การลักลอบใส่สารที่มีฤทธิ์ทางยาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อหวังประสิทธิภาพให้ตรงตามคำกล่าวอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วโลก ณ ปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อผู้บริโภคเนื่องจากการได้รับยาในปริมาณสูงและยาวนานทำให้การทำงานของร่างกายเสียสมดุลและล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งท่านผู้อ่านจะสามารถเห็นตัวอย่างกรณีศึกษาได้ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์จากหลากหลายสารทิศ คำถามที่เกิดขึ้น คือ เราจะมีวิธีป้องกันตัวเองหรือบุคคลใกล้ตัวจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร? การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการได้รับยาปนเปื้อนที่ดีที่สุด คือ การไม่บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ เลย แต่หากทำเช่นนี้ เท่ากับว่าผู้บริโภคอาจจะเสียโอกาสที่จะได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยที่ดี ดังนั้น บทความนี้จึงจะขอแบ่งปันความรู้ของเกี่ยวกับการลักลอบใส่ยาปนเปื้อน การตรวจสอบ และการระมัดระวังตนเองจากผลิตภัณฑ์ที่อันตราย
ภาพจาก :
http://cdn1.theinertia.com/wp-content/uploads/2016/06/vitamins.jpg
สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบการปนเปื้อนของยาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถทำได้ โดยในปัจจุบัน ตำรายาสหรัฐอเมริกา (The United States Pharmacopeia – USP) ได้กำหนดวิธีที่เป็นมาตรฐานสำหรับการทดสอบยาปนเปื้อนเหล่านี้ขึ้นมา ใน USP General Chapter <2251> Adulteration of dietary supplements with drugs and drug analogs โดยจัดแบ่งหมวดหมู่ของประเภทยาปนเปื้อนไว้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- สารกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ (Sexual Enhancement) ซึ่งใช้ในการรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศสำหรับเพศชาย เช่น ซิลเดนาฟิล (sildenafil)
- สารเพื่อการลดน้ำหนัก (Weight Loss) ซึ่งเป็นสารที่สามารถออกฤทธิ์ในการลดความอยากอาหาร เช่น ไซบูทรามีน (sibutramine) สารที่เพิ่มการเมตาบอลิสม ในร่างกาย เช่น สารสังเคราะห์ของฮอร์โมนไทรอยด์ สารดักจับไขมันในระบบทางเดินอาหาร เช่น ออริสแตท (orlistat) ยาระบาย และยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
- สารกระตุ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพทางกีฬา (Sport Performance Enhancement) หรือที่เรียกว่าสารโด๊ป สารกลุ่มนี้มักเป็นอนุพันธ์ของฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มฮอร์โมนสเตียรอยด์ ออกฤทธิ์เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงสารกลุ่มเพิ่มความสามารถในการทำงานของหัวใจ เป็นต้น
แนวทางการตรวจสอบยาปนเปื้อนกลุ่มดังกล่าว จะทำโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ลิควิดโครมาโทรกราฟี (high-performance liquid chromatography – HPLC) ร่วมกับตัวตรวจวัดแมสสเปกโทรมิเตอร์ (mass spectrometer – MS) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนั้นมีความจำเพาะ (specificity) ความไว (selectivity) ความแม่นยำ (precision) และความถูกต้อง (accuracy) สูงมาก หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพได้ชัดเจน คือ สมมติว่าท่านนำเม็ดเกลือ 1 เม็ดละลายลงในน้ำปริมาตร 1 ลิตร และนำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือดังกล่าว เครื่องมือสามารถตรวจพบปริมาณเกลือได้อย่างแม่นยำและถูกต้องแม้จะมีปริมาณเพียงน้อยนิด ดังนั้นหากมีการลักลอบใส่สารในปริมาณที่น้อยๆ เพื่อให้ตรวจสอบไม่พบจึงเป็นความคิดที่ผิดอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบดังกล่าวนั้นไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วสักเท่าไรนักเนื่องจากการต้องใช้ระยะเวลาสำหรับการวิเคราะห์และจะต้องทำซ้ำจนให้เป็นที่แน่ใจ (ในกรณีตัวอย่างคดีความ) ทำให้เป็นข้อจำกัดของจำนวนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรศึกษาความรู้เพื่อหาแนวทางการป้องกันตนเองจากผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนยาเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง
แนวทางการหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะดำเนินการปราบปรามผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฏหมายอย่างเข้มงวดก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถจัดการได้หมดสิ้น เนื่องจากจำนวนผู้กระทำผิดมีมากมายทั้งคนในและคนนอกประเทศ จึงขอฝากผู้อ่านทุกท่านโปรดใช้วิจารณญานในการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในบทความนี้มีแนวทางในการพิจารณา ดังนี้
- อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุสรรพคุณในการรักษาหรือมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลต่อร่างกายของเราโดยเด็ดขาด เช่น ลดความอ้วน ช่วยรักษาโรคไขข้อ มะเร็ง ภูมิแพ้ ฯลฯ เพราะตามนิยามทางกฏหมายแล้วจะเข้าข่ายเป็น “ยา” มากกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสรรพคุณอย่างที่กล่าวอ้างจริง จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรคเท่านั้น
- การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องได้รับการอนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งสังเกตจากเลขทะเบียน (ที่ไม่ใช่เลข อย.) ซึ่งขึ้นด้วยอักษร "ฆอ. ….." ในสื่อประชาสัมพันธ์ และเลขดังกล่าวจะต้องแสดงทุกครั้งในสื่อที่ประชาสัมพันธ์
- การนำผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติ โดยเฉพาะใบรายงานผลที่ออกโดยห้องปฏิบัติที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมาโฆษณาตามสื่อต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือเลย เนื่องจากระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่ได้คุณภาพจะมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีการระบุข้อความว่า “รับรองเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น” ซึ่งแปลว่าตัวอย่างอื่นๆ ไม่ทราบว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ เพราะไม่ได้ตรวจสอบ นอกจากนี้การนำผลการวิเคราะห์มาใช้เพื่อการโฆษณานั้นมีความผิด เนื่องจากในข้อกำหนดได้บังคับให้แสดงข้อความ "ห้ามนำไปใช้สำหรับการโฆษณาโดยเด็ดขาด" ซึ่ง ห้องปฏิบัติการสามารถเอาผิดทางกฏหมายต่อผู้นำใบไปโฆษณาต่อได้
เอกสารอ้างอิง
- U.S. Convention. The United States Pharmacopeia– National Formulary. USP General Chapter <2251> Adulteration of dietary supplements with drugs and drug analogs.
- ประกาศสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ?การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551. สำนักอาหาร สำนักคณะกรรมการอาหารและยา. อ้างอิงจาก http://food.fda.moph.go.th/advertise.php
- สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. "รู้เท่าทัน" โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง. อ้างอิงจาก http://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2018-05-04-11-32-07