Knowledge Article


ไข้ซิกา …ภัยใหม่จากยุงลายตัวเก่า


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มัลลิกา ชมนาวัง
ภาควิขาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://getpoz.files.wordpress.com/2013/04/mosquito.jpg
68,119 View,
Since 2016-01-28
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


หากจะพูดถึงโรคที่มียุงเป็นพาหะ หลายคนคงนึกถึงโรคไข้เลือดออกขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ แต่ปัจจุบันมีโรคอื่นๆ อีกมากที่เมื่อก่อนแทบไม่เคยได้ยินชื่อ แต่กลับก่อให้เกิดการระบาดในหลายประเทศ ไวรัสซิกา (Zika) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ไวรัสที่ใครๆ ต้องถามชื่อซ้ำอีกครั้งชนิดนี้แทบจะไม่เคยมีบทบาทในประเทศไทย แต่กลับเป็นเชื้อที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง ไวรัสชนิดนี้กำลังระบาดอย่างหนักในแถบประเทศอเมริกาใต้ รวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกและ Cape Verde ในแอฟริกา จากรายงานขององค์การอนามัยโรคภูมิภาคอเมริกา (Pan Americans Health Organization; PAHO) พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไข้ซิกาแล้วใน 20 ประเทศ ดังนี้ บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ เฟรนซ์เกียนา กัวเดอลุป กัวเตมาลา กายอานา เฮติ ฮอนดูรัส เกาะมาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย เปอร์โตริโก ซูรินาเม เกาะเซนต์มาร์ติน และเวเนซูเอลา



ไวรัสซิกาจัดเป็นไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ (RNA) สายเดี่ยว อยู่ในตระกูล Flavivirus เช่นเดียวกับไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออก และไวรัส Japanese encephalitis ที่ก่อโรคไข้สมองอักเสบ ส่วนชื่อซิกา (Zika) เป็นชื่อป่าในประเทศยูกันดาซึ่งเป็นสถานที่แรกที่แยกเชื้อได้จากลิง Rhesus ที่ทำมาศึกษาในปีพ.ศ. 2490 การระบาดของไวรัสชนิดนี้มียุง Aedes aegypti เป็นพาหะ ซึ่งเป็นยุงลายบ้านในประเทศเขตร้อนและเป็นยุงที่เป็นพาหะของไวรัสไข้เลือดออกด้วย สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่าตรวจพบแอนติบอดีต่อไวรัสซิกาในผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯเมื่อปี พ.ศ.2506 หลังจากนั้นมีรายงานผู้ป่วยหญิงนักท่องเที่ยวจากแคนาดา ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยในช่วงเวลา 21 มกราคมถึง 2 กุมภาพันธ์ 2556 โดยพักในกรุงเทพฯ และภูเก็ต และมีอาการบนเครื่องบินขณะเดินทางกลับแคนาดา ภายหลังได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสซิกา นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางไปไทเป ถูกตรวจพบเชื้อที่สถานีตรวจคัดกรองไข้ สนามบินนานาชาติเถาหยวน ไต้หวัน และขณะนี้ได้รับการรักษาแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องยืนยันว่าโรคไข้ซิกานี้ไม่ใช่โรคใหม่ ในประเทศไทยมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ ๕ ราย และพบกระจายอยู่ทุกภูมิภาค

ผู้ติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและหายเองได้ มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่อาจแสดงอาการได้ และมักแสดงอาการภายหลังได้รับเชื้อนี้ 4-7 วัน อาการแสดงทั่วไป ได้แก่ ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ ซึ่งมักมีอาการเหล่านี้อยู่ประมาณ 2-7 วัน ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายเองได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ในหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากการติดเชื้อนี้อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด มีขนาดศีรษะที่เล็กผิดปกติ (microcephaly) หรือเสียชีวิตได้

การที่อาการแสดงเบื้องต้นของไข้ซิกาถึงแม้จะความรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับไข้เลือดออก อีกทั้งยังมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้ จึงต้องมีการให้นิยามเพื่อความชัดเจน โดยผู้ป่วยสงสัย หมายถึงผู้ป่วยที่มีไข้และมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 3 อาการ ดังนี้ 1) ออกผื่น 2) ปวดข้อ และ 3) ตาแดง และผลการตรวจไวรัสเดงกี ไวรัสชิคุนกุนยาโดยวิธี PCR และไวรัสหัด ไวรัสหัดเยอรมัน โดยวิธี ELISA IgM ให้ผลลบ และผู้ป่วยยืนยัน หมายถึงผู้ป่วยสงสัย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อไวรัสซิกาในเลือด หรือตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสซิกา

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคดังกล่าว จึงมีคำแนะนำให้เลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง และดูแลจัดการไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในที่พักอาศัย ยุงชนิดนี้เป็นยุงหากินกลางวันจึงต้องระวังการถูกกัด การรักษามักเป็นการรักษาตามอาการ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการสูญเสียน้ำ หากมีไข้ให้ยาพาราเซตามอล และหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน รวมถึงใช้ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากอาจส่งผลให้เลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ควรพึงระวังการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นจากการถูกยุงกัดในช่วงที่ติดเชื้อด้วย

เอกสารอ้างอิง
  1. Centers for Disease Control and Prevention. Zika virus. [Internet]. [cited 2016 Jan 25]. Available from: http://www.cdc.gov/zika/
  2. The Virology Association (Thailand). [Internet]. [cited 2016 Jan 25]. Available from: http://www.thaiviro.org/association/index.php/virology-education.html
  3. World Health Organization. Zika virus. [Internet]. [cited 2016 Jan 25]. Available from: http://www.paho.org/hq/index.php?option=com_topics&view=article&id=427&Itemid=41484
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.