Knowledge Article


ลูกตัวเหลือง เรื่องไม่เล็กของเด็กเปลี่ยนสี


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร
ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://images.parents.mdpcdn.com/sites/
parents.com/files/styles/width_300/public/images/p_iStock_000005962860.jpg
165,883 View,
Since 2017-03-31
Last active: 9m ago
https://tinyurl.com/2dmwmu94
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ความสุขและความปลาบปลื้มใจในชีวิตของคุณพ่อคุณแม่คือการได้ยลโฉมลูกน้อยครั้งแรกในชีวิตและพบว่าร่างกายของลูกน้อยสมบูรณ์แข็งแรงไม่พบความผิดปกติใด แต่หลังจากนั้นสองสามวันถัดมาคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หรือแม้แต่มืออาชีพหลายคนอาจพบภาวะตัวเหลืองในลูกน้อยและเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก แม้ว่าภาวะตัวเหลืองในทารกอาจมิใช่เรื่องใหม่ไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมีนักวิชาการหลายท่านอธิบายไว้ แต่ผู้เขียนขอเลือกภาวะนี้มาอธิบายซ้ำอีกครั้งในภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับแฟนานุแฟนของ “คลังความรู้สู่ประชาชน” คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลครับ



ภาพจาก : http://images.parents.mdpcdn.com/sites/

parents.com/files/styles/width_300/public/images/p_iStock_000005962860.jpg


ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดคืออะไร ?

ภาวะตัวเหลือง เกิดจากมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ในเลือดสูงกว่าปกติ บิลิรูบินนี้เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาในร่างกายของคนปกติ บิลิรูบินในเลือดจะผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ตับให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำมากขึ้นและถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

ภาวะตัวเหลือง เป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากพบได้มากถึงร้อยละ 50 ของทารกแรกคลอดและอาจจะพบมากขึ้นเมื่อทารกคลอดก่อนกำหนด นอกจากนั้นแล้วภาวะตัวเหลืองในทารกยังแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักได้ดังนี้
  1. ภาวะตัวเหลืองปกติ (physiologic jaundice) ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะมีจำนวนของเม็ดเลือดแดงมากกว่าและมีอายุสั้นกว่าของผู้ใหญ่เพราะทำหน้าที่รับออกซิเจนผ่านทางสายรกที่ส่งผ่านมาจากเลือดของแม่ เมื่อทารกคลอดจากครรภ์ของแม่จะเริ่มหายใจด้วยปอด เม็ดเลือดแดงชนิดเดิมของทารกจะแตกสลายและเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารบิลิรูบินมากกว่าปกติจนเกินกว่าความสามารถในการกำจัดของร่างกาย เพราะตับของทารกยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกำจัดบิลิรูบินด้วยตับยังไม่สมบูรณ์ ทารกจึงเกิดภาวะตัวเหลืองจากการสะสมของสีบิลิรูบิน ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองปกติจะสามารถหายเองได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์และไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารก
  2. ภาวะตัวเหลืองผิดปกติหรือตัวเหลืองเนื่องจากเป็นโรค (pathologic jaundice) มีสาเหตุหลายประการดังต่อไปนี้
    1. เกิดภาวะการบกพร่องเอนไซม์ G6PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) ส่งผลทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ จะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
    2. เกิดจากหมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน เช่น แม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบกับลูกหมู่เลือด Rh บวก หรือ แม่ที่มีหมู่เลือดโอกับลูกที่มีหมู่เลือดเอบี มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นในลูกคนที่สอง เนื่องจากร่างกายแม่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อหมู่เลือดที่ไม่เข้ากันกับทารก อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้น้อยในประเทศไทย
    3. ภาวะตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการดื่มนมแม่ พบในทารกที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว สามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะอาการย่อยคือ 1. ทารกได้รับนมแม่ปกติ พัฒนาการด้านน้ำหนักตัวขึ้นดี ส่วนมากจะพบภาวะตัวเหลืองชัดเจนในช่วงท้ายสัปดาห์แรกเป็นต้นไป และ 2. ทารกได้รับนมแม่น้อยกว่าปกติ น้ำหนักตัวน้อยไม่เป็นไปตามพัฒนาการ พบในทารกที่แม่ขาดประสบการณ์ในการให้นม เช่นท่าอุ้มให้นมลูกไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดจากปัจจัยของตัวทารกเอง เช่นคลอดก่อนกำหนดหรือมีภาวะดูดนมยาก ภาวะลิ้นติด
    4. สาเหตุที่พบน้อยแต่มีความเสี่ยงสูง เช่น
      • เกิดภาวะตับอักเสบ อาจพบอาการอื่นร่วมกับอาการตัวเหลืองด้วย เช่น อาการไข้ ไม่ดูดนม ซึม ท้องโตเนื่องจากตับโต
      • เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาจพบอาการเหล่านี้ร่วมกับภาวะตัวเหลือง เช่น มีไข้ ชัก ซึม ไม่ดูดนม ท้องอืด
      • ภาวะพร่องไทรอยด์แต่แรกเกิด ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุนี้จะมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ ในบางครั้งอาจมีภาวะกระหม่อมกว้างกว่าปกติ สะดือจุ่น ลิ้นโตคับปาก แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ปกติแล้วทารกทุกรายจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ตั้งแต่แรกเกิด
      • ภาวะท่อหรือทางเดินน้ำดีตีบตันหรือโป่งพอง จะแสดงอาการของโรคที่สำคัญคือ ตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะมีสีเข้ม เนื่องจากไม่สามารถขับบิลิรูบินออกทางน้ำดีได้
ภาวะตัวเหลืองส่งผลร้ายต่อทารกอย่างไร ?

หากภาวะตัวเหลืองในทารกยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมาก บิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท เรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (kernicterus) ถ้าหากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ทารกจะมีอาการซึม ดูดนมน้อยลง ตัวอ่อนปวกเปียก หรือ อาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่น ชัก มีอาการไข้ และอาจร้องไห้เสียงแหลม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในระยะเวลา 6-12 เดือนต่อมา ทารกจะมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายและแขนขา การได้ยินและการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในทารกแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าจะลดระดับของบิลิรูบินจนเข้าสู่ภาวะปกติ

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดวินิจฉัยได้อย่างไร ?

เนื่องจากภาวะตัวเหลืองส่งผลร้ายต่อทารกหลายประการ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำการตรวจสอบทารกเบื้องต้นได้โดยปฏิบัติตามขั้นตอนสองวิธีข้างต้น ดังนี้
  1. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดเบาๆ ที่ผิวหนังของทารกพร้อมกับแยกนิ้วออกจากกันเพื่อรีดเลือดออกจากเส้นเลือดฝอยในบริเวณที่จะสังเกตสีผิวที่แท้จริง ควรตรวจในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอและเริ่มจากใบหน้า เนื่องจากทารกจะเริ่มเกิดภาวะตัวเหลืองจากใบหน้า หน้าอก ท้อง แขน ขา หน้าแข้ง ฝ่ามือและผ่าเท้า อย่างไรก็ตามการตรวจสีผิวของทารกอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะการแยกสีผิวเดิมของทารกและไม่สามารถตรวจได้ถ้าทารกมีสีผิวคล้ำมาก
  2. การตรวจสภาพทางร่างกายของทารกในระบบต่าง ๆ ว่ามีความผิดปกติร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ท้องบวม การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือมีอาการไข้ ชัก ร่วมกับสีผิวที่ผิดปกติ
  3. การวัดระดับบิลิรูบิน เมื่อผ่านการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยสองวิธีการแล้ว กุมารแพทย์จะสั่งตรวจยืนยันระดับของบิลิรูบินในเลือดของทารกบางราย เนื่องจากการตรวจทางผิวหนังอาจจะได้ค่าสูงหรือต่ำกว่าในเลือด
  4. การเจาะเลือดเพื่อหาสาเหตุของภาวะตัวเหลือง วิธีนี้จะใช้วินิจฉัยสาเหตุที่เฉพาะลงไป เช่น การติดเชื้อในตับ ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ภาวะพร่องไทรอยด์ หรือแม้แต่ภาวะทางเดินน้ำดีตีบเป็นต้น
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดรักษาได้อย่างไร ?

แม้ว่าภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดจะพบได้บ่อยและอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของทารก แต่ภาวะนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการลดระดับของบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ดังนี้
  1. การส่องไฟรักษา คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าหลอดไฟธรรมดาสามารถรักษาภาวะตัวเหลืองได้ แต่แท้จริงแล้วหลอดไฟที่ใช้ในการรักษาเป็นหลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงเหมาะสมกับการรักษาเท่านั้น หากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงเกิน 12-15 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ต้องนำทารกมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้นเพราะไม่สามารถใช้หลอดไฟที่มีอยู่ตามบ้านหรือแสงแดดในการรักษาภาวะตัวเหลืองได้
  2. การถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา ถ้าหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมองเบื้องต้นแล้ว ควรใช้วิธีการถ่ายเลือดร่วมกับวิธีการส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายของทารกได้อย่างทันท่วงที
  3. การรักษาด้วยยา ยาที่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้คือยาชีววัตถุ เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin)
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรดูแลลูกน้อยที่มีภาวะตัวเหลืองอย่างไร ?
  1. หากพบทารกมีภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอด คุณหมอจะทำการรักษาตามวิธีมาตรฐานอยู่แล้วและอาจจะมีการนัดตรวจติดตาม บทบาทของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เพียงแค่พาลูกน้อยมาตรวจตามที่คุณหมอนัด
  2. หากลูกน้อยเริ่มแสดงอาการตัวเหลืองหลังจากกลับไปอยู่บ้าน ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบว่าทารกตัวเหลืองคือไม่ตามวิธีข้างต้น หากพบว่ามีอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้นควรนำลูกมาตรวจที่โรงพยาบาลทันที
  3. สังเกตสีของอุจจาระหรือปัสสาวะของทารก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้มควรมาพบแพทย์อย่างทันท่วงที
  4. อาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที
  5. เลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ หากคุณแม่มือใหม่ประสบปัญหาในการให้นมลูกน้อย เช่น ลูกดูดนมยาก ลูกดูดนมน้อยหรือยังให้นมลูกไม่ถูกต้อง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลเพื่อเสริมพัฒนาการที่ดีของทารก


เอกสารอ้างอิง
  1. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/1238_1.pdf
  2. http://www.msdmanuals.com/professional/pediatrics/metabolic,-electrolyte,-and-toxic-disorders-in-neonates/neonatal-hyperbilirubinemia
  3. http://www.parents.com/baby/care/jaundice/understanding-jaundice/
  4. ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด รศ.พญ.โสภาพรรณ เงินฉ่ำ 99 ปี ศัลยศาสตร์ศิริราช “สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน” 2559

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.