Knowledge Article


รู้และเข้าใจสารเจือปนในผลิตภัณฑ์ยา กรณีเรียกเก็บคืน ยาวาลซาร์แทน (Valsartan)


ผศ.ดร.ภกญ. ปิยนุช โรจน์สง่า ภาควิชาเภสัชเคมี และ
ภกญ. รุ้งลาวัลย์ ตันติวัฒนกูล สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://ctviewpoints.org/files/2017/05/pill-prices.jpg
14,742 View,
Since 2018-07-22
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/26ftphjl
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ยารักษาโรคจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งการเลือกใช้ยาให้ถูกโรค ยาที่ใช้มีคุณภาพมาตรฐานที่ดีและไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ การควบคุมคุณภาพยาจึงเข้มงวดและประกอบด้วยหลายขั้นตอน ตั้งแต่การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบตัวยาสำคัญ ส่วนประกอบต่างๆ และผลิตภัณฑ์ยา โดยมีการควบคุมทั้งปริมาณตัวยาสำคัญให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและปริมาณสารเจือปนไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีการควบคุมคุณภาพในระหว่างกระบวนการผลิตอีกด้วย



สารเจือปนในยา คือ สารที่ไม่ต้องการซึ่งพบในตัวยาสำคัญหรือในผลิตภัณฑ์ยา โดยสารเจือปนดังกล่าวอาจมีความเป็นพิษ หรือถ้าสารเจือปนนั้นเป็นสารสลายตัวของตัวยาสำคัญอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยานั้นๆ ได้

สารเจือปนในวัตถุดิบยา อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตวัตถุดิบยา โดยใช้ปฏิกิริยาทางเคมีในการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นซึ่งอาจทำให้เกิดสารเจือปนต่างๆได้เช่น สารตั้งต้นในปฏิกิริยาเคมี (starting materials) สารอื่นที่เกิดขึ้นในปฏิกิริยา (by-products) สารตัวกลางในปฏิกิริยาทางเคมี โลหะที่ใช้ในการเร่งปฏิกิริยาเคมี ตัวทำละลายที่ใช้ในการผลิต นอกจากนี้สารเจือปนที่พบในตัวยาสำคัญอาจเกิดจากการสลายตัวของยาดังกล่าวในระหว่างการเก็บรักษาการสังเคราะห์ยาหนึ่งๆสามารถทำได้หลายวิธีซึ่งแต่ละวิธีจะทำให้เกิดสารเจือปนในตัวยานั้นได้แตกต่างกัน

สารเจือปนในผลิตภัณฑ์ยา ส่วนใหญ่ที่พบมักเกิดจากการสลายตัวของตัวยาสำคัญซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตหรือการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ยา สารเจือปนในยาอาจเป็นสารที่ทราบชนิดและความเป็นอันตรายหรือเป็นสารที่ไม่ทราบชนิดได้ โดยปริมาณสารเจือปนในยาที่พบต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในทะเบียนตำรับยาที่แจ้งไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมีการระบุสารเจือปนประเภทตัวทำละลายที่ต้องหลีกเลี่ยง (Solvents to be avoided) ได้แก่ ตัวทำละลายที่มีอันตรายสูง เป็นสารก่อมะเร็งและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ตัวทำละลายประเภทนี้ในการผลิตวัตถุดิบตัวยาสำคัญ สารปรุงแต่ง และผลิตภัณฑ์ยา ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จะต้องมีปริมาณตัวทำละลายตกค้างไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น benzene ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น (1-4)



กรณีมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของ วาลซาร์แทน (Valsartan) จากท้องตลาดทั้งในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรปร่วมทั้งประเทศไทย (5) เนื่องจากมีการตรวจพบสารเจือปน N-Nitrosodimethylamine (NDMA) ในผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้วัตถุดิบตัวยาสำคัญวาลซาร์แทน จากบริษัท Zhejiang Huahai Pharmaceuticals สาธารณรัฐประชาชนจีน ทางบริษัทผู้ผลิตคาดว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนกระบวนการผลิตวัตถุดิบยา ทั้งนี้มีผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้จำหน่ายในประเทศไทยรวมทุกความแรงทั้งสิน 38 ตำรับ โดยมีเพียง 5 ตำรับที่ถูกเรียกคืนเนื่องจากใช้วัตถุดิบยาวาลซาร์แทน จากบริษัท Zhejiang Huahai Pharmaceuticals (ตารางที่ 1) ทั้งนี้การปนเปื้อนสาร NDMA ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ยา ถ้าบริษัทผู้ผลิตยาทั้ง 5 ตำรับดังกล่าวสามารถแก้ไขการปนเปื้อนสาร NDMA ได้จะสามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทนได้ตามปกติ (5)

ผู้ป่วยที่ได้รับผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของยาวาลซาร์แทน เพื่อใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้ก่อนว่าตรงกับผลิตภัณฑ์ยาที่เรียกคืนหรือไม่ ไม่ควรหยุดยาเองหรือไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น เนื่องจากสารก่อมะเร็งที่พบไม่ใช่ตัวยา วาลซาร์แทน แต่เป็นสารเจือปนที่มีโอกาศพบในผลิตภัณฑ์ยา 5 ตำรับดังแสดงในตารางที่ 1 โดยผลิตภัณฑ์ยาตำรับอื่นๆที่ไม่ได้ใช้วัตถุดิบจากบริษัทดังกล่าวยังสามารถใช้เพื่อการรักษาได้ตามปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับยาในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงอื่นๆเช่น amlodipine atenolol enalapril สามารถใช้ยาได้ตามปกติซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกคืนยา



การตรวจสอบเลขทะเบียนตำรับยาที่รับประทานอยู่ว่าตรงกับผลิตภัณฑ์ยาที่เรียกคืนหรือไม่ สามารถสังเกตได้จาก ชื่อทางการค้าหรือยี่ห้อของยา (จุดที่ 1) นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบได้จากเลขทะเบียนตำรับของผลิตภัณฑ์ (จุดที่ 2) ที่อยู่บริเวณข้างกล่องบรรจุภัณฑ์ โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้



ทั้งนี้หากพบว่ายาที่ใช้มีชื่อทางการค้า หรือมีเลขทะเบียนตำรับที่ตรงกับผลิตภัณฑ์ยาที่ระบุในตารางที่ 1 ให้นำผลิตภัณฑ์ยาไปเปลี่ยน ณ โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลที่ได้รับการจ่ายยาดังกล่าว หากยังไม่สามารถไปเปลี่ยนยาได้ ไม่ควรหยุดการใช้ยาทันที เนื่องจากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่าจากการศึกษาข้อมูลความปลอดภัยย้อนหลัง ยังไม่พบว่าผู้ป่วยมีประเด็นการเกิดมะเร็งจากยานี้ที่ใช้วัตถุดิบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (5-7)

N-Nitrosodimethylamine (NDMA)เป็นสารอินทรีย์ที่ระเหยได้ จัดเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดมะเร็งตับในหนูทดลอง NDMA เป็นสารที่เคยใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงจรวด สารต้านอนุมูลอิสระ และสารให้ความเย็นสำหรับโคพอลิเมอร์ ปัจจุบันใช้เฉพาะเพื่อการวิจัยเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถพบการปนเปื้อน NDMA ในอากาศ ดินและแหล่งน้ำใต้ดินได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม NMDA ถูกทำลายได้ง่ายโดยแสงแดดภายในเวลาไม่กี่นาที (7)



ทั้งนี้การจัด NDMA เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์อาศัยข้อมูลความเป็นพิษจากหนูทดลองเท่านั้นโดยยังไม่ปรากฎข้อมูลความเป็นพิษในมนุษย์ที่ชัดเจน (7) เมื่อมีรายงานการปนเปื้อนสารดังกล่าวในวัตถุดิบยาจึงต้องมีการเรียกคืนและระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีการปนเปื้อนสาร NDMA เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้นเอง

เอกสารอ้างอิง
  1. ICH Q3A (R2): Impurities in New Drugs Substances. Quality Guideline: http://www.ich.org/fileadmin/Public_Web_Site/ICH_Products/Guidelines/Quality/Q3A_R2/Step4/Q3A_R2_Guideline.pdf
  2. ICH Q3B (R2): Impurities in New Drugs Product. Quality Guideline: http://www.ich.org/fileadmin/Public_Web_Site/ICH_Products/Guidelines/Quality/Q3B_R2/Step4/Q3B_R2_Guideline.pdf
  3. ICH Q3C (R6): Impurities: Guildline for Residual Solvents. Quality Guideline: http://www.ich.org/fileadmin/Public_Web_Site/ICH_Products/Guidelines/Quality/Q3C/Q3C_R6_Step_4.pdf
  4. ปิยนุช โรจน์สง่า. ข้อกำหนด International Council for Harmonization (ICH) Q3 Impurities. ใน: จุฑารัตน์ พิมพ์ทนต์, นันทนา นุชถาวร, กันตรัตน์ อรุณรุ่งวิเชียร, บรมพจน์ พฤฒิวนาสัณฑ์, บรรณาธิการ. International Council for Harmonization (ICH) สู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: พี.เอส.พริ้นท์; 2560. หน้า 54–80.
  5. อย. เรียกเก็บคืน “ยาวาลซาร์แทน (Valsartan)” หลังพบสารก่อมะเร็งในวัตถุดิบ. ข่าวประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักคณะกรรมการอาหารและยา. http://www.fda.moph.go.th/SitePages/News.aspx?IDitem=634 (Accessed July 18, 2018)
  6. Zhao, Y.-T.; Li, P.-Y.; Zhang, J.-Q.; Wang, L.; Yi, Z., Angiotensin II Receptor Blockers and Cancer Risk: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. Medicine 2016, 95 (18), e3600.
  7. แนวทางปฏิบัติสาหรับประชาชน กรณีเรียกเก็บคืน “ยาวาลซาร์แทน (Valsartan)” หลังพบสารก่อมะเร็งในวัตถุดิบ ข่าวประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักคณะกรรมการอาหารและยา. http://www.fda.moph.go.th/SitePages/News.aspx?IDitem=636 (Accessed July 18, 2018)
  8. Technical Fact Sheet –N-Nitroso-dimethylamine (NDMA). Available at https://www.epa.gov/sites/production/files/2017-10/documents/ndma_fact_sheet_update_9-15-17_508.pdf. (Accessed July 20, 2018).

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.