Knowledge Article


น้ำตาลทำให้แก่เร็ว..จริงหรือไม่


อาจารย์ ดร.ถาวรีย์ ถิละเวช
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://thenypost.files.wordpress.com/2018/03/180323-anti-aging-secret-pill-feature.jpg?quality=90&strip=all&w=618&h=410&crop=1
40,476 View,
Since 2019-09-13
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/22r8zb5t
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


น้ำตาลเป็นส่วนผสมหนึ่งในอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้อาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวถูกปากและถูกใจใครหลายคน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ในความเป็นจริง รายงานจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงถึงวันละ 28.4 ช้อนชาซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำถึง 4.7 เท่า ส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ชานมไข่มุก กาแฟเย็น ชาเย็น นมเย็น เป็นต้น มีการสำรวจเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในย่านร้านค้าใจกลางเมือง พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มหวานเพียง 1 แก้ว ก็ได้รับน้ำตาลมากกว่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน (1) การบริโภคน้ำตาลสูงไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาวิจัยยังพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัยซึ่งไม่ได้เกิดแค่กับเฉพาะเซลล์ผิวหนังเราเท่านั้น ภาวะแก่ก่อนวัยดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับเซลล์บริเวณอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราด้วย (2, 3)

น้ำตาลสัมพันธ์กับความแก่อย่างไร?

ผิวหนังของเรามีโปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินเป็นองค์ประกอบหลักอยู่รวมกันเป็นลักษณะโครงข่ายช่วยให้ผิวของเรามีความแข็งแรงและยืดหยุ่น ในกรณีที่เราบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง น้ำตาลเหล่านั้นถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลที่บริเวณผิวหนังสูงขึ้นเช่นเดียวกัน (4) น้ำตาลบริเวณผิวหนังสามารถจับกับโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเกิดเป็นสารประกอบที่มีชื่อว่า Advanced glycation end products หรือ AGEs ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัยนั่นเอง กระบวนการดังกล่าวเรียกว่ากระบวนการไกลเคชั่น (glycation) หรือหลายคนอาจรู้จักในชื่อปฏิกิริยาเมลลาร์ด (Maillard reaction) เมื่อ AGEs เกิดขึ้นในชั้นผิวหนังจะส่งผลให้โปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเสื่อมสภาพและสะสมอยู่ที่บริเวณผิวหนัง ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง เกิดการหย่อนคล้อย โดยทั่วไปการสะสมของ AGEs บริเวณผิวหนังจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุอยู่แล้ว (5) แต่กระบวนการดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้เกิดได้เร็วและมากขึ้นเมื่อเราบริโภคอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง โดยทั่วไปร่างกายของเรามีกลไกในการทำลายโปรตีนที่เสื่อมสภาพ อย่างไรก็ตามการศึกษาในระดับเซลล์ผิวหนังเพาะเลี้ยงพบว่า AGEs สามารถยับยั้งการทำงานกลไกดังกล่าวทำให้มีการสะสมของโปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินที่เสื่อมสภาพได้อย่างไม่จำกัด (6) นอกจากนี้ AGEs ยังสามารถกระตุ้นการสร้างสารอนุมูลอิสระและสารก่อการอักเสบซึ่งทำลายเซลล์ผิวหนังและยับยั้งกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ (7) การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถลดการเกิด AGEs ในโปรตีนคอลลาเจนได้ถึง 25% ภายในเวลา 4 สัปดาห์ (3) การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้หญิง 4,025 คน ช่วงอายุ 40 – 74 ปี พบว่าการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีสัดส่วนปริมาณน้ำตาลสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดรอยตีนกาบนใบหน้า รวมถึงทำให้ผิวหนังบาง ซึ่งเป็นลักษณะผิวหนังที่พบในผู้สูงอายุ (8)

นอกจากการสร้าง AGEs ในโครงสร้างของผิวหนังแล้ว น้ำตาลยังเกี่ยวข้องภาวะการแก่ของเซลล์อื่นๆ ในร่างกายด้วย ตัวบ่งชี้ที่สำคัญของภาวะเซลล์แก่คือความยาวของเทโลเมียร์ (Telomeres) ซึ่งอยู่ที่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม (chromosome) ทำหน้าที่ป้องกันสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ที่อยู่ในโครโมโซมจากการถูกทำลาย ความยาวของเทโลเมียร์จะแปรผกผันกับอายุ กล่าวคือยิ่งอายุมากขึ้นเทโลเมียร์ยิ่งสั้นและเป็นสาเหตุให้เซลล์เกิดความผิดปกติ (9)



อัตราการเร็วในการหดสั้นของเทโลเมียร์ในแต่ละคนจะแตกต่างกัน รายงานการศึกษาพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงสามารถเร่งการหดสั้นของเทโลเมียร์ให้เร็วขึ้น (10) ในปี 2014 มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเครื่องดื่มรสหวานกับความยาวของเทโลเมียร์ในผู้บริโภค 5,309 คน ที่ดื่มรสเครื่องดื่มหวานเป็นประจำ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมมีแนวโน้มที่จะมีขนาดของเทโลเมียร์หดสั้นลง ในขณะที่กลุ่มที่ดื่มน้ำผลไม้เข้มข้น 100% มีแนวโน้มของขนาดเทโลเมียร์ที่ยาวกว่า ส่วนการดื่มน้ำอัดลมที่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีผลต่อความยาวของเทโลเมียร์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลการศึกษาดังกล่าวสรุปได้ว่าการดื่มอัดลมประมาณ 2 กระป๋อง (600 มิลลิลิตร) ต่อวัน อาจทำให้อายุไขของเราสั้นลงได้ถึง 4.6 ปีเลยทีเดียว (11) อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาที่สามารถอธิบายถึงกลไกของการบริโภคน้ำตาลสูงต่อการหดสั้นของเทโลเมียร์ได้อย่างแน่ชัด จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาจช่วยชะลอการเกิดผิวหย่อนคล้อยจากการป้องกันการเกิด AGEs และชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ซึ่งเป็นสาเหตุการแก่ของเซลล์ ทำให้เราดูอ่อนเยาว์จากภายในสู่ภายนอก

เอกสารอ้างอิง
  1. Suvetwethin D. เครื่องดื่มน้ำหวานความอร่อยเคลือบยาพิษ [Internet]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2559]. เข้าถึงได้จาก http://www.thaihealth.or.th/Content/34048-เครื่องดื่มน้ำหวานความอร่อยเคลือบยาพิษ.
  2. Danby FW. Nutrition and aging skin: sugar and glycation. Clin Dermatol. 2010;28(4):409-11.
  3. Draelos ZD. Aging skin: the role of diet: facts and controversies. Clin Dermatol. 2013;31(6):701-6.
  4. Urbach E, Lentz JW. Carbohydrate metabolism and the skin. Arch Derm Syphilol. 1945;52:301-16.
  5. Fournet M, Bonte F, Desmouliere A. Glycation Damage: A Possible Hub for Major Pathophysiological Disorders and Aging. Aging Dis. 2018;9(5):880-900.
  6. Pageon H, Zucchi H, Pennacchi PC, Asselineau D. Glycation and skin aging. In: Farage MA, Miller KW, Maibach HI, editors. Textbook of aging skin. Berlin, Heidelberg: Springer Berlin Heidelberg; 2017. p. 1247-70.
  7. Gkogkolou P, Bohm M. Advanced glycation end products: Key players in skin aging? Dermatoendocrinol. 2012;4(3):259-70.
  8. Cosgrove MC, Franco OH, Granger SP, Murray PG, Mayes AE. Dietary nutrient intakes and skin-aging appearance among middle-aged American women. Am J Clin Nutr. 2007;86(4):1225-31.
  9. Boccardi V, Paolisso G, Mecocci P. Nutrition and lifestyle in healthy aging: the telomerase challenge. Aging. 2016;8(1):12-5.
  10. Lee D, Hwang W, Artan M, Jeong DE, Lee SJ. Effects of nutritional components on aging. Aging cell. 2015;14(1):8-16.
  11. Leung CW, Laraia BA, Needham BL, Rehkopf DH, Adler NE, Lin J, et al. Soda and cell aging: associations between sugar-sweetened beverage consumption and leukocyte telomere length in healthy adults from the National Health and Nutrition Examination Surveys. Am J Public Health. 2014;104(12):2425-31.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.