Knowledge Article


เก็บยาอย่างไรให้คงคุณภาพ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ชะอรสิน สุขศรีวงศ์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.wms.co.uk/sharedimages/Zoom/W2206.jpg
26,578 View,
Since 2016-07-01
Last active: 1 days ago
https://tinyurl.com/27pgckh3
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


แม้ว่ายาที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมจะผ่านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ แต่หากการจัดเก็บยาในคลังเวชภัณฑ์ ห้องจ่ายยา สถานีอนามัย รถที่ใช้ขนส่ง หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย อยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบถึงคุณภาพของยาหรือทำให้เกิดการเสื่อมสลาย (degradation) ของตัวยาสำคัญ (active pharmaceutical ingredients) ไวขึ้น อะไรบ้างที่ทำให้คุณภาพหรือความคงตัวของยาลดลงหรือเสียไป



สภาวะต่อไปนี้มีผลต่อความคงตัวของยา ได้แก่

อุณหภูมิ (temperature) อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไปจะมีผลต่อคุณภาพของยาได้ โดยทั่วไปมักให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง คือ อุณหภูมิประมาณ 18 -25 องศาเซลเซียส แต่ยาบางชนิดอาจระบุให้เก็บในตู้เย็น โดยเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่เก็บไว้ที่ช่องแช่แข็งหรือที่ฝาตู้เย็น เพราะเมื่อเราเปิด-ปิดตู้เย็น อาจทำให้อุณหภูมิแกว่งขึ้นลงได้ และควรหลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงเป็นเวลานานหรือมีความร้อนสูง เช่น รถยนต์จอดตากแดด ใกล้ๆ เตา ตู้อบ ตู้ไมโครเวฟ แสง ยาบางชนิดเมื่อถูกแสงจ้าหรือแสงแดดเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะทําให้ยาเสื่อมสภาพ ใช้รักษาไม่ได้ผล ดังนั้น บรรจุภัณฑ์จึงมักทำเป็นซองหรือขวดสีชา กล่องกระดาษทึบ แผงอลูมิเนียม หรือแผงยาแบบกดเม็ดยาออก (บลิสเตอร์) ที่มีความทึบแสง เป็นต้น ยาเหล่านี้ไม่ควรแกะออกจากภาชนะบรรจุเดิมของยาหากยังไม่ต้องการใช้

ความชื้น (moisture) ความชื้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยาที่อยู่ในรูปของแข็งไม่คงตัว โดยอาจจะทำปฏิกิริยาโดยตรงหรือเอื้อให้เกิดปฏิกิริยาสลายตัวของยา ยาเม็ดส่วนใหญ่เมื่อโดนความชื้นจะมีผลต่อชั้นเคลือบเม็ดยาทำให้บวมหรือเกาะเป็นก้อนได้ จึงไม่ควรเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง และควรปิดฝาขวดยาให้สนิททุกครั้ง

ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ความเป็นกรด-ด่างจะมีผลต่อความคงตัวโดยเฉพาะตำรับยาฉีดหรือยาน้ำ หากความเป็นกรด-ด่างเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ตัวยาสำคัญตกตะกอนหรือเสื่อมสลาย

Oxidation and enzymatic degradation สารออกซิเดชันที่สำคัญที่สุด คือ ก๊าซออกซิเจนในอากาศ ปฏิกิริยาออกซิเดชันจะเกิดเร็วขึ้นเมื่อถูก แสง ความร้อน หรือมีตัวเร่ง เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาดังกล่าวเราควรปิดภาชนะบรรจุให้สนิท และไม่วางบรรจุภัณฑ์ในที่ที่ไม่เหมาะสม

การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพ จากการที่ยาสัมผัสกับ อากาศ ความชื้น แสงแดด ซึ่งต่างก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพของยา ดังนั้น จึงไม่ควรแกะยาที่บรรจุในแผงหรือแบ่งออกจากภาชนะที่ทางผู้ผลิตได้บรรจุมา ทั้งนี้เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพอยู่ได้จนถึงวันหมดอายุตามที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ แต่หากมีความจำเป็นต้องแกะยาออกจากแผงหรือแบ่งยาออกจากกระปุกใหญ่ ให้แบ่งออกมาทีละน้อย ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์ สำหรับยาบางรูปแบบ แม้ว่าหลังเปิดใช้จะเก็บอย่างถูกต้องก็ไม่สามารถเก็บยานั้นใช้ได้จนถึงวันที่ยาหมดอายุ ได้แก่ ยาหยอดตา หลังเปิดใช้มีอายุอยู่ได้ 1 เดือน ยาปฎิชีวนะชนิดน้ำเชื่อมแขวนตะกอน หากเก็บที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) อยู่ได้ 1 สัปดาห์ และหากเก็บในตู้เย็นอยู่ได้ 2 สัปดาห์

เอกสารอ้างอิง
  1. Briscoe CJ, Hage DS. Factors affecting the stability of drugs and drug metabolites in biological matrices. Bioanalysis. 2009;1(1):205-20,
  2. http://cst-kh.edu.ps/staff/mabujamee/wp-content/uploads/2010/10/Unit-4-Drug-Stability.pdf
  3. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21083197
  4. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/193
  5. http://www.healthtoday.net/thailand/Disease_n/disease177_5.html
  6. http://www.pharmyaring.com/download/drug_sharing1_pdf.pdf
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.