Knowledge Article


กลิ่นเท้า…ใครว่าไม่สำคัญ


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จากนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 เพื่อประกอบการเรียนวิชาเภสัชจุลชีววิทยา
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQDhMeH50lKfj2ULwoVChYX6KXtmBRsLiY1Vv7FuZfIFANLsuY8
87,555 View,
Since 2015-10-28
Last active: 8m ago
https://tinyurl.com/2a73wfr6
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบกับปัญหากลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นบริเวณเท้า ทั้งที่เกิดจากตัวคุณเอง หรือเกิดจากบุคคลรอบข้างของคุณ ซึ่งกลิ่นเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเหงื่อโดยตรง แต่เกิดจากแบคทีเรียที่ทำปฏิกิริยากับเหงื่อรวมถึงปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น เท้าของเราเป็นอวัยวะที่มีต่อมเหงื่อจำนวนมากเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเหงื่อที่ผลิตออกมาทำให้เท้าของเราเกิดความชุ่มชื้นและอ่อนนุ่ม แต่ถ้าหากไม่มีเหงื่อผิวหนังบริเวณเท้าก็จะแตกและทำให้รู้สึกเจ็บเวลาเดิน โดยต่อมเหงื่อที่เท้า จะผลิตเหงื่อออกมาตลอดเวลา สามารถผผลิตออกมาได้มากถึง 4.5 ลิตรต่อสัปดาห์ จึงเพิ่มโอกาสให้เกิดกลิ่นเท้าจากแบคทีเรีย แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าสาเหตุของกลิ่นเท้ามาจากอะไรได้บ้าง

เพราะเหตุใดเท้าจึงมีกลิ่นเหม็น ?

สาเหตุหลักของเท้าเหม็นเกิดจากเหงื่อและแบคทีเรีย โดยเหงื่อนั้นมี 2 ชนิด ทั้งแบบ มีกลิ่น และ ไม่มีกลิ่น เหงื่อที่มีกลิ่นถูกสร้างมาจากต่อมที่เรียกว่า apocrine sweat gland ผลิตเหงื่อที่มีลักษณะ เหนียวใสมีไขมันมาก เป็นต่อมเหงื่อที่พบได้บางบริเวณของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น ส่วน เหงื่อที่ไม่มีกลิ่นถูกผลิตจากต่อมที่เรียกว่า eccrine sweat gland ผลิตเหงื่อที่มีลักษณะใสเหมือนน้ำ เป็นต่อมเหงื่อที่พบทั่วไปตามร่างกาย รวมถึงบริเวณเท้าจะพบเฉพาะต่อมเหงื่อชนิดนี้ ดังนั้นเหงื่อที่เท้า จึงไม่มีกลิ่น แต่กลิ่นเกิดจากการที่แบคทีเรียย่อยสลายสารในเหงื่อเพื่อใช้เป็นพลังงาน โดยย่อยสลาย ได้เป็น methanethiol gas ซึ่งมีกลิ่น ตัวอย่างของ bacteria ที่พบบริเวณผิวหนัง เช่น Brevibacterium, Micrococcaceae, Corynebacterium นอกจากแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นแล้ว ยังมีแบคทีเรียบางชนิด ที่ย่อยสลายสารในเหงื่อแล้วเกิดเป็น กรดอะมิโนร่วมอีกด้วย เช่น Staphylococcus epidermidis ทำให้เกิด isoveleric acid และ Propionbacteria ทำให้เกิด propionic acid ซึ่งกรดอะมิโนพวกนี้ทำให้เกิดกลิ่น

พันธุกรรมเป็นสาเหตุของกลิ่นเท้าจริงหรือ ?

พันธุกรรมไม่ได้เป็นสาเหตุของกลิ่นเท้าโดยตรง แต่พันธุกรรมส่งผลต่อปริมาณต่อมเหงื่อที่เท้า เช่น ภาวะที่มีเหงื่อออกมาก(hyperhidrosis) คือ ภาวะที่ร่างกายผลิตต่อมเหงื่อที่เท้ามากกว่าปกติ หรือ ผลิตเหงื่อออกมามากกว่าปกติ เนื่องจากระบบประสาท sympathetic ทำทำงานมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ ในทุกเพศทุกวัย หรืออาจเกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ส่วนใหญ่จะเกิด ในวัยรุ่นและหญิงตั้งครรภ์

รองเท้าและถุงเท้าที่สวมใส่มีผลต่อกลิ่นเท้าหรือไม่ ?

รองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี หรือถุงเท้าที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น polyester หรือ nylon จะทำให้มีเหงื่อออกที่เท้ามากขึ้น ซึ่งรองเท้าหรือถุงเท้านั้นก็จะดูดซับเหงื่อไว้ทำให้เกิดการอับชื้น เหมาะสมต่อการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราจึงทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้และการใส่รองเท้าตลอดทั้งวัน ก็จะทำให้รองเท้าเกิดการอับชื้นแล้วเกิดกลิ่นเท้าได้ด้วยเช่นกัน

มีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่มีผลทำให้เกิดกลิ่นเท้า ?

การบริโภคอาหารที่มีปริมาณน้ำมันสูง อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีกลิ่นแรง หรือ การได้รับสาร หรือยาบางชนิด เช่น nicotine, caffeine, codeine ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้ เนื่องจาก อาหารเหล่านี้ทำให้มีการผลิตเหงื่อมากขึ้น นอกจากนี้การรับประทานยาบางชนิดเช่น naproxen, acyclovir รวมถึงการขาด zinc ภาวะความเครียด ก็ส่งผลให้มีการผลิตเหงื่อมากขึ้น จึงทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้ในที่สุด

วิธีการลดการเกิดกลิ่นเท้ามีอะไรบ้าง ?

การรักษาเมื่อมีกลิ่นเท้านั้นมีหลากหลายวิธี วัตถุดิบสามารถหาได้ง่ายในชีวิตประจำวัน
  1. ชา ผลการวิจัยพบว่า ชามีกรด tannic ช่วยลดขนาดรูขุมขน ทำให้เหงื่อออกน้อยลง และยังช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียบริเวณเท้าได้ โดยนำถุงชา 2 ถุงเล็กต้มกับน้ำครึ่งลิตรเป็นเวลา 15 นาที จากนั้นเติมน้ำเย็น 2 ลิตรและนำไปแช่เท้าเป็นเวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  2. น้ำเกลือ เกลือจะไปดึงความชื้นออกจากผิวหนังทำให้เท้าแห้ง ช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่เท้า โดยละลายเกลือครึ่งถ้วยในน้ำอุ่น 1 ลิตร แช่เท้าเป็นเวลา 20 นาที แล้วเช็ดให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก ทำทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากรู้สึกว่าเท้าแห้งแตกควรเว้นระยะในการทำ
  3. น้ำส้มสายชู น้ำส้มสายชูจะช่วยให้เท้าแห้ง ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของแบคทีเรีย โดยผสมน้ำส้มสายชู 250 มิลลิลิตรลงในน้ำอุ่น 1 ลิตร แช่เท้านาน 15 นาที แล้วล้างด้วยสบู่ ทำสัปดาห์ละครั้ง
  4. Baking Soda ช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยผสม Baking Soda 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 1 ลิตร แช่เท้านาน 20 นาที ทุกคืนเป็นเวลา 1 สัปดาห์
หากใช้วิธีบรรเทาอาการดังกล่าวข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจมีแนวโน้มเป็นโรคเท้าเหม็น ซึ่งยาที่ใช้รักษากลิ่นเท้าแบ่งเป็น
  1. ยาที่ลดความอับชื้น เช่น 20% Aluminium Chloride เป็นผงแป้ง ใช้วันละ 1 ถึง 2 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง หากยังคงมีเหงื่อออกมาก แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการฉีด Botulinum Toxin ที่ฝ่าเท้า เพื่อระงับ สัญญาณที่มาจากสมองไปยังต่อมเหงื่อเพื่อให้ลดการสร้างเหงื่อที่เท้า โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  2. ยาทาที่ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย เช่น Clindamycin, Erythromycin เป็นต้น
  3. ยาที่ช่วยให้ผิวหนังลอกและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Benzoyl peroxide เป็นต้น
อยากป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นเท้าจะต้องทำอย่างไร ?

วิธีง่ายๆที่คุณสามารถทำได้เอง โดยคุณต้องรักษาความสะอาดของเท้า, พยายามทำให้เท้าแห้งอยู่เสมอ, ใส่รองเท้าถุงเท้าที่มีการระบายอากาศดีและไม่คับจนเกินไป, ไม่ควรใส่รองเท้าซ้ำทุกวัน ควรนำรองเท้าไปตากแดด, หลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้าที่ทำจาก nylon เนื่องจากเนื้อผ้าจะดักจับความชื้นเอาไว้ แต่ควรใส่ถุงเท้าที่ทำจาก cotton แทนเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี, ซักถุงเท้าให้สะอาด, ควรใส่ถุงเท้าคู่ใหม่ทุกวัน, โรยผงแป้งที่เท้าเพื่อดูดซับความชื้น, พ่นผลิตภัณฑ์ที่กำจัดกลิ่นลงบนถุงเท้าและรองเท้าเพื่อลดเชื้อแบคทีเรีย, รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และรับประทานอาหารที่มี Zinc เป็นส่วนประกอบ เช่น หอยนางรม, ไก่, ไข่, นม, จมูกข้าว และธัญพืช เป็นต้น

แม้ว่าปัญหาเท้าเหม็นจะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้กับบุคคลรอบข้างและลดความมั่นใจของตัวคุณเอง ดังนั้นเราจึงควรหันมาดูแลสุขลักษณะและความสะอาดของเท้าของเราให้ปราศจากกลิ่นกันดีกว่า

เอกสารอ้างอิง
  1. Jenn F. (2013). What Causes Smelly Feet?. http://www.sterishoe.com/foot-care-blog/shoe-odor/what-causes-smelly-feet/ [accessed on 9 September 2015]
  2. Men’s Health. (2014). If you can catch a whiff of your feet without bending over, you’re got a problem. http://www.menshealth.com/grooming/cures-smelly-feet [accessed on 9 September 2015]
  3. Body mint. Foot Odor. http://www.bodymint.com/foot-odor-what-causes-stinky-feet/ [accessed on 9 September 2015]
  4. Landsman M. (2015). Foot Odor Causes, Treatment and Prevention. http://www.footvitals.com/skin/foot-odor.html [accessed on 9 September 2015]
  5. Trimarchi M. Do bacteria cuase body odor? http://health.howstuffeorks.com/wellness/ men/sweatimg-odor/bacteria-cause-body-odor.html [accessed on 9 September 2015
  6. Schwartz RA. (1015). Hyperhidrosis. http://emedicine.medscape.com/article/1073359-overwiew#a5 [accessed on 9 September 2015]

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.