Knowledge Article


มังคุด...ราชินีแห่งผลไม้


ธิดารัตน์ จันทร์ดอน
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://nutrawiki.org/mangosteen/
68,856 View,
Since 2016-07-22
Last active: 6m ago
https://tinyurl.com/22oawp6y
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณและผลไม้นานาชนิด มีทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้ ซึ่งมีรสชาติหวานมัน ให้พลังงานสูงทำให้ร่างกายรู้สึกร้อน และได้มีการขนานนามให้ มังคุด ซึ่งมีรสชาติหวานเย็น รับประทานแล้วรู้สึกชื่นใจ เป็นราชินีแห่งผลไม้มาคู่กัน ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการส่งออกทั้งในเอเชีย จีน ญี่ปุ่น ยุโรปและตะวันออกกลาง



มังคุด (Mangosteen) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia mangostana Linn. มีถิ่นกำเนิดบริเวณคาบสมุทรมลายู สำหรับประเทศไทยมีการเพาะปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก ในกรุงเทพมหานครมีวังสวนมังคุด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวังหลัง โรงพยาบาลศิริราช สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่สำหรับปลูกมังคุดเพื่อรับรองคณะทูตที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ปัจจุบันถ้าใครเดินทางไปวังหลัง บริเวณทางเดินไปวัดระฆัง ยังพบเห็นกำแพงของวังสวนมังคุดปรากฏอยู่ (1) สรรพคุณตามตำรายาไทยของมังคุดระบุไว้ว่า

ราก ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ รักษาโรคบิดมูกเลือด

ต้น ใบ และดอก รักษาโรคบิดมูกเลือด

เปลือกต้น ชะล้างบาดแผล รักษาแผล

ผลดิบ สมานแผล แก้บาดแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด

เปลือกผล แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ท้องเสีย

เนื้อในผล บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย (2)

สำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าเนื้อมังคุดมีสารกลุ่มแคททีชินและฟลาวานอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ฤทธิ์น้อยกว่าเปลือกมังคุด ซึ่งจะพบสารกลุ่มแซนโทน ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำคั้นเนื้อมังคุดผสมเปลือกมังคุด โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาน้ำมังคุดเข้มข้นให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงการศึกษาเรื่องความเป็นพิษของการนำเปลือกมังคุดมาใช้สำหรับบริโภค ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงขนาดที่ใช้ เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อตับของสารกลุ่มแซนโทนที่พบในเปลือกมังคุด (3-4) สำหรับการรับประทานเนื้อมังคุดสด ถึงแม้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงเล็กน้อย แต่รสชาติก็หวานอร่อยถูกใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ มังคุดยังมีการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เปลือกมังคุดซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว (5) นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์รักษาสิว (6-7) นอกจากนี้ ยังมีการศึกษานำเปลือกมังคุดมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก (8) เจลและเพสต์สำหรับป้ายปาก เพื่อใช้รักษาโรคปริทันต์และแผลในปาก เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในช่องปาก (9) และมีการทดลองนำครีมผสมสารสกัดเปลือกมังคุดไปรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าได้ผลดี (10) อย่างไรก็ตามการนำเปลือกมังคุดมาใช้ประโยชน์ภายนอกก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิดการแพ้ อาการข้างเคียง และขนาดที่ปลอดภัย จะเห็นได้ว่ามังคุดนอกจากจะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีแล้วยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน สมกับเป็นราชินีแห่งผลไม้ของไทยจริงๆ

เอกสารอ้างอิง
  1. ประวัติวังหลัง [อินเทอร์เน็ต]. 2558 [เข้าถึงเมื่อ 14 ก.พ. 2558]. เข้าถึงได้จาก: http://www.sr.ac.th/sr_thai/lesson_001.html
  2. นันทวรรณ บุณยะประภัศร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2542:823 หน้า.
  3. จริงแท้ ศิริพานิช. มังคุด: นวัตกรรมจากงานวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2557:198 หน้า.
  4. สุวิมล ทรัพย์วโรบล. ผลของแซนโธนที่สกัดจากเปลือกมังคุดในเซลล์ตับอิสระที่แยกได้จากหนูขาว. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.
  5. Chomnawang MT, Surassmo S, Nukoolkarn V, Gritsanapan W. Effect of Garcinia mangostana on inflammation caused by Propionibacterium acnes. Fitoterapia 2007;78(6):401-408
  6. Pothitirat W, Pithayanukul P, Chomnawang MT, Gritsanapan W. Physical and biological stabilities on anti-acne inducing bacteria activity of Garcinia mangostana fruit rind extract gel. Proceeding of the 7th Indochina conference on pharmaceutical sciences advancing pharmacy for Asean community; 2011, 14-16 December; Bangkok. 520-2.
  7. Chomnawang MT, Surassmo S, Nukoolkarn V, Gritsanapan W. Antimicrobial effects of Thai medicinal plants against acne-inducing bacteria. J Ethnopharmacol. 2005; 101(1-3): 330-333.
  8. Rassameemasmaung S, Sirikulsathean A, Amornchat C, et al. Effects of herbal mouthwash containing the pericarp extract of Garcinia mangostana L. on halitosis, plaque and papillary bleeding index. J Int Acad Periodontol 2007;9:19-25.
  9. พินิติ รตะนานุกูล และคณะ. การศึกษาสารสกัดจากมังคุดในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์. การสัมมนา เรื่อง การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านสมุนไพรสู่ระดับอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2. วันที่ 19-20 มีนาคม 2552; โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น. กรุงเทพฯ.
  10. กุสุมา กำจร. การเปรียบเทียบการหายของแผลที่เท้า ระหว่างการทำแผลด้วยครีมเปลือกมังคุดกับการทำแผลเปียกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลในผู้ป่วยเบาหวาน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2546.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.