Knowledge Article


โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กับกรดโฟลิก .. คุณประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้าม


อาจารย์ ดร. วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ
ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://financialtribune.com/sites/default/files/field/image/october/12_stroke_0.jpg
38,908 View,
Since 2018-08-21
Last active: 3h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


กรดโฟลิก……สำคัญอย่างไร

กรดโฟลิก (folic acid) หรือ วิตามินบี 9 เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่ละลายได้ในน้ำ เป็นที่ทราบกันดีว่ากรดโฟลิกมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสตรีตั้งครรถ์ โดยมีผลไปช่วยลดความเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรถ์ได้ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติของแขน ขา ความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคไม่มีรูทวารหนัก เป็นต้น กรดโฟลิกเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร tetrahydrofolate ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าดีเอ็นเอ (DNA) ควบคุมการสังเคราะห์กรดอะมิโนซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังควบคุมการสร้างและการแก่ตัวของเม็ดเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดแดง ด้วยเหตุนี้การเสริมกรดโฟลิกจึงถูกนำมาใช้อย่างเป็นวงกว้างในการป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจาง [1] นอกเหนือประโยชน์ที่ใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจาง ในปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสารระดับนานาชาติพบว่าการเสริมกรดโฟลิกสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ [2] ผู้เขียนเชื่อว่าหลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่ากรดโฟลิกจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ของกรดโฟลิกที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น กรดโฟลิกมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสร้างและการสลายกรดอะมิโนที่ชื่อว่า โฮโมซีสทีน (homocysteine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดภายในร่างกาย หากร่างกายมีสารดังกล่าวคั่งสะสมในกระแสเลือดสูงเกิน 15 ไมโครโมลต่อลิตร จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนที่มีระดับปกติ



ภาพจาก : http://arditor.com/wp-content/uploads/2017/09/stroke.jpg

กรดโฟลิกกับการควมคุมโฮโมซีสทีน

โฮโมซีสทีน (homocysteine) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เกิดจากการย่อยสลายสารอาหารประเภทโปรตีน ในภาวะปกติร่างกายจะอาศัยการทำงานของกรดโฟลิกเป็นตัวช่วยในกระบวนการสลายโฮโมซีสทีน เป็นซีสเตอีน (cysteine) เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งสะสมของโฮโมซีสทีนในกระแสเลือด เนื่องจากโฮโมซีสทีนที่สูงในกระแสเลือดมีผลไปกระตุ้นการก่อตัวของลิ่มเลือดและทำลายหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ทำให้หลอดเลือดดังกล่าวตีบและอุดตันได้ง่ายกว่าผู้ที่มีระดับของโฮโมซีสทีนในเลือดปกติ มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ที่มีระดับโฮโมซีสทีนในเลือดสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น [3-5] จากกลไกดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ากรดโฟลิกมีบทบาทหน้าที่สำคัญที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญโฮโมซีสทีนให้อยู่ในภาวะปกติ และช่วยลดการเกิดภาวะที่มีโฮโมซีสทีนเหลือคั่งค้างในเลือดสูง (homocysteinemia) ด้วยเหตุนี้ทำให้นักวิจัยจำนวนมากเชื่อว่าการรับประทานกรดโฟลิกเพื่อป้องกันไม่ให้สารโฮโมซีสทีนในเลือดสูงน่าจะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้

กรดโฟลิกกับโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า stroke คือ โรคที่เซลล์สมองถูกทำลายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่หลอดเลือดสมองมีการตีบ อุดตันจากก้อนไขมัน หรือแตก ส่งผลให้สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุสำคัญของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมีงานวิจัยจำนวนมากที่ได้ทำการศึกษาผลของการเสริมกรดโฟลิกกับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาของ Zhou และคณะ [6] ในปี 2018 ที่ได้ทำการศึกษาผลของกรดโฟลิกกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับการใช้ยาปกติในผู้ป่วยชายโรคหลอดเลือดสมอง เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาปกติโดยไม่ได้รับการเสริมกรดโฟลิก กลุ่มอาสาสมัครในการศึกษานี้มีจำนวนทั้งสิ้น 8,384 ราย ผลการศึกษาของ Zhou และคณะ พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้าของ Huo และคณะ [7] ที่ได้เสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับยา enalapril 10 มิลลิกรัมต่อวัน ในกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 10,348 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับยา enalapril 10 มิลลิกรัมต่อวันเพียงชนิดเดียว จำนวน 10,345 ราย เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4.5 ปี ผลการศึกษาพบว่าการเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับใช้ยา enalapril 10 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้การศึกษาของ Hsu และคณะ [8] ที่ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลของการเสริมกรดโฟลิกในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 65,812 ราย จากการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 13 การทดลอง ผลการวิเคราะห์พบว่าการเสริมกรดโฟลิกเพียงอย่างเดียวหรือการเสริมกรดโฟลิกร่วมกับการเสริมวิตามินบี 12 ในปริมาณที่น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตได้ จากข้อมูลงานวิจัยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเสริมกรดโฟลิกกับการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การหมั่นออกกำลังกาย และการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดยังคงเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ปริมาณกรดโฟลิกที่แนะนำต่อวัน

ผู้ป่วยหลายท่านหรือบุคคลทั่วไปอาจมีข้อสงสัยว่าหากไม่ต้องการรับประทานกรดโฟลิกในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ เราจะสามารถรับกรดโฟลิกจากทางใดได้บ้าง เนื่องจากร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์กรดโฟลิกได้เองต้องได้รับจากอาหาร ซึ่งในธรรมชาติกรดโฟลิกพบมากในผักใบเขียวเกือบทุกชนิด เช่น คะน้า ปวยเล้ง กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ และถั่วลันเตา นอกจากนี้ยังมีแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิกอีกมากมาย เช่น ปลา นมสด ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ และผลไม้ตระกูลส้ม เป็นต้น ปริมาณกรดโฟลิกที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล อาจได้รับในปริมาณที่แตกต่างกัน สำหรับคำแนะนำในการรับประทานกรดโฟลิกสำหรับบุคคลทั่วไป ดังแสดงในตารางที่ 1



จากผลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาที่ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมากช่วยสนับสนุนประโยชน์ของการเสริมกรดโฟลิกกับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามปริมาณที่แน่นอนสำหรับการเสริมกรดโฟลิกเพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน และยังไม่มีงานวิจัยที่ทำการศึกษาผลของการเสริมกรดโฟลิกในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีระดับโฮโมซีสทีนสูง ดังนั้นก่อนได้รับการเสริมกรดโฟลิกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการรักษาโรค หรือทำการตรวจวัดระดับสารโฮโมซีสทีนในกระแสเลือดก่อนการเสริมกรดโฟลิกเพื่อการรักษาที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง
  1. Drugs.com. American Society of Health-System Pharmacists. 2010-01-01. สืบค้นเมื่อ 2018-08-19.
  2. Huo Y, Qin X, Wang J, et al. Efficacy of folic acid supplementation in stroke prevention: new insight from a meta-analysis. Int J Clin Pract. 2012;66:544-51.
  3. Clarke R, Daly L, Robinson K, et al. Hyperhomocysteinemia: an independent risk factor for vascular disease. N Engl J Med 1991;324:1149–55.
  4. Graham IM. Plasma homocysteine as a risk factor for vascular disease. JAMA 1997;277:1775–81.
  5. Homocysteine Studies Collaboration. Homocysteine and risk of ischemic heart disease and stroke: a meta-analysis. JAMA 2002;288:2015–22.
  6. Zhou Z, Li J, Yu Y, et al. Effect of Smoking and Folate Levels on the Efficacy of Folic Acid Therapy in Prevention of Stroke in Hypertensive Men. Stroke. 2018;49:114-120.
  7. Huo Y, Li J, Qin X, et al. Efficacy of folic acid therapy in primary prevention of stroke among adults with hypertension in China: the CSPPT randomized clinical trial. JAMA. 2015;313:1325-35.
  8. Hsu CY, Chiu SW, Hong KS, et al. Folic Acid in Stroke Prevention in Countries without Mandatory Folic Acid Food Fortification: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. J Stroke. 2018;20:99-109.
  9. From the Centers for Disease Control and Prevention. Recommendations for use of folic acid to reduce number of spina bifida cases and other neural tube defects. JAMA. 1993;269:1236-8.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.