Knowledge Article


วิตามินซีกับโรคเกาต์


ผศ.ดร.ภญ. วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.mayoclinic.org/-/media/kcms/gbs/patient-consumer/images/2017/12/06/17/46/r7_gout-8col.jpg
150,534 View,
Since 2018-06-03
Last active: 1 days ago
https://tinyurl.com/24sc6mza
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงคืออะไร มีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงตามคำจำกัดความของแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ปี พ.ศ. 2555 ในประเทศไทย ระบุว่าภาวะกรดยูริกในเลือดสูงคือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือด (serum uric acid, SUA) สูงกว่าปกติ โดยเพศชายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมก/เดซิลิตร และเพศหญิงมีระดับกรดยูริกในเลือด สูงกว่า 6 มิลลิกรัมก/เดซิลิตร เมื่ออิงตามคุณสมบัติทางเคมีของกรดยูริกซึ่งจะเกิดการตกผลึกยูเรตในเนื้อเยื่อเมื่อมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6.8 มิลลิกรัมก/เดซิลิตร ที่ 37 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดการสะสมของผลึกยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย และเกิดกระบวนการอักเสบเกิดขึ้น [1]



ภาพจาก : https://i.ytimg.com/vi/8b5MTYpudsA/maxresdefault.jpg

ผลการวิจัยพบว่าร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยโรคเกาต์มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง อย่างไรก็ตามไม่ใช่หมายความว่าผู้ที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงทุกคนจะเป็นโรคเกาต์ เพราะผู้ที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงบางรายอาจไม่แสดงอาการ ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเกิดโรคเกาต์สูงขึ้นในแต่ละปี โดยมีความชุกการเกิดโรคเกาต์โดยเฉลี่ยทั่วโลกประมาณร้อยละ 1-4 [2] ขณะที่ในประเทศไทยพบความชุกของการเกิดโรคเกาต์ประมาณ 0.16% ของโรคปวดข้อกระดูกทั้งหมด [3] โดยพบในเพศชายมากกว่าหญิง ในอัตราส่วน 3:1 นอกจากนี้ยังพบความชุกการเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามอายุ ในเพศชายอายุมากกว่า 65 ปีพบได้ร้อยละ 7 และเพศหญิงอายุมากกว่า 85 ปีและหญิงวัยหมดประจำเดือนพบได้ร้อยละ 3 [3,4] ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ของผู้ป่วยโรคเกาต์

อะไรเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคเกาต์

สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะกรดยูริกในเลือดสูง เกิดจาก 2 สาเหตุหลักที่สำคัญ คือ การสร้างกรดยูริกเพิ่มมากขึ้นจากปกติและการขับกรดยูริกออกทางไตในปริมาณต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความบกพร่องของกลุ่มโปรตีนขนส่งยูเรตหลายๆ ชนิดซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการดูดซึมกลับและการขับออกของยูเรตที่ไต หรือการได้รับยาบางชนิดซึ่งมีผลยับยั้งการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย เช่น ยาแอสไพริน ยาขับปัสสาวะบางชนิดเช่น loop diuretics เป็นต้น หรือเกิดจากสาเหตุจากทั้งสองปัจจัยร่วมกัน

ข้อมูลจนถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมากกว่าร้อยละ 90 เกิดจากความบกพร่องในกระบวนการกำจัดยูเรตออกทางไตเป็นสาเหตุหลัก ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เกิดจากร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป [1,6] โดยส่วนมากเกิดจากการสร้างขึ้นในร่างกายเองคิดเป็นร้อยละ 90 และร้อยละ 10 เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูงซึ่งเมื่อรับประทานไปแล้วจะเปลี่ยนไปเป็นกรดยูริกได้ เช่น เครื่องในสัตว์ ปลาดุก กุ้ง ไก่ ชะอม กระถิน อาหารทะเล เนื้อแดง สัตว์ปีก และยีสต์ เป็นต้น

ผลของโรคเกาต์นอกจากทำให้เกิดอาการปวดข้อ แล้วทำให้เกิดอะไรได้อีกบ้าง ?

โรคเกาต์ทำให้เกิดอาการปวดอักเสบของข้อและกระดูก การสะสมของยูเรตในข้อทำให้เกิดภาวะกระดูกผิดรูป นอกจากนั้นปัจจุบันพบความสัมพันธ์ของภาวะกรดยูริกในเลือดสูงในโรคเกาต์กับการเกิดกลุ่มโรคเมตาบอลิก (metabolic syndromes) เนื่องจากคาดว่ากรดยูริกมีผลทำให้เกิดกระบวนการสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้นมีผลก่อเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไขมันในเลือดสูง และการสะสมของกรดยูริกยังทำให้เกิดการตกตะกอนที่ท่อไตทำให้เกิดโรคไตในที่สุดอีกด้วย [6]

การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น สัตว์ปีก เป็นสาเหตุสำคัญในการเพิ่มการสร้างกรดยูริกจริงหรือไม่

จริงๆ แล้วการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากๆส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการ เมแทบอลิซึมของการสร้างกรดยูริกในร่างกายหรือความบกพร่องในการขับกรดยูริกที่ไตมากกว่าเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูงที่ได้รับจากภายนอก โดยถึงแม้ว่าผลจากการกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ จะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นจากเดิม แต่พบว่ามีผลทำให้ระดับยูริกในเลือดเพิ่มขึ้นเพียงไม่เกินร้อยละ 1-2 มิลลิกรัม เท่านั้น [7] อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง แม้มิได้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ในคนปกติ แต่ก็อาจกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์อยู่แล้ว ดังนั้นผู้ป่วยยังจึงควรควบคุมปริมาณการรับประทานที่เสี่ยงการการเพิ่มระดับกรดยูริกในร่างกาย [1]

นอกจากอาหารจำพวกสัตว์ปีก อาหารทะเล และเนื้อแดง แล้วมีอาหารประเภทใดอีกที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเกาต์

ปัจจุบันมีการวิจัยพบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่น้ำตาลกลูโคส (non-glucose carbohydrate) เช่น น้ำตาลฟรุ๊กโตส, glycerol, sorbitol และ xylitol เป็นต้น ข้อมูลการวิจัยในปัจจุบันพบว่าการได้รับน้ำตาลฟรุ๊กโตส โดยเฉพาะจากในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ (เช่น น้ำส้ม และน้ำแอปเปิ้ล เป็นต้น) ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลฟรุ๊กโตสสูงสัมพันธ์กับการเพิ่มความเข้มข้นระดับกรดยูริกในเลือดทั้งในเพศชายและหญิง [8] โดยการเร่งการเปลี่ยน ATP เป็น ADP และเปลี่ยนแปลงต่อได้ AMP ซึ่งสุดท้ายมีผลทำให้ปริมาณสารอินโนสิทอล (inosine) ที่เป็นต้นกำเนิดการสร้างกรดยูริกในร่างกายมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลยับยั้งการขับออกของเกลือยูเรตที่ไตอีกด้วย

ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรปฏิบัติตนอย่างไร และอาหารชนิดใดมีผลลดกรดยูริกได้

ตามแนวทางการรักษาโรคเกาต์ฉบับปรับปรุงล่าสุด ปี ค.ศ. 2016 ของสมาคมกลุ่มรักษาโรคข้อกระดูกในยุโรป (European League Against Rheumatism: EULAR) [8] ระบุว่าสิ่งสำคัญควบคู่กับการรักษาโดยการใช้ยาคือการแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเกาต์มีความรู้เกี่ยวกับพยาธิสภาพของการเกิดโรคและเพิ่มความตระหนักเรื่องการปฏิบัติตนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เพิ่มการออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นประจำ ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อแดงและอาหารทะเล โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงและไขมันต่ำ โดยเฉพาะพบว่าการดื่มกาแฟ น้ำเชอรี่ นมขาดไขมัน (skimmed milk) และโยเกิร์ตไขมันต่ำ และกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 (omega-3 fatty acid) ที่มีรายงานว่าช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดได้

จริงหรือไม่ที่การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำช่วยลดกรดยูริกได้

ผลการวิจัยคาดว่าวิตามินซีมีผลในการลดระดับกรดยูริกในเลือดจาก 2 กลไกหลักที่เกี่ยวข้อง [9]
  1. วิตามินซี ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมเกลือยูเรตกลับเข้าสู่ร่างกายโดบการยับยั้งที่ตัวขนส่งโปรตีน ในท่อไตชนิด URAT1 จึงมีผลเร่งการขับกรดยูริกออกทางไต จึงมีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดลดลง
  2. วิตามินซีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและผลการวิจัยพบว่าการขาดวิตามินซีอาจมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะอักเสบของโรคข้อกระดูกหลายข้อ (inflammatory polyarthritis) โดยไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด [10]
ฤทธิ์ลดระดับกรดยูริกของวิตามินซีนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายการวิจัย ซึ่งพบความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานวิตามินซีขนาด 500 มิลลิกรัม/วัน กับลดความเสี่ยงการเกิดโรคเกาต์ เช่น Huang และคณะ ทำการศึกษาแบบสุ่มและปกปิดสองด้าน เปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก ในผู้ป่วยจำนวน 184 คน พบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ที่รับประทานวิตามินซีขนาด 500 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกันนาน 2 เดือนมีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดลดลงประมาณ 0.5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขณะที่กลุ่มที่ได้ยาหลอกมีค่าลดลง 0.09 มิลลิกรัม/เดซิลิตร [11] นอกจากนั้นการศึกษาของ Choi และคณะ ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่รับประทานวิตามินซีกับอุบัติการณ์การเกิดโรคเกาต์ โดยใช้หลักเกณฑ์ประเมินโรคเกาต์จากแบบสอบถาม พบว่าเพศชายที่รับประทานวิตามินซีขนาด 1,000-1,500 มิลลิกรัม/วัน มีความเสี่ยงการเกิดโรคเกาต์ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้รับประทานวิตามินซีขนาดต่ำกว่า 250 มิลลิกรัม/วัน ที่พบความเสี่ยงการเกิดโรคเกาต์ลดลงร้อยละ 17 [12] นอกจากนั้นจากผลการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (meta-analysis) โดยการสรุปวิเคราะห์ผลจากงานวิจัยแบบสุ่มจำนวน 13 เรื่อง พบว่าการรับประทานวิตามินซีขนาด 500 มิลลิกรัม/วันนาน 30 วัน ให้ระดับกรดยูริกในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ประมาณ 0.35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร [13]

อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยที่พบผลที่ขัดแย้งกันโดยไม่พบความสัมพันธ์ของการรับประทานวิตามินซีและฤทธิ์ลดกรดยูริกในเลือด เช่น การศึกษาของ Stamp และคณะ [14] ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่มีระดับกรดยูริกในเลือดมากกว่า 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จำนวน 40 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับการรักษา (20 คน) แล้วจึงแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เป็นกลุ่มที่เริ่มรักษาโดยใช้วิตามินซีขนาด 500 มิลลิกรัม/วัน และกลุ่มที่เริ่มรับการรักษาโดยใช้ยาอัลโลพูรินอล (100 มิลลิกรัม/วัน) หรือกลุ่มที่ 2 เป็นผู้ป่วยเคยได้รับการรักษาด้วยยาอัลโลพูรินอล (100 มิลลิกรัม/วัน) อยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ผล จึงทำการศึกษาโดยให้แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ยาเดิมต่อไปแต่เพิ่มให้วิตามินซีขนาด 500 มิลลิกรัม/วัน ร่วมด้วย และกลุ่มที่ทำการเพิ่มขนาดยาอัลโลพูรินอล (100 มิลลิกรัม/วัน) ทำการศึกษาติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า ทั้งกลุ่มที่เริ่มต้นรักษาด้วยวิตามินซีหรือให้วิตามินซีเสริมร่วมกับยาอัลโลพูรินอล ให้ผลลดระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ได้เริ่มรักษาด้วยยาอัลโลพูรินอลอย่างเดียวหรือเพิ่มขนาดยา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

โดยสรุปแม้ข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานวิตามินซีกับการลดกรดยูริกยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด อย่างไรก็ตามปริมาณที่แนะนำให้รับประทานวิตามินซีต่อวัน (Recommended Dietary Allowance: RDA) ในผู้ใหญ่เพียงขนาด 75-90 มิลลิกรัม เท่านั้น โดยและพบว่าการรับประทานวิตามินซีในสูงมากกว่า 1,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งอาจเพิ่มความเป็นกรดในปัสสาวะ และอาจส่งผลลดความความสามารถในการละลายของกรดยูริก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลึกออกซาเลทที่อาจจับกับแคลเซียมในปัสสาวะซึ่งอาจก่อให้เกิดการตกตะกอนในท่อไตได้ จึงควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดก้อนนิ่วในท่อไต [15,16] ดังนั้นหากจะรับประทานวิตามินซีเพื่อลดระดับกรดยูริกในเลือดควรรับประทานในขนาดต่ำ (จากการศึกษาคือ 500 มิลลิกรัม/วัน) และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง
  1. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ (Guideline for Management of Gout) พ.ศ. 2555
  2. Ragab G, Elshahaly M, Bardin T. Gout: An old disease in new perspective – A review. Journal of Advanced Research. 2017; 8; 495–511
  3. Worawit L. An insight into rheumatology in Thailand. Nature Reviews Rheumatology. 2015:11: 55–61
  4. Smith E, March L. Global Prevalence of Hyperuricemia: A Systematic Review of Population-Based Epidemiological Studies. Arthritis Rheumatol. 2015; 67 (suppl 10). http://acrabstracts.org/abstract/global-prevalence-of-hyperuricemia-a-systematic-review-of-population-based-epidemiological-studies/. Accessed February 24, 2018.
  5. Jung JH, Song GG, Lee YH, Kim JH, Hyun MH, Choi SJ. Serum uric acid levels and hormone therapy type: a retrospective cohort study of postmenopausal women. Menopause. 2018;25(1):77-81.
  6. Dalbeth N, Merriman TR, Stamp LK. Gout. Lancet. 2016 Oct 22;388(10055):2039-2052.
  7. Borghi C. The management of hyperuricemia: back to the pathophysiology of uric acid. Curr Med Res Opin. 2017 Nov;33(sup3):1-4.
  8. Richette P, Doherty M, Pascual E, Barskova V, Becce F, Casta?eda-Sanabria J, Coyfish M, Guillo S, Jansen TL, Janssens H, Liot? F, Mallen C, Nuki G, Perez-Ruiz F, Pimentao J, Punzi L, Pywell T, So A, Tausche AK, Uhlig T, Zavada J, Zhang W, Tubach F, Bardin T. 2016 Updated EULAR evidence-based recommendations for the management of gout. Ann Rheum Dis. 2016; 1-14
  9. Shen L, Ji HF. Potential of vitamin C in the prevention and treatment of gout. Nat Rev Rheumatol. 2011;7(6):368.
  10. Pattison, D. J. et al. Vitamin C and the risk of developing inflammatory polyarthritis: prospective nested case-control study. Ann. Rheum. Dis. 63, 843–847 (2004).
  11. Huang HY, Appel LJ, Choi MJ, Gelber AC, Charleston J, Norkus EP, et al. The effects of vitamin C supplementation on serum concentrations of uric acid: results of a randomized controlled trial. Arthritis and rheumatism. 2005;52(6):1843-7.
  12. Choi HK, Gao X, Curhan G. Vitamin C intake and the risk of gout in men: a prospective study. Archives of internal medicine. 2009;169(5):502-7.
  13. Juraschek SP, Miller ER 3rd, Gelber AC. Effect of oral vitamin C supplementation on serum uric acid: a meta-analysis of randomized controlled trials. Arthritis Care Res (Hoboken). 2011 Sep;63(9):1295-306.
  14. Stamp LK, O'Donnell JL, Frampton C, Drake JM, Zhang M, Chapman PT. Clinically insignificant effect of supplemental vitamin C on serum urate in patients with gout: a pilot randomized controlled trial. Arthritis Rheum. 2013;65(6):1636-42.
  15. Levine M, Conry-Cantilena C, Wang Y, Welch RW, Washko PW, Dhariwal KR, Park JB, Lazarev A, Graumlich JF, King J, Cantilena LR. Vitamin C pharmacokinetics in healthy volunteers: evidence for a recommended dietary allowance. Proc Natl Acad Sci U S A. 1996;93(8):3704-9.
  16. Baxmann AC, De O G Mendon?a C, Heilberg IP. Effect of vitamin C supplements on urinary oxalate and pH in calcium stone-forming patients. Kidney Int. 2003 Mar;63(3):1066-71
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.