Knowledge Article


ผลแลปเลือดกับโรคไตเรื้อรัง


ภญ. ศยามล สุขขา
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://edc2.healthtap.com/ht-staging/user_answer/reference_image/17612/large/ESRD.jpeg?1386671321
263,037 View,
Since 2016-10-16
Last active: 7h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ไต คืออะไร และมีหน้าที่อย่างไร

ไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วแดง อยู่บริเวณบั้นเอว 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไตคือการกำจัดของเสีย ควบคุมสมดุลของน้ำ เกลือแร่ ควบคุมความเป็นกรด-ด่าง และช่วยในการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด ดังนั้นหากไตทำงานบกพร่อง การทำหน้าที่ดังกล่าวก็จะมีความผิดปกติไปด้วย

สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบคือ โรคเบาหวาน รองลงมาคือโรคความดันเลือดสูง สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเองที่อาจก่อให้เกิดไตผิดปกติ ได้แก่ หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) เอสแอลอี (SLE) โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง (≥3 ครั้งต่อปี) ผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ปวดกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยต์ (NSAIDs) หรือได้รับสารที่ทำลายไตเป็นประจำ



รู้ได้อย่างไรว่ามีโรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรังคือ ภาวะที่ไตมีความบกพร่องในด้านการทำหน้าที่กรองของเสีย หรือเกิดจากโครงสร้างของไตมีความผิดปกติ นานติดต่อกันเกิน 3 เดือน ในทางปฏิบัติเราจะทำการตรวจเลือด เพื่อตรวจวัดค่าครีเอตินิน (serum creatinine; Scr) ซึ่งค่าปกติของชาย 4-20 ปีคือ 0.2-1.0 mg/dL, หญิง 4-20 ปีคือ 0.2-1.0 mg/dL, ชาย (ผู้ใหญ่) คือ 0.7-1.3 mg/dL, หญิง (ผู้ใหญ่) คือ 0.6-1.1 mg/dL1 ซึ่งเราจะใช้ค่าครีเอตินินนี้ในการคำนวณหาอัตราการกรองของไต (estimated glomerular filtration rate; eGFR) โดยหากอัตราการกรองของไตมีค่าสูง แสดงว่าไตมีความสามารถในการทำงานได้ดี โดยค่าปกติของอัตราการกรองของไต จะขึ้นกับอายุ เพศ และน้ำหนัก โดยทั่วไปในผู้ใหญ่อายุ 18-30 ปี จะมีค่าอัตราการกรองของไตโดยประมาณคือ 120-130 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร และจะมีค่าลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าครีเอตินินมากขึ้น หรือน้อยลง โดยไม่ขึ้นกับค่าอัตราการกรองของไตได้เช่นกัน เช่น มวลกล้ามเนื้อ อาหารจำพวกโปรตีน ยาบางชนิด เป็นต้น

นอกจากนี้ การประเมินการทำงานของไตอีกแบบหนึ่งคือ ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ โดยปกติแล้วไตจะมีส่วนที่มีลักษณะคล้ายเยื่อเลือกผ่าน เพื่อป้องกันไม่ให้สารขนาดใหญ่ เช่นโปรตีนหลุดออกมาในปัสสาวะได้ ดังนั้นหากตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะปริมาณมาก แสดงถึงความบกพร่องของการทำงานของไตได้ นอกจากนี้การตรวจทางรังสีวินิจฉัย หรือการเจาะชิ้นเนื้อไตก็สามารถใช้ประเมินโรคไตได้เช่นกัน

ระยะของโรคไตเรื้อรังแบ่งได้อย่างไร

เราใช้ค่าอัตราการกรองของไตมาเป็นตัวแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ โดยมีความรุนแรงจากน้อยที่สุด (ระยะ 1) จนถึงรุนแรงที่สุด (ระยะ 5 หรือเรียกว่าไตวายระยะสุดท้าย) ระยะของโรคไตเรื้อรังสามารถแบ่งได้ดังแสดงในตารางที่ 1



ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไตเรื้อรัง มักพบตั้งแต่ระยะที่ 3 และหากผู้ป่วยมีการดำเนินไปของโรคไตจนถึงโรคไตระยะที่ 5 หรือไตวายระยะสุดท้ายแล้ว ผู้ป่วยรายนั้นจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาด้วยการทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไตเรื้อรังคืออะไร

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีความบกพร่องในการกำจัดน้ำ และของเสียออกจากร่างกาย จึงมีอาการบวมน้ำได้ง่าย และหากมีของเสียสะสมในร่างกายปริมาณมาก จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมึนงง สับสน นอกจากนี้โรคไตเรื้อรังทำให้เกิดการควบคุมสมดุลเกลือแร่ผิดปกติไป และส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ ในหลายอวัยวะ เช่น การคั่งของโพแทสเซียม (ใบรายงานผลทางห้องปฏิบัติการจะแสดงเป็นค่า K) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ความผิดปกติของแคลเซียม (ใบรายงานผลทางห้องปฏิบัติการจะแสดงเป็นค่า Ca) และฟอสเฟต (ใบรายงานผลทางห้องปฏิบัติการจะแสดงเป็นค่า P) ทำให้มีผลต่อระบบกระดูก และหัวใจได้ และเนื่องจากโรคไตเรื้อรังทำให้ความสามารถในการขับกรดลดลง โดยจะมีค่าไบคาร์บอเนตลดลง (ใบรายงานผลจะแสดงเป็นค่า CO2) ซึ่งภาวะเลือดเป็นกรดระยะเวลานานๆ จะมีผลเพิ่มการสลายกระดูกอีกด้วย

นอกจากนี้ไตยังเป็นอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนอีริโทโพอิติน ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องจึงมีภาวะโลหิตจาง ทำให้มีอาการซีด เหนื่อย และอ่อนเพลียได้ง่าย รวมทั้งโรคไตเรื้อรังยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวายมากขึ้นด้วย



เป้าหมายของการรักษาโรคไตเรื้อรัง

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว เป้าหมายของการรักษาคือชะลอการเสื่อมของโรคไตเรื้อรัง รักษาภาวะแทรกซ้อนของโรคไตเรื้อรัง ควบคุมสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังจะต้องทำการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ในคนทั่วไปจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตเมื่อใด

เนื่องจากอาการแสดงของโรคไตในระยะต้นมักจะไม่มีอาการ และมีอาการแสดงของโรคที่ไม่ชัดเจน ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจึงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังเป็นประจำทุกปี โดยทำการตรวจเลือด เพื่อวัดค่าครีเอตินินซึ่งแสดงถึงการทำงานของไต และการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาปริมาณโปรตีน และตรวจวัดระดับความดันเลือด โดยหากพบความผิดปกติแพทย์จะพิจารณาหาสาเหตุ และวิธีการรักษาต่อไป

เอกสารอ้างอิง
  1. Appendix B: Common Laboratory Tests. In. Chisholm-Burns MA, Wells BG, Schwinghammer TL, Malone PM, Kolesar JM, Rotschafer JC, Dipiro JT, editors. Pharmacotherapy principles & practice. The McGraw-Hill Companies, Inc. 2008: 1545.
  2. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) CKD Work Group. KDIGO 2012 clinical practice guideline for the evaluation and management of chronic kidney disease. Kidney inter., Suppl 2013; 3:1–150.
  3. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2558 (Clinical Practice Recommendation for the Evaluation and Management of Chronic Kidney Disease in Adults 2015).
  4. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) CKD–MBD Work Group. KDIGO clinical practice guideline for the diagnosis, evaluation, prevention, and treatment of chronic kidney disease–mineral and bone disorder (CKD–MBD). Kidney Inter., Suppl 2009; 76:S1–130.
  5. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Anemia Work Group. KDIGO clinical practice guideline for anemia in chronic kidney disease. Kidney Inter., Suppl 2012; 2:279–335.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.