Knowledge Article


รวงผึ้ง ... พรรณไม้ประจำรัชกาลที่ 10


กนกพร อะทะวงษา
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.royalparkrajapruek.org/img/upload/20160620-5767575ac6e18.jpg
26,057 View,
Since 2017-03-05
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/25q2sdec
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
พรรณไม้ประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 คือต้นรวงผึ้ง (Schoutenia glomerata King subsp. peregrina (Craib) Roekm.) เนื่องด้วยดอกมีสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และออกดอกตรงกับช่วงเดือนพระราชสมภพ



ภาพจาก : http://www.chaoprayanews.com/wp-content/uploads/2016/12/2531.jpg

ต้นรวงผึ้งจัดเป็นพืชถิ่นเดียว (endermic plant) ของประเทศไทย พบบริเวณป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 ม.(1) มีชื่อสามัญว่า yellow star ทางภาคเหนือเรียก ดอกน้ำผึ้ง หรือรวงผึ้ง ส่วนภาคกล่างเรียกสายน้ำผึ้ง เป็นพืชในวงศ์ MALVACEAE(2) รวงผึ้งเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 8 เมตร เปลือกต้นสีเทาเข้ม ใบขนาด 4-12 x 3.5-5 ซม. ออกระนาบเดียวกัน รูปมนรี หรือขอบขนานปลายแหลม ฐานป้านและมักไม่สมมาตร ขอบใบเรียบ ใบแก่ค่อนข้างหนา สีเขียวเข้ม และเป็นมันด้านบน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ขนสีน้ำตาลครีม รูปคล้ายดาว หลุดออกง่าย เส้นใบหลักออกจากฐานใบ 3 เส้น ก้านใบ 0.2-0.9 ซม. มีขนละเอียด ดอกสีเหลืองสด ขนาด 1.3-1.5 ซม. สมบูรณ์เพศ ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ไม่แตกแขนง ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ เชื่อมกันใกล้ฐานเป็นรูปถ้วย อาจจะมีขนสีส้มอมน้ำตาลด้านนอก ไม่มีกลีบดอก เกสรตัวผู้จำนวนมาก เกสรตัวเมียปลายแยก 5 พู รังไข่กลม มีขนหนาแน่น ผลกลม มีขน และชั้นกลีบเลี้ยงขยายตามผลรองรับ ขนาด 0.5-1 ซม. ผลแห้งไม่แตก(3)

ประโยชน์ของต้นรวงผึ้ง คือ ใช้เป็นไม้ประดับ ปลูกเพื่อความสวยงาม เพราะทรงพุ่มสวย ให้ร่มเงา ดอกบานนาน ออกดอกพร้อมกันทั้งต้น ติดทน และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดทั้งวัน มีช่วงออกดอกคือเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี(1,4)

นอกจากต้นรวงผึ้งแล้ว ในประเทศไทยพบพืชสกุล Schoutenia อีก 4 ชนิด ได้แก่ เมงครวน S. accrescens (Mast.) Merr. ฮับ S. curtisii Roekm. หงอนไก่ S. kunstleri King และแดงสะแง S. ovata Korth.(2,5) ซึ่งล้วนเป็นไม้ต้น มีเนื้อไม้แข็ง น้ำหนักดี นิยมนำไปสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น ล้อเกวียน เป็นต้น(1,6)

เอกสารอ้างอิง
  1. Phengklai C. Tiliaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1); 1993.
  2. เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ; 2557.
  3. ไซมอน การ์ดเนอร์, พินดา สิทธิสุนทร, วิไลวรรณ อนุสารสุนทร. ต้นไม้เมืองเหนือ : คู่มือศึกษาพรรณไม้ยืนต้น ในป่าภาคเหนือ ประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ; 2543.
  4. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. ไม้ดอกหอม เล่ม 2. กรุงเทพฯ: บ้านและสวน; 2540.
  5. Hartono R. A monograph of the genus Schoutenia Korth. (Tiliaceae). Reinwardtia. 1965; 7(2):91-138.
  6. Sosef MSM, Hong LT, Prawirohatmodjo S. (Editors). Plant resources of South East Asia No 5(3): Timber Trees: Lesser-Known Timbers. Leiden: Backhuys Publishers; 1998.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.