ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวของการเสียชีวิตเฉียบพลันไม่ทราบสาเหตุ
    4. ควรใช้อย่างระมัดระวังในผู้ที่มีอาการชัก
    5. ห้ามร่วมรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สิ่งที่ควรรู้เมื่อตัดสินใจในการรักษาด้วยยา Methylphenidate

    การรักษาด้วยยาควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์ ผู้ปกครองและเด็กสมาธิสั้น โดยมีการพิจารณาถึง ข้อดี ข้อเสีย อาการข้างเคียง อย่างรอบด้าน โดยแพทย์จะมีการนัดติดตามประเมินผลการรักษา ผลข้างเคียง ตลอดจนติดตามน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กเป็นระยะๆ (5)

    ในการรักษาด้วยยาควรอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงความสำคัญของยา และมีทัศนคติที่ดีในการรับประทานยา โดยไม่ควรขู่เด็ก หรือหลอกเด็กว่าเป็นยาแก้ดื้อ/ยาแก้บ้า รวมถึงไม่ควรหลอกว่าเป็นวิตามินหรือยารักษาโรคอื่นๆ แต่ควรพูดคุยกับเด็กให้รับรู้และเข้าใจว่ายาจะช่วยให้เค้ามีสมาธิได้ดีขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น

    ถ้าลืมรับประทานยาในมื้อใดไม่ต้องรับประทานชดเชย ให้ผ่านไปและรับประทานตามปกติในครั้งต่อไป (17)
จะต้องรับประทานยารักษาสมาธิสั้นไปถึงเมื่อไหร่ (5)

เด็กสมาธิสั้นควรได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันจนสามารถควบคุมตนเองได้ดีพอ การหยุดยาควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์ ผู้ปกครองและ เด็ก โดยการหยุดยาควรทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่ายาไม่มีความจำเป็นแล้ว เช่น เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ไม่แตกต่างกันระหว่างช่วงที่ได้รับยาและไม่ได้รับยา รวมถึงเมื่อชั่งน้ำหนักถึงข้อดีข้อเสียของการใช้ยาแล้วพบว่าการหยุดยาจะมีผลดีกว่าการใช้ยาต่อไป

การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวเพียงพอแล้วหรือไม่

หลักฐานทางวิชาการในปัจจุบันพบว่าการรักษาสมาธิสั้นที่ได้ผลดีควรทำแบบผสมผสานทั้งการปรับพฤติกรรม รวมถึงการช่วยเหลือด้านการเรียน การช่วยเหลือด้านจิตใจ และการใช้ยา ซึ่งจะให้ผลดีมากกว่าการใช้ยาอย่างเดียวหรือการปรับพฤติกรรมอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาอย่างเดียวหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเดียวก็ให้ผลที่ดีกว่าการไม่รักษาใดๆ เลย (10)

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ (5)

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว พ่อแม่ต้องพยายามทำความเข้าใจว่า อาการของโรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสมองไม่ได้เกิดจากความจงใจที่จะแกล้งหรือก่อกวนผู้อื่น หรือ ไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้านของเด็ก ทั้งนี้พ่อแม่ควรยอมรับในตัวตนของลูก ไม่มีใครชอบโดนตำหนิ หรือถูกทำโทษเป็นประจำ พ่อแม่ควรให้ความเมตตา ให้กำลังใจ ให้โอกาส ชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี และ ช่วยปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยให้เด็กสมาธิสั้นสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น เช่น กำหนดกิจวัตรประจำวันให้เป็นระเบียบแบบแผน จัดหาที่สงบไม่รบกวนสมาธิ ลดสิ่งเร้า ให้เด็กขณะทำการบ้าน แบ่งงานให้ทำทีละน้อยและคอยกำกับให้ทำจนสำเร็จ รวมถึงประสานงานกับทางโรงเรียนเพื่อให้การข่วยเหลือเด็กทั้งในด้าน การเรียนและการปรับตัวที่โรงเรียน มองหาจุดเด่นของลูกและสนับสนุนให้ลูกได้แสดงความสามารถเพื่อจะได้มีความภูมิใจในตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยประคับประคองให้เด็กสมาธิสั้นเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
  1. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ, พรทิพย์ วชิรดิลก, พัชรินทร์ อรุณเรือง, ธันวรุจน์ บูรณสุขสกุล. ความชุกโรคสมาธิสั้นในประเทศไทย. Journal of Mental Health of Thailand. 2013;21(2):66-75.
  2. Castellanos FX, Lee PP, Sharp W, Jeffries NO, Greenstein DK, Clasen LS, et al. Developmental trajectories of brain volume abnormalities in children and adolescents with attentiondeficit/hyperactivity disorder. JAMA 2002;288:1740-8.
  3. Barkley RA. International consensus statement on AD/HD, January 2002, signed by over 70 leading scientists. Clinical Child Family Psychology Review. 2002;5:89-111.
  4. Krain AL, Castellanos FX. Brain development and ADHD. Clin Psychol Rev 2006;26:433-44.
  5. วิฐารณ บุญสิทธิ. โรคสมาธิสั้น: การวินิจฉัยและการรักษา. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2555;57(4):373-86.
  6. Brassett-Harknett A, Butler N. Attention-deficit/hyperactivity disorder: an overview of the etiology and a review of the literature relating to the correlates and lifecourse outcomes for men and women. Clin Psychol Rev. 2007;27(2):188-210.
  7. Nigg J. Attention-deficit/hyperactivity disorder and adverse health outcomes. Clin Psychol Rev. 2013;33(2):215-28.
  8. Celebrity with ADD/ADHD [Available from: https://www.webmd.com/add-adhd/ss/slideshow-celebrities-add-adhd.
  9. Maroon 5's Adam Levine: “ADHD Isn't a Bad Thing” [Available from: https://www.additudemag.com/adam-levine-adhd-is-not-a-bad-thing-and-you-are-not-alone/.
  10. Catalá-López F, Hutton B, Núñez-Beltrán A, Page MJ, Ridao M, Mac?as Saint-Gerons D, et al. The pharmacological and non-pharmacological treatment of attention deficit hyperactivity disorder in children and adolescents: A systematic review with network meta-analyses of randomised trials PLoS One. 2017;12(7):e0180355.
  11. Cortese S, Adamo N, Del Giovane C, Mohr-Jensen C, Hayes AJ, Carucci S, et al. Comparative efficacy and tolerability of medications for attention-deficit hyperactivity disorder in children, adolescents, and adults: a systematic review and network meta-analysis. Lancet Psychiatry. 2018;5(9):727-38.
  12. National Institute for Health and care Excellence. Attention deficit hyperactivity disorder: diagnosis and management 2019 [Available from: https://www.nice.org.uk/guidance/ng87/chapter/Recommendations#information-and-support.
  13. Harstad E, Levy S. Attention-deficit/hyperactivity disorder and substance abuse. Pediatrics. 2014;134(1):e293-301.
  14. Humphreys KL, Eng T, Lee SS. Stimulant medication and substance use outcomes: a meta-analysis. JAMA Psychiatry. 2013;70(7):740-9.
  15. Wilens TE, Faraone SV, Biederman J, Gunawardene S. Does stimulant therapy of attention-deficit/hyperactivity disorder beget later substance abuse? A meta-analytic review of the literature. Pediatrics 2003;111:179-85.
  16. Kortekaas-Rijlaarsdam AF, Luman M, Sonuga-Barke E, Oosterlaan J. Does methylphenidate improve academic performance? A systematic review and meta-analysis. European Child & Adolescent Psychiatry. 2019;28(2):155-64.
  17. Package leaflet: Information for the patient [Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.8726.pdf.
  18. Storebø OJ, Pedersen N, Ramstad E, Kielsholm ML, Nielsen SS, Krogh HB, et al. Methylphenidate for attention deficit hyperactivity disorder (ADHD) in children and adolescents – assessment of adverse events in non?randomised studies. Cochrane Database Syst Rev. 2018;5:CD012069.
  19. Harstad EB, Weaver AL, Katusic S, Colligan RC, Kumar S, Chan E, et al. ADHD, Stimulant Treatment, and Growth: A Longitudinal Study. Pediatrics. 2014;134(4):e935-44.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.