Knowledge Article


ครีมกำจัดขน: ใช้เป็นประจำ มีอันตรายหรือไม่?


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://130.211.119.163//wp-content/uploads/2015/05/hair-removal-cream.jpg
125,499 View,
Since 2017-04-23
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/245t6gdr
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ความสวยงามบนเรือนร่างของหญิงและชาย เป็นจุดสนใจของเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงมักให้ความสนใจกับความเกลี้ยงเกลาของเรือนร่าง จึงไม่ต้องการให้มีเส้นขนโผล่ตามผิวหนังไม่ว่าจะเป็น แขน ขา ใต้วงแขน หรือแม้แต่ในร่มผ้า ดังนั้นจึงต้องมีวิธีกำจัดเส้นขนตามร่างกายที่ไม่ต้องการออกไป ซึ่งวิธีทั่วไปที่ใช้กันในปัจจุบัน มี 3 วิธีคือ



ภาพจาก : http://healthybeautiful.com/wp-content/uploads/2016/08/

The-Best-At-Home-Laser-Hair-Removal-1080x605.jpg
  1. ใช้ครีมกำจัดเส้นขน (Dipilatories)
  2. ใช้วิธีถอนเส้นขนออกทั้งราก (Epilation) โดยใช้อุปกรณ์ช่วย หรือใช้แวกซ์ถอนขน
  3. ใช้อุปกรณ์การแพทย์ เช่น แสงเลเซอร์
สองวิธีแรกมีใช้กันมาตั้งแต่อดีตเพราะง่ายและประหยัด ส่วนวิธีที่ 3 เป็นการใช้อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้ลงมือทำให้ ค่าใช้จ่ายก็ต้องแพงเป็นธรรมดา ดังนั้นผลิตภัณฑ์ประเภทครีมกำจัดเส้นขนจึงเป็นที่นิยมมากที่สุด รูปแบบที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดมีทั้ง เจล ครีม โลชั่น แอโรโซลชนิดสเปรย์ โรยออน และรูปแบบแป้งฝุ่นโรยผิว นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้มานานตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน เพียงแต่สูตรครีมชนิดนี้ในอดีต อาจมีกลิ่นฉุนรุนแรงของทั้งกรดและด่าง แต่ในปัจจุบันได้พัฒนาให้มีกลิ่นฉุนลดลง

กลไกการทำงานของ ผลิตภัณฑ์กำจัดเส้นขน

ครีมกำจัดเส้นขน มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีความเป็นด่างสูง คือ แคลเซี่ยม ไฮดรอกไซด์ ซึ่งมีอยู่ในเนื้อครีมปริมาณมาก และตัวยา แคลเซี่ยม ไทโอไกลโคเลท (Calcium thioglycolate) หรือ (sodium thioglycolate) เส้นขนของคนเรามีโครงสร้างหลักคือโปรตีน เรียกว่า 'คีราติน โปรตีน' (keratin protein) ในปริมาณ 65%-95% ทำให้เส้นขนหรือเส้นผมแข็งแรง ตัวยาไทโอไกลโคเลท จะมีกลิ่นฉุนและมีฤทธิ์เป็นด่างสูง จะทำหน้าที่ละลายโครงสร้างคีราตินโปรตีนของเส้นขนที่อยู่เหนือผิวหนัง ทำให้เส้นขนนุ่มลงและถูกตัดขาดจากรากขนหรือส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนังได้ง่าย ทำให้เช็ดออกได้ง่าย แต่รากเส้นขนยังคงอยู่ในชั้นผิวหนัง ผิวหนังชั้นบนสุดก็ประกอบด้วยโครงสร้างคีราตินโปรตีนเช่นเดียวกับเส้นขน ดังนั้นครีมกำจัดขน จึงไม่ควรทาค้างไว้บนผิวหนังนานๆ เพราะตัวยาจะไปทำลายเซลผิวหนังด้วย ทำให้ระคายเคืองได้

ข้อดี
  • เป็นวิธีที่ประหยัด
  • ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพียงทาครีมบนผิวหนังทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วเช็ดออก เป็นวิธีที่ไม่เจ็บปวดเลย
  • ทำเองได้ ไม่จำเป็นต้องมีประสพการณ์หรือไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ด้วยในขณะที่ทำ
  • ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด มีหลายความเข้มข้นให้เลือกซื้อสำหรับเส้นขนที่หนาและแข็ง อาจต้องใช้ชนิดความเข้มข้นสูงสำหรับผู้ที่มีเส้นขนไม่หนาและอ่อน ควรเริ่มต้นเลือกทดลองใช้ความเข้มข้นที่น้อยที่สุดก่อน
  • หาซื้อได้ง่ายทั่วไป
ข้อเสีย
  • ได้ผลในระยะสั้นๆเท่านั้น เส้นขนจะกลับเจริญเติบโตขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วภายใน 2-5 วันเท่านั้น
  • ผู้ที่มีเส้นขนสีดำ อาจจะมองเห็นเป็นรอยดำๆบนผิวหนัง ซึ่งเป็นสีดำของเส้นขนที่ตกค้างอยู่ใต้ผิวหนังที่ยังคงอยู่นั่นเอง
  • ผลิตภัณฑ์มักมีกลิ่นฉุนและเลอะเทอะเวลาใช้ แม้ว่าหลายยี่ห้อได้พัฒนาสูตร แต่ยังมีกลิ่นเคมีหลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อย
  • ระคายเคืองผิวหนัง เนื่องจากมีความเป็นด่างสูง
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
  1. เนื่องจากชั้นของผิวหนังมีองค์ประกอบของโปรตีนคีราตินเช่นเดียวกับโปรตีนของเส้นขนหรือเส้นผม ดังนั้นเคมีในเนื้อครีมจะทำลายโปรตีนชั้นผิวหนังที่สัมผัสตัวยาเช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเนื้อครีมกำจัดเส้นขนถูกพอกทิ้งไว้นานเกินไป ผิวหนังจะระคายเคือง และอักเสบได้
  2. ก่อนการใช้งาน ควรทดสอบอาการแพ้หรือไม่แพ้ด้วยตนเองบนผิวหนังบริเวณเล็กๆ โดยทาเนื้อครีมในบริเวณที่ต้องการกำจัดขน ทิ้งไว้สัก 10-15 นาที หรือตามที่ระบุไว้บนฉลาก จากนั้นเช็ดเนื้อครีมออกด้วยกระดาษหรือผ้าชื้น และสังเกตุอาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่มีอาการไหม้ แต่อาจมีเพียงแดงเล็กน้อย แสดงว่าสามารถใช้ครีมดังกล่าวสำหรับกำจัดเส้นขนได้โดยไม่เกิดอันตราย แต่หากมีอาการไหม้ และปวดแสบปวดร้อน ไม่ควรใช้ต่อ
  3. สถาบันประเมินความเสี่ยงจากการใช้สินค้าของผู้บริโภค ประเทศเยอรมนี (BfR) ได้ออกมาเตือนการใช้ครีมกำจัดขนชนิดนี้ว่า ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองไม่มากก็น้อยต่อผิวหนังบริเวณที่ใช้ได้ และหากมีการใช้เป็นประจำ และใช้ซ้ำบ่อยๆในบริเวณเดียวกัน อาจระคายเคืองมากได้ และไม่แนะนำให้ใช้ซ้ำบ่อยๆในบริเวณเดียวกัน เช่น มีการพอกบนผิวหนังทุก 2-5 วันซ้ำ เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงขึ้น อาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความเป็นด่างสูงหรืออาจเกิดจากสารเคมีไทโอไกลโคเลทเองซึ่งยังไม่มีข้อสรุป
  4. ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีข้อบ่งใช้เฉพาะกำจัดเส้นขนตามแขนและขาเท่านั้น ไม่ควรใช้กับใบหน้าเพื่อกำจัดหนวด เครา หรือขนคิ้วเด็ดขาด รวมถึงบริเวณที่ลับใต้ร่มผ้า หรือผิวหนังบริเวณใกล้อัวยวะเพศ หรือเส้นขนในรูจมูก ซึ่งเป็นผิวหนังอ่อนไหวและชั้นหนังกำพร้าบาง จะเป็นอันตรายได้ง่าย ผู้บริโภคควรอ่านฉลากกำกับ และใช้ตามข้อแนะนำในฉลากเท่านั้น


เอกสารอ้างอิง
  1. Pros and Cons of Hair Removal Creams (Depilatories). http://hairfreelife.com/hair-removal-cream-pros-and-cons/
  2. Removing Hair Safely. https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm048995.htm
  3. Hair removal. https://en.wikipedia.org/wiki/Hair_removal

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.