Knowledge Article


ดอกคาโมมายล์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ณัฏฐินี อนันตโชค
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://foodfreedom.wordpress.com/2011/03/22/
grow-a-medicinal-herb-garden/
242,486 View,
Since 2016-06-15
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/289v2bfo
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


คาโมมายล์เป็นพืชในวงค์เดียวกับ ดาวเรือง ดาวกระจาย (Asteraceae หรือ Compositae) มีสองสายพันธุ์คือ เยอรมันคาโมมายล์ (Matricaria recutita L. หรือ Chamomilla recutita L. หรือ Matricaria chamomilla) และโรมันคาโมมายล์ (Chamaemelum nobile L.) แต่คาโมมายล์สายพันธุ์เยอรมันจะเป็นที่รู้จักและนิยมใช้มากกว่า ส่วนที่ใช้คือดอกซึ่งมีลักษณะเป็นดอกช่อที่มีดอกย่อยรอบนอกมีกลีบสีขาวขนาดใหญ่ ดอกย่อยตรงกลางขนาดเล็กมีกลีบดอกสีเหลือง ใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และน้ำหอม



ดอกคาโมมายล์ใช้เป็นสมุนไพรมานานนับพันปี ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ กรีกและโรมัน เป็นสมุนไพรที่นิยมมากในทวีปยุโรป โดยมีสรรพคุณมากมายได้แก่ ทำให้สงบ คลายกังกล ช่วยให้หลับ ลดอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร ขับลม ลดอาการปวดเกร็งท้อง ลดการปวดประจำเดือน ต้านการอักเสบในช่องปาก คอ ผิวหนัง และช่วยสมานแผล น้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีกลิ่นคล้ายแอฟเปิ้ลนอกจากสรรพคุณทางยาแล้วยังมีการใช้แต่งกลิ่นในอาหารและเครื่องสำอาง คาโมมายล์ปลูกมากในทวีปยุโรปเช่นประเทศเยอรมัน ฮังการี ฝรั่งเศส รัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบได้ในทวีป อเมริกา แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ในประเทศไทยได้นำมาปลูกในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ดอยสะโงะ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และมีการจำหน่ายทั้งดอกสด และดอกอบแห้ง

ดอกคาโมมายล์ประกอบด้วยสารหลายกลุ่มคือสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids ได้แก่ apigenin, quercetin, patuletin, luteolin และ flavonoid glucosides) คูมารินส์ (coumarins ได้แก่ herniarin และ umbelliferone) และน้ำมันหอมระเหย (volatile oils ได้แก่ (-)-alpha-bisabolol มากกว่า 50%, chamazulene 1-15%, (-)-alpha-bisabolol oxides A และ B, cis- และ trans-en-yn-dicycloethers) นอกจากนี้พบสารอื่นๆ ได้แก่กรดฟีโนลิก (phenolic acids) และ GABA (gamma aminobutyric acid)

จากรายงานการวิจัยพบว่าดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่างได้แก่ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (antiinflammatory) ป้องกันการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (antispasmotic) คลายวิตกกังวล (anxiolytic effect) ต้านออกซิเดชัน (antioxidant) และต้านเชื้อจุลชีพ (antimicrobial)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (antiinflammatory)

รายงานการวิจัยพบว่าสารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และเทอร์พีนอยด์ที่เป็นองค์ประกอบในสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบทั้งในหลอกทดลองและสัตว์ทดลอง โดยพบว่า สารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูที่ถูกทำให้อักเสบที่หูจากน้ำมันละหุ่ง โดยพบว่าสารสกัดจากดอกสดให้ผลยับยั้งได้ดีกว่าดอกแห้ง โดยสามารถยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 จาก lipopolysaccharide-activated macrophages ในหลอดทดลอง ยับยั้งเอ็นไซม์ 5-lipoxygenase และ cyclooxygenase 2 (COX-2) โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ (-)-alpha-bisabolol และ apigenin นอกจากนี้ยังพบว่าสาร apigenin ที่ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง nitric oxide synthase (NOS) ใน LPS-activated macrophages และยับยั้งการสร้าง interleukin-6 และ tumour necrosis factor-alpha เมื่อให้ทางปากใน หนู mice ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย LPS

การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ผิวหนังในอาสาสมัคร พบว่าครีมและขี้ผึ้งคาโมมายล์ใช้ภายนอก มีต้านการอักเสบได้ดีเมื่อเทียบกับยาขี้ผึ้ง hydrocortisone

ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และรักษาแผลในทางเดินอาหาร

สารสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ และสารที่เป็นองค์ประกอบมีฤทธิ์ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ของสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งด้วยสาร acetylcholine และ histamine แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า papaverine

สารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยเอทานอลในน้ำและสาร (-)-alpha-bisabolol สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำด้วย indromethacin ความเครียด และแอลกอฮอล์ โดยสามารถลดความเป็นกรดและเพิ่มปริมาณมิวซินในกระเพาะอาหาร

ผลต่อระบบประสาท คลายกังวล ฤทธิ์ทำให้สงบ ทำให้หลับ

สารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์คลายวิตกกังวล ทำให้สงบอ่อนๆ และทำให้นอนหลับดีขึ้นโดยพบว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ apigenin ออกฤทธิ์โดยการจับกับ benzodiazepine receptors นอกจากนี้ในสารสกัดยับพบสาร GABA ปริมาณเล็กน้อย ซึ่ง GABA เป็นสารสื่อกระแสประสาท (neurotransmitter) ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยเกิดการผ่อนคลาย

การสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีผลลดความเครียดในหนูที่ถูกตัดรังไข่ โดยลดระดับของฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิค (adrenocorticotrophic hormone : ACTH) นอกจากนี้การสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์ร่วมกับการได้รับยาไดอะซีแพม (diazepam) จะช่วยลดระดับ ACTH โดยผลนี้ถูกยับยั้งโดยยาฟลูมาซีนิล (Flumazenil) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม GABA receptor antagonist ดังนั้นน้ำมันจากดอกคาโมมายล์น่าจะออกฤทธิ์เป็น benzodiazepam agonist และมีผลต่อระบบ GABA ergic ในสมอง

การทดลองทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่นพบว่า การรับประทานเจลลี่คาโมมายล์มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้อารมณ์ดี การศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลระดับปานกลางและประเมินด้วยแบบวัดภาวะวิตกกังวล Hamilton Anxiety Rating Scale (HAM-A) พบว่าการรับประทานสารสกัดดอกคาโมมายล์ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยลดอาการวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญ

ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ

น้ำมันและสารจากดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคหลายชนิด โดยพบว่าสาร (-)-alpha-bisabolol และน้ำมันคาโมมมายด์มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis เชื้อรา Candida albicans และน้ำมันยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริม (herpes simplex virus) นอกจากนี้สารสกัดคาโมมายล์ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดได้แก่ Staphylococcus aureus, Staphylococcus mutans, Staphylococcus salivarious, Bacillus megatherium, Leptospira icterohaemorrhagiae และ Campylobacter jejuni

จะเห็นว่าดอกคาโมมายล์นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งภายในและภายนอก การดื่มชาชงจากดอกคาโมมายล์ ช่วยขับลม บรรเทาอาการอักเสบและแผลในทางเดินอาหาร คลายกังวล และนอนหลับดีขึ้น โดยใช้ดอกประมาณ 3 กรัม ชงด้วยน้ำร้อนประมาณ 150 ซีซี แช่ประมาณ 5-10 นาที แล้วกรองกากออก ดื่มวันละ 3-4 ครั้ง นอกจากนี้การสูดดมไอระเหยจากการแช่ดอกคาโมมายล์ด้วยน้ำร้อน หรือการกลั้วคอ และบ้วนปากด้วยชาคาโมมายล์วันละหลายๆ รอบจะช่วยลดการอักเสบของยื่อบุผิวในช่องจมูก ปากและลำคอได้ น้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ยังใช้แต่งกลิ่นอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ รวมถึงใช้ในสุคนธบำบัด

ผลข้างเคียงจากการใช้ดอกคาโมมายล์พบได้น้อย แต่อาจพบได้ในผู้ที่แพ้ดอกคาโมมายล์หรือพืชในตระกูลเดียวกัน (Asteraceae) ซึ่งจะมีอาการผิวหนังอักเสบ จาม น้ำมูกไหล ลิ้นและริมฝีปากบวม โดยไม่พบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองที่ได้รับสารสกัดดอกคาโมมายล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่พบการระคายเคืองผิวหนังจากการใช้ภายนอก นอกจากนี้มีรายงานว่าน้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีค่า LD50 มากกว่า 5 ก./กก. น้ำหนักสัตว์ทดลอง

เอกสารอ้างอิง
  1. Bone K, Mills S. Principles and Practice of Phytotherapy : Modern Herbal Medicine. 2nd Ed. Edinburgh: Churchill Livingstone Elsevier, 2013.
  2. Barnes J, Anderson LA, Phillipson JD. Herbal Medicines. 3rd Ed. London: The Pharmaceutical Press, 2007.
  3. McKenna DJ, Jones K, Hughes K. Botanical Medicines: The Desk Reference for Major Herbal Supplements. 2nd Ed. NY: The Haworth Herbal Press, 2002.
  4. McKay DL, Blumberg JB. A Review of the Bioactivity and Potential Health Benefits of Chamomile Tea (Matricaria recutita L.). Phytother. Res. 2006; 20:519–530.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.