Knowledge Article


ยาแก้ปวดประจำเดือน...ใช้อย่างไร


อาจารย์ ดร.ภก สุรศักดิ์ วิชัยโย
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://cdn-prod.medicalnewstoday.com/content/images/articles/312/312661/woman-with-menstrual-cramps-and-stomach-pain-holding-abdomen.jpg
297,777 View,
Since 2019-09-20
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธุ์ จะเป็นช่วงที่ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน และมีสาวๆจำนวนมากที่พบกับปัญหาปวดท้องในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งอาจรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำงาน หรือการเรียน เป็นต้น จึงหาซื้อยาแก้ปวดมารับประทาน โดยหลายๆคนมีความเคยชินหรือได้รับคำแนะนำจากเพื่อนเกี่ยวกับยาที่ใช้ เช่น เมื่อเข้ามาในร้านยาจะแจ้งเภสัชกรว่า “ขอซื้อยาแก้ปวดประจำเดือนเม็ดรีๆ สีเหลือง” หรืออาจระบุชื่อการค้าของยา เช่น พอน-สแตน (Ponstan®) หรือ โก-เฟน (Gofen®) เป็นต้น และไม่รับยาอื่นที่เภสัชกรแนะนำให้ใช้แทน แต่จริงๆแล้วยาแก้ปวดที่สามารถใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนมีหลายชนิด เราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดประจำเดือนกันว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการนี้

อาการปวดประจำเดือนเกิดจากอะไร?

โดยทั่วไป อาการปวดประจำเดือน (กรณีที่ไม่มีความผิดปกติภายในมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอด) มักพบภายใน 6-12 เดือนหลังจากการมีประจำเดือนครั้งแรก และอาการมักเกิด 1-2 วันก่อนมีประจำเดือนหรืออาจเกิดขึ้นในวันที่มีประจำเดือนก็ได้ ซึ่งการเกิดอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสารกระตุ้นการอักเสบ ได้แก่ โพรส-ตา-แกลน-ดิน (prostaglandins) ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ในเลือดประจำเดือนของผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนมีสารชนิดนี้สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีอาการปวดถึง 2 เท่า ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบแล้ว ยังมีผลทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้มีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน และอาจลามไปที่เอวด้านหลังและต้นขา หรือในบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และอ่อนเพลียร่วมด้วย

ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนคือยาอะไร?

ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ใช้เป็นอันดับแรกในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน เรียกสั้นๆว่า เอ็น-เสด (NSAIDs ย่อมาจาก Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งเป็นกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยยาออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน จึงมีผลลดอาการปวดประจำเดือนได้ อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้ประกอบด้วยยาหลายชนิด และยังไม่มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่ายาชนิดใดดีกว่ากันในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แต่การเลือกใช้ยาจะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ประวัติการแพ้ยา และโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ผู้ที่มีแผลในทางเดินอาหาร เป็นโรคตับหรือไตบกพร่องรุนแรง ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ หรือผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจใช้ยากลุ่ม เอ็น-เสด ได้เพียงบางชนิด เป็นต้น ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และไม่ควรแบ่งยาของตนเองให้ผู้อื่นใช้ ตัวอย่างยาที่ใช้บ่อยและขนาดยาแสดงดังตาราง



ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนใช้อย่างไร?

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดทุกรอบเดือน และมีรอบเดือนสม่ำเสมอ (สามารถคาดการณ์วันที่จะเกิดประจำเดือนได้) ควรเริ่มรับประทานยากลุ่ม เอ็น-เสด ภายใน 1-2 วัน ก่อนมีประจำเดือน จะให้ประสิทธิผลดีที่สุด แต่หากไม่สามารถทำได้ เช่น ปวดประจำเดือนครั้งแรก และเกิดขึ้นเมื่อมีประจำเดือนแล้ว เป็นต้น สามารถรับประทานยาให้เร็วที่สุดหลังมีอาการปวด และหลังจากนั้นควรรับประทานยากลุ่มนี้ต่อเนื่องจนถึง 2-3 วันแรกของการมีประจำเดือน

นอกจากการรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบแล้ว ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้รับประทานฮอร์โมนคุมกำเนิดเพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย

ปวดประจำเดือน ทำไมได้ยาแก้ปวดฟันมารับประทาน?

เนื่องจากสารโพรสตาแกลนดินเกี่ยวข้องกับอาการปวดและอักเสบหลายชนิด จึงไม่แปลกที่บางครั้งผู้ป่วยปวดคนละตำแหน่ง แต่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยาตัวเดียวกัน เช่น พอน-สแตน หรือ โกเฟน สามารถใช้ได้ทั้งแก้ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และปวดประจำเดือน เป็นต้น แต่การเลือกใช้ยาขึ้นกับหลายปัจจัยดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใช้ยาไม่ได้ผล คือ ขนาดยาไม่เหมาะสม จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเหล่านี้

วิธีการดูแลตัวเองในผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือน?

นอกจากการใช้ยาแล้ว วิธีการเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ เช่น
  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มี caffeine
  • หยุดสูบบุหรี่ และเลิกดื่มแอลกอฮอล
  • วางกระเป๋าน้ำร้อนที่หน้าท้อง หรือบริเวณเอวด้านหลัง ขณะมีอาการปวด
  • การรับประทานน้ำขิง หรือยาสมุนไพรขิง เมื่อมีอาการปวดประจำเดือน
นอกจากนี้ อาการปวดประจำเดือนอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติภายในมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอด เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยเช่นกัน ดังนั้น ในผู้ที่ปวดประจำเดือนนานผิดปกติ หรือใช้ยาแก้ปวดแล้วไม่บรรเทา หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีประจำเดือนมากกว่าปกติหรือนานกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง
  1. Burnett M, et al. No. 345-Primary Dysmenorrhea Consensus Guideline. J Obstet Gynaecol Can. 2018;39(7):585-595.
  2. ACOG Committee Opinion No. 760: Dysmenorrhea and Endometriosis in the Adolescent. Obstet Gynecol. 2018;132(6):e249-e258.
  3. Harel Z. Cyclooxygenase-2 specific inhibitors in the treatment of dysmenorrhea. J Pediatr Adolesc Gynecol. 2004;17(2):75-79.
  4. Osayande AS, et al. Diagnosis and initial management of dysmenorrhea. Am Fam Physician. 2014;89(5):341-346.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.