Knowledge Article


ยาลดความอ้วน…สำหรับใคร?


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.niehs.nih.gov/health/assets/images/obesity.jpg
10,645 View,
Since 2019-10-16
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ความอ้วนเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สำหรับหลายคนโดยเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากทำให้เชื่องช้าไม่คล่องตัว หาเสื้อผ้าที่เหมาะสมได้ยาก หากอ้วนมากเกินอาจทำให้บุคลิกภาพเสียไป ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าเข้าสังคม บางรายอาจเป็นโรคซึมเศร้า จึงเป็นเหตุให้คนอ้วนพยายามหาวิธีการต่าง ๆ ในการลดน้ำหนักรวมไปถึงการใช้ยาช่วยลดน้ำหนัก

อย่างไรจึงถือว่า "อ้วนเกิน"

"ภาวะอ้วนเกิน" หรือ "โรคอ้วน" (obesity) นั้นกำหนดด้วยค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) ซึ่งค่านี้ขึ้นกับน้ำหนักตัวและส่วนสูง ในกรณีที่ส่วนสูงไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ค่าดังกล่าวจึงเปลี่ยนแปลงไปตามน้ำหนักตัว องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่าดัชนีมวลกายปกติไว้ที่ช่วง 18.5 ถึง 24.9 กิโลกรัม/เมตร2 ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 30 กิโลกรัม/เมตร2 ถือว่ามีน้ำหนักมากเกิน (over weight) และหากดัชนีมวลกายมีค่าตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไปถือว่ามีภาวะอ้วนเกินหรือเป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ตามเกณฑ์ดังกล่าวไม่ใช้กับเด็ก นอกจากนี้บางแหล่งข้อมูลระบุว่าประชากรบางเผ่าพันธุ์ (รวมถึงชาวเอเชีย) ที่ไม่ใช่ชาวคอเคเชียน เกณฑ์ข้างต้นให้ลดลง 2.5 หรือ 3 หน่วย เช่น ภาวะอ้วนเกินจะมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 27 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไป

"ภาวะอ้วนเกิน"...ภัยคุกคามชีวิต

ผู้ที่มีภาวะอ้วนเกิน มวลร่างกายเพิ่มขึ้น เนื้อเยื่อไขมันมากขึ้น ลักษณะทางกายภาพของอวัยวะบางแห่งเกิดการเปลี่ยนแปลง (เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร) การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดไปจากปกติ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด—หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น, ระบบหายใจ—ประสิทธิภาพลดลง การแลกเปลี่ยนออกซิเจนอาจเกิดได้ไม่ดี การหายใจขัด, ระบบทางเดินอาหาร—การย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ สำลักอาหารได้ง่าย ทางเดินอาหารอาจบีบตัวมากขึ้นหรือน้อยลง ผู้ที่มีภาวะอ้วนเกินจึงพบโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคนิ่วในถึงน้ำดี โรคเกาต์ โรคข้อเสื่อม โรคตับ โรคไต โรคซึมเศร้า ตลอดจนเพิ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง



ภาพจาก : https://static.spacecrafted.com/b1592954946442b99ea8624544990cf7/i/dc294641c1f540c2a1025974fe425aed/1/4SoifmQp45JMgBnHp7ed2/Obesity%20Page.jpg

การลดความอ้วนโดยไม่ใช้ยา

ภาวะอ้วนเกินหรือโรคอ้วนเกิดเรื้อรัง การรักษาจึงต้องการกำลังใจอย่างมาก การลดความอ้วนโดยไม่ใช้ยาเป็นวิธีการแรกที่แนะนำและเป็นวิธีการหลักที่ใช้รักษาภาวะอ้วนเกินหรือโรคอ้วน ซึ่งประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานและชนิดอาหารที่รับประทาน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของร่างกายซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายทั่วไปตลอดจนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นอกจากนี้บางรายอาจต้องให้การรักษาด้านจิตใจรวมถึงการให้กำลังใจด้วย การใช้ยาเป็นเพียงการรักษาเสริมเท่านั้นและไม่สามารถทดแทนการรักษาโดยไม่ใช้ยาดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาลดความอ้วนหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการใช้พลังงานของร่างกาย จะไม่ประสบความสำเร็จในการลดความอ้วน ซ้ำร้ายยังได้รับผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอีกด้วย ซึ่งยาลดความอ้วนทุกชนิดล้วนมีผลไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายทั้งสิ้น

ยาลดความอ้วน

วัตถุประสงค์ในการใช้ยาลดความอ้วนหรือยาลดน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน ยาที่นำมาใช้มีการออกฤทธิ์แตกต่างกัน ในปัจจุบันยาที่ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคอ้วนมีจำนวนน้อยลง ยาที่มีใช้ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน ตัวอย่างยาที่ใช้ เช่น ออริสแตท (orlistat), ลิรากลูไทด์ (liraglutide), เฟนเทอร์มีน (phentermine) และยาอื่นที่ออกฤทธิ์คล้ายกัน, ยาสูตรผสมบูโพรพิออน/นาลเทรกโซน (bupropion/naltrexone) ซึ่งออริสแตทมีฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมไขมันจากทางเดินอาหาร ลิรากลูไทด์เป็นยารักษาโรคเบาหวานแต่มีผลไม่พึงประสงค์ทำให้เบื่ออาหารและน้ำหนักตัวลด ยานี้มีฤทธิ์เหมือนสารชนิดหนึ่ง (glucagon-like peptide-1) ในร่างกาย เชื่อว่าที่สมองสารนี้มีฤทธิ์ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร ส่วนเฟนเทอร์มีนและบูโพรพิออน (ในยาสูตรผสมบูโพรพิออน/นาลเทรกโซน) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังมีการนำยาบางชนิดมาใช้ลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะอ้วนเกิน แม้ไม่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านยาว่าใช้เป็นยาลดความอ้วน

ผลเสียของยาลดความอ้วน

ยาลดความอ้วนมีการออกฤทธิ์แตกต่างกัน จึงมีผลไม่พึงประสงค์หรือผลเสียต่อร่างกายได้แตกต่างกัน ยาที่ทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ได้มากเป็นพวกที่ออกฤทธิ์ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางได้ (เช่น เฟนเทอร์มีนและยาอื่นที่ออกฤทธิ์คล้ายกัน) จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว บีบตัวแรง ความดันโลหิตเพิ่ม รบกวนระบบหายใจ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย อาจทำให้ประสาทหลอน ติดยา เป็นต้น นอกจากนี้ยาลดความอ้วนไม่ว่าจะเป็นยาที่ขัดขวางการดูดซึมไขมันจากทางเดินอาหารหรือยาที่ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารชนิดที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อร่างกายในปริมาณไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานลดลงได้

ใครบ้างที่ควรได้รับยาลดความอ้วน?

ภาวะอ้วนเกินก่อให้เกิดภาวะแทกซ้อนหลายอย่างที่เป็นอันตราย (ดูหัวข้อ "ภาวะอ้วนเกิน"...ภัยคุกคามชีวิต) หากลดความอ้วนได้จะช่วยลดความเสี่ยงหรือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านั้น โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน (แบบที่ 2) และโรคมะเร็ง ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงนำไปสู่โรคต่าง ๆ มากมายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต อย่างไรก็ตามยาลดความอ้วนทั้งหลายล้วนมีผลไม่พึงประสงค์หลายอย่าง จึงควรใช้ในรายที่จำเป็นเท่านั้น โดยเป็นผู้ที่เข้าข่ายครบตามระบุข้างล่างนี้
  1. ผู้ที่อ้วนเกิน (ค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไป) หรือเกือบอ้วนเกิน (ค่าดัชนีมวลกายในช่วง 27-30 กิโลกรัม/เมตร2) แต่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

    ในกรณีนี้หากเป็นชาวเอเชียผู้ที่เข้าข่ายอ้วนเกิน ถือค่าดัชนีมวลกายที่มากกว่า 27 กิโลกรัม/เมตร2 และผู้ที่เกือบอ้วนเกินแต่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ถือค่าดัชนีมวลกายที่มากกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร2
  2. ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ยามาแล้ว (โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานและการใช้พลังงานของร่างกาย) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้การใช้ยาเป็นเพียงการรักษาเสริมเท่านั้น
  3. ไม่ใช่ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่ให้นมบุตร และเด็ก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ห้ามใช้ยาลดน้ำหนัก
  4. ผู้ที่สามารถเข้ารับการตรวจร่างกายก่อนใช้ยาและตลอดช่วงที่ใช้ยา เพื่อประเมินถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา เพื่อพร้อมที่จะหยุดใช้ยาทันทีหากมีปัญหาเรื่องผลไม่พึงประสงค์จากยา หรือพบว่าภายหลังการใช้ยาเป็นเวลานาน 3-4 เดือนแล้วแต่น้ำหนักลดลงไม่ถึง 5%


เอกสารอ้างอิง
  1. Zuckerman M, Greller HA, Babu KM. A review of the toxicologic implications of obesity. J Med Toxicol 2015; 11:342-54.
  2. Abdelaal M, le Roux CW, Docherty NG. Morbidity and mortality associated with obesity. Ann Transl Med 2017. doi: 10.21037/atm.2017.03.107. Accessed: October 2019.
  3. Schutz D, Busetto L, Dicker D, Farpour-Lambert N, Pryke R, Toplak H, et al. European practical and patient-centred guidelines for adult obesity management in primary care. Obes Facts 2019; 12:40-66.
  4. Lee PC, Dixon J. Pharmacotherapy for obesity. Aust Fam Physician 2017; 46:472-77.
  5. Patel DK, Stanford FC. Safety and tolerability of new-generation anti-obesity medications: a narrative review. Postgrad Med 2018; 130:173-82.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.